Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

 

ผมขอขอบคุณผู้จัดที่ให้เกียรติชวนผมมาคุยในวันนี้ แม้ผมจะไม่ได้มีประสบการณ์ตรงในการทำงานร่วมกับสมัชชาคนจน แต่ในฐานะคนที่สนใจติดตามข่าวคราวความเคลื่อนไหวของคนจน คนด้อยโอกาส และทำงานพัฒนาชนบทมาบ้างก่อนที่จะมาสอนหนังสือ ผมคงพอมีประเด็นแลกเปลี่ยนอยู่บ้าง ตามสติปัญญาจะอำนวย

ผมขอเริ่มจากความเชื่อโดยพื้นฐานก่อนคือ ผมเชื่อว่า ความยากจน คนจน ความเหลื่อมล้ำ ระหว่างคนจนกับคนรวยนั้น มีส่วนอย่างมากจากการกำหนดนโยบายของรัฐ ดังนั้นการเข้าไปมีอิทธิพลต่อนโยบายรัฐ ไม่ว่าจะโดยอ้อมที่ผ่านกระบวนการเลือกตั้งพรรคการเมืองเข้าไปเป็นรัฐบาล หรือ โดยทางตรง ที่ผ่านกระบวนการพูดคุย เจรจา ประท้วง ต่อรองกับภาคปฏิบัติของนโยบายรัฐ ผมถือว่าเป็นการฟื้นฟูประชาธิปไตยทั้งสิ้น และก็เชื่อว่าประชาธิปไตยทั้ง 2 รูปแบบ จะช่วยทำให้คำแถลงของสมัชชาคนจนที่ว่า “เราต้องการประชาธิปไตยที่กินได้ และการเมืองที่เห็นหัวคนจน”เข้าใกล้ความเป็นจริงได้มากขึ้นเรื่อยๆ [2]

ที่กล่าวไปนั้นหากมองผ่านเรื่องของอำนาจ เราอาจพูดได้ว่า ประชาธิปไตยแบบหนึ่งเป็นแบบที่เราอยากจะสร้างอำนาจนำ คือลงคะแนนให้ตัวแทนของเราเข้าไปมีอำนาจในรัฐ แล้วใช้อำนาจรัฐทำกฎหมายและนโยบายเพื่อแก้ไขปัญหาต่างๆ ที่มันไม่ชอบธรรมไม่เป็นธรรมขณะที่อีกแบบหนึ่งเป็นแบบที่เราเรียกมันว่า เป็นการต่อรองอำนาจ อ้อล้อกับอำนาจรัฐ ไม่ให้มันถูกใช้อย่างไม่เห็นหัวเรา ไม่ให้มันถูกใช้เพื่อผลประโยชน์ของคนบางกลุ่ม บางพวกเท่านั้น

ซึ่งในตอนท้าย ผมคงต้องวกกลับมาเพื่อตั้งคำถามว่าแล้วต่อจากนี้ในท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจสังคมที่รอบด้าน ไม่เหมือนเดิม และความอ่อนล้าของ สมัชชาคนจน ขบวนคนจน หรือรวมถึง พี่เลี้ยง NGO และนักวิชาการเราจะเลือกใช้อำนาจในรูปแบบใดเพื่อฟื้นฟูประชาธิปไตย

 

ผมขอเริ่มต้นจากมุมมองระดับกว้าง เพื่อยืนยันว่า คนจนต่างหากที่มีทัศนะและปฏิบัติการต่อประชาธิปไตยอย่างเข้มข้นมาโดยตลอด ซึ่งเอาเข้าจริงคงมากกว่าที่ผมมีเสียด้วยซ้ำ งานวิจัยนี้ปรากฏอยู่ในหนังสือชื่อ Poverty, Participation, and Democracy: A Global Perspective ซึ่งมี อนิรุธกฤษณะ (Anirudh Krishna) เป็น บก. (2008) และเป็นทีมที่ทำงานวิจัยเชิงสำรวจเกี่ยวกับการสนับสนุนระบอบประชาธิปไตยของคนยากคนจนในประเทศที่ยังมีเศรษฐกิจไม่ดี ครอบคลุมตัวอย่างทั้งหมด 24 ประเทศจาก 3 ทวีป ได้แก่ ทวีปเอเชีย แอฟริกา และอเมริกาใต้

ผลการศึกษาแสดงให้เห็นว่าคนจนในประเทศกำลังพัฒนาไม่ได้ให้คุณค่าแก่ประชาธิปไตยด้อยไปกว่าคนที่มีฐานะทางเศรษฐกิจดีกว่าในประเทศเดียวกัน ขณะที่ มีความศรัทธาต่อระบอบประชาธิปไตยของคนจนเท่าๆ กับประชาชนกลุ่มอื่นๆ และคนจนยังมีส่วนร่วมในกิจกรรมทางการเมืองไม่ได้แตกต่างจากคนกลุ่มอื่นๆ ในสังคมเดียวกันมากนัก  นักวิจัยยังชี้อีกว่า แม้ว่าอิทธิพลทางการเมืองของความสัมพันธ์เชิงอุปถัมภ์ยังคงไม่หมดไป แต่มันกำลังเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางที่ความเป็นพลเมืองในสังคมประชาธิปไตยได้ค่อยๆ ปลูกฝังอยู่ในสำนึกและมีแนวโน้มที่จะพัฒนาดีขึ้นในระยะยาว[3]

เสียดายงานชิ้นนี้ไม่ได้มาทำในเมืองไทย

แต่รูปธรรมในช่วงเกือบ 2ทศวรรษที่ผ่านมา ผมเห็นว่าขบวนการสมัชชาคนจนได้สร้างคุณูปการต่อการเปิดพื้นที่ของสิ่งที่เรียกว่า ประชาธิปไตยที่กินได้ให้กับสังคมไว้แล้ว โดยขบวนการชาวบ้านได้เข้าไปเรียกร้อง ต่อต้าน เดินขบวนเพื่อคัดค้านโครงการพัฒนาขนาดใหญ่ ซึ่งจะมีผลกระทบต่อวิถีชีวิตตนเอง ไม่ว่าจะเป็นเขื่อน นิคมอุตสาหกรรม โรงแยกกาซ โรงไฟฟ้า เหมือง ที่ดิน ป่าไม้ การค้าระหว่างประเทศ ยา  เรื่องราวเหล่านี้มันได้โผล่ปรากฏบนสื่อทุกชนิด มันช่วยเปิดพื้นที่การรับรู้ของคนหนุ่ม คนสาว คนในเมือง ให้เห็นประชาธิปไตยในทางปฏิบัติที่สามารถเกิดขึ้นได้ในชีวิตประจำวัน ซึ่งคนธรรมดาทั่วไปจะสามารถเข้าไปมีส่วนอย่างแท้จริงในกระบวนการพัฒนาประเทศ แม้ว่ามันจะเป็นเรื่องลำบากแสนสาหัส และมีคนบางส่วนเห็นว่าเป็นการขัดขวางความเจริญของประเทศก็ตาม

จนถึงปัจจุบัน ปฏิบัติการของประชาธิปไตยเช่นที่ว่านี้ ได้แพร่กระจายผ่าน social media อย่างรวดเร็ว ไม่ว่าจะเป็นกรณีเหมืองทองที่เลย ที่พิจิตร โรงไฟฟ้าในภาคใต้ ท่าเรือน้ำลึกปากบารา เชพรอน ที่นคร รวมถึงกรณีการเคลื่อนไหวเพื่อเรียกร้องกฎหมาย 4 ฉบับ โดยเฉพาะเรื่องที่ดิน  ผมเห็นว่ามันเป็นบทเรียนสำคัญที่สังคมไทยจะได้เรียนรู้ประชาธิปไตยทางตรงที่มากขึ้น และทำความเข้าใจว่า มันเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานที่ปัจเจกจะสามารถทำได้ภายใต้บทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ ซึ่งถูกฉีกไปเมื่อ 6 เดือนก่อน

มากไปกว่านั้นในการเปิดพื้นที่เจรจาต่อรองบนท้องถนน นับตั้งแต่ปี 2545 เป็นต้นมา เมื่องานวิจัยไทบ้านเล่มแรกในชื่อ “แม่มูน: การกลับมาของคนหาปลา” ถูกเผยแพร่ออกมาโดย เครือข่ายแม่น้ำเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (ตุลาคม 2545) ยิ่งทำให้การเคลื่อนไหวของขบวนการคนจนเพื่อการต่อรองต่างๆ มีน้ำหนักมากยิ่งขึ้น เพราะมีข้อมูลจากการทำงานวิชาการของชาวบ้านในนาม“การวิจัยไทบ้าน” มาสนับสนุนโดยเฉพาะการแสดงให้เห็นถึงความสมบูรณ์ของระบบนิเวศและผลกระทบที่จะเกิดต่อชีวิตความเป็นอยู่จากการดำเนินโครงการเพราะบ่อยครั้งก็ต้องยอมรับว่าการเรียกร้องคัดค้านของชาวบ้านมักถูกมองจากคนอยู่ไกลพื้นที่ ว่าเป็นเพียงความรู้สึก และไม่น่าเชื่อถือ

งาน“แม่มูน: การกลับมาของคนหาปลา”ชิ้นนี้ ชี้ให้เห็นผลกระทบทางบวกของพันธุ์ปลาที่กลับมาภายหลังการเปิดประตูเขื่อนปากมูล กล่าวคือ ถ้าไม่มีการเคลื่อนไหวของขบวนการของสมัชชาและไม่มีงานวิจัยไทบ้าน ก็คงจะมีแต่งานวิจัยจากสถาบันวิชาการ จากมหาวิทยาลัยที่จะใช้ชี้ชะตาเรื่องการการเปิดหรือปิดประตูเขื่อนเท่านั้น และก็คงไม่มีบทสนทนา ไม่มีการต่อรองทางนโยบายเกิดขึ้น

จากนั้นมา กล่าวได้ว่า งานวิจัยไทบ้านถูกนำไปใช้งานอย่างกว้างขวาง อาทิ “งานวิจัยไทบ้าน วิถีแม่น้ำ วิถีป่าของปกากญอ สาละวิน” เป็นงานวิจัยที่ทำโดยนักวิจัยปกากญอ สาละวิน เพื่อใช้เป็นข้อมูลในการเจรจาต่อรองกับการสร้างเขื่อนสาละวินในฝั่งไทย และโครงการผันน้ำสาละวิน หรือ “งานวิจัยไทบ้านเชียงของ-เวียงแก่น”และ “งานวิจัยไทบ้านแก่งเสือเต้น” เป็นต้น แม้ว่าทั้งหมดอาจไม่ได้นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงของโครงการขนาดใหญ่ทุกโครงการก็ตาม แต่อย่างน้อยมันได้สร้างบทสนทนากับกระบวนการพัฒนาประเทศกระแสหลัก และสื่อสารกับสังคมส่วนที่เหลือ อย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน

เหล่านี้ ผมเห็นว่าน่าจะเป็นสิ่งเดียวกับที่ อ.ประภาส ได้เคยเขียนบทความเรื่อง การขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะโดยภาคประชาสังคม ว่าเป็น กระบวนการนโนบายแบบปรึกษาหารือ หรือถกแถลง (deliberative policy)[4] ในกระบวนการปรึกษาหารือเช่นนี้ย่อมมีแต่จะส่งเสริมให้เกิดการบรรยากาศประชาธิปไตยที่กินได้ ประชาธิปไตยที่เห็นหัวกันและกันมากยิ่งขึ้น นอกจากนี้ ในงานศึกษาเรื่อง “ผลสะเทือนจากการต่อสู้ของขบวนการคนจนและคนด้อยอำนาจในสังคมไทย ตั้งแต่ปี 2531–2549”ของ เอกพล เสียงดัง ซึ่งได้รับรางวัลวนิดา ตันติวิทยาพิทักษ์สำหรับวิทยานิพนธ์เพื่อคนจน (2551) ก็ได้ยืนยันคุณูปการของขบวนการเคลื่อนไหวของคนจนต่อความเป็นประชาธิปไตยในลักษณะเช่นนี้ ไว้เช่นกัน[5]

ผลสืบเนื่องของงานวิจัยไทบ้านในทศวรรษก่อน ผมคิดว่ามันช่วยขยายอาณาบริเวณของการวิจัยที่ให้ชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบจากโครงการขนาดใหญ่เข้ามามีบทบาทในการวิจัยด้วย และน่าจะมีอิทธิพลทางความคิดต่อการพัฒนาเครื่องมือการวิจัยอย่าง การประเมินผลกระทบทางสุขภาพโดยชุมชน หรือ CHIA (Community Health Impact Assessment)ซึ่งริเริ่มโดยสำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ และได้ถูกสถาปนาในฐานะเครื่องมือวิจัยของชาวบ้านที่มีที่ยืนทางกฎหมายและนโยบาย(อย่างน้อยก็ใน พ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติ) และอย่างที่กล่าวแล้วในข้างต้น แม้ว่า ผลของการทำงานวิจัยจะไม่สามารถหยุดยั้งโครงการที่จะมีผลกระทบต่อสุขภาพและวิถีชีวิตได้ทุกโครงการ แต่ก็มีบางโครงการพัฒนาขนาดใหญ่ที่ต้องยอมแพ้ต่อเหตุผล และข้อมูลงานวิจัยจากชาวบ้าน เช่น โครงการก่อสร้างท่าเทียบเรือและศูนย์สนับสนุนการปฏิบัติงานสำรวจและผลิตปิโตรเลียมในอ่าวไทย ของ เชพรอน ที่ท่าศาลา  หรือ กรณีโรงไฟฟ้าถ่านหิน 600 เมกะวัตต์ ที่ เขาหินซ้อน หรือ กรณีเหมืองทอง ที่ จ.เลย ที่นำมาสู่ข้อถกเถียงใหญ่ในขณะนี้ เป็นต้น

นอกจากนี้ ผมยังเห็นว่า ขบวนการคนจนที่เข้มแข็งในช่วงที่ผ่านมา มีส่วนอย่างมากที่ทำให้ พรรคไทยรักไทยก้าวขึ้นเป็นรัฐบาลในปี 2544 และแม้ว่าในที่สุด พรรคไทยรักไทย กับ ขบวนการคนจนจะแยกไปคนละทาง [6] แต่นั่นก็ไม่ได้ทำให้ข้อเท็จจริงที่ว่า พลังของขบวนการคนจน สามารถมีอิทธิพลและมีส่วนในการกำหนดนโยบายที่เอื้อต่อการสร้างความเท่าเทียม และการแก้ไขปัญหาความยากจนผ่านคูหาการเลือกตั้งนั้นดูเบาบางลงไป

แต่อย่างที่ผมชวนให้ตั้งข้อสงสัยไว้ในตอนต้น ถึงการเปลี่ยนแปลงของยุคสมัย ของสถานการณ์เศรษฐกิจและสังคม และของรุ่นคน และความอ่อนล้าของขบวนคนจนและพี่เลี้ยง ซึ่งผมจะขอขยายความสักเล็กน้อย

โดยการเปลี่ยนแปลงแรกที่ผมขอพูดถึง คือ สภาพการณ์ของคนจนในวันนี้ มีความแตกต่างจากเมื่อ 2 ทศวรรษที่แล้วอย่างมาก ตัวเลขทางสถิติชี้ให้เห็นว่า สังคมไทย มีคนจน และความยากจน ที่ลดลง ไม่ว่าจะเป็นการวัดจาก รายได้ตามเส้นความยากจน  หรือ จะวัดจากรายจ่ายเพื่อการบริโภค โดยในปี 38 เรามีคนจนประมาณ 9-10 ล้านคน แต่ในปีนี้ คนจนลดลงเหลือไม่ถึง5 ล้านคน[7](แม้ว่าตัวเลขจากแต่ละแหล่งข้อมูลจะไม่ตรงกัน แต่มันมีแนวโน้มลดลงต่อเนื่อง) ในขณะที่ความรุนแรงของความยากจนในกลุ่มประชากรที่ใช้ชีวิตอยู่ภายใต้เส้นความยากจนในปีปัจจุบัน ก็พบความรุนแรงของความยากจน น้อยกว่า ประชากรที่ใช้ชีวิตอยู่ภายใต้เส้นความจนในปี 2538 เช่นกัน[8]

หรือ งานศึกษาของ อ.อภิชาติ อ.ยุกติ และ อ.นิติ ใน ทบทวนภูมิทัศน์การเมืองไทย[9] ก็ชี้ให้เห็นว่า สังคมไทยในรอบ 20 ปีที่ผ่านมา ได้เกิดชนชั้นใหม่ขึ้นมา เรียกว่า “ชนชั้นกลางรุ่นใหม่” ซึ่งเป็นผลจากการเติบโตทางเศรษฐกิจจึงทำให้ความยากจนลดลงไปมาก ส่วนชนชั้นใหม่นี้จะมีประมาณ 40% ของครัวเรือนไทยในปี 2552ซึ่งถือได้ว่าเป็นผู้มีสิทธิ์ออกเสียงกลุ่มใหญ่ที่สุดของสังคม ชนชั้นกลางใหม่ ซึ่งเกิดมาในช่วงที่รัฐธรรมนูญปี 2540 เปิดพื้นที่ทางสังคมอย่างกว้างขวาง

การเปลี่ยนแปลงประเด็นที่ 2 คือ พละกำลังของขบวนการคนจน กำลังอ่อนล้าลง เมื่อก่อนเราอาจเห็นสมาพันธ์ชาวไร่ชาวนาแห่งประเทศไทยเครือข่ายป่าชุมชน เครือข่ายเกษตรผสมผสาน เกษตรอินทรีย์ เครือข่ายสลัม ที่หากมีการเคลื่อนไหว ก็จะเป็นการเคลื่อนไหวกันทั้งประเทศ ทุกภาคพร้อมที่จะขยับ แต่เดี๋ยวนี้ ภาพการขยับทั้งประเทศแบบนั้นคงหาได้ยาก หรืออาจจะไม่เกิดขึ้นอีกแล้ว ซึ่งทั้ง อุเชนทร์ เชียงเสน / สุวิทย์ วัดหนูและ กนกรัตน์ เลิศชูสกุล[10] ต่างมีข้อสังเกตไปในทางเดียวกันว่า ความอ่อนแอดังกล่าวเกิดจากปัจจัยภายใน ที่หลายกลุ่มปัญหามุ่งตอบสนองการแก้ปัญหาระยะสั้นเฉพาะหน้า (ที่รัฐบาลทักษิณคอยจัดให้) มากกว่าจะเชื่อมโยงและพัฒนายกระดับการต่อสู้ในประเด็นเฉพาะของตนเองเข้ากับปัญหาเชิงโครงสร้าง

การเปลี่ยนแปลงในประเด็นที่ 3 คือ การนิยามว่า เราเป็นใคร คนจน ขบวนคนจน ขบวนการภาคประชาชนที่เมื่อก่อน เราอาจพูดหรือนิยามตัวเองชัดและเต็มปากโดยเฉพาะในฐานะคู่ตรงข้ามกับรัฐ และสามารถบอกเล่าได้ว่ามีส่วนในการฟื้นฟูประชาธิปไตยอย่างไร

แต่มาในปัจจุบัน คำเรียกเหล่านี้มันถูกทำให้เบลอ หรือทำให้มีความหมายแตกต่างไปจากเดิมโดยฝ่ายอื่นๆ

ทั้ง พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ในปี 2548และ มวลมหาประชาชน (กปปส.) ในปี 2556ต่างก็ประกาศว่าตัวเอง เป็นขบวนการประชาชน เป็นการเมืองภาคพลเมือง แต่มันมีคำถามใหญ่ว่า เหตุใดคำว่า“ขบวนการประชาชน” (ที่เคยอ้างว่ามีส่วนอย่างมากในการฟื้นฟูประชาธิปไตย) จึงกลายมาเป็นปฏิปักษ์ต่อประชาธิปไตยเสียเอง

และที่ต้องยอมรับมากกว่านั้น ก็คือ ขบวนการคนจน / พี่เลี้ยง อย่าง NGO หรือนักวิชาการเองบางส่วนก็เข้าร่วมกับพันธมิตร เข้าร่วมกับมวลมหาประชาชน และอาจอยู่ในฐานะแกนนำเสียด้วยซ้ำ สิ่งเหล่านี้ผมไม่ได้บอกว่าอะไรถูกหรือผิด แต่มันเป็นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นและเราต้องทำความเข้าใจกับมันว่าทำไมจึงเป็นเช่นนั้น

การเปลี่ยนแปลงประเด็นที่ 4 คือ ความเหลื่อมล้ำ โดยในท่ามกลางตัวเลข คนจน – ความยากจนที่ลดลง ตามการเติบโตทางเศรษฐกิจ ซึ่ง อ.ผาสุก[11] บอกว่าเกิดขึ้นจากนโยบายของรัฐที่มีลักษณะ ไม่เน้นการกระจายรายได้ ความมั่นคงอย่างทั่วถึง มุ่งพัฒนาเศรษฐกิจอุตสาหกรรม ใช้แรงงานราคาถูก ละเลยภาคเกษตร ส่งผลให้ความเติบโตทางเศรษฐกิจนั้นถูกแบ่งปันไปอย่างลักลั่นความมั่งคั่งกระจุกตัวสูงอยู่ในกลุ่มคนจำนวนน้อยส่วน อ.เสกสรรค์[12]ก็เรียกสถานการณ์เช่นนี้ว่า “การโอนถ่ายอำนาจอธิปไตยจากรัฐชาติไปให้ตลาด” จนเกิดภาวะ หนึ่งรัฐสองสังคม

ตัวเลขของสำนักงานสถิติแห่งชาติ ปี 2550 ได้สำรวจข้อมูลความมั่งคั่งของครัวเรือนไทยเป็นครั้งแรก (ครอบคลุมเรื่องการเป็นเป็นเจ้าของที่ดินบ้านรถทรัพย์สินทางการเงินและอื่นๆ)พบว่าช่องว่างระหวางกลุ่มคนมั่งมีที่สุดร้อยละ 20 กับกลุ่มคนมีน้อยที่สุดร้อยละ 20 สูงถึง 69 เท่า(อันดับหนึ่งของอาเซียน) อันนี้ในเชิงตัวเลขอ.ผาสุกยังชี้ว่า นอกจาก ข้อเท็จจริงเชิงตัวเลขความมั่งคั่งแล้ว ยังมีเรื่องของอารมณ์ความรู้สึกของความไม่เท่าเทียมตกค้างอยู่ในสังคมด้วย  โดยอ้างงานสำรวจของ TDRI ที่สุ่มตัวอย่างให้เป็นตัวแทนของทั้งประเทศพบว่ากว่า3 ใน 4 ของตัวอย่างที่สอบถามเชื่อว่าช่องว่างด้านรายได้สูงเกินไป1 ใน 3 คิดว่าห่างกันมากจนรับไม่ได้สำหรับกลุ่มรายได้น้อยที่สุดร้อยละ 20 สัดส่วนที่บอกว่ารับไม่ได้มีสูงถึงเกือบร้อยละ 50 และอ.ผาสุก ยังอ้างงานของอ.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ และ อ.พรชัยตระกูลวรานนท์ (2553)[13]ซึ่งสุ่มตัวอย่างให้เป็นตัวแทนของทั้งประเทศเหมือนกันผู้ตอบแบบสอบถามร้อยละ 50 บอกว่าตัวเองยากจนทั้งที่ตัวเลขของทางการบอกว่าคนจนมีร้อยละ 8 ทั่วประเทศ

การเปลี่ยนแปลงประเด็นที่ 5 นอกจากตัวเลขความเหลื่อมล้ำข้างต้นแล้ว อ.เสกสรรค์ ยังชี้ว่า ผลของ “การโอนถ่ายอำนาจอธิปไตยจากรัฐชาติไปให้ตลาด” ทำให้เกิด

·       ระบอบประชาธิปไตยที่ไร้อธิปไตยอันสำคัญในบางด้านบางส่วนไปเพราะถูกตลาดยึดตามกระแสโลกาภิวัตน์

·       การใช้อำนาจของรัฐบาลประชาธิปไตยที่ขาดฉันทานุมัติได้แต่เอะอะก็อ้างความชอบธรรมจากการชนะเลือกตั้งสี่ปีครั้งและอ้างชาตินามธรรมลอยๆอย่างลวงตาและกลวงเปล่าเพื่อปัดปฏิเสธและกลบเกลื่อนผลประโยชน์รูปธรรมของชาวบ้านกลุ่มต่างๆท้องถิ่นต่างๆที่ถูกหาว่าเป็น “คนส่วนน้อย” ของชาติเสมอ

เหล่านี้ เป็นการเปลี่ยนแปลงบางส่วนในด้านเศรษฐกิจสังคม และข้อจำกัดของประชาธิปไตยแบบตัวแทนในระบอบรัฐสภาไทย นอกจากนี้เรากำลังพบกับการเปลี่ยนแปลงใหม่ๆ ที่ไม่ใช่เป็นเรื่องของสิทธิเหนือทรัพยากรแบบเดิมซึ่งเป็นจุดกำเนิดของสมัชชา เช่น กลุ่มแรงงานเพื่อนบ้าน แรงงานนอกระบบยังขาดหลักประกันรายได้รองรับเมื่อเข้าสู่วัยสูงอายุ (ซึ่งกำลังมีจำนวนเพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ) หรือการเปลี่ยนแปลงของโครงสร้างครอบครัวที่วัยแรงงานน้อยลงแต่ต้องรับผิดชอบผู้สูงอายุในสัดส่วนที่มากขึ้น ซึ่งยิ่งสูงอายุก็ยิ่งมีค่าใช้จ่ายที่สูงขึ้น และไม่มีใครดูแล

 

ส่งท้าย..จะฟื้นฟูประชาธิปไตยด้วยการจัดการกับอำนาจแบบใด?

ผมอยากจะจบในส่วนของผมไว้ตรงที่ว่า ประสบการณ์ของขบวนการคนจนใน 2 ทศวรรษที่ผ่านมา เราได้แบ่งปันอำนาจรัฐเพื่อมาใช้ประโยชน์ไม่ว่าจะเป็นกฎหมายหรือนโยบาย จากการ identify ตัวเองในฐานะคู่ตรงข้ามกับรัฐได้อย่างชัดเจน แต่ปัจจุบันการทำเช่นนั้นน่าจะยุ่งยากไม่น้อย เพราะความหลากหลายและซับซ้อนมันมากกว่าเดิม อีกทั้ง สถานการณ์ทางเศรษฐกิจสังคมเปลี่ยนแปลงไปจากเดิมอย่างมาก ภารกิจคนจนในการฟื้นฟูประชาธิปไตยด้วยการจัดการกับอำนาจจะเป็นแบบใด

ข้อเสนอของ อ.เก่งกิจ และเควินฮิววิสัน[14]ซึ่งได้ทำการ วิเคราะห์สถานการณ์ของ “การเมืองภาคประชาชน” ตลอดหลายทศวรรษที่ผ่านมาไว้อย่างละเอียดลออนั้น ได้เสนอให้ขบวนคนจนกลับมารื้อฟื้นการเมืองของการแบ่งขั้วทางชนชั้น การมีพรรคการเมืองของชนชั้นล่างที่ยึดโยงกันผ่านโครงสร้างทางการเมืองที่นอกเหนือไปจากการเมืองทางเลือกในระบบทุนนิยม และก็ชวนให้ กลับมารื้อฟื้น ความเข้าใจของชนชั้นกันใหม่ ที่ภายในชนชั้นเดียวกัน ภายในพื้นที่ประชาสังคม ขบวนการประชาชนเหมือนกัน ก็ไม่ได้มีความเป็นเนื้อเดียวกันทั้งหมด มีทั้งแข่งขัน ขัดแย้งและร่วมมือในบางที และเราจะใช้ประโยชน์จากมันอย่างไร

แต่ภายใต้ สถานการณ์ที่ชนชั้น ไม่ชัดเจน และแตกแยกย่อย ไม่ได้เป็นเนื้อเดียวกัน ถือคุณค่า อุดมการณ์คนละชุดเช่นนี้ เราจะหาทางพัฒนาอุดมการณ์นำที่จะดึงเอาความหลากหลายของความเชื่อ อุดมการณ์ของกลุ่มย่อยๆ เข้าสู่ความเป็นหนึ่งได้อย่างไร[15]นั่นก็คงเป็นเรื่องต้องค้นคิดกันหนักต่อไป เพราะไม่เช่นนั้น เราอาจได้พรรคการเมืองคนจนที่อยากทำแต่เรื่องเล็กๆ เป็นเรื่องๆ ไป

ถึงที่สุดในการจัดการกับอำนาจด้วยการสร้างอำนาจนำ ผ่านประชาธิปไตยตามระบบเลือกตั้งนั้น ผมคิดไม่ออกว่าเราจะมีส่วนในการพัฒนามันต่อไปอย่างไรได้บ้าง

ส่วนตัวผมนั้น ค่อนข้างเชื่อมั่นต่อการจัดการอำนาจ ผ่านกระบวนการต่อรอง อยากให้มันดำเนินไปอย่างต่อเนื่อง ให้มันมีบทสนทนา ให้มันมีเนื้อหา มีข้อมูลส่งผ่านให้สังคมได้รับรู้และเรียนรู้เพื่อยกระดับคุณภาพคน ผมเชื่อว่าในสังคมที่มันมีลักษณะพหุเช่นนี้ เราน่าจะให้ความสนใจกับกลุ่มชนชั้นกลางใหม่ที่มีประมาณ 40% ของครัวเรือนไทยซึ่งเป็นผู้มีสิทธิ์ออกเสียงกลุ่มใหญ่ที่สุดของสังคม และให้ความสนใจกับกลุ่มคนที่ไม่จน แต่รู้สึกรู้สาว่าสังคมมันเหลื่อมล้ำ ไม่เป็นธรรม ไม่เท่าเทียม ซึ่งคนกลุ่มนี้มีอยู่มากกว่า 50%หรืออาจจะสูงถึง 70% ของประชากรทั้งประเทศ และเห็นว่าสถานการณ์เช่นนี้มันควรต้องเปลี่ยนแปลง

อีกทั้ง ความสัมพันธ์เชื่อมโยงในมิติของคน ไม่ว่าจะเป็น คนจน เกษตรกรรายย่อย ประมงพื้นบ้าน แรงงานเพื่อนบ้านและความสัมพันธ์เชื่อมโยงในมิติของประเด็น ไม่ว่าจะเป็นความอุดมสมบูรณ์ของระบบนิเวศน์ในท้องทะเล ผืนป่า ผลกระทบต่อวิถีชีวิตสุขภาพจากโครงการขนาดใหญ่ อย่างเช่นเหมืองทอง ท่าเทียบเรือน้ำลึก กฎหมายคนจน 4 ฉบับ สิ่งเหล่านี้มันถูกเชื่อมโยงกับสังคมใหญ่ณ ปัจจุบันมันถูกสนทนากับคนทั่วประเทศทุกภูมิภาค ตั้งแต่ มอเตอร์ไซค์รับจ้าง แม่ค้าที่ขายของ online พนักงาน office ไปจนถึงนักการเมืองหลายพรรค อย่างผนึกแน่นผ่านสื่อsocial media ทุกๆ นาที

ผมเชื่อในพลังของการมีพื้นที่ มี platform ที่หลากหลาย ที่ให้ผู้คนในสังคมพหุแบบนี้ ได้ปรึกษาหารือ ถกแถลงในข้อมูล ในผลดี ผลเสีย ไตร่ตรองอย่างรอบคอบรอบด้านในประเด็นสาธารณะในประเด็นส่วนรวม ถ้ามันมีพื้นที่ มีกระบวนการ มีข้อมูลที่ต่อเนื่องเช่นนี้ ผมเชื่อว่ามันจะเป็นหนทางในการฟื้นฟูประชาธิปไตยในชีวิตประจำวันของเราได้ ...และผมอยากจะย้ำว่ามันก็เกิดขึ้นมาอย่างต่อเนื่องแล้ว นับตั้งแต่กรณีเขื่อนปากมูลที่สมัชชาคนจนได้ริเริ่มเอาไว้

ถึงที่สุด ผมไม่อาจโยนคำถามและภาระรับผิดชอบทั้งหมดกลับไปให้ขบวนการคนจน สมัชชาคนจนแต่เพียงฝ่ายเดียวได้ แต่อาจยังต้องตั้งคำถามเผื่อแผ่ไปยังเพื่อนนักวิชาการ เพื่อน NGO และตัวผมเอง ว่าในสถานการณ์เช่นนี้ เราทำอะไรได้บ้างและทำมากพอหรือยัง

ในท้ายนี้ ผมขอนำคำประกาศลำน้ำมูล เมื่อ 15 ธันวาคม 2538ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของขบวนการคนจนที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย และโดยตัวคำประกาศยังคงทันสมัยและเป็นจริงอยู่ในปัจจุบัน มากล่าว ณ ที่นี้

"เรามีความเห็นร่วมกันว่า แนวความคิดที่สนับสนุนแต่เพียงการเติบโตทางเศรษฐกิจของรัฐ และภาคธุรกิจเอกชน เป็นแนวคิดที่เป็นอันตรายต่อประชาชนและต่อการพัฒนาสังคม จึงถือเป็นการจำเป็นอย่างเร่งด่วน ที่จะต้องได้รับการแก้ไขและเปลี่ยนแปลงทัศนะ ความคิด ยุทธศาสตร์ และการปฏิบัติในกระบวนการพัฒนาทั้งของรัฐและบรรษัทธุรกิจเอกชนเสียใหม่ ตามแนวทางที่จะมุ่งไปสู่ความก้าวหน้าของมวลมนุษยชาติที่ไร้พรมแดน"

 

 

[1]วีรบูรณ์ วิสารทสกุล คณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ : เวทีสาธารณะ เหลียวหลังแลหน้าสถานการณ์คนจน วันที่ 4 ธันวาคม 2557 ห้องประชุมประกอบ หุตะสิงห์ อาคารเอนกประสงค์ 1 มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์

[2]แถลงการณ์ สมัชชาคนจน 10 ธันวาคม 2549 http://www.prachatai.com/journal/2006/12/10868  ณ ลานปรีดี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์

[3]ดร.สติธร ธนานิธิโชติ  เปิดมุมมองใหม่..ประชาธิปไตยของคนจนๆ  http://goo.gl/swoJGL

[4]ประภาส ปิ่นตบแต่ง  การขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะโดยภาคประชาสังคมhttp://goo.gl/3h73lc

[5]ดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้จากบทความของ เอกพล เสียงดัง http://www.learningcitizen.com/images/article/vanidabook.pdf

[6]โปรดดูรายละเอียดใน เก่งกิจ เรียงลาภ และเควิน ฮิววิสัน บทวิพากษ์ : การเมืองภาคประชาชนในประเทศไทย ข้อจำกัดของแนววิเคราะห์และยุทธศาสตร์การเมืองแบบ ขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมรูปแบบใหม่https://thaipoliticalprisoners.files.wordpress.com/2009/01/fadiewkan_20091.pdf

[7]ชวินทร์ ลีนะบรรจง สถานการณ์ความยากจนของประเทศไทย http://goo.gl/Tyj4yU

[8]สองทศวรรษความยากจน  http://v-reform.org/v-report/two_decades_poor/

[9]อภิชาติ สถิตนิรามัย ยุกติมุกดาวิจิตร และนิติ ภวัครพันธุ์ ทบทวนภูมิทัศน์การเมืองไทย

http://www.polsci.chula.ac.th/pitch/modernthaipolitics2013/Politics1.pdf

[10]เก่งกิจ เรียงลาภ และเควิน ฮิววิสัน (อ้างแล้ว)

[11]ผาสุก พงษ์ไพจิตร (2554) ภาพรวมของความเหลื่อมล้ำและความไม่เป็นธรรมในการเข้าถึงทรัพยากรและบริการพื้นฐานของประเทศไทย http://www.cuurp.org/thaiequity/resources/1st/1st%20Agenda.pdf

[12]เสกสรรค์ ประเสริฐกุล (2548) การเมืองภาคประชาชนในการพัฒนาระบอบประชาธิปไตย

[13]อ้างใน ผาสุก พงษ์ไพจิตร (อ้างแล้ว)

[14]เก่งกิจ เรียงลาภ และเควินฮิววิสัน(อ้างแล้ว)

[15]ในทัศนะนี้ กรัมชี่ เชื่อว่า ประชาชนผู้ไร้สมบัติจะสถาปนาตัวเองขึ้นเป็นผู้ปกครองได้ ก็ต่อเมื่อพวกเขาเอาชนะการครอบงำทางวัฒนธรรมและอุดมการณ์ของพวกนายทุนเจ้าของสมบัติได้ 

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net