สัมภาษณ์ ทนายเยาวลักษ์ จากศูนย์ทนายสิทธิฯ ซึ่งได้รับรางวัลจากสถานทูตฝรั่งเศส

ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ได้รับรางวัลยกย่องจากสถานทูตฝรั่งเศส จากผลงานโดดเด่นในการช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบจากการรัฐประหาร 2557
 
3 ธ.ค. 57 สถานทูตฝรั่งเศส ได้ประกาศมอบรางวัลเพื่อเฉลิมฉลองวันสิทธิมนุษยชนสากล 10 ธันวาคม ในปีนี้ ให้กับศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ซึ่งเป็นศูนย์ทนายความซึ่งตั้งขึ้นเพื่อให้ความช่วยเหลือทางกฎหมายแก่ผู้ได้รับผลกระทบจากการรัฐประหาร 2557 
 
การให้รางวัลนี้เป็นการให้รางวัลครั้งแรกโดยสถานทูตฝรั่งเศส และจะมีการมอบรางวัลในเย็นวันที่ 9 ธันวาคม ที่สถานทูตฝรั่งเศส โดยสถานทูตระบุว่าการปกป้องและส่งเสริมสิทธิมนุษยชนเป็นหนึ่งในเรื่องสำคัญอันดับแรกของฝรั่งเศส รวมทั้งสหภาพยุโรป 
 
ตลอดหกเดือนที่ผ่านมา ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนซึ่งเป็นองค์กรเล็กๆ มีทนายความเพียงหกคน ได้เข้าไปให้ความช่วยเหลือทางกฎหมายในหลากหลายกรณีทั่วประเทศไทย เช่น ผู้ถูกจับเพราะต่อต้านรัฐประหาร ผู้ถูกเรียกตัวไปเข้าค่ายทหาร ผู้ถูกดำเนินคดีมาตรา 112 เป็นต้น 
 
ประชาไทคุยกับ เยาวลักษ์ อนุพันธุ์ หัวหน้าและผู้ร่วมก่อตั้งศูนย์ฯ ถึงการได้รับรางวัลครั้งนี้ และอุปสรรคในการทำงานของทนายสิทธิมนุษยชน ในห้วงเวลาที่ประเทศไทยปราศจากสิทธิมนุษยชนเช่นนี้ 
 
 
เยาวลักษ์ อนุพันธุ์
 
รู้สึกอย่างไรที่ได้รางวัล?
 
พวกเราทุกคนดีใจมากที่ได้รับรางวัล มันเป็นกำลังใจในการทำงาน เป็นการทำงานภายใต้การใช้กฎหมายพิเศษ เราพบเจออุปสรรค ข้อจำกัดในการทำงาน แต่ทุกคนก็ทำงานเต็มที่  
 
คิดว่า ทำไมจึงได้รางวัลนี้
 
คงเป็นเพราะเราเป็นหนึ่งในไม่กี่องค์กรที่ทำงานหลังรัฐประหาร ในการให้ความช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบหลังการรัฐประหารโดยตรง ตอนนี้รัฐบาลใช้อำนาจพิเศษเยอะมาก สถานการณ์ไม่ปกติ เราก็พายามให้คนที่ถูกจับได้รับสิทธิพื้นฐาน 
 
รู้สึกไม่ปลอดภัยหรือว่าเสี่ยงบ้างไหมที่ทำงานนี้
 
ตอนนี้รู้สึกว่า มีเงาของคนที่มีอำนาจจ้องมองเราอยู่ แต่ทนายความทุกคนไม่กลัวอำนาจนั้น เรายืนยันทำงานตามวิชาชีพ
 
เคยถูกคุกคามบ้างไหม 
 
ยังไม่มีถูกคุกคาม มีแค่ถูกต่อว่าว่าเป็น “ทนายโจร” มีครั้งหนึ่งที่ทนายไปเยี่ยมผู้ที่ถูกจับเพราะแสดงสัญลักษณ์ต่อต้านรัฐประหาร ทหารก็มาเรียกทนายคนนั้นว่าเป็นทนายโจร ทหารไม่เข้าใจสิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชน ไม่เข้าใจว่า ทุกคนเป็นผู้บริสุทธิ์ถ้าศาลยังไม่พิพากษา และเขาก็ต้องมีสิทธิเข้าถึงทนายด้วย 
 
องค์กรก่อตั้งมาได้อย่างไร มีความคิดริเริ่มอย่างไร 
 
เราก่อตั้งขึ้นมาสองวันหลังการรัฐประหาร คือเมื่อวันที่ 23 พ.ค. ที่มีการประท้วงต้านรัฐประหาร หน้าหอศิลป์กรุงเทพฯ และมีคนถูกจับ ต่อมามีการเรียกคนให้ไปรายงานตัว พอวันที่ 24 พ.ค. เราก็รวมตัวกัน เป็นศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน เป็นศูนย์ที่ให้ความช่วยเหลือทางกฎหมาย ทนายที่รวมตัวกันทั้งหมด เป็นทนายที่ไม่เอารัฐประหาร และส่วนใหญ่เป็นทนายรุ่นใหม่ ต่อมาจึงมีทนายอาวุโสมาร่วมด้วย 
 
เราก็คิดว่า ในช่วงที่ยากลำบาก มีการจำกัดสิทธิมากมาย นักวิชาการและสื่อถูกคุกคาม ก็เหลือแต่บทบาทของการเป็นทนายความอย่างเราที่ควรต้องลุกขึ้นมาทำอะไร 
 
ต้องขอบคุณอีกหลายองค์กรที่ช่วยสนับสนุนเราด้วย เช่น iLaw มูลนิธิผสานวัฒนธรรม องค์การคณะกรรมการนักนิติศาสตร์สากล สหประชาชาติ สหภาพยุโรป สถานทูตอังกฤษ สถานทูตแคนาดา และอื่นๆ อีกมากมาย ที่ช่วยสนับสนุนเรา ตอนแรกๆ งานของศูนย์ก็เป็นงานอาสาสมัคร ต่อมาก็เริ่มมีเงินทุนสนับสนุนการทำงานของเรา ซึ่งเราไม่เก็บค่าว่าความ 
 
ตอนนี้เรามีคนทำงานเต็มเวลาหกคน และมีอาสาสมัครอีกกว่า 10 คน องค์กรของเราค่อนข้างโตเร็ว เพราะทุกคนขยันขันแข็งมาก ทำงานกันเต็มที่ แล้วยังมีงานเข้ามาทุกวัน หรือพูดอีกอย่างก็คือ มีคนถูกจับคุมขังทุกวัน เลยทำให้เห็นผลงานของเราค่อนข้างชัด เรายังเป็นหน่วยเคลื่อนที่เร็วอีกด้วย ในการรีบรุดไปพื้นที่เพื่อให้ความช่วยเหลือด้านกฎหมาย 
 
ตอนตั้งศูนย์ได้คิดบ้างไหมว่า จะอยู่มาจนวันนี้ ซึ่งผ่านหกเดือนของการรัฐประหารมาแล้ว 
 
ตอนแรกไม่นึกว่าจะอยู่ถึงทุกวันนี้ คิดว่าจะเป็นศูนย์ทนายเฉพาะกิจ เวลาผ่านไปก็จะไม่ค่อยมีงานทำแล้ว แต่ตอนนี้ก็ยังมีคนถูกจับทุกวัน เช่น แค่ไปโปรยใบปลิวก็ถูกตั้งข้อหา มาตรา 116 ถูกกล่าวหาว่าเป็นกบฎ คือ คสช. ยังใช้มาตรการเด็ดขาดรุนแรงอย่างต่อเนื่อง ตอนนั้นไม่นึกหรอกว่า จะมีานเพิ่มขึ้นมาทุกวันขนาดนี้
 
การเป็นทนายซึ่งต้องทำงานที่ศาลทหารมีความยากลำบาก แตกต่างจากการทำคดีที่ศาลพลเรือนอย่างไรบ้าง 
 
การเข้าถึงสำนวนคดีค่อนข้างยาก อย่างศาลยุติธรรมทั่วไป ทนายสามารถคัดสำเนาเอกสารต่างๆ ได้ แต่ที่ศาลทหารนั้นไม่ได้ หรืออย่างเวลาที่จำเลยถูกตั้งข้อหา ปกติจำเลยก็จะได้คำฟ้องเลยในวันนั้น แต่ที่ศาลทหารนั้น กว่าจำเลยจะได้คำฟ้องอีกก็ตั้งเดือนนึง ก็ทำให้เข้าถึงความยุติธรรมได้ช้าและยากลำบากมากขึ้น
 
มองบทบาทของเพื่อนร่วมวิชาชีพ โดยเฉพาะองค์กร สถาบันเกี่ยวกับทนายความอื่นๆ หลังรัฐประหารอย่างไรบ้าง 
 
โดยปกติ นักกฎหมายต้องไม่ยอมรับอำนาจรัฐประหาร เพราะมันคือปืนกับรถถัง ซึ่งไม่มีเหตุและผล แต่องค์กรวิชาชีพที่ไปรับใช้อำนาจพิเศษ เราขอเรียกร้องให้เขาทบทวน พิจารณาบทบาทของตัวเองเสียใหม่ ว่าได้ยึดหลักวิชาชีพของการเป็นทนายหรือเปล่า หลายปีมานี้ องค์กรวิชาชีพทนายต่างไม่ได้ยึดหลักกฎหมาย แต่กลับไปร่วมในการฉีกรัฐธรรมนูญ ต้องทบทวนว่า ตัวเองยังเป็นนักกฎหมาย ที่ยึดหลักกฎหมายเป็นมาตรฐานหรือเปล่า
 
ตอนนี้ศูนย์ทนายกังวลในประเด็นปัญหาสิทธิมนุษยชนอะไรมากที่สุด
 
หนึ่ง คือ การใช้กฎอัยการศึก คุมขังเจ็ดวันโดยไม่เปิดเผยสถานที่คุมขัง และไม่ให้เข้าถึงทนาย กฎอัยการศึกนั้นควรเอาไว้ใช้กับภาวะสงคราม แต่นี้กลับมาใช้กัผู้ที่เห็นต่างทางการเมือง เราก็เรียกร้องให้ยกเลิกกฎอัยการศึกอยู่ 
 
สองคือ การที่นำพลเรือนขึ้นศาลทหาร พลเรือนไม่ควรไปขึ้นศาลทหาร

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท