วันนี้ของ เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ คือรูปที่ถูกปลดจากข้างฝาเช่นเดียวกับรูปแห่งความล้าหลังอื่นๆ

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

วัฒน์ วรรลยางกูร  เขียนบันทึกจากดินแดนอื่น เท้าความแบ่งภาคภาวะกวีของ “เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์”  ศิลปินแห่งชาติ/สมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) และล่าสุด เจ้าของรางวัลอัศนี พลจันทร์  ว่าออกเป็น 4 ยุค ได้แก่ ยุคสายลมแสงแดด ยุคแผดรังสีกวีเพื่อชีวิต ยุคปะดิดปะดอยถ้อยคำ และยุคเขมือบขม้ำประโยชน์การเมือง

“เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ เริ่มจากเป็นนักกลอนสายลมแสงแดด คือในยุคเผด็จการสฤษดิ์-ถนอม

( พ.ศ.2500-2516) บรรดากวีการเมืองยุคก่อนปี 2500  เช่น นายผี, ทวีปวร, อุชเชนี, มนูญ มโนรมย์ และ จิตร ภูมิศักดิ์ ต่างถูกหักปากกา ต้องเข้าคุก ต้องลงใต้ดิน  หรือต้องปรับเปลี่ยนแนวเขียน  จึงเหลือแต่บทกลอนสายลมแสงแดด หรือกลอนหาผัวหาเมียที่ยังขับเคลื่อนไป  โดยเฉพาะพวกชมรมวรรณศิลป์ต่างๆ ทั้งในและนอกมหาวิทยาลัย  เนาวรัตน์เป็นนักกลอนฝีมือดีของชมรมวรรณศิลป์ ธรรมศาสตร์  ยุคสายลมแสงแดดมีนักกลอนฝีมือดีอีกมากหลาย บางคนอาจจะฝีมือกลอนดีกว่าเนาวรัตน์ด้วยซ้ำ แต่มีเนาวรัตน์คนเดียวที่ข้ามกำแพงยุคสายลมแสงแดดมาสู่ยุค “กวีเพื่อชีวิต” หลัง 14 ตุลาคม 2516 ข้ามมาได้เพียงคนเดียว อาจเป็นเพราะเขาสนิทชิดใกล้กับพวกน้องๆ นักศึกษาธรรมศาสตร์ในชมรมดนตรีไทย ซึ่งต่อมาได้ก่อตั้งวงดนตรีไทยเดิมชื่อ “วงต้นกล้า”  แสดงว่าเนาวรัตน์เป็นคนที่ไวต่อกระแส ปรับตัวได้เร็ว บวกมีพื้นฐานการเขียนกลอนมาช่ำชอง พอมารับแนวความคิดใหม่ จึงสามารถสร้างผลงานได้โดดเด่นกว่าใคร คือรวมบทกวีในชุด  “เพียงความเคลื่อนไหว”

การเป็นกวีไม่ได้อยู่ที่ใส่เสื้อชาวเล เป่าขลุ่ย ไว้ผมยาว วิญญาณกวีซึมซ่านอยู่ในตัวอักษร จำได้ว่ายุคหลัง 14 ตุลา เคยซาบซึ้งกับบทกวี  “ใบไม้ป่า” ของเนาวรัตน์ ที่เขียนความตายของจิตร ภูมิศักดิ์ หรือที่เขียนถึงชาวนาในชิ้น “คำขาดของทิดเที่ยง” เขียนถึงกรรมกรในชิ้น “กระทุ่มแบน” ที่บทจบดุเดือดยิ่งว่า 

“กระชากฟ้าห่าโหดโขมดทมิฬ  ฉีกเป็นชิ้นกระทุ่มขยี้ให้บี้แบน”

เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ เป็นกวีอย่างไม่ต้องสงสัย จากผลงานในชุด “เพียงความเคลื่อนไหว” อันรังสรรค์ขึ้นท่ามกลางยุคสมัยความตื่นตัวของวรรณกรรมเพื่อชีวิต หลัง 14 ตุลาคม 2516  

มาถึงยุคที่สาม เมื่อวันเวลาผ่านไป  เนาวรัตน์มาสู่ยุคปะดิดปะดอยถ้อยคำ ตัวอย่างคืองานเขียนชุด  “เขียนแผ่นดิน”  ของเขาที่มือใหม่หัดขับอยากเรียนรู้วิธีประดิดประดอยถ้อยคำก็ใช้งานชุดนี้ของเนาวรัตน์เป็นแบบเรียนได้  แต่ถ้าอยากเรียนรู้วิธีเล่นคำอย่างถึงกึ๋น ขอให้ศึกษาจาก “ร่ายยาวมหาเวสสันดรงชาดก” ฉบับโบราณ ที่เคยเป็นแบบเรียนภาษาไทยชั้นมัธยมปลาย

ผมเคยคุยกับเพื่อนกวีคนหนึ่ง คือไพบูลย์ วงษ์เทศ  ไพบูลย์เป็นกวีในดวงใจผมคนหนึ่ง อายุมากกว่าผมสักสองปี งานชุด “ความคิดสีขาว” และ “หมายเหตุร่วมสมัย” ของเขายอดเยี่ยมมาก  จำได้ว่าช่วงหลัง 6 ตุลา 2519 ผมอยู่ในป่า อ่านหมายเหตุร่วมสมัยของไพบูลย์แล้วขนลุก ปีติ มาได้คุยกับไพบูลย์เมื่อสักสองปีที่แล้ว เขาเห็นว่ากวีไม่ใช่นักวาดภาพวิวทิวทัศน์ การเขียนกวีไม่จำเป็นต้องไปนั่งเขียนตรงที่ที่เราจะเขียนถึง อันทำให้ผมกระหวัดคิดถืงเขียนแผ่นดิน แต่มองแง่ดีคือ แสดงว่าองค์กรหน่วยงานที่มีกะตุ้งกะตังค์ยังมีกะจิกะใจหางบให้กวีได้เดินทาง ไปนั่งเขียนหนังสือสบายๆ ก็โอเคนะ

  ยุคที่สี่ของเนาวรัตน์ คือยุคเขมือบขม้ำประโยชน์การเมือง  ช่วงปี 2544 เนาวรัตน์เขียนกลอนให้พรรคไทยรักไทย  พรรคนั้นก็นำบทกลอนไปพิมพ์ไวนิลติดเป็นที่บังแสงร้านค้าทั่วไป  เนาวรัตน์ได้ค่าเขียนหนึ่งแสนบาท โดยการประสานงานของ สุธรรม แสงประทุม อันนี้ก็อนุโมทนาด้วย ดีแล้วล่ะ กวีได้รับเกียรติจากพรรคการเมืองหรือจะได้รับเกียรติจากเหล้ารีเจนซี่ เรายินดีด้วย อย่างจริงใจนะ ไม่มีอารมณ์อื่น ทำไมกวีจะต้องไส้แห้งอย่างเดียวล่ะ จะเป็นผลประโยชน์จากฝ่ายการเมืองหรือธุรกิจ ขอให้เป็นไปโดยเปิดเผย ถูกทำนองคลองธรรม ย่อมไม่เสียหาย  หรือจะไปมีตำแหน่งทางการเมืองการบริหารอะไรก็ตามแต่อัธยาศัย แต่ว่า ยุคเขมือบขม้ำประโยชน์การเมือง มันเริ่มทะแม่งตั้งแต่เนาวรัตน์ไปร่วมสนับสนุนคณะรัฐประหาร ในปี 2549 ตามมาด้วยงบฯ ปฏิรูป 600 ล้าน ใต้อำนวยการของหมอประเวศ วะสี และอานันท์ ปันยารชุน โดยเนาวรัตน์เข้าไปรับงบประมาณทำการปฏิรูปวัฒนธรรม ยุคคลั่งไคล้ปฏิรูปของเนาวรัตน์มีตัวอย่างผลงานเขียนคือ “บทกลอนวันอาทิตย์” ที่เดลินิวส์ และคอลัมน์ในมติชนสุดสัปดาห์ ที่มีเนื้อหาต่อต้านการตื่นตัวของคนชั้นล่าง โดยมองว่าเป็นสมุนทักษิณและประทับตราผลการเลือกตั้งหลายๆ ครั้ง นับแต่ปี 2544 เป็นต้นมาว่า เสียงส่วนใหญ่เป็นโจร  ที่แย่คือเนาวรัตน์ไปอ้างวาทกรรมเสียงส่วนใหญ่เป็นโจรนี้ว่ามาจากหลวงพ่อพุทธทาส  จริงอยู่ ท่านพุทธทาสเคยพูดคำนี้  แต่เป็นบริบทอื่น เนาวรัตน์อ้างแบบนี้ก็เพื่อปิดกั้นการโต้แย้ง ที่จริงถ้าเนาวรัตน์จะอ้างวาทกรรมเสียงส่วนใหญ่เป็นโจร ต้องอ้างจาก "แมลงหวี่" แมลงหวี่ คือ ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช ผู้ร่วมก่อตั้งพรรคประชาธิปัตย์ พรรคนี้ต่อมาได้สมญาว่า “พรรคแมลงสาบ” คือแมลงหวี่ร่วมก่อตั้งพรรคแมลงสาบ  เรื่องของเรื่องคือ พรรคประชาธิปัตย์พ่ายแพ้ในการเลือกตั้งเมื่อปี 2489 แพ้ให้กับพรรคสหชีพ และพรรคแนวรัฐธรรมนูญของฝ่าย นายปรีดี พนมยงค์ พอเลือกตั้งสู้ไม่ได้ พรรคประชาธิปัตย์ก็เลยไปร่วมกับขุนศึก  ป.-ผิน- เผ่า ทำรัฐประหารโค่นรัฐบาลของพรรคฝ่ายนายปรีดี เมื่อ 8 พฤศจิกายน 2490 และช่วงเดือนพฤศจิกายนถึงเดือนธันวาคมปีเดียวกันนี้เอง  เสนีย์ ปราโมช ใช้นามปากกา “แมลงหวี่” เผยแพร่บทความยาวเหยียด เสนอวาทกรรมเสียงส่วนใหญ่เป็นโจร (จึงต้องรัฐประหาร)  รายละเอียดเรื่อง "แมลงหวี่" มีอยู่ในหนังสือ กวีปราบกบฏ ครับผม

ยุคเขมือบขม้ำประโยชน์การเมืองของเนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ มาสำแดงเด่นชัดเมื่อได้เป็นสมาชิก สภาปฏิรูปแห่งชาติ หรือ สปช. อันเป็นผลสืบเนื่องของรัฐประหาร 22 พฤษภาคม 2557  สมดังใจที่เขาเรียกร้องการปฏิรูป โดยให้มีตัวแทนกลุ่มอาชีพต่างๆ เข้าร่วม สมาชิกแต่งตั้งโดยคณะรัฐประหาร จะปฏิรูปอะไร เราเห็นแต่ทหารไปไล่จับบ่อนบ้าง ไล่จับชาวบ้านเลื่อยไม้ป่าบ้าง หรือขนาดจะห้ามขายลอตเตอรี่เกินราคายังล้มเหลวเลย หรือจะปฏิรูปด้วย คุณธรรม 12 ประการ จะทำได้อย่างไร ขนาด พรหมวิหาร 4 สี่ประการ ยังทำไม่ได้เลย ขี้เกียจขยายความในที่นี้

ฝูงวัวตาฟางที่เดินกันมาเป็นทิวแถว จะเดินไปทิศทางไหน ระวังนะ ข้างหน้ามีหุบเหวมรณะ

ฝูงวัวตาฟางจะปฏิรูปอะไร อันดับแรก ปฏิรูปดวงตาของท่านเองก่อน  ปัญหาหลักของสังคมการเมืองเศรษฐกิจวัฒนธรรมประเทศไทย คือระบบศักดินาตกค้างขัดขวางการพัฒนาในท่ามกลางโลกยุคใหม่ที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว  ปัญหาที่ต้องจัดการไม่ใช่แค่ "ปฎิรูป" แต่ต้อง "ปฏิวัติ"  คือต้องจัดการเรื่อง ความสัมพันธ์ระหว่าง “อำนาจราชา” กับ “อำนาจประชา”  ว่าจะอยู่ด้วยกันได้อย่างไร ให้บ้านเมืองเดินไปข้างหน้าได้ ไม่ใช่เอะอะก็รัฐประหาร พอประชาชนมาประท้วงก็โดนทหารทหารพระราชาแจกกระสุนให้

ทำอย่างไรจะควบคุมพวกที่อยู่รายรอบอำนาจราชา ซึ่งมีกิเลส ความอยาก แล้วใช้อำนาจราชาไปบรรลุความอยาก เช่น อยากเป็น นายกรัฐมนตรี โดยการปล้นอธิปไตยของปวงชน ประโยชน์การเมืองเล็กๆ น้อยๆ เช่น งบฯ ปฏิรูป ที่เนาวรัตน์ไปหามาและเจือจานเลี้ยงศิลปินน้อยใหญ่ให้ร่วมขบวนปฏิรูป เป็นเพียงเศษอาหารหว่านโปรยในสายน้ำให้ฝูงปลาเล็กปลาน้อยว่ายตาม

ล่าสุด เนาวรัตน์ ได้รับรางวัลอัศนี พลจันทร์ สำนวนไทยมีอยู่ว่าตายน้ำตื้น พูดเท่านี้ล่ะ นายผีคือกวีจำพวก "ปฏิวัติตลอดกาล" เช่นเดียวกับกวีอย่าง เปลื้อง วรรณศรี, จิตร ภูมิศักดิ์, ศรีบูรพา ไม่มีหรอกที่จะยอมเป็นฝูงปลาที่ว่ายไปตามเศษอาหารอันหว่านโปรยในกระแสน้ำ ถึงวันนี้  บนฝาผนังของกวี เนาวรัตน์คือรูปที่ถูกปลดจากข้างฝา  เช่นเดียวกับรูปแห่งความล้าหลังอื่นๆ”

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท