Skip to main content
sharethis

แอนดรูว์ บาเซวิช ผู้เชี่ยวชาญด้านประวัติศาสตร์การทหารและการทูตสหรัฐฯ เขียนบทความเกี่ยวกับสิ่งที่ทางการสหรัฐฯ กำลังหลอกตัวเอง ทั้งเรื่องการต่อต้านการก่อการร้าย ประเทศพันธมิตร อ่าวเปอร์เซีย และการวางกำลังกองทัพสหรัฐฯ ในตะวันออกกลาง


ทหารอเมริกันในอิรัก (2550)
ภาพโดย
The U.S. Army (CC BY 2.0)

5 ธ.ค. 2557 "อิรักแค่ไม่มีอยู่จริง" เป็นคำพูดจากปากของอดีตทหารสหรัฐฯ ที่เคยประจำการในอิรักคนหนึ่งที่เปิดเผยเพียงนามสมมติว่า 'เอ็ม' เขาเคยอยู่หน่วยปืนไรเฟิลที่เข้าไปรบในอิรัก 2 ครั้ง และกำลังวางแผนกลับไปอีกครั้งแต่ในคราวนี้ในฐานะนักวิจัยเรื่องสงครามอเมริกันในอิรัก

คำกล่าวอ้างเชิงเปรียบเปรยที่ชวนให้ตั้งคำถามนี้มาจากบทความของแอนดรูว์ บาเซวิช ผู้เชี่ยวชาญด้านประวัติศาสตร์การทหารและการทูตสหรัฐฯ ในเว็บไซต์ทอมดิสแพทช์ และ Foreign Policy In Focus (FPIF) เป็นคำพูดที่ชาวอเมริกันบางคนคงไม่เชื่อง่ายๆ นักข่าวอเมริกันคริส เฮดจ์ เคยกล่าวไว้ว่าชาวอเมริกันบางกลุ่มมองประเทศอิรักเป็นประเด็นที่ทำให้ชีวิตพวกเขามีความหมาย และกลายเป็นของรางวัลไม่รู้จบสำหรับกลุ่มอุตสาหกรรมด้านการทหาร

คนกลุ่มดังกล่าวนี้มีจินตนาการว่าภาคส่วนต่างๆ ของอิรักล้วนทำหน้าที่ของมันเองเช่นรัฐบาลอิรักทำหน้าที่บริหาร กองทัพอิรักเป็นตัวแทนการรบ ประชาชนอิรักมองว่าพวกตนเป็นชุมชนที่แน่นแฟ้นและมีอดีตและอนาคตในจินตนาการร่วมกัน

แต่จากสถานการณ์ความมั่นคงในประเทศแถบอิรักในปัจจุบันซึ่งรวมถึงการเติบโตของกลุ่มติดอาวุธ 'ไอซิส' หรือ 'ไอเอส' ก็แสดงให้เห็นว่าความพยายามเปลี่ยนแปลงประเทศอิรักตามจินตกรรมของสหรัฐฯ ไม่ได้ทำให้เกิดความมั่นคงยั่งยืนจริง ในบทความของบาเซวิชระบุว่าการแทรกแซงทางการทหารของสหรัฐฯ เป็นตัวจุดประกายให้กลุ่มไอซิสเติบโตขึ้นมาด้วยซ้ำ

บาเซวิชระบุว่าเรื่องจินตนาการนี้แม้กระทั่งคอลัมนิสต์ของวอชิงตันโพสต์ชื่อ เดวิด อิกนาติอุส ผู้ที่มีข้อมูลและมีวิจารณญาณยังหลงยึดติดว่าอิรักจะสามารถมีการเมืองมั่นคง กองทัพมีประสิทธิภาพ และมีสังคมที่เชื่อมเป็นหนึ่งเดียว โดยอิกนาติอุสพยายามเสนอว่าสหรัฐฯ ควรสนับสนุนให้อิรักมีรัฐบาลที่สะอาดบริสุทธิ์และยึดในนิกายศาสนาน้อยกว่านี้ พยายามชนะใจกลุ่มชาวเคิร์ด และสร้างความเชื่อมั่นจากชาวนิกายซุนนีคืนมาให้ได้ ซึ่งทั้งหมดนี้บาเซวิชมองว่าเป็นได้แค่ความหวังเท่านั้น

สำหรับบาเซวิชแล้วคำกล่าวของเอ็มไม่เพียงชวนให้ฉุกคิดเรื่องนโยบายของสหรัฐฯ ต่ออิรักเท่านั้น แต่เขาคิดว่าทางการสหรัฐฯ ดำเนินนโยบายเกี่ยวกับภูมิภาคตะวันออกกลางด้วยสิ่งที่พวกเขาจินตนาการไปเองเช่นกัน

ในบทความของบาเซวิชระบุถึงเรื่องที่ทางการสหรัฐฯ หลอกตัวเอง 5 เรื่อง ได้แก่
1) การมีอยู่ของกองกำลังสหรัฐฯ ในประเทศโลกอิสลามจะทำให้เกิดเสถียรภาพในระดับภูมิภาคและช่วยส่งเสริมอิทธิพลของอเมริกัน
2) อ่าวเปอร์เซียมีความสำคัญต่อผลประโยชน์ด้านความมั่นคงของชาติสหรัฐฯ
3) อียิปต์และซาอุดิอาระเบียเป็นพันธมิตรกับสหรัฐฯ ที่มีคุณค่าและมีความสำคัญ
4) สหรัฐฯ และอิสราเอลมีผลประโยชน์ไปในทิศทางเดียวกัน
5) การก่อการร้ายเป็นต้นเหตุของภัยคุกคามที่มีอยู่ซึ่งสหรัฐฯ จะต้องเอาชนะให้ได้

ข้อที่ 1-4 เป็นสิ่งที่ทางการสหรัฐฯ คิดมาหลายสิบปีแล้ว แต่หลังจากเหตุการณ์ 9/11 ก็มีความคิดแบบข้อที่ 5 เพิ่มขึ้นมา โดยยังไม่ทันได้กลับมาพิจารณาข้อที่ 1-4 บาเซวิชมองว่าทั้ง 5 ข้อนี้เป็นความเชื่อที่ผิด โดยมีการแจกแจงในบทความดังนี้

ข้อที่ 1 เรื่อง "การมีอยู่ของกองกำลังสหรัฐฯ ในประเทศโลกอิสลาม" นับตั้งแต่การแทรกแซงเลบานอนจนนำไปสู่การทิ้งระเบิดในเบรุตเดือน ต.ค. 2526 จนทำให้มีกองกำลังสหรัฐฯ ในประเทศมุสลิมต่างๆ ก็ทำให้เกิดเสถียรภาพน้อยมาก และยิ่งกว่านั้นในบางกรณียังทำให้เกิดผลตรงกันข้าม พลโทปลดเกษียณของกองทัพสหรัฐฯ แดเนียล โบลเกอร์ ได้เขียนหนังสือชื่อ "ทำไมเราถึงแพ้" ซึ่งเผยแพร่เมื่อไม่นานมานี้มีเนื้อหาในเชิงยอมรับว่าการแทรกแซงของสหรัฐฯ ล้มเหลวในแง่การสร้างเสถียรภาพ

มีการยกตัวอย่างในบทความนอกจากการเติบโตของกลุ่มกองกำลังติดอาวุธไอซิสที่ควบคุมการผลิตฝิ่นแล้ว ยังมีตัวอย่างที่สะท้อนให้เห็นความล้มเหลวอื่นๆ เช่น กรณีการวางกองทัพสหรัฐฯ ในซาอุดิอาระเบียช่วงหลัง 'ปฏิบัติการพายุทะเลทราย' นำไปสู่เหตุการณ์วางระเบิดอาคารที่พักอาศัยโกบาร์ทาวเออร์ ซึ่งมีผู้เสียชีวิตเป็นทหารอากาศสหรัฐฯ 19 ราย อีกตัวอย่างหนึ่งคือกรณีที่มีการส่งหน่วยจีไอเข้าไปในโซมาเลียเมื่อปี 2535 ในภารกิจช่วยเหลือทางมนุษยธรรมแก่คนจนก็กลับทำให้เกิดการสู้รบในกรุงโมกาดิชู ซึ่งมีชื่อเรียกเหตุการณ์ว่า "แบล็กฮอว์กดาวน์" ทำให้ภารกิจของพวกเขาล้มเหลว

แม้ว่าการวางกองกำลังทหารสหรัฐฯ ในบางพื้นที่สำคัญของตะวันออกกลางจะทำให้ปัญหาในพื้นที่ดูสงบลง แต่ก็เป็นการทำให้ศัตรูมีเป้าหมายโจมตีสำคัญเป็นชาวอเมริกันเอง

ข้อที่ 2 "ความสำคัญของอ่าวเปอร์เซีย" แม้ว่าก่อนหน้านี้อ่าวเปอร์เซียอาจจะมีความสำคัญต่อผลประโยชน์ของสหรัฐฯ แต่สถานการณ์พลังงานโลกที่เปลี่ยนไปทำให้แนวคิดนี้ไม่เป็นจริงอีกต่อไป โดยก่อนหน้านี้ในช่วงคริสต์ทศวรรษที่ 1980 ประธานาธิบดีจิมมี คาร์เตอร์ ประกาศสู้รบในพื้นที่อ่าวเปอร์เซียยังคงสำคัญเนื่องจากแรงจูงใจด้านพลังงาน เพราะคิดว่าสหรัฐฯ ต้องพึ่งพาด้านพลังงานจากพื้นที่ดังกล่าว แต่เทคโนโลยีในปัจจุบันทำให้สหรัฐฯ กลายเป็นผู้ผลิตน้ำมันรายใหญ่ของโลกโดยต้องแลกมากันการทำลายสิ่งแวดล้อม

แม้ว่าทรัพยากรน้ำมันในอ่าวเปอร์เซียจะยังคงสำคัญสำหรับบางประเทศ แต่ไม่ใช่สำหรับสหรัฐฯ วิถีชีวิตแบบอเมริกันที่ใช้พลังงานอย่างฟุ่มเฟือยทำให้พื้นที่อย่างเท็กซัสและนอร์ทดาโกตาซึ่งเพิ่งมีการค้นพบแหล่งน้ำมันถือว่ามีความสำคัญมากกว่าซาอุดิอาระเบียและคูเวตในแง่พลังงาน ขณะที่แคนาดาก็มีทรัพยากรหินน้ำมันจำนวนมาก เช่นเดียวกับทรัพยากรน้ำมันในเวเนซุเอลา แทนที่จะกังวลกับการผลิตน้ำมันของอิรักหรืออิหร่าน

บาเซวิชเสนอว่าถ้าหากกลุ่มประเทศอ่าวเปอร์เซียต้องการการดำเนินนโยบายจากภายนอกก็สมควรจะเป็นงานของทางการจีนอาสาทำให้มากกว่า ซึ่งจะทำให้ไม่เกิดความปั่นป่วน

ข้อที่ 3 "อียิปต์และซาอุดิอาระเบียในฐานะพันธมิตรสหรัฐฯ" บาเซวิชมองว่าถึงเวลาแล้วที่สหรัฐฯ จะต้องปรับความสัมพันธ์กับทั้ง 2 ประเทศ เพราะทั้ง 2 ประเทศไม่ได้มีคุณค่าร่วมกันใดๆ ให้ทางการสหรัฐฯ เข้าไปผูกติดอยู่ด้วย

ซาอุดิอาระเบียเป็นประเทศที่ปกครองใกล้เคียงกับระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์และส่งเสริมแนวคิดต่อต้านตะวันตกแบบหัวรุนแรงมาหลายสิบปีแล้ว ในเหตุการณ์โจมตี 9/11 ก็มีคนปฏิบัติการยึดเครื่องบินเป็นชาวซาอุดิอาระเบีย 15 คน จากทั้งหมด 19 คน

ขณะที่อียิปต์ซึ่งเป็นประชาธิปไตยได้ไม่นานก็กลับกลายเป็นเผด็จการทหารที่ไม่มีค่าจะให้สหรัฐฯ เปลืองงบประมาณช่วยเหลือทางการทหารถึงหลายพันล้านดอลลาร์

ข้อที่ 4 "อิสราเอลกับสหรัฐฯ มีผลประโยชน์ไปในทิศทางเดียวกัน" แม้ว่าอิสราเอลกับสหรัฐฯ จะมีผลประโยชน์ร่วมกันบางส่วน แต่การแก้ปัญหาความขัดแย้งอิสราเอล-ปาเลสไตน์ ด้วยวิธีการแบ่งเป็นสองรัฐ (two-state solution) ไม่ใช่สิ่งที่ทั้งอิสราเอลและสหรัฐฯ มีร่วมกันแน่นอน ทางการทั้ง 2 ประเทศมีความเห็นไม่ตรงกันอย่างมากในเรื่องนี้และอาจจะถึงขั้นประนีประนอมไม่ได้

ทางการอิสราเอลมองเรื่องความมั่นคงมาก่อน การยอมรับรัฐปาเลสไตน์จะทำให้พวกเขาไร้การป้องกัน มีอธิปไตยที่จำกัด และมีความสามารถทางเศรษฐกิจระดับต่ำ เรื่องนี้แสดงให้เห็นจากการพยายามขยายเขตแดนของอิสราเอลในขณะที่ทางการสหรัฐฯ คัดค้าน

แน่นอนว่าอิสราเอลมีสิทธิ์และมีพันธะหน้าที่ต้องทำให้ประชาชนของตัวเองมีความเป็นอยู่ที่ดี ทางการสหรัฐฯ ก็มีหน้าที่แบบเดียวกันคือเป็นตัวแทนของชาวอเมริกัน ซึ่งหมายความว่าจะต้องไม่กลายเป็นผู้ที่เปิดทางให้กับอิสราเอลในเวลาที่อิสราเอลปฏิบัติในทางขัดแย้งกับผลประโยชน์ของสหรัฐฯ

บาเซวิชระบุว่า "กระบวนการสันติภาพเป็นเพียงเรื่องกุขึ้น" สหรัฐฯ จึงไม่ควรยืนกรานเสแสร้งในเรื่องนี้อีกต่อไป

ข้อที่ 5 "การก่อการร้าย" ในมุมมองของบาเซวิช การก่อการร้ายเป็นสิ่งที่ไม่สามารถกำจัดให้หายไปได้ เช่นเดียวกับอาชญากรรมและโรคภัยไข้เจ็บ แต่สิ่งที่ควรจะทำคือการลดระดับความรุนแรงให้อยู่ใน "ระดับที่รับได้" โดยต้องลงทุนลงแรงอย่างเหมาะสมและสมดุลกับภัยที่เกิดขึ้นจริงในตอนนี้ การวางเป้าหมายสูงเป็นเรื่องที่ดี แต่ต้องเตรียมใจว่าผลลัพธ์ที่ตามมาอาจจะไม่ถึงขั้นนั้น และผู้นำสหรัฐฯ ทั้งสายกองทัพและสายพลเรือนควรยอมรับอย่างตรงไปตรงมาในเรื่องที่ว่าการก่อการร้ายอาจจะไม่หมดไป

บาเซวิชระบุว่า เอ็ม เพื่อนของเขากำลังแตะต้องปัญหาที่ใหญ่เกินกว่าที่เขาจะจัดการได้ เขาเป็นคนจำพวกที่อยู่ใน "ชุมชนที่ยึดถือความจริง" ซึ่งหมายถึงคนที่แสดงความคิดเห็นจากการสังเกตการณ์มากกว่าจะใช้ความเชื่อ, การคาดเดา หรืออุดมการณ์ ซึ่งเป็นสิ่งที่ต่างจากคนของทางการสหรัฐฯ ตอนนี้ที่ไม่มีเวลาให้กับความจริง และกำลังหลงทางอยู่ในโลกของตัวเอง


เรียบเรียงจาก

Five Lies Washington Tells Itself about the Middle East, 28-11-2014
http://fpif.org/malarkey-potomac/

ข้อมูลเพิ่มเติมจาก

http://en.wikipedia.org/wiki/Khobar_Towers_bombing
http://en.wikipedia.org/wiki/Battle_of_Mogadishu_(1993)
http://en.wikipedia.org/wiki/Reality-based_community
https://sipa.columbia.edu/faculty/andrew-j-bacevich

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net