Skip to main content
sharethis

ผลหารือนายกรัฐมนตรีไทย-มาเลเซีย เห็นชอบให้มาเลเซียเป็นผู้อำนวยความสะดวกการเจรจาสันติสุขภาคใต้ ด้านเศรษฐกิจทั้งสองฝ่ายจะสร้างความเชื่อมโยงทั้งถนนและระบบราง เชื่อมโยงการท่องเที่ยว ตั้งเป้าการค้า 1 ล้านล้านบาท ด้านมาเลเซียรับจะสนับสนุนทุนการศึกษาให้เยาวชนไทย

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้า คสช. และ นาจิบ ราซัค นายกรัฐมนตรีมาเลเซีย ถ่ายภาพร่วมกันที่ทำเนียบรัฐบาลมาเลเซีย เมื่อวันที่ 1 ธันวาคม 2557 (ที่มา: เว็บไซต์รัฐบาลไทย)

 

1 ธ.ค. 2557 - เมื่อเวลา 11.45 น. วันนี้ (1 ธ.ค.) พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี การหารือทวิภาคีเต็มคณะกับ นาจิบ ราซัค นายกรัฐมนตรีมาเลเซีย โดยมีบุคคลระดับสูงของไทยเข้าร่วมหารือ ประกอบด้วย พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม พล.อ.ธนะศักดิ์ ปฏิมาประกร รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ พล.อ.อุดมเดช สีตบุตร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงกลาโหม และผู้บัญชาการทหารบก นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคมและเลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ เป็นต้น ณ  ห้อง Perdana Meeting Room ชั้น 3 ทำเนียบรัฐบาลมาเลเซีย

โดยเว็บไซต์รัฐบาลไทย รายงานว่า ภายหลังการหารือ ร้อยเอก ยงยุทธ มัยลาภ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงผลการหารือ สรุปดังนี้

นายกรัฐมนตรีกล่าวขอบคุณสำหรับการต้อนรับอย่างอบอุ่นจากรัฐบาลมาเลเซีย พร้อมชื่นชมวิสัยทัศน์ของนายกรัฐมนตรีมาเลเซียในการพัฒนาประเทศสู่การเป็นประเทศที่มีรายได้สูงตามวิสัยทัศน์ปี 2563 หรือ Vision 2020

นายกรัฐมนตรีย้ำความสำคัญในการกระชับความสัมพันธ์กับมาเลเซียให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น ในฐานะหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระหว่างไทยและมาเลเซีย ให้มีการแลกเปลี่ยนการเยือนระหว่างทุกภาคส่วนของทั้งสองประเทศ ส่งเสริมความเชื่อมโยงความร่วมมือด้านการพัฒนาพื้นที่ชายแดน  ไทยสนับสนุนการทำหน้าที่ของมาเลเซียในฐานะเป็นประธานอาเซียน และสมาชิกไม่ถาวรในคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติในปี 2558

ทั้งนี้  ไทยพร้อมเป็นเจ้าภาพการประชุมหารือประจำปี (Annual Consultation) ครั้งที่ 6 ระหว่างนายกรัฐมนตรีไทยและมาเลเซีย ในช่วงครึ่งแรกของปี 2558 ไทยยังได้เสนอให้มาเลเซียพิจารณาเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมคณะกรรมาธิการร่วมว่าด้วยความร่วมมือทวิภาคี (JC) ไทย - มาเลเซีย ครั้งที่ 13 และคณะกรรมการว่าด้วยยุทธศาสตร์การพัฒนาร่วมสำหรับพื้นที่ชายแดน (JDS) ครั้งที่ 4 ด้วย

ด้านความมั่นคง นายกรัฐมนตรีกล่าวแสดงความพอใจกับผลการพบหารือกลุ่มเล็กกับนายกรัฐมนตรีมาเลเซียก่อนหน้านี้ ซึ่งรัฐบาลไทยยืนยันที่จะเดินหน้าสานต่อกระบวนการพูดคุยเพื่อสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยมีมาเลเซียเป็นผู้อำนวยความสะดวก โดยจะได้มีการหารือในรายละเอียดกันต่อไป เพื่อให้กระบวนการพูดคุยเพื่อสันติสุขมีความคืบหน้าอย่างแท้จริง

ด้านเศรษฐกิจ  ไทยกับมาเลเซียต่างให้ความสำคัญกับการพัฒนาเศรษฐกิจ  การสร้างความเชื่อมโยงระหว่างกันทั้งรถและราง โดยเฉพาะการเชื่อมโยงในพื้นที่ชายแดน ซึ่งไทยได้มีการเร่งรัดพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษสะเดา-ปาดังเบซาร์ เพื่อเพิ่มการจ้างงาน สร้างรายได้แก่ประชาชนในพื้นที่  ไทยยังอยากเห็นนักลงทุนมาเลเซีย เข้ามาลงทุนในประเทศไทยมากขึ้น  เช่นเดียวกันกับที่จะส่งเสริมให้นักลงทุนไทยเข้าไปลงทุนในมาเลเซีย เช่นกัน   โดยไทยและมาเลเซียเห็นพ้องกันในการตั้งเป้าหมายมูลค่าการค้าเพิ่มขึ้น จาก 8 แสนล้านบาทในปี 2556 ให้ได้ถึง 1  ล้านล้านบาทในปี 2558 ซึ่งไทยได้มอบหมายให้สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนของไทย (BOI) ได้พิจารณาปรับเปลี่ยนกฎระเบียบเพื่อให้เอื้อต่อการลงทุนของต่างประเทศด้วย

นอกจากนี้ ทั้งสองประเทศยังมีศักยภาพในการพัฒนาการท่องเที่ยวร่วมกันให้มีความแข็งแรงยิ่งขึ้นในลักษณะ Package ทั้งการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม การท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ สอดคล้องกับนโยบายของไทย ที่จะกำหนดให้ปีหน้าเป็นปีแห่งการท่องเที่ยวไทยด้วย

สำหรับโครงการ Rubber City ระหว่าง จ. สงขลา กับรัฐเกดะห์ ซึ่งทั้งไทยและมาเลเซียได้ร่วมกันผลักดัน ไทยได้ศึกษาการจัดตั้ง Rubber City บริเวณนิคมอุตสาหกรรมภาคใต้  ที่บ้านฉลุง อ.หาดใหญ่ จังหวัดสงขลา เพื่อส่งเสริมอุตสาหกรรมแปรรูป เพิ่มมูลค่าให้ผลิตภัณฑ์ยางและส่งเสริมการจ้างงาน

ในโอกาสนี้ นายกรัฐมนตรีมาเลเซีย ได้กล่าวชื่นชมความสัมพันธ์ไทยและมาเลเซียที่มีมายาวนาน และมีความร่วมมือกันรอบด้านอย่างลึกซึ้ง มาเลเซียได้สนับสนุนการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ โดยได้มอบทุนการศึกษาแก่เยาวชนไทยทั้งสายอาชีวะ การศาสนาและวิชาสามัญ และจะเดินหน้าโครงการความร่วมมือด้านการศึกษาอย่างต่อเนื่อง

นายกรัฐมนตรีมาเลเซียยังได้กล่าวสนับสนุนนายกรัฐมนตรี เกี่ยวกับความร่วมมือไทยและมาเลเซียทั้ง การพัฒนาพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดน โดยจะส่งเสริมการลงทุนที่เน้นการพัฒนาทุกภาคส่วนทั้งสิ่งปลูกสร้างที่อยู่อาศัย และสิ่งอำนวยความสะดวกในการประกอบอาชีพและกิจกรรมอื่น  รวมทั้งการส่งเสริมการเชื่อมโยง (Connectivity) ด้วยเส้นทางถนนและรถไฟจากไทย-มาเลเซีย เพื่ออำนวยความสะดวกในการเดินทางของประชาชนและการขนส่งสินค้า อาจเชื่อมต่อไปยังอินเดียและจีนในอนาคตด้วย

นายกรัฐมนตรีมาเลเซียได้กล่าวสนับสนุนเป้าหมายมูลค่าการค้า 1 ล้านล้านบาท ของทั้งสองประเทศ นอกจากนี้ไทยมีความเชี่ยวชาญในสาขายานยนต์ ซึ่งภาคอุตสาหกรรมรถยนต์ของมาเลเซีย มีความพอใจในการลงทุนในไทยด้วย รวมทั้งมาเลเซียยังสนใจที่จะร่วมมือกับไทยในอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวของไทยซึ่งเป็นยอมรับในภูมิภาค

มีรายงานก่อนหน้านี้ด้วยว่า ในวันที่ พล.อ.ประยุทธ์ เยือนมาเลเซีย มีการประท้วงหน้าสถานทูตไทย ถ.อัมปัง กรุงกัวลาลัมเปอร์ โดย 18 องค์กรประชาสังคม มีข้อเรียกร้องต่อรัฐบาลมาเลเซีย ไม่ให้ยอมรับรัฐบาล คสช. จนกว่าจะมีการปฏิบัติตามเงื่อนไขต่อไปนี้ได้แก่ (1) ยกเลิกกฎอัยการศึกในทันที (2) หยุดการทำลายและจับกุมผู้ที่มีความเห็นต่างทางการเมืองในประเทศไทยและปล่อยตัวนักโทษการเมืองทั้งหมด (3) มีการเลือกตั้งและให้ประชาชนไทยเลือกตั้งรัฐบาลของพวกเขาได้อย่างเสรีตามระบอบประชาธิปไตย

โดยในแถลงการณ์ดังกล่าว มีสมาชิกสภาผู้แทนราษฏรมาเลเซีย 4 คน ร่วมลงชื่อด้วย ได้แก่ ฉัว เทียน ชาง ส.ส.เขตบาตู กัวลาลัมเปอร์, ชาร์ลส์ ซานติอาโก ส.ส.เขตกลัง รัฐสลังงอร์, ชัยกุมาร เทวราช ส.ส.เขตสุไหง สิปุต รัฐเประ และ ชาง ลิ คัง ส.ส.เขตอะดุน เตจา รัฐเประ (อ่านข่าวก่อนหน้านี้)

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net