Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

ก่อนอื่นต้องขอบอกว่าผมคาดหวังความเป็นมืออาชีพจากประชาไทมากกว่านี้นะครับ สื่อไทยปัจจุบันนั้นแย่มากอยู่แล้ว ถ้าประชาไทต้องการจะสร้างความแตกต่างจากสื่ออื่นๆก็ควรจะต้องระมัดระวังเรื่องแหล่งข้อมูลและประเด็นเรื่องการละเมิดลิขสิทธิให้มากครับ

สืบเนื่องจากบทความชื่อเรื่องว่า "งานวิจัยเผย “คนดี” มีแนวโน้มจะเป็น “คนโกง”" ที่ตีพิมพ์ลงในหน้าเว็บประชาไทย (http://prachatai.org/journal/2014/11/56744)  มีจุดสังเกตให้เห็นมากมายถึงความหละหลวมและความมักง่ายของผู้เขียน และยังมีประเด็นเรื่องการละเมิดลิขสิทธิ์อีกด้วย


1. งานวิจัยนี้ตีพิมพ์ในปี 2007 แต่ผู้เขียนแจ้งว่าตีพิมพ์ในปี 2014 ซึ่งเหตุผลของความเข้าใจผิดน่าจะมาจากแหล่งข้อมูลที่ผู้เขียนใช้ คือบทความชื่อ "Oddly, Hypocrisy Rooted in High Morals" (http://www.livescience.com/2054-oddly-hypocrisy-rooted-high-morals.html) ลงวันที่ไว้ว่า "November 14, 2007" อันเป็นวิธีเขียนวันที่แบบอเมริกัน หมายถึงวันที่สิบสี่พฤศจิกายนปีสองศูนย์ศูนย์เจ็ด ซึ่งผู้ที่ไม่มีความเข้าใจอาจมองแค่ส่วนต้นแล้วคิดว่าหมายถึง November 2014 จุดนี้ชี้ให้เห็นถึงความบกพร่องและความหละหลวมของผู้เขียน

2. ลิงค์ที่ผู้เขียนให้ไว้นั้นไม่ได้พาไปที่หน้าของตัวงานวิจัยเอง แต่กลับพาไปยังหน้าหลักของวารสาร ซึ่งไม่มีเหตุผลอันใดที่ควรจะให้ลิงค์แบบนี้ แสดงว่าผู้เขียนไม่เคยสืบสาวราวเรื่องไปจนถึงตัวงานวิจัยจริงๆ ไม่ว่าจะเป็นเพราะค้นหาไม่พบเนื่องจากข้อมูลผิดพลาด(ตามข้างต้น)หรือเพราะความมักง่ายก็ตามแต่ ตัวบทความจริงๆนั้นอยู่ที่นี่ (http://psycnet.apa.org/journals/apl/92/6/1610/) ซึ่งการดึงดันอ้างอิงเอกสารทางวิชาการทั้งที่ไม่สามารถหาตัวต้นฉบับได้นั้นเป็นการกระทำที่ไม่สมควรเป็นอย่างยิ่ง


3. มีจุดที่น่าประหลาดใจในการเขียนชื่อผู้ประพันธ์งานวิจัย โดยคนหนึ่งบอกเพียงนามสกุล(เรย์โนลด์) แต่อีกคนหนึ่งบอกทั้งชื่อและนามสกุล(ทารา เซเรนิค) ซึ่งแม้ว่าจะไม่ใช่เรื่องแปลกในสื่อภาษาอังกฤษ แต่เป็นเรื่องแปลกอย่างมากในการเขียนสื่อภาษาไทย ชี้ให้เห็นว่าบทความนี้น่าจะมาจากการแปล และไม่ใช่การเขียนขึ้นเองหรือการถอดความ (paraphrase)

 

ซึ่งเมื่อเทียบกับบทความต้นฉบับแล้วก็พบว่าเป็นการแปลมาจริงๆ โดยสิ่งที่เกิดขึ้นคือแทบทุกส่วนของบทความภาษาไทยเป็นการแปลมาตรงๆจากบทความต้นฉบับ ผู้เขียนบทความในฉบับภาษาไทยไม่ได้ทำการถอดความหรือเขียนเนื้อหาขึ้นใหม่ด้วยความเข้าใจของตัวเองเลย ซึ่งไม่ใช่เรื่องที่ถูกต้องในมุมมองทางลิขสิทธิ์อย่างแน่นอน โดย Berne Convention for the Protection of Literary and Artistic Works ระบุไว้ว่า "เนื้อหาไม่จำเป็นต้องเป็นเรื่องใหม่ แต่รูปแบบของการนำเสนอต้องเป็นการสร้างขึ้นใหม่โดยผู้ประพันธ์" ซึ่งการแปลออกมาตรงๆนั้นไม่ถือว่าเป็นรูปแบบการนำเสนอใหม่ และถือเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ในนานาประเทศ จุดนี้แสดงถึงความมักง่ายของผู้เขียนได้ชัดเจน

----------------------------------------------------------


สรุปแล้วผมรู้สึกผิดหวังมากกับการกระทำของประชาไทในครั้งนี้ และผมคาดหวังว่าประชาไทจะมีวิธีจัดการเรื่องนี้อย่างเหมาะสม ทั้งการแจ้งให้สาธารณชนได้ทราบถึงความผิดพลาดที่เกิดขึ้น การแก้ไขตัวบทความที่ได้ตีพิมพ์ไปแล้ว การแก้ไขพฤติกรรมของผู้เขียนบทความและผู้ตรวจทาน รวมถึงการป้องกันไม่ให้เกิดเรื่องเช่นนี้ขึ้นอีกในอนาคต


ผมได้ทำสำเนาตัวบทความเก็บเอาไว้แล้ว และหากประชาไทไม่มีการตอบสนองที่เหมาะสมต่อเรื่องนี้ ผมจะถือว่าเรื่องนี้ตกเป็นหน้าที่ของผมที่จะต้องแจ้งให้บุคคลทั่วไปรับทราบถึงพฤติกรรมที่ไม่ถูกต้อง โดยผมจะนำสำเนาบทความและสำเนาอีเมล์ฉบับนี้ออกเผยแพร่สู่สาธารณะ ผมมีความชื่นชมในประชาไทสูงครับเพราะผมถือว่าเป็นสื่ออิสระที่กล้าเขียนเรื่องที่คนอื่นไม่เขียน ทว่าความชื่นชมที่สูงไม่ได้หมายถึงการทำหูหนวกตาบอดต่อความผิดพลาดของประชาไท แต่มันหมายถึงความคาดหวังที่สูงขึ้นตาม หวังว่าจะเข้าใจนะครับ

ด้วยความเคารพ

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net