เปิดผลประเมิน“ชุมชนศรัทธา” รีพอร์ตชิ้นสุดท้ายของ “อัฮหมัดสมบูรณ์ บัวหลวง”

เปิดผลประเมิน “ชุมชนศรัทธา” รายงานโครงการชิ้นสุดท้ายของ “อัฮหมัดสมบูรณ์ บัวหลวง” เผยข้อเสนอแนะหลากหลาย ทั้งการสร้างเครือข่ายและพื้นที่กลางให้ชุมชน การสื่อสารต่อสาธารณะ แผนงานสร้างสันติภาพ 

“รายงานผลการประเมินโครงการการส่งเสริมบทบาทของประชาสังคมในการบรรเทาความยากจน (เครือข่ายชุมชนศรัทธา กัมปงตักวา จังหวัดชายแดนใต้)” เป็นผลงานชิ้นสุดท้ายของนายอัฮหมัดสมบูรณ์ บัวหลวง

อาจารย์อัฮหมัดสมบูรณ์ บัวหลวง เขียนรายงานชิ้นนี้ก่อนเสียชีวิตที่ประเทศสวีเดนเมื่อวันที่ 20 กันยายน 2557 ที่ผ่านมา โดยเขาใช้เวลาตั้งแต่ต้นปีในการเก็บข้อมูล ลงพื้นที่ประเมิลผลถึงในชุมชน รวมถึงการเขียนรายงานชิ้นนี้ออกมา แต่ไม่ทันได้นำเสนอด้วยตัวเอง

รายงานชิ้นนี้ถูกการนำเสนอครั้งแรกเมื่อวันเสาร์ที่ 22 พฤศจิกายน 2557 โดยองค์การแอ็คชั่นเอดประเทศไทย ร่วมกับ มูลนิธิชุมชนไทและโครงการชุมชนศรัทธา กัมปงตักวา ที่โรงแรมซีเอส.ปัตตานี

ในการนำเสนอมีนายจำนงค์ จิตรนิรัตน์ ที่ปรึกษาเครือข่ายชุมชนเพื่อการปฏิรูปสังคมและการเมือง จ.อุบลราชธานี ดร.รังสิมา ไอราวัณวัฒน์ ผู้อำนวยการแอ็คชั่นเอด ประเทศไทย นางสาวรุ่งทิพย์ อิ่มรุ่งเรือง จากแอคชั่นเอด ประเทศไทย ร่วมอยู่ด้วย

ซึ่งแน่นอนว่า การนำเสนอเริ่มด้วยการอ่านบทขอพรอุทิศผลบุญให้แก่เขาด้วย จากนั้นผู้จัดงานจึงนำเสนอเนื้อหาที่อาจารย์อัฮหมัดสมบูรณ์ บัวหลวงเขียนขึ้นมา

โดยอาจายร์อัฮหมัดสมบูรณ์ บัวหลวง ระบุในรายงานฉบับนี้ ซึ่งเป็นข้อเสนอโดยสรุปดังนี้

บนหลักการที่ดีงามและปฏิบัติได้จริง

กิจกรรมต่างๆที่ได้ดำเนินการนอกจากจะวางบนหลักการที่ดีงามและสามารถปฏิบัติได้จริง เช่น นำแกนนำ 4 เสาหลักในหมู่บ้านและอาสาสมัครเครือข่ายชุมชนศรัทธาจากทุกพื้นที่มาจัดกิจกรรมกระตุ้นความคิดของสมาชิกในชุมชน เพื่อตอบสนองความพร้อมของประชาชนในการเดินหน้า

บางหมู่บ้านมีความรู้พร้อมและมีความสามารถในการผลิต แต่ขาดความเข้าใจเรื่องการตลาด การออกแบบโครงการที่ไม่ระบุเรื่องเงินและไม่มีกระบวนการจัดการเงินทุนของตนเอง

ดังนั้นจึงควรมีการบริหารจัดการที่เข้มแข็งขึ้น โดยเฉพาะด้านการขับเคลื่อนชุมชนและการมีส่วนร่วม ความเป็นผู้นำและทักษะด้านต่างๆ ที่จะทำให้เกิดผลต่อการทำงานและการขับเคลื่อนในระดับแกนนำที่ชัดเจน

ต้องสร้างเครือข่ายและพื้นที่กลางให้ชุมชน

กระบวนการพัฒนาศักยภาพแกนนำ4 เสาหลักและอาสาสมัครเครือข่ายชุมชนศรัทธาเพื่อเพิ่มประสบการณ์ ความรู้ ความเข้าใจและหลักวิชาการในการบริหารจัดการองค์กร

จำเป็นต้องเพิ่มความเข้มข้นในการทำงานเชิงรุกและหาแนวทางในการสนับสนุนความคล่องตัวในการทำงานของแกนนำให้มากยิ่งขึ้น กล่าวคือ การสร้างการมีส่วนร่วมกับองค์กรภาคีในระดับท้องถิ่น ตำบล อำเภอ จังหวัดและประเทศ

จัดให้มีการสื่อสารระหว่างกันและกันให้ถี่ขึ้น ในรูปของการประชุม สัมมนา อบรมเชิงปฏิบัติการและการศึกษาดูงานระหว่างกันและกัน เป็นการเปิดพื้นที่กลาง (Common Space) ที่มีประสิทธิภาพมากที่สุด

เพราะในสภาวะความขัดแย้งที่รุนแรง การเปิดพื้นที่กลางเช่นนี้มีไม่มากนัก แต่พื้นที่กลางเพื่อการพัฒนาชุมชน การพัฒนาเศรษฐกิจ การพัฒนาการศึกษา เป็นประเด็นร่วมที่ทุกชุมชนสามารถพูดคุยกันได้อย่างเปิดเผยและกว้างขวางมาก

ชุมชนต้องสื่อสารต่อสาธารณะ

การทำงานเชิงรุกในพื้นที่ที่ฝ่ายความมั่นคงกล่าวหาว่าเป็นพื้นที่ก่อความไม่สงบหรือพื้นที่สีแดง จำเป็นต้องให้ประชาชนในพื้นที่นั้นมีความเข้มแข็ง มีพื้นที่นำเสนอแนวทางที่ชุมชนดำเนินการและประสบความสำเร็จผ่านสื่อของชุมชน เช่น การบอกกล่าว คุตบะฮฺหรือเทศนาธรรมทุกวันศุกร์ตามมัสยิดในชุมชน

การฝึกนำเสนอข้อมูลข่าวสารผ่านสิ่งพิมพ์สั้นๆแบบใบแจ้งข่าว หรือการประสานงานกับสื่อมวลชนในท้องถิ่น เช่น สถานีวิทยุชุมชน สถานีวิทยุและโทรทัศน์ให้มาทำข่าวเจาะลึกในประเด็นกิจกรรมที่ชุมชนได้ทำ

วิธีการเหล่านี้บางท้องถิ่นถือเป็นเรื่องใหม่และยุ่งยาก แต่ในความเป็นจริงเป็นเรื่องที่ต้องสร้างการเรียนรู้ร่วมกับคนทำสื่อในสาขาต่างๆ ซึ่งปัจจุบันความรู้ความสามารถเหล่านี้หาได้ไม่ยากนักในพื้นที่

เชื่อว่ากระบวนการนี้คณะทำงานโครงการสามารถจะประสานขอความร่วมมือและอยู่ในวิสัยที่ภาคอื่นๆ ได้รับรู้และสามารถร่วมในบางกิจกรรมได้

แนะรวมพลังตั้งสถาบันชุมชนศรัทธา

ควรหาแนวทางในการสนับสนุนให้เครือข่ายชุมชนศรัทธารวมตัวเป็นกันเป็น“สถาบันชุมชนศรัทธา”เพื่อเป็นศูนย์กลางการช่วยเหลือสนับสนุนแนวทางการพัฒนาเชิงวิชาการด้านการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง

โดยอาจประสานเครือข่ายทางวิชาการด้านการพัฒนาชุมชนร่วมกันในทุกองค์กรในประเด็นต่างๆของจังหวัดชายแดนภาคใต้ได้อยู่ใต้ร่มเดียวกัน เพื่อให้มีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ประสบการณ์ ความรู้ ทักษะที่พึงประสงค์และการแสวงหาแหล่งเงินทุน อีกทั้งยังเป็นองค์กรร่วมประสานให้องค์กรเล็กๆสามารถมีที่ยืนและพัฒนาตนเองได้ในที่สุด

ต้องมีแผนงานสร้างสันติภาพให้ได้

มีความจำเป็นอย่างยิ่งยวด ณ ขณะนี้คือ แผนงานในชุมชนจะต้องรุกไปข้างหน้าอย่างมั่นคง จะมีแนวทางและกระบวนการใดที่ตระหนักถึงกระบวนการสร้างสันติภาพให้เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว ซึ่งแนวทางที่ทุกชุมชนได้ปฏิบัตินั้น นับได้ว่าสามารถตอบโจทย์ความสามารถและศักยภาพของชุมชนในการแก้ปัญหาความไม่สงบได้

ดังนั้น เพื่อนำแนวทางนี้ไปสู่สันติภาพให้เกิดขึ้นในชุมชนได้ จึงจำเป็นต้องเดินหน้าแนวทางนี้อย่างเข้มแข็งและจริงจังให้มาก และลึกซึ้งยิ่งขึ้น โดยกำหนดให้ใช้พื้นที่เดิมเป็นหลักมากกว่าการเพิ่มพื้นที่ใหม่ที่ต้องอาศัยระยะเวลาและการทำความเข้าใจอีกมาก

เมื่อแต่ละชุมชนสามารถทำงานการพัฒนาของตนอย่างเป็นระบบแล้ว การขยายพื้นที่ให้กว้างขวางและเป็นระบบมากขึ้น จะต้องให้ชุมชนเครือข่ายชุมชนศรัทธาเดินหน้ากันเองเป็นหลัก ส่วนองค์กรภาคีคือองค์กรพี่เลี้ยงจะอยู่ห่างๆ และคอยสนับสนุนจุนเจือในสิ่งที่ชุมชนต้องการหรือเติมเต็มมากกว่าที่จะเป็นผู้มากกำกับ

ข้อขัดข้องต่างๆ เป็นวิทยปัญญา

ในสภาวะความไม่สงบและความรุนแรงในพื้นที่ซึ่งเป็นความไม่พึงประสงค์ของทุกคนและทุกชุมชน แต่ในทัศนะอิสลามถือว่าเป็นการทดสอบประการหนึ่งของพระเจ้า เมื่อเกิดเหตุร้ายอย่างหนึ่งขึ้นมา ก็ย่อมจะมีอีกหลายสิ่งหลายอย่างที่จะเป็นทางออกในการป้องกันและแก้ไขความเลวร้ายนั้นๆ เพื่อเป็นการทดสอบผู้นับถือศาสนาอิสลามว่ามีความเชื่อมั่นศรัทธามากขึ้นเพียงใด

อิสลามเรียกสภาวการณ์เช่นนี้ว่า “ฮิกมะฮ.” หรือ “วิทยปัญญา” เพราะเมื่อเกิดปัญหาและความไม่สงบขึ้น จะเปิดโอกาสให้พื้นที่แสวงหาทางออกที่ดีและเหมาะสม กรณีเช่นนี้เมื่อทำสิ่งใดอย่างตั้งใจและมีความพยายามเต็มกำลังจนประสบความสำเร็จ ก็ต้องเข้าใจว่าเป็นความสำเร็จได้รับการอนุมัติจากพระเจ้าแล้ว และทุกคนจะยอมรับและศรัทธามั่นต่อศาสนา

ในขณะเดียวกันเมื่อเกิดปัญหาอุปสรรคในการทำงานต่างๆจะถือเป็นการ “ทดสอบ” ซึ่งการสำรวมและตั้งมั่นในเจตนาและมีความพยายามอย่างเต็มที่ เพื่อหาทางออกที่อยู่บนพื้นฐานทางศาสนา

ดังนั้นการสร้างความเข้าใจอย่างถ่องแท้ในหลักศาสนาและนำแนวทางที่เหมาะสมกับสถานการณ์ ความเป็นไปของสังคมอย่างรอบคอบมาใช้ จึงทำให้กิจกรรมในโครงการนี้สามารถดำเนินการได้สำเร็จในหลายๆพื้นที่อย่างคาดไม่ถึง

แม้ว่าการขับเคลื่อนจะมีข้อจำกัดเรื่องความไม่สงบในพื้นที่ รวมทั้งการบังคับใช้กฎหมายพิเศษที่เป็นอุปสรรคก็ตาม แต่ชุมชนเป้าหมายส่วนใหญ่สามารถฟันฝ่าอุปสรรคและปัญหาข้างต้นได้ จนสามารถเป็นแบบอย่างแก่ชุมชนอื่นๆ ของประเทศต่อไปได้เป็นอย่างดี

ต้องหาคนแทน “อัฮหมัดสมบูรณ์”

นายแวรอมลี บูละ จากโครงการชุมชนศรัทธา กล่าวว่า เราขับเคลื่อนชุมชนเพื่อให้เกิดสันติภาพในชุมชน ตลอดจนสันติภาพของสังคม รวมไปถึงสันติภาพของชาติได้ เครือข่ายชุมชนศรัทธาจะเป็นผู้นำในกระบวนการการสันติภาพชายแดนใต้ หลายคนพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า โครงการของเราครบองค์ประกอบที่จะสามารถสร้างสันติภาพได้ แต่ยังมีข้อด้อยในบางเรื่อง

สันติภาพต้องมีนักเชื่อมต่อ

“เรายังคาดหวังกับสันติภาพได้อยู่ สื่อบางสำนักบอกว่าโครงการของเราตรงประเด็น และงานที่อาจารย์อัฮหมัดสมบูรณ์เขียนมาไม่ได้เขียนลอยๆ แต่สามารถปฏิบัติได้จริง แต่อาจารย์ต้องอยู่ดำเนินการกับเราด้วย แต่วันนี้อาจารย์ไม่อยู่แล้วและเรายังหาคนอย่างอาจารย์ไม่ได้ ซึ่งหายากมากสำหรับคนที่สามารถเชื่อมคนทั้งในระดับ Track 1, 2 และ 3 ได้ เพราะสันติภาพจะเกิดขึ้นได้ก็ด้วยคนทุก Track เห็นด้วย” นายแวรอมลี กล่าว

นางปรีดา คงแป้น ผู้จัดการมูลนิธิชุมชนไทย กล่าวว่า วันนี้เราเห็นการเรียนรู้ท่ามกลางการทำ เรามีพื้นที่สันติภาพในชุมชนแต่ต้องสื่อสารออกไปให้ได้ เมื่อชุมชนเริ่มต้นก็จะได้รับการหนุนต่อจากภายนอกได้

โต๊ะอิหม่ามยาโก๊ะ ตัวแทนชุมชนศรัทธา กล่าวว่า เราจะขับเคลื่อนชุมชนศรัทธาต่อไปอย่างไร? ความจริงคนทำงานด้านนี้มีอยู่ทั่วประเทศ เช่น ดะวะห์ตับลิฆ เราต้องไปอบรมเขาให้สามารถเชื่อมโยงการทำงานที่ใช้หลักศาสนาให้ได้

คลิกอ่านรายงานฉบับเต็ม
รายงานผลการประเมินโครงการการส่งเสริมบทบาทของประชาสังคมในการบรรเทาความยากจน (เครือข่ายชุมชนศรัทธา กัมปงตักวา จังหวัดชายแดนใต้) จัดทำโดย อัฮหมัดสมบูรณ์ บัวหลวง

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท