Skip to main content
sharethis
 
หลังจากวันที่ 2 ธันวาคม 2557 ได้มีการเจรจาเรื่องความขัดแย้งระหว่างเหมืองทองและชาวบ้านวังสะพุง โดยมีผู้ว่าราชการจังหวัดเลย ผู้บังคับการจังหวัดทหารบก ผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดเลย เป็นประธาน โดยตัวแทนบริษัทเหมืองแจ้งว่าจะถอนคดีที่ฟ้องร้องชาวบ้าน 8 คดี เพียงบางคนเท่านั้น ซึ่งทางชาวบ้านยืนยันว่าจะต้องถอนทั้งหมด 8 คดี และถอนพร้อมกันทั้งหมด 33 คนทุกคน ขณะที่ผู้ว่าราชการจังหวัดเลยได้ร้องขอให้รีบจบความขัดแย้งโดยให้บริษัทพิจารณาประเด็นของชาวบ้านไว้ หากไม่ถอนคดีทั้งหมด บริษัทก็ไม่ควรจะขนแร่ทั้งหมดออกไปเช่นกัน
 
ต่อมาวันที่ 4 ธันวาคม 2557 ที่ศาลากลางจังหวัดเลย ได้มีการร่วมลงนามข้อตกลง (MOU) ระหว่าง บริษัท ทุ่งคำ จำกัด กับ ชาวบ้านกลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิด  โดยมีนายวิโรจน์ จิวะรังสรรค์ ผู้ว่าราชการจังหวัดเลย เป็นประธานในการทำบันทึกข้อตกลง และมีเจ้าหน้าที่ทหาร ตำรวจ อุตสาหกรรมจังหวัดเลย และหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้องต่างๆ  พร้อมพยานอีก 4 คน หนึ่งในนั้นคือ นายวัชชิระ พรหมเทศ อัยการผู้เชี่ยวชาญภาค 4 
 
โดยในบันทึกข้อตกลงที่ทางบริษัทจัดทำมานั้นมีด้วยกัน 5 ข้อ 1. การถอนฟ้อง 2. การขนแร่ 3.การรื้อถอนสิ่งกรีดขวางทางเข้าออกบริษัทฯ บนทางถนนในหมู่บ้าน 4. การประกอบกิจการของบริษัท และ 5.การประพฤติผิดบันทึกข้อตกลง 
 
ทั้งที่ก่อนหน้านั้นข้อตกลงสำคัญในการเจรจาเมื่อวันที่ 2 ธันวาคม มีเพียง 2 เรื่อง คือการถอนฟ้อง 8 คดีที่ทางบริษัทฟ้องร้องชาวบ้านทั้งคดีแพ่งและคดีอาญาเพื่อแลกกับการขนแร่ออกไปขายของบริษัท 
 
ในวันเดียวกันนั้นหลังลงนามข้อตกลง (MOU) ช่วงเย็นของวันที่ 4 ธันวาคม 2557 แกนนำกลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิด ได้ประชุมหารือกันกับข้อตกลงดังกล่าว ซึ่งแกนนำหลายคนรู้สึกไม่สบายใจกับการลงนามที่เกิดขึ้น
 
วิรอน รุจจิไชยวัฒน์ หนึ่งในแกนนำกลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิด และผู้ถูกฟ้องคดีกล่าว เปิดเผยว่า ตนรู้สึกอึดอัดและไม่สบายใจในการไปที่ศาลากลางวันนี้ ส่วนตัวนั้นรู้สึกว่าชาวบ้านถูกมัดมือชกให้ต้องลงนามใน MOU เพราะมีสิ่งที่ไม่ชัดเจนในเนื้อหาหนังสือข้อตกลงที่ทางบริษัททำขึ้นมา ทางชาวบ้านก็พยายามที่จะเจรจาข้อให้มีการแก้ไขก่อนลงนาม เช่น เรื่องวันที่ในการถอนฟ้องนั้นระบุว่าจะมีการถอนคดีให้ในวันที่ 8 ธันวาคม 7 คดี และจะถอนฟ้องอีก 1 คดีในวันที่ 20 ธันวาคม และทางบริษัทจะมีการขนแร่ขึ้นในวันที่ 8-9 ธันวาคม ได้อย่างไรหากการถอนฟ้องคดียังไม่แล้วเสร็จ
 
"ทางชาวบ้านก็บอกให้บริษัทแก้ไข บริษัทก็อิดออด อ้างว่าทนายความไม่อยู่ ทำไม่ทัน เอกสารที่บอกให้ชาวบ้านเตรียมมาชาวบ้านก็ทำมาครบ แต่ทางบริษัทก็ไม่มีเอกสารอะไรมาเลยชาวบ้านจะวางใจได้อย่างไร  หากทางบริษัทเกิดเบี้ยวขึ้นมาชาวบ้านจะทำอย่างไร พอดีทางอัยการก็ช่วยพูดบอกว่ายุคนี้ทันสมัยแล้วหากจะทำก็ทำทัน ทางบริษัทจึงได้ออกไปทำ พอได้เอกสารแล้วชาวบ้านก็ตรวจสอบพบว่าในหนังสือนั้นไม่มีตราปั้มของบริษัทมาด้วยเลยทวงไปอีก ครั้งนี้ท่านผู้ว่าฯ กลับพูดต่อว่าชาวบ้านเหมือนว่าชาวบ้านนั้นเป็นตัวปัญหามาก ชาวบ้านจะพูดหรือแย้งอะไรก็ไม่ได้เลย"
 
"แล้วท่านผู้ว่าฯ ก็พูดว่า ‘ผมเอาตำแหน่งเป็นตัวประกันถ้าบริษัทไม่ทำตามข้อตกลง ผมต้องการที่จะถวายเป็นพระราชกุศล แล้วก็เอาสัญญานั้นไปลงนาม’ หลังจากนั้นก็ยื่นให้กับหน่วยงานต่างๆ ซึ่งสุดท้ายชาวบ้านต้องยอมลงนามในหนังสือ" นางวิรอน กล่าว
 
ภัทราภรณ์ แก่งจำปา ผู้รับมอบอำนาจของชาวบ้านกลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิด กล่าวเพิ่มเติมว่า เมื่อวานนี้พวกตนกลับบ้านมาด้วยความไม่สบายใจ รู้สึกอึดอัดกับหน่วยงานรัฐและบริษัท เหมือนว่าชาวบ้านเราโดนบีบบังคับให้ต้องยินยอม สิ่งที่เกิดขึ้นทำให้ทางชาวบ้านยังไม่ไว้วางใจเท่าไหร่ เหมือนว่าทางนั้นเขารู้กันแล้ว เราจำใจต้องเซ็น พอกลับมาก็เลยชวนชาวบ้านมาประชุมกันตอนเย็น ได้ข้อตกลงกันแล้วว่า วันที่ 8 ธันวาคมนี้ที่ทางบริษัทจะเข้ามาขนแร่ ชาวบ้านจะมีการตรวจเอกสารเรื่องถอนฟ้องคดีก่อน หากเอกสารไม่ครบและไม่เรียบร้อยเราจะไม่ยอมให้มีการขนแร่เกิดขึ้น
 
"ทั้งนี้ชาวบ้านยังยืนยันว่าการลงนามในสัญญาข้อตกลงหรือ MOU ครั้งนี้นั้นเป็นเพียงการยินยอมให้มีการขนแร่เพื่อแลกกับการถอนฟ้องคดี 8 คดีที่ทางบริษัทฟ้องร้องชาวบ้าน 33 คนเท่านั้น ไม่เกี่ยวกับการเปิดดำเนินการเหมืองของบริษัทแต่อย่างใด เนื่องจากผลกระทบที่เกิดขึ้นต่อชีวิต ชุมชน และสิ่งแวดล้อม เป็นเรื่องที่ทางบริษัทและหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้อง ต้องเร่งพิสูจน์และดำเนินการแก้ไขปัญหาผลกระทบที่เกิดขึ้นตามขั้นตอนกฎหมายเสียก่อนปัญหาถึงจะสามารถยุติได้จริง" ภัทราภรณ์ กล่าวทิ้งท้าย
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net