Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

 

เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา เกษียร เตชะพีระ ได้เขียนบทความเรื่อง “ทางสามแพร่งของคนเดือนตุลา” ลงในหนังสือพิมพ์มติชนสุดสัปดาห์ เสนอข้อวิเคราะห์เกี่ยวกับคนเดือนตุลาที่น่าสนใจ โดยอ้างถึงข้อเสนอของเบเนดิก แอนเดอร์สัน หรือ ครูเบ็น ที่ติดตามบทบาทของคนเดือนตุลามาตั้งแต่หลังป่าแตกมาจนถึงปัจจุบัน โดยอธิบายว่า คนเดือนตุลา คือชนชั้นนำทวนกระแสที่ใฝ่ฝันจะเป็นกองหน้าทางการเมืองของสังคมนิยมใหม่ แต่ก็อกหักผิดหวังจากการเข้าร่วมกับพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย จึงกลับมาใช้ชีวิตปกติอยู่ในสังคม จนกระทั่งเกิดวิกฤตเศรษฐกิจต้มยำกุ้ง พ.ศ.2540 และการขึ้นสู่อำนาจทางการเมืองของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร และพรรคไทยรักไทย พ.ศ.2544 จึงทำให้คนเดือนตุลาพัฒนาแตกออกเป็น 3 กลุ่ม คือ กลุ่มเดินตามทักษิณ กลุ่มต่อต้านทักษิณ และกลุ่มที่ยังคงความเป็นอิสระ และลงท้ายว่า ไม่ว่า มาถึงวันนี้ด้วยวัยที่ล่วงลงทุกที ไม่ว่าจะเป็นคนเดือนตุลาสายไหน เวลาของพวกเขาก็กำลังจะหมดลง

คงต้องกล่าวให้ชัดเจนขึ้นว่า ครูเบ็น แอนเดอร์สันเป็นหนึ่งในนักวิชาการฝรั่งที่สนใจประเทศไทย และมีความรู้เกี่ยวกับสังคมไทยที่ค่อนข้างลึกซึ้ง บทความสำคัญที่เขียนตั้งแต่ พ.ศ.2520 เรื่อง “Withdrawal syptoms : social and cultural aspects of the October 6 coup” ซึ่งแปลเป็นไทยว่า “บ้านเมืองของเราลงแดง: แง่มุมทางสังคมและวัฒนธรรมของรัฐประหาร 6 ตุลาคม” ก็ยังเป็นบทวิเคราะห์ 6 ตุลาที่เป็นชิ้นเอกเรื่องหนึ่ง นอกจากนี้ คือเรื่อง “The Nation as Imagined Community(2526)”ก็เป็นงานวิชาการขั้นคลาสสิก การอธิบายของครูเบ็นในเรื่องนี้ จึงสามารถที่จะเป็นจุดเริ่มต้นการทำความเข้าใจบทบาทของคนเดือนตุลาได้เป็นอย่างดี

มีงานสำคัญอีกเรื่องหนึ่งที่พยายามอธิบายบทบาทของคนเดือนตุลา นั่นคือเรื่อง “การเติบโตของคนเดือนตุลา: อำนาจและความขัดแย้งของอดีตนักกิจกรรมปีกซ้ายในการเมืองไทยสมัยใหม่” (The Rise of the Octobrists: Power and Conflict among Former Left Wing Student Activists in Contemporary Thai Politics) ซึ่งเป็นวิทยานิพนธ์ของ กนกรัตน์ เลิศชูสกุล ได้อธิบายถึงบทบาทของคนเดือนตุลาหลังจากกลับคืนสู่สังคมว่า คนเดือนตุลามีความสามารถอันพิเศษ คือ มีความเข้าใจการเมืองของชนชั้นนำ และสามารถทำงานกับคนยากจนที่เป็นรากหญ้าได้ ภายใต้ระบบรัฐสภา จึงมีคนเดือนตุลาเข้าไปเป็นนักการเมืองหลายพรรค นอกจากนี้ คนเดือนตุลาจำนวนมากก็มีบทบาทในกลุ่มเอ็นจีโอ หรือหลายคนเป็นนักวิชาการชั้นแนวหน้าที่มีบทบาทสำคัญ

แต่งานของกนกรัตน์ได้ชี้เห็นว่า ความขัดแย้งในกลุ่มคนเดือนตุลาไม่ใช่เรื่องใหม่ เพราะความเป็นคนเดือนตุลาเป็นเพียงความผูกพันแบบหลวม ที่มีความแตกต่างหลากหลายอย่างมาก เมื่อการจัดตั้งที่เข้มแข็งของพรรคคอมมิวนิสต์สลายลง ความขัดแย้งแตกต่างก็เห็นได้ชัดเจน ถ้ากล่าวในเชิงตัวอย่าง คนเดือนตุลาที่เป็นประชาธิปัตย์ และคนเดือนตุลาฝ่ายไทยรักไทยจึงมีความขัดแย้งกันมาตั้งแต่แรก จนหลังจากรัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณบริหารประเทศเมื่อ พ.ศ.2544 การที่คนเดือนตุลาจะพัฒนาแตกเป็นสามกลุ่มตามที่ครูเบ็นเสนอไว้จึงเห็นได้ชัดเจน แต่ก็ตั้งข้อสังเกตไว้ว่า คนเดือนตุลาที่เข้าร่วมกับฝ่ายทักษิณ เช่น จาตุรนต์ ฉายแสง ก็รักษาความเป็นตัวของตัวเองเอาไว้ได้อย่างน่าสนใจ

อย่างไรก็ตาม เมื่อสถานการณ์พัฒนาไปจนถึงปลาย พ.ศ.2548 การต่อต้าน พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร มีความแหลมคม ดูเหมือนว่า กลุ่มคนเดือนตุลาจะกลายเป็นสองฝ่าย โดยถือจุดยืนต่อทักษิณเส้นแบ่ง คือ กลุ่มที่ต่อต้านทักษิณ และกลุ่มที่ไม่ต่อต้านทักษิณ โดยเฉพาะกลุ่มนักวิชาการและเอ็นจีโอสายคนเดือนตุลา ต่างก็เข้าร่วมในการต่อต้านทักษิณแทบทั้งหมด อาจจะมียกเว้นเพียงไม่กี่คน เช่น สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล และ พิชิต ลิขิตกิจสมบูรณ์ เป็น 2 คนที่น่าสนใจ เพราะคัดค้านขบวนการต่อต้านทักษิณ ในขณะที่ นพ.เหวง โตจิระการ ยังอยู่ในขบวนการต้านทักษิณด้วยซ้ำ

ราวเดือนมีนาคม พ.ศ.2549 เมื่อกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยเสนอวิธีการต่อต้านทักษิณโดยใช้มาตรา 7 ถวายคืนพระราชอำนาจ กลุ่มคนเดือนตุลาจำนวนหนึ่งที่เข้าร่วมขบวนการต้านทักษิณไม่อาจจะเห็นด้วยกับประเด็นในลักษณะเช่นนี้ จึงเริ่มถอนตัวจากการสนับสนุนฝ่ายพันธมิตรเสื้อเหลือง และยิ่งต่อมาเกิดการรัฐประหาร 29 กันยายน พ.ศ.2549 ก็ยิ่งมีกลุ่มคนเดือนตุลาถอนตัวจากกลุ่มต่อต้านทักษิณมากขึ้น บางส่วนที่นำโดย นพ.เหวง และ จรัล ดิษฐาอภิชัย ก็หันไปสนับสนุนการก่อตั้งขบวนการต้านรัฐประหาร และประสานเป็นแนวร่วมกับฝ่ายสนับสนุน พ.ต.ท.ทักษิณ (ในกลุ่มนี้ ผู้เขียนก็เข้าร่วมด้วย) แต่อีกจำนวนหนึ่งก็พยายามรักษาความเป็นกลาง และเสนอจุดยืน “สองไม่เอา” คือ ไม่เอาทักษิณ และไม่เอารัฐประหาร และนี่คือเป็น”กลุ่มที่ยังคงความเป็นอิสระ”ตามความหมายของครูเบน

ถึงกระนั้น เมื่อเกิดประเด็นสำคัญในการรณรงค์เรื่องการคัดค้านรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2550 กลับกลายเป็นว่า ช่องว่างระหว่างฝ่ายทักษิณและฝ่าย”สองไม่เอา”กลับลดน้อยลงมาก เพราะการคัดค้านรัฐธรรมนูญฉบับ รสช. กลายเป็นประเด็นร่วม ทั้ง นิธิ เอียวศรีวงศ์ เกษียร เตชะพีระ สมบัติ บุญงามอนงค์ สมยศ พฤกษาเกษมสุข และ นปก.(แนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการ) ที่นำโดย วีระ มุกสิกพงษ์ ต่างก็ผลักดันในประเด็นเดียวกัน และยิ่งสถานการณ์พัฒนาต่อมา ช่องว่างระหว่างคนเดือนตุลาในขบวนการเสื้อแดง และ คนเดือนตุลากลุ่ม”สองไม่เอา”ยิ่งลดลงทุกที หรืออีกนัยหนึ่ง กลุ่มคนเดือนตุลาฝ่าย”สองไม่เอา”ก็ไม่สามารถที่จะเข้าร่วมหรือสนับสนุนฝ่ายเสื้อเหลืองหรือขบวนการสลิ่มได้อีกแล้ว เส้นทางที่ดูจะเป็นทางสามแพร่ง จึงเหลือทางเลือกเพียงสองแพร่ง

ถ้าถามว่าเหตุใดจึงเป็นเช่นนั้น คำตอบก็คือ“ทักษิณ”ไม่ได้เป็นประเด็นสำคัญของปัญหาอีกต่อไป แต่กลายเป็นประเด็นเรื่องประชาธิปไตย สิทธิมนุษยชน และมาตรา 112 นักวิชาการสองไม่เอาถูกท้าทายว่าจะสนับสนุนเส้นทางต่อต้านและล้มล้างประชาธิปไตยตามที่ชนชั้นนำสนับสนุนและดำเนินการหรือไม่ ถ้าไม่เลือกเช่นนั้น ก็จะกลายเป็นว่าจะถูกผลักดันให้กลายเป็นพวกเสื้อแดงและ”พวกทักษิณ”มากขึ้นทุกที การสังหารหมู่ประชาชนคนเสื้อแดงเมื่อ พ.ศ.2553 กลายเป็นหลักหมายสำคัญที่ทำให้การหันไปสนับสนุนกลุ่มต่อต้านทักษิณในลักษณะเดิมเป็นไปไม่ได้อีกต่อไป

กรณีเคลื่อนไหวต่อต้านกฎหมายนิรโทษกรรมแบบเหมาเข่งเป็นประเด็นที่น่าสนใจ เพราะเมื่อกรณี”ทักษิณ”กลับมาสู่ระเบียบวาระอีกครั้ง แต่กลับกลายเป็นว่า นักวิชาการคนเดือนตุลาทีดูเป็นฝ่ายทักษิณมาแต่เดิม เช่น สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล กลายเป็นคนที่คัดค้านอย่างมาก ส่วน พิชิต ลิขิตกิจสมบูรณ์ ถึงขนาดประกาศตัดเป็นตัดตายกับทักษิณในกรณีนี้ แต่ในกระแสใหญ่กว่านั้น คือการเคลื่อนไหวของ สุเทพ เทือกสุบรรณ และ กปปส. ก็ทำให้ปัญหาเรื่องประชาธิปไตยกลายเป็นประเด็นหลัก ที่คนเดือนตุลาฝ่ายประชาธิปไตยจะต้องร่วมกันต่อสู้

เมื่อมาถึงวันนี้ คนเดือนตุลาทั้งหลายซึ่งใกล้จะถึงวาระอัศดงคต มีทางเดินเพียงสองแพร่งให้เลือก คือ จะสนับสนุนฝ่ายประชาชนในการฟื้นฟูประชาธิปไตย หรือจะสนับสนุนการเมืองของฝ่ายชนชั้นนำอภิชนในการรักษาโครงสร้างสังคมการเมืองแบบเผด็จการและลิดรอนสิทธิเสรีภาพของประชาชนต่อไป

และนี่เป็นการท้าทายครั้งสุดท้ายของพวกคนเดือนตุลา!




เผยแพร่ครั้งแรกใน: โลกวันนี้วันสุข ฉบับที่ 492 วันที่ 29 พฤศจิกายน 2557

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net