ไทยเป็นเผด็จการอันดับที่เท่าไรในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

 

อีกเพียงหนึ่งปีกับหนึ่งเดือนข้างหน้า เราก็จะก้าวเข้าสู่การเป็นหนึ่งเดียวของประชาคมอาเซียน ตามการป่าวร้องของรัฐบาลทั้งหลายในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ซึ่งเสนอแต่ด้านอันประเสริฐของการเป็นกลุ่มทางเศรษฐกิจเดียวกันภายใต้ระบบตลาดเสรี จนทำให้บางคนยังเข้าใจว่าการเป็นประชาคมอาเซียนน่าจะเลยไปถึงขั้นทำให้ประเทศต่างๆ มีการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองที่ดีขึ้น โดยอาจลืมไปว่าประเทศสมาชิกทั้งหลายมีข้อตกลงว่าจะไม่เข้าไปเกี่ยวข้องกับการเมืองภายในประเทศของกัน เพราะรูปแบบการเมืองการปกครองของแต่ละประเทศในอุษาคเนย์นั้นมีความแตกต่างกันมากไม่เหมือนกับยุโรป   

ดังนั้นจึงไม่ต้องประหลาดใจว่าภายหลังวันที่ 22 พฤษภาคม รัฐบาลทหารจะถือว่ามิตรที่ดีของตนนอกจากจีนแล้วยังรวมถึงอาเซียนซึ่งค่อนข้างเงียบงันเกี่ยวกับรัฐประหารไม่เหมือนรัฐบาลของชาติตะวันตกและสหภาพยุโรป แน่นอนว่ารัฐบาลคสช.ซึ่งมีพื้นที่ทางการเมืองโลกจำกัดจึงมักเดินทางไปเชื่อมสัมพันธ์กับประเทศเพื่อนบ้านที่การปกครองคล้ายคลึงกันไม่ว่าพม่า ลาว เวียดนาม กัมพูชา ยกเว้นการเข้าร่วมเวทีโลกเช่นการประชุมเอเปกซึ่งเราจะไม่เห็นภาพของพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชาจับมือกับบารัก  โอบามา หรือเดวิด คาเมรอนอย่างสมเกียรติยกเว้นภาพของท่านยืนแคะขี้มูกอยู่ไกลๆ  ด้วยความคล้ายคลึงกันนี้จึงทำให้มีคนสงสัยว่าการปกครองของไทยในปี 2015 ที่จะถึงนี้น่าจะเป็นเผด็จการมากน้อยเพียงใดถ้าเทียบกับประเทศเพื่อนบ้าน

หากใช้ความรู้สึกของคนมองการเมืองไทยในด้านลบสุดขีด ประเทศไทยน่าจะเป็นเผด็จการที่สุดจนสามารถเอาไปเทียบกับประเทศนอกกลุ่มอย่างเช่นเกาหลีเหนือ แต่ผู้เขียนคิดว่าควรจะใช้เกณฑ์ที่เกิดจากการสำรวจอย่างเป็นหลักการดังเช่นเว็บดัชนีประชาธิปไตย  (Democracy index) ที่ทำการสำรวจโดยนิตยสาร The Economist ในปี 2012 (1)  การสำรวจวัดดัชนีความเป็นประชาธิปไตยของประเทศต่างๆ ในโลก ผู้สำรวจได้จัดอันดับของ 167 ประเทศผ่านคะแนนจากการประเมินโดยผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านรวมไปถึงทัศนคติของประชาชนต่อการเมืองของประเทศตน อันตั้งอยู่เกณฑ์ของความเป็นประชาธิปไตยดังต่อไปนี้

 

1. กระบวนการเลือกตั้งและความเป็นพหุลักษณ์

ดังคำถามเช่น การเลือกตั้งนั้นเสรีและยุติธรรมหรือไม่ ประชาชนที่อายุตามเกณฑ์ทุกคนสามารถใช้สิทธิเลือกตั้งหรือไม่ พรรคการเมืองต่างๆ มีเสรีภาพในการรณรงค์หาเสียงหรือไม่ พรรคฝ่ายค้านมีโอกาสในการจัดตั้งรัฐบาลหรือไม่ ฯลฯ

2.บทบาทและหน้าที่ของรัฐบาล

ดังคำแทนเช่น ตัวแทนที่ได้รับการเลือกจากประชาชนสามารถกำหนดนโยบายของรัฐได้หรือไม่  มีระบบตรวจสอบและถ่วงดุลรัฐบาลหรือไม่ มีรัฐธรรมนูญที่มั่นคงและมีประสิทธิภาพหรือไม่ รัฐบาลนั้นปลอดอิทธิพลจากกองทัพหรือไม่ รัฐบาลมีอำนาจปกครองครอบคลุมพื้นที่ทั่วประเทศหรือไม่  ฯลฯ

3.กระบวนการมีส่วนร่วมทางการเมือง

ดังคำถามเช่น จำนวนผู้มาใช้สิทธิในการเลือกตั้งระดับประเทศมีเท่าใด   เชื้อชาติ กลุ่มทางสังคม รวมไปถึงผู้นับถือศาสนาซึ่งถือว่าเป็นชนกลุ่มน้อยมีอิสระปกครองตัวเองหรือมีส่วนร่วมในกระบวนการทางการเมืองมากน้อยเพียงใด   ความพร้อม (เสรีภาพ) ของประชาชนในการเข้าร่วมชุมนุมหรือประท้วงภายใต้กฎหมายมีเพียงใด  ฯลฯ

4.วัฒนธรรมทางการเมือง

ดังคำถามเช่น มติร่วมกันของสังคมที่เพียงพอและสอดคล้องกันในการสร้างประชาธิปไตยอันมีเสถียรภาพหรือไม่  ประชาชนมีความต้องการผู้นำที่เข้มแข็งจนสามารถละเลยรัฐสภาและการเลือกตั้งมากน้อยขนาดไหน  มีสัดส่วนของประชาชนที่ต้องการถูกปกครองโดยกองทัพมากน้อยเพียงใด ฯลฯ

5.สิทธิและเสรีภาพของพลเมือง

ดังคำถามเช่นมีเสรีภาพในการแสดงออกและการประท้วงที่ไม่ก่อให้เกิดความรุนแรงหรือไม่  ประชาชนมีเสรีภาพในการจัดตั้งองค์กรทางอาชีพและสหภาพแรงงานหรือไม่ สื่อด้านสิ่งพิมพ์และทางอิเลคโทนิกมีเสรีภาพในการแสดงออกหรือไม่  มีการยอมรับความเท่าเทียมและความแตกต่างทางศาสนา เชื้อชาติ เพศหรือไม่  ฯลฯ

เนื่องจากไม่มีการสำรวจความเป็นเผด็จการ ผู้เขียนจึงอนุมานว่ายิ่งประเทศใดอยู่ในอันดับของประชาธิปไตยต่ำเท่าไรก็ยิ่งมีอันดับของเผด็จการสูงเท่านั้น หากเราจะเจาะจงไปที่การสำรวจเฉพาะประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้จะพบว่า

1. ลาวอยู่ในอันดับต่ำที่สุดคือ   156   แสดงว่าเป็นเผด็จการมากที่สุด เพราะผู้เขียนคิดว่า ลาวมีการปกครองแบบการพรรคการเมืองเดียวคือพรรคคอมมิวนิสต์ รัฐบาลขาดความโปร่งใสเต็มไปด้วยการฉ้อราษฎรบังหลวง ประชาชนถูกจำกัดสิทธิและเสรีภาพแม้ว่าจะสามารถนับถือศาสนาอื่นนอกจากพุทธที่พรรคคอมมิวนิสต์ใช้ประโยชน์ นอกจากนี้ยังมีข่าวอื้อฉาวเช่นนักกิจกรรมทางสังคมถูกอุ้มหาย ในปี 2015 ลาวจึงไม่น่าจะมีอันดับสูงกว่านี้เพราะการเมืองค่อนข้างหยุดนิ่งคือเป็นเผด็จการแบบมั่นคง (Established Dictatorship)

2.พม่า อยู่ในอันดับที่  155 เป็นเผด็จการอันดับที่ 2 ถ้ามีการสำรวจในปี 2015  อันดับน่าจะดีขึ้นบ้างเพราะแม้จะมีการปกครองแบบเผด็จการทหาร แต่พม่าเริ่มเปิดประเทศตั้งแต่ปี 2010 โดยการยอมให้      อองซาน ซูจี ออกจากการกักขังในบ้านพัก ไปพร้อมๆ กับการปล่อยบรรดานักโทษการเมืองและการเปิดให้มีการเลือกตั้งแบบเสรี แต่อันดับของพม่าก็ไม่น่าจะดีขึ้นมากเพราะรัฐบาลยังไม่ยอมแก้รัฐธรรมนูญเพื่อให้นางซูจีสามารถลงสมัครประธานาธิบดีในปี 2015  ที่สำคัญพม่ายังเต็มไปด้วยความขัดแย้งทางศาสนาและเชื้อชาติอยู่ตลอดเวลา ชนกลุ่มน้อยเช่นมุสลิมและชนชาติไร้รัฐอย่างเช่นโรฮิงยาตกเป็นเป้าหมายของความรุนแรง นอกจากนี้สื่อมวลชนยังคงถูกรัฐกีดกั้นการทำงานโดยใช้วิธีทางกฎหมายและนอกกฎหมาย

3.เวียดนาม อยู่ในอันดับที่ 144 เป็นเผด็จการอันดับที่ 3 แม้ว่าจะมีการปกครองเผด็จการพรรคการเมืองเดียวเช่นเดียวกับลาว  รัฐบาลขาดความโปร่งใสเต็มไปด้วยการฉ้อราษฎรบังหลวง ส่วนสิทธิและเสรีภาพของประชาชนก็มีอยู่พอสมควรดังเช่นสิทธิของพวกรักร่วมเพศเริ่มได้รับการยอมรับในสังคมของเวียดนาม การที่เราจะทราบว่าเวียดนามอยู่ในอันดับที่เท่าไรในปี 2015 คงต้องพิจารณาว่า สหรัฐอเมริกาซึ่งต้องการใช้เวียดนามในการโอบล้อมจีนจะสามารถกดดันเหมือนพม่าให้เวียดนามกลายเป็นประชาธิปไตยได้มากน้อยเพียงไหน

4.กัมพูชา อยู่ใน อันดับ 100 มีการปกครองแบบประชาธิปไตยเทียมคือแม้จะมีการเลือกตั้งที่ดูเหมือนเสรีแต่พรรคประชาชนกัมพูชาของฮุนซุนผูกขาดอำนาจมาตลอด แต่อันดับในปี 2015  อาจดีขึ้นบ้าง เพราะฝ่ายค้านเริ่มมีบทบาททางการเมืองมากขึ้นด้วยนายสม รังสีสามารถกลับมากัมพูชาได้ในปี 2013 นอกจากนี้คนกัมพูชารุ่นใหม่มีสิทธิและเสรีภาพพอสมควรดูได้จากการประท้วงบ่อยครั้งและสามารถติดต่อและรวมตัวกันเพื่อประกอบกิจกรรมทางการเมืองผ่านโซเชียลมีเดียได้อย่างเสรีในระดับหนึ่ง

5. สิงคโปร์ ประเทศในฝันของกลุ่มกปปส.อยู่ในอันดับ 81 มีการปกครองแบบเผด็จการพรรคการเมืองเดียวผสมระบบระบบข้าราชการนิยม มีสวัสดิการที่ดี การฉ้อราษฎรบังหลวงต่ำ ความโปร่งใสของภาครัฐสูง เป็นอันดับต้นๆ ของโลก กระนั้นกฎหมายยังคงเข้มงวดและจำกัดสิทธิและเสรีภาพของประชาชนอย่างมาก แม้ว่าคนรุ่นใหม่เริ่มหันมาเรียกร้องสิทธิและเสรีทางการเมืองซึ่งไม่เคยมีมาก่อนในระบบทางการเมืองของสิงคโปร์ที่ผู้นำที่เป็นบุรุษเหล็กเช่นนายลี กวนยูก่อตั้งมา หากไม่มีการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองที่ชัดเจน อันดับของสิงคโปร์ในปี 2015 น่าจะคงที่

6.ฟิลิปปินส์ อยู่ในอันดับที่ 69  มีการปกครองแบบประชาธิปไตยเสรีนิยม ประชาชนมีสิทธิและเสรีภาพในการแสดงออกมาก แต่รัฐบาลประสบปัญหาเรื่องการฉ้อราษฎรบังหลวง วัฒนธรรมเจ้าพ่อของท้องถิ่นสูงและอาชญากรรมรุนแรง เช่นเดียวกับความไร้ประสิทธิภาพขององค์กรยุติธรรม อันดับในปี 2015  อาจจะมีตัวแปรให้อันดับเปลี่ยนเช่นมีข่าวว่าประธานาธิบดีเบนนิกโน อากีโนที่สามคิดจะแก้รัฐธรรมนูญให้ตัวเองอยู่ต่อได้อีกสมัย (ปกติประธานาธิบดีฟิลิปปินส์ดำรงตำแหน่งได้เพียง 6 ปีและสมัยเดียว) และยังคิดจะลดทอนอำนาจของฝ่ายตุลาการ

7. มาเลเซีย แม้ว่าสถาบันทางการเมืองในระบอบประชาธิปไตยจะเข้มแข็ง แต่มาเลเซียอยู่ในอันดับ 64  มีการปกครองแบบประชาธิปไตยเทียม พรรคการเมืองเดียวคือพรรคอัมโนยังคงผูกขาดอำนาจมายาวนาน พรรคยังคงหากินกับภาพเงาของผู้นำเผด็จการแบบมหาเธร์ โมฮาหมัด กฎหมายของมาเลเซียยังคงจำกัดสิทธิและเสรีภาพของประชาชนโดยเฉพาะชนกลุ่มน้อยเช่นคนเชื้อสายจีนและอินเดีย  รวมไปถึงการใช้กฎหมายในยุคตกเป็นอาณานิคมของอังกฤษในการจำกัดการแสดงออกทางการเมืองรวมไปถึงการเล่นงานนายอันวาร์ อิมราฮิม หัวหน้าพรรคฝ่ายค้านในคดีพฤติกรรมเป็นพวกรักร่วมเพศ   อันดับในปี 2015 ของมาเลเซียน่าจะคงที่หรืออาจจะตกลงไปบ้าง

8.อินโดนีเซีย อยู่ในอันดับที่  53 มีการปกครองแบบประชาธิปไตยเสรีนิยม แต่การฉ้อราษฎรบังหลวงสูง ชนชั้นปกครองยังอยู่ในยุคซูฮาร์โต อันดับในปี 2015 น่าจะดีขึ้นบ้างเพราะนายโจโค วิโดโด ซึ่งเป็นพ่อค้าขายเฟอร์นิเจอร์มาก่อนได้รับเลือกเป็นประธานาธิบดีแทนที่จะเป็นนายพลอดีตลูกเขยของ ซูฮาร์โต อันสะท้อนว่าอินโดนีเซียมีการพัฒนาด้านประชาธิปไตยครั้งใหญ่ แต่ต้องดูระยะยาวว่าวิโดโดจะสามารถไปให้พ้นจากการครอบงำของของนางเมกวาตี ซูการ์โนปุตรี ประธานของพรรคพีดีไอพีที่เขาสังกัดอยู่ได้หรือไม่เช่นเดียวกับการแก้ไขปัญหาการฉ้อราษฎรบังหลวง กระนั้นก็เหตุการณ์ที่กลายเป็นคะแนนติดลบสำหรับอันดับประชาธิปไตยของอินโดนีเซียเช่นรัฐสภาได้แก้ไขกฎหมายให้ผู้นำของท้องถิ่นไม่ได้มาจากการเลือกตั้งจากประชาชนโดยตรง

9.ติมอร์ เลสเต มีการปกครองแบบประชาธิปไตยเสรีนิยม มีการเลือกตั้งเสรี แต่ก็มีการฉ้อราษฎรบังหลวง ประชาชนยังยากจน  อำนาจของประชาชนและรัฐบาลท้องถิ่นยังถูกผูกขาดโดยรัฐบาลกลางในกรุงดิลี  แต่ดูจากคะแนนแล้วยังถือได้ว่าติมอร์มีปัญหาด้านประชาธิปไตยเหล่านี้ไม่ร้ายแรงนัก ผู้สำรวจจึงจัดประเทศที่ไม่ได้อยู่ในกลุ่มอาเซียนให้อยู่ในอันดับ  43 ซึ่งสูงที่สุดในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้   อันดับในปี 2015 ของประเทศนี้น่าจะคงที่เพราะไม่มีเหตุการณ์ทางการเมืองสำคัญ

10.บรูไน มีการปกครองแบบระบอบสมบูรณาญาสิทธิราช ประชาชนถูกจำกัดสิทธิและเสรีภาพอย่างมาก แต่ผู้เขียนกลับไม่พบในรายชื่อของ The Economist คาดเดาเอาว่าอาจถูกกีดกันไม่ให้ทำการสำรวจ  ประเทศนี้อาจจะอยู่ตรงกลางค่อนล่างแม้ว่าประชาชนจะมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีเพราะรัฐให้การสนับสนุนด้วยเงินที่มาจากน้ำมันเหมือนกับหลายประเทศในตะวันออกกลาง และอันดับในปี 2015 อาจลดลงไปอีก เพราะกษัตริย์ของบรูไนนำเอากฎหมายชารีอะห์มาใช้อันเป็นการลิดรอนสิทธิและเสรีภาพของประชาชนโดยเฉพาะพวกที่ไม่ได้นับถือศาสนาอิสลามอย่างรุนแรง

สำหรับประเทศเจ้าปัญหาคือไทย ในปี 2012 อันดับของการเป็นประชาธิปไตยอยู่ในอันดับที่ 58 สูงว่ามาเลเซียแต่ต่ำกว่าอินโดนีเซีย  ถ้ามาจัดอันดับในปี 2015 ไทยคงร่วงลงมาอยู่อันดับต่ำกว่า 100 ยิ่งกว่ากัมพูชาถึงแม้คนไทยจะมีสิทธิและเสรีภาพมากกว่ากัมพูชาก็ตาม แต่คะแนนก็ต้องเสียไปเป็นจำนวนมหาศาลเพราะการทำรัฐประหาร  อันนำไปสู่องค์กรใหม่ดังที่เรียกว่าแม่น้ำ 5 สายคือ คสช. รัฐบาล สนช. สปช. กมธ. ซึ่งไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง ตัวแทนขององค์กรเหล่านั้นมักอ้างว่ามาจากการสรรหาของกลุ่มต่างๆ (โดยเฉพาะกองทัพ) ในสังคมแต่แท้จริงได้ถูกกำหนดไว้ล่วงหน้าแล้ว นอกจากนี้สิ่งที่ทำให้ไทยเสียคะแนนไปอีกคือการไม่ยอมให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมีการเลือกตั้ง ผู้เขียนจึงคิดว่าแผนการปฏิรูปการเมืองอันลือเลื่องประการหนึ่งคือการเลือกตั้งผู้ว่าราชการจังหวัดของทุกจังหวัดในอนาคตอันใกล้คือสิ่งที่เป็นไปไม่ได้เป็นอันขาด เพราะหากรัฐไทยยิ่งรวมศูนย์อำนาจและคลั่งเรื่องความมั่นคงเท่าไร ผู้ว่าราชการจังหวัดยิ่งต้องอยู่ภายใต้การควบคุมของกระทรวงมหาดไทยมากเท่านั้น

กระนั้นอันดับของไทยน่าจะตกต่ำอยู่อย่างนี้ไม่นานถ้ามองในด้านดีแบบคนไทยจำนวนไม่น้อยว่าการปกครองแบบรัฐบาลเผด็จการนี้จะอยู่ชั่วคราวดังโรดแมฟที่คสช.ได้อ้างว่าเตรียมจะให้มีไม่เกินสิ้นปีหน้านี้ แต่ความเชื่อข้างบนอาจกลายเป็นเรื่องเพ้อเจ้อ ถ้าผู้สำรวจได้อ่านบทสัมภาษณ์ของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังกับสำนักข่าวบีบีซีเมื่อวันที่ 26 เดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา (2) เช่นเดียวกับโพลที่แอบโยนก้อนหินถามทางอยู่เนืองๆ โดยการบอกว่าคนไทยยังไม่ต้องการการเลือกตั้งหรือต้องการให้พลเอกประยุทธ์เป็นนายกรัฐมนตรีไปชั่วฟ้าดินสลายเพราะกลัวว่าจะเสียของ

ผู้สำรวจยังน่าจะพบอีกว่ารัฐบาลของพลเอกประยุทธ์มีอำนาจมากเพราะเป็นหนึ่งเดียวกับ คสช.ที่สำคัญยังได้รับการสนับสนุนอย่างเหนียวแน่นจากกองทัพและองค์กรที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้งเช่นศาลและองค์กรอิสระ กองทัพยังเข้าไปควบคุมสื่อมวลชนกระแสหลัก จนการตรวจสอบหรือการสะท้อนการทำงานรวมถึงความโปร่งใสหรือการฉ้อราษฎรบังหลวงของรัฐบาลจากองค์กรเหล่านั้นกลายเป็นเรื่องช่วยประชาสัมพันธ์ไปแทน กระนั้นในเวลา 6 เดือนที่ผ่านมารัฐบาลกลับแก้ปัญหาหรือออกนโยบายที่แตกต่างจากรัฐบาลชุดก่อนไม่ค่อยได้ ดังจะดูได้จากคะแนนความนิยมของนายกรัฐมนตรีที่ตกลงเรื่อยๆ แต่ภาพพจน์ของรัฐบาลก็ได้รับการช่วยเหลือจากโพลสำรวจความคิดเห็นอยู่เรื่อยๆ  อันเป็นเรื่องน่าสงสัยว่ากลุ่มตัวอย่างที่สำนักโพลเหล่านั้นสำรวจน่าจะเป็นทหารที่อยู่ในค่ายเสียเป็นส่วนใหญ่

นอกจากนี้ความกระตือรือร้นของรัฐบาลประการหนึ่งในการเรียกร้องให้ส่วนต่างๆ ของสังคมระดมความคิดเห็นผ่านช่องทางต่างๆ ที่ตนได้จัดไว้ให้น่าจะพอให้คะแนนด้านประชาธิปไตยเพิ่มขึ้นมาบ้างแต่ไม่น่าจะมากหากมองในด้านร้ายว่าเป็นแค่การสร้างภาพลวงเพราะการเสนอความคิดเห็นของทุกภาคส่วนไม่ได้รับประกันว่าจะได้รับการตอบสนองจนกลายเป็นรูปธรรมเสมอไป ด้วยผู้ที่มีอำนาจสุดท้ายในการพิจารณาคือคสช.ซึ่งมีอุดมการณ์และความคิดที่มีวาระซ้อนเร้นมาก่อนรัฐประหารเสียด้วยซ้ำ

สำหรับประชาชนไทยก็ยังมีสิทธิและเสรีภาพอยู่ในการวิจารณ์การทำงานของรัฐบาลอยู่บ้างดังจะดูได้จากโซเชียลมีเดียซึ่งมีทั้งสนับสนุนและโจมตีพลเอกประยุทธ์  แต่สื่อออนไลน์จำนวนมากก็ยังถูกควบคุมและเซ็นเซอร์โดยทางการที่อ้างถึงความมั่นคง(บ้างครั้งเพ้อเจ้อถึงขั้นแบนยูทูปของการเสวนาทางวิชาการเกี่ยวกับประวัติศาสตร์เศรษฐกิจไทย)   นอกจากนี้การแจกใบปลิวหรือการชุมนุมต่อต้านคสช.และรัฐบาลเป็นสิ่งผิดกฏหมายคือกฎอัยการศึก แม้แต่การแสดงออกเล็กๆ น้อยๆ ทางร่างกายเช่นการชูสามนิ้วก็จะถูกกองทัพนำไปปรับทัศนคติหรือกล่าวอีกนัยหนึ่งคือการข่มขู่แบบศรีธนญชัย และยังเป็นเรื่องที่น่าสนใจว่าแม้ปัญญาชนที่ต่อต้านรัฐบาลจะไม่ติดคุกหรือหนีเข้าป่าเหมือนกับยุคจอมพลสฤษดิ์ ธนรัชต์และจอมพลถนอม กิติขจร แต่คนเหล่านั้นได้ลี้ภัยไปยังต่างประเทศกันมากเป็นประวัติการณ์ทั้งนี้ไม่นับจำนวนของผู้ประท้วงตัวเล็กตัวน้อยซึ่งถูกจับติดคุก ทรมาณร่างกายหรือว่าหายสาบสูญไป  แม้พวกเขาจะถูกรัฐบาลกล่าวหาว่าเป็นพวกสร้างความแตกแยกหรือรับเงินของอดีตนายกรัฐมนตรี แต่ผู้ทำการสำรวจซึ่งเคยทราบถึงพฤติกรรมเช่นนี้ของรัฐบาลไทยมาตั้งแต่อดีตกาลน่าจะคิดตรงกันข้าม ที่สำคัญหากรัฐบาลของพลเอกประยุทธ์สามารถผลักดันพรบ.การชุมนุมสาธารณะสำหรับควบคุมการประท้วงจนสำเร็จย่อมทำให้ไทยเสียคะแนนความเป็นประชาธิปไตยไปอีกมาก

นอกจากนี้กฎหมายอาญามาตรา 112 ยังเป็นเรื่องที่ต้องถกเถียงกันมาก  พวกอนุรักษ์นิยมเห็นว่ากฎหมายฉบับนี้เป็นสิ่งจำเป็น แต่สำหรับชาวตะวันตกที่ทำการสำรวจกลับเห็นว่าเป็นกฎหมายที่ลิดรอนสิทธิและเสรีภาพของประชาชน ซึ่งน่าเป็นปัจจัยที่ทำให้ไทยอยู่ในอันดับประมาณ 50 กว่ามาหลายปี เมื่อก่อนหน้านี้ ยิ่งในปัจจุบัน คสช.ใช้กฎหมายฉบับนี้เล่นงานปรปักษ์ทางการเมืองเพิ่มขึ้น ก็ยิ่งได้คะแนนต่ำลงไปอีก

สำหรับบทบาทของกองทัพนั้น คะแนนประชาธิปไตยด้านนี้ของไทยน่าจะเข้าไปสู่ระดับเดียวกับพม่าภายหลังจากเคยเข้าไปใกล้เมื่อปี 2549  ถือว่าเป็นการถอยหลังของประชาธิปไตยครั้งใหญ่หากเทียบกับประเทศซึ่งกองทัพเคยมีบทบาทอย่างมหาศาลอย่างเช่นอินโดนีเซียและฟิลิปปินส์ รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งของประเทศเหล่านั้นสามารถเข้ามาควบคุมกองทัพได้ แม้แต่เผด็จการอย่างเช่น ลาว เวียดนาม กัมพูชา กองทัพก็อยู่ภายใต้อำนาจของพลเรือนหรือพรรคคอมมิวนิสต์  ที่สำคัญทัศนคติของคนไทยจำนวนมากที่ยังเห็นว่ากองทัพสามารถเข้ามาแทรกแซงการเมืองของพลเรือนและยอมรับให้ผู้นำของกองทัพเข้ามาบริหารบ้านเมือง

วัฒนธรรมทางการเมืองเช่นนี้ย่อมก่อให้ส่งผลกระทบต่อรัฐธรรมนูญซึ่งเป็นตัวชี้วัดประชาธิปไตยสำคัญอีกตัวหนึ่ง หากเราใช้เกณฑ์คือลัทธิรัฐธรรมนูญนิยม (Constitutionalism) หรือแนวคิดที่ว่ารัฐธรรมนูญเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่จำกัดอำนาจของรัฐบาล ถือได้ว่าคะแนนด้านนี้ของของไทยต่ำมากเพราะไม่ว่าฉบับชั่วคราวของปีนี้หรือฉบับถาวรในปีหน้าที่กำลังถูกร่างโดยเนติบริกรผู้ภักดีต่อรัฐบาลไม่ได้เป็นการสนับสนุนระบบ นิติรัฐเลยหากก็เป็นเพียงแค่การลดอำนาจของอดีตนายกรัฐมนตรีและการเป็นเพิ่มอำนาจให้กับสถาบันที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้งเช่นเดียวกับการเปิดช่องให้คสช.ใช้อำนาจได้อย่างไม่มีขีดจำกัดมากกว่าจะคำนึงถึงเรื่องสิทธิและเสรีภาพของประชาชน   แน่นอนว่าผู้ร่างย่อมอำพรางโดยการเขียนให้ประชาชนมีสิทธิและเสรีภาพสูงขึ้นกว่ารัฐธรรมนูญฉบับทั้งปี 40 และปี 50 อันจะเป็นการสร้างความชอบธรรมให้แก่รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ แต่ก็ยังอยู่ภายใต้ความเมตตาจากข้าราชการประจำหรือนักการเมืองที่มาจากการสรรหาไม่ใช่กลุ่มบุคคลที่ประชาชนเป็นคนเลือก

ด้วยปัจจัยดังกล่าวน่าจะทำให้ไทยมีอันดับของการเป็นเผด็จการอยู่ต่ำกว่าพม่า เวียดนาม ลาวเพียงไม่กี่อันดับ

 

หมายเหตุ

(1)  เป็นเว็บที่ผู้เขียนสามารถเข้าถึงข้อมูลได้ง่ายที่สุดและยังมีรายละเอียดกับเกณฑ์วัดค่อนข้างน่าเชื่อถือ แม้การสำรวจยังมีในปี 2014 แต่ทางเว็บได้บังคับให้การลงทะเบียนออนไลน์จึงจะทราบข้อมูลซึ่งทำให้ผู้เขียนไม่สะดวกที่จะเข้าไปค้น ผู้เขียนยังขอแก้ตัวว่าแม้การเมืองโลกในยุคโลกาภิวัฒน์นั้นมีการเปลี่ยนแปลงรวดเร็วมากแต่สำหรับระบอบประชาธิปไตยของประเทศต่างๆ นั้นหากไม่มีการเปลี่ยนแปลงแบบพลิกฟ้าคว่ำแผ่นดิน (ดังเช่นไทย) อันดับจึงไม่น่าจะเปลี่ยนแปลงได้มากนัก ผู้เขียนจึงขอชดเชยโดยการเขียนอธิบายรูปแบบทางการเมืองและสถานการณ์ของประชาธิปไตยอันโดดเด่นของประเทศนั้นๆ ประกอบไปด้วยเพื่อเป็นการพยากรณ์ว่าถ้าทำการสำรวจในปี 2015 เหล่าประเทศในอุษาคเนย์ทั้งหลายนี้น่าจะเปลี่ยนแปลงมากน้อยแค่ไหน 
https://portoncv.gov.cv/dhub/porton.por_global.open_file?p_doc_id

(2)  นายสมหมายได้กล่าวว่าประเทศไทยอาจจะต้องชะลอการเลือกตั้งจนไปถึงปี 2016  อ่านเพิ่มเติมที่ http://www.bbc.com/news/business-30218621

  

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท