Skip to main content
sharethis

พล.อ.ประยุทธ์ ขอร้องอย่าต่อต้านรัฐบาล หันมาเสนอไอเดีย สปช. ดีกว่า จะถอยกลับไปก่อน 22 พ.ค. ไม่ได้-ต้องเดินหน้าลูกเดียว ย้ำรับฟังทุกกลุ่ม-รัฐบาลไม่มีศัตรู-ไม่จำกัดสิทธิใคร พร้อมแนะนำประชาชนดูแต่ช่องบันเทิงไม่ได้ ให้ดูทีวีรัฐสภาด้วยว่างๆ ลองเปิดดู จะได้รู้ว่าการปฏิรูปกำลังเดินหน้า-สนช.กำลังออกกฎหมาย

ที่มาของภาพ: เว็บไซต์รัฐบาลไทย

28 พ.ย. 2557 - พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี กล่าวในรายการ “คืนความสุขให้คนในชาติ” ออกอากาศทางโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจแห่งประเทศไทย วันศุกร์ที่ 28 พฤศจิกายน 2557 เวลา 20.15 น. ทั้งนี้มีการเปลี่ยนฉากหลังของรายการใหม่ เป็นภายในทำเนียบรัฐบาลแทนภายหลังจากที่ พล.อ.ประยุทธ์ ปรารภเมื่อวันที่ 25 พ.ย. ว่าจะเปลี่ยนฉากหลัง โดยเนื้อหาของรายการตามที่เผยแพร่ใน เว็บไซต์รัฐบาลไทย มีดังนี้

000

สวัสดีครับ วันนี้ก็ถือว่าเป็นอีกบรรยากาศหนึ่งเป็นการพูดคุยเล่าสู่กันฟังแล้วกันสบาย ๆ เพราะว่าเราก็ทำงานมามาก หลายวันแล้ว ในเรื่องของการประชุมบ้าง ในการไปพบปะกับหลาย ๆ หน่วยงานที่มีการจัดงานภายนอกบ้าง เดี๋ยวเกรงว่าฟังผมบ่อย ๆ แล้วก็จะรำคาญเสียเปล่า ๆ วันนี้ก็จะมาเล่าให้ฟังใช้เวลาให้น้อย ๆ เปลี่ยนบรรยากาศบ้าง เพราะว่าเราพูดกันมานานแล้วว่าเราจะรักษาบรรยากาศในการปฏิรูป

ก่อนการประชุมคณะรัฐมนตรี ก็ได้มีการพบกับอธิบดีกรมควบคุมโรคติดต่อ ของกระทรวงสาธารณสุข ก็ได้มีการนำเสนอเกี่ยวกับเรื่องของการป้องกันแก้ไขปัญหาโรคเอดส์ ซึ่งเราได้รับคำชมเชยเป็นที่น่ายินดีจากผู้อำนวยการองค์กรโลกเอดส์ ของ UN ท่านประธานท่านมาเอง เมื่อเดือนที่แล้ว และมาชื่นชมประเทศไทยว่าเหมาะสมที่จะเป็นประเทศที่เป็นตัวอย่างได้ และเป็นศูนย์กลางการแก้ปัญหาโรคเอดส์ในภูมิภาคด้านเอเชียตะวันออกเฉียงใต้นี้ได้ และในโอกาสต่อไปก็คงเป็นของโลกด้วย เพราะเราแก้ปัญหาทั้งระบบ ทั้งในเด็ก ทั้งในผู้ใหญ่ และในส่วนของการรณรงค์การใช้โรคเอดส์ ที่เกี่ยวกับการรณรงค์การใช้เข็มสะอาด ซึ่งเป็นการริเริ่มของกระทรวงสาธารณสุข ดำเนินการมานานแล้ว อันนี้ผมนับว่าเป็นสิ่งที่ดีของประเทศไทย ว่าทำอย่างไรเราจะมีคนติดโรคเอดส์น้อยลง หรือในอนาคต ในอีก 25 ปี ข้างหน้าจะต้องไม่มีอีกเลย อันนี้เราก็ได้รับความไว้วางใจในเรื่องนี้ ก็มีทั้งนักวิชาการ มีทั้งคุณหมอ มีทั้งนักแสดงต่าง ๆ มาร่วมด้วย ผมถือว่าเป็นความร่วมมือระหว่างกัน ก็เตือน ๆ กันไปแล้วระมัดระวังโรคเอดส์อันตราย

วันนี้โรคเอดส์เราควบคุมได้ โรคซาร์ส เราก็ได้มาแล้ว วันนี้ก็เหลือโรคอีโบลา วันนี้ก็น่ายินดีอีกเหมือนกัน ว่าการที่มีข่าวว่ามีบุคคลที่อยู่ในการควบคุม โรคอีโบลานั้น ได้ออกมาจากสถานควบคุมอะไรก็แล้วแต่ วันนี้ก็ได้พบแล้ว และพบตัวแล้ว แล้วก็ตรวจสอบแล้วว่าไม่ได้ติดเชื้ออะไร เป็นการเดินทางมาจากประเทศที่มีการแพร่ระบาดของอีโบลา

ในส่วนของการทำงานในปัจจุบันนั้น ผมกราบเรียนว่าเราอยากจะฟังความเห็นทุกพวก ทุกกลุ่ม ในเรื่องของการปฏิรูป ในเรื่องของการทำงาน มีหลายท่าน ทั้งอดีตผู้นำรัฐบาล ทั้งในส่วนของนักวิชาการ นักศึกษา ได้ออกมาพูดในทำนองที่ว่าขอให้เรารับฟังความคิดเห็นของคนในทุกระดับบ้าง ผมก็ทำอยู่แล้ว ในวันนี้รับฟังจนมากไปหมดเลย ก็เพียงแต่ว่าขออย่าให้มีการต่อต้านกับการทำงานของรัฐบาล และคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เลย ถ้าหากว่าท่านจะรวมกลุ่มกัน แล้วก็สรุปผลการประชุมมา สรุปข้อคิดเห็นมา ส่งมาที่เราก็ได้ ส่งไปที่คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ก็ได้ ส่งไปที่สภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ก็ได้ ผมรับทุกช่องทาง ขอให้สรุปมา

วันนี้ก็มีหลายประการที่เรารับมาแล้ว เช่น การพูดคุยที่ธรรมศาสตร์เมื่อเร็ว ๆ นี้ เราก็รับเข้ามา ฟังดูแล้วก็น่าจะมีเหตุผลดีพอสมควร ประเด็นก็คือว่าไม่ว่าใครจะเสนอมารับทั้งหมด กลุ่มไหนก็ตามรับหมด แต่เข้าช่องทาง ถ้าไปพูดแล้วสร้างความขัดแย้งเดินไปไม่ได้ เพราะฉะนั้นเราไม่ได้กำจัดศัตรูเราไม่มีศัตรู และไม่ได้จำกัดสิทธิของใครเลยในวันนี้ เพราะฉะนั้นสถานการณ์ในวันนี้ ผมคิดว่าเราต้องเดินหน้าประเทศ พูดหลายครั้งแล้วว่าเราต้องเดินหน้าประเทศไปสู่ ความมั่นคงอย่างยั่งยืนในอนาคต วางพื้นฐานประเทศ

เพราะฉะนั้นหากเราจะถอยหลังกลับไป ไปเป็นเหมือนกับก่อนวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 ที่ผ่านมาก็ถอยไปไม่ได้ วันนี้เรามีแต่เดินหน้ากันอย่างเดียว ทุกคนต้องช่วยกันทั้ง คสช. ทั้งรัฐบาล และภาคประชาชน นิสิต นักศึกษา ต้องช่วยกัน เคารพซึ่งกันและกัน วันนี้มีหลายพวก ทั้งนักการเมือง ข้าราชการ พลเรือน ตำรวจ ทหาร ประชาชน ธุรกิจ พ่อค้า ประชาชน หลายคน หลายพวก ก็ฟังทั้งหมด เพราะฉะนั้นต้องช่วยกันใครมีส่วนร่วม เขาเรียกว่าผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ในเรื่องของการปฏิรูปต้องเข้ามาแล้วเสนอมา แต่ก็ขอให้มีพื้นฐาน มีแนวทาง มีหลักการบ้าง ถ้าคิดตามใจชอบก็ไปไม่ได้ วันนี้เราก็บอกแล้ว บอกให้ไปนำข้อเสนอแนะต่าง ๆ มา นำหลักการของต่างประเทศมา ประเทศนั้นประเทศนี้ เขามีการดำเนินการทางด้านการเมืองอย่างไร ในการบริหารประเทศลักษณะที่เป็นการใช้ระบบ รัฐสภาฯ เป็นอย่างไร ประชาธิปไตยในสิ่งที่ถูกต้องควรจะเป็นอย่างไร

ในเรื่องของการตรวจสอบการทุจริต การโปร่งใส หรือการใช้จ่ายงบประมาณก็ไปว่าอีกขั้นตอนหนึ่ง ต้องพูดให้ครบตั้งแต่ตอนเริ่มต้น การควบคุม การใช้จ่าย การตรวจสอบความสุจริตต่าง ๆ ไปว่ามา แต่ถ้านำทั้งหมดมาพันกันในเวลาเดียว เดินไม่ได้ หาข้อยุติไม่ได้ ขอความกรุณาด้วย วันนี้มีคนเห็นต่างกันมากมาย เพราะฉะนั้นต่างคนต่างทำบทบาทของตัวเองให้ดีที่สุดแล้วกัน และ คสช. ก็จะกำหนดบทบาทตัวเองชัดเจน รัฐบาลก็จะเกื้อกูลในการปฏิรูปให้ได้ โดยใช้เวลาให้น้อยที่สุด

ในเรื่องของการประชุม ครม. วันนี้มีการประชุมนาน ตั้งแต่ 09.00 น. ตอนเช้า และไปเสร็จเกือบบ่ายโมง ประมาณบ่ายโมง ทานอาหารเล็กน้อยก็มีการประชุมต่อ เป็นการประชุม BOI ซึ่งวันนี้ที่ผ่านมาของ BOI ก็มีหลายเรื่องที่ต้องมีการปรับปรุงแก้ไข การวางยุทธศาสตร์ระยะยาว 7 ปี เราบอกแล้วว่าประเทศเราต้องเดินหน้า อย่างน้อยก็ 5 ปี 10 ปี วันนี้เรามีตามแผนเก่าอยู่เข้าปีที่ 2 เราก็เหลืออีก 2 ปี และอีก 10 ปี ข้างหน้าก็อีก 2 แผนพัฒนา ทำอย่างไรจะสอดคล้อง แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นก็เป็นเรื่องของรัฐบาลต่อไปจะดำเนินการ ถ้าหากว่าถึงเวลานั้น ถ้าเราไม่วางวันนี้ไว้ วันหน้าก็ไปไม่ได้

วันนี้การประชุม ครม. ที่ว่ายาวเพราะว่ามีการประชุมในวาระปกติถึง 28 วาระด้วยกัน 28 วาระ ก็ถกแถลงกันนานพอสมควร หลาย ๆ ประเด็นก็กลุ่มงาน วันนี้ก็มีทั้งกลุ่มความมั่นคง ในเรื่องของสังคม จิตรวิทยา ในเรื่องของกระบวนการยุติธรรม ในเรื่องของการปฏิรูป เหล่านี้ต้องเข้ามาสู่ในกระบวนการขับเคลื่อนการทำงานของรัฐบาลอย่างต่อเนื่อง วันนี้มี 28 วาระ เร่งด่วนอีก 11 วาระ ก็ 30 กว่าวาระ ก็ประชุม ถกแถลงกันจนใช้เวลานานพอสมควร

ประเด็นสำคัญก็คือต้องหารือกันในเรื่องของการปฏิรูปว่าจะทำอย่างไร เราจะใช้เวลาที่มีอยู่ได้อย่างเหมาะสม และทันเวลา และอะไรที่สำคัญก่อนสำคัญหลัง วันนี้ก็ตกลงกันว่าถ้าเราจะมีการเลือกตั้งกันในระยะเวลาอันใกล้วันหน้าจะต้องทำอย่างไรบ้าง คือการสร้างกระบวนการการเข้ามาสู่การบริหารราชการแผ่นดิน แล้วก็ในการบริหารราชการจะทำกันอย่างไร ทำให้ข้าราชการฝ่ายบริหาร มีความสมดุลกันกับข้าราชการที่จะต้องทำงานตามกรอบระเบียบของกฎหมายที่กำหนดไว้แล้วเดิม ว่าจะทำอย่างไรไม่ให้เกิดความขัดแย้งกัน คือถ้าเราบอกว่าข้าราชการก็ทำได้ แล้วก็ไม่ต้องเชื่อฟังคำสั่งฝ่ายบริหารก็ไม่ใช่ ต้องสมดุลกันทั้งคู่ ฟังซึ่งกันและกัน ไม่อย่างนั้นจะเกิดปัญหาว่ามีความขัดแย้ง และมีการกล่าวล่วงในซึ่งกันและกัน

ในส่วนของกระบวนบริหารกับนิติบัญญัติจะทำกันอย่างไร ไม่ให้มีการทำทับซ้อน อันนี้ก็อีกเรื่องในเรื่องของกระบวนการตุลาการจะทำอย่างไร อย่าใช้เครื่องมือเหล่านี้ ซึ่งเป็นการถ่วงดุลอำนาจ 3 อำนาจแล้วมาพันกันไปมา ทำให้เกิดปัญหาในอนาคตด้วย

ในเรื่องของโครงการบริหารจัดการน้ำ ก็เคยเรียนมาหลายครั้งแล้วว่าที่ผ่านมาทุกรัฐบาลก็มีแผนงานบริหารจัดการน้ำมาโดยตลอดอย่างต่อเนื่อง ยังไม่ต่อเป็นภาคที่ครบวงจร วันนี้ผมก็ให้แนวทางไปแล้วไปคิดมาตั้งแต่สมัยที่เรามีการจัดตั้งคณะกรรมการบริหารจัดการน้ำใหม่แห่งชาติทั้งระบบ โดย คสช. วันนี้ผมก็ให้เขานำมาเสนอ ซึ่งมีท่านพลเอก ฉัตรชัย สาริกัลยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เป็นหัวหน้าก็ทำมาตั้งแต่สมัย คสช. แล้ว วันนี้มาให้ ครม. รับทราบ เราจะพูดถึงว่าต้นทุนน้ำจะมาจากไหนอย่างไร เราก็มีต้นทุนน้ำมาจากน้ำฝนใช่หรือไม่ อีกทีก็คือปริมาณน้ำจากน้ำฝนที่ล้นไป ท่วมไป ในช่วงหน้าฝนน้ำมาก ๆ เราจะทำอย่างไร นี่คือน้ำต้นทุนต้องเก็บไว้ให้มากที่สุด

เพราะฉะนั้นการสร้างอ่างเก็บน้ำต่าง ๆ แล้วแต่จะต้องชัดเจน ตั้งแต่พื้นที่ตอนเหนือ ตอนกลาง และในพื้นที่ใช้น้ำ จะขยายกันอย่างไร ทั้งเก็บน้ำ และระบายน้ำให้ได้ พร่องน้ำให้เร็ว และกักเก็บน้ำไว้ใช้ในฤดูแล้ง ไม่ใช่ว่าน้ำมาปล่อยไปที่เดียวก็หมด กลัวน้ำท่วมอย่างเดียวไม่ได้ต้องวางแผนให้ทีเดียว ทั้งป้องกันภัยแล้ง และป้องกันน้ำท่วมด้วย เพราะปัญหาบ้านเรานั้นยังมีพื้นที่อีกมากมาย ซึ่งมีปัญหาเรื่องการใช้น้ำ โดยเฉพาะอย่างยิ่งวันนี้เรามีพื้นที่การเกษตรที่เราสามารถจัดส่งน้ำไปได้ในจำนวนหนึ่งเท่านั้นเอง อีกจำนวนมากซึ่งเราส่งไม่ได้ เพราะฉะนั้นเมื่อส่งไม่ได้ ต้องมีการปรับเปลี่ยนการเพาะปลูกพืชให้เหมาะสมกับสภาพดิน สภาพน้ำ หรือปริมาณน้ำที่มีอยู่ สภาพอากาศ ต้องไปตรงกับโซนนิ่งในวันข้างหน้าด้วย

ถ้าเราแก้ทั้งระบบเรื่องน้ำ เรื่องการโซนนิ่งไปด้วยกันจะแก้ได้ แต่วันนี้ผมบอกว่าไปกำหนดความเร่งด่วนมาว่าเราจะทำอันไหนก่อนอันไหนหลังตั้งแต่ต้นน้ำ ในเรื่องของการเก็บกักน้ำ เส้นทางที่จะลำเรียงน้ำมาทำอย่างไร และจะพร่องน้ำเหล่านี้อย่างไร และเก็บไว้ใช้ในฤดูแล้ง อันนี้เป็นแนวทางของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอยู่แล้ว ท่านทรงรับสั่งไว้นานแล้ว เรื่องแก้มลิงบ้าง เรื่องอ่างเก็บน้ำ อ่างกวง เรื่องเขื่อนอะไรต่าง ๆ ยังไม่มีใครเคยพูดถึงเลยที่ไปถกเถียงกันอยู่ทุกวันนี้ ยังไม่มีใครคิดจะสร้างอะไรทั้งสิ้น เป็นโครงการเก่า ๆ อย่านำมาล้วงแคะแกะเกากันออกมาอีก ถ้าทำได้ก็ทำ ถ้าทำไม่ได้ก็ทำอย่างอื่น วันนี้อาจจะทำไม่ได้ด้วยซ้ำไป ในเรื่องของการที่จะทำให้ต้องไปทำให้ทำลายทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ซึ่งประชาชนเขาคงไม่ยอมตรงนี้ แต่ทำอย่างไรเขาจะได้มีน้ำไว้ใช้ เพระฉะนั้น ประชาชนต้องเข้าใจเราเหมือนกันว่าต้องหาทางออกที่จะทำอย่างไร ทำเขื่อนไม่ได้จะทำอย่างไร ทำอย่างอื่นได้ไหม แล้วจะช่วยกันดูแลอย่างไรในระยะยาว

ในส่วนของน้ำเป็นประเด็น ก็คือว่า เคยมีโครงการบริหารจัดการน้ำแล้วตัวเลขเดิม ๆ ทราบอยู่แล้วผมไม่อยากจะเอ่ยจำนวนตัวเลข วันนี้เราไม่พูดถึงตัวเลขกัน มีจริง ๆ แล้วก็ประมาณการไว้คร่าว ๆ ก็ต้องใช้ระยะเวลานานพอสมควรอาจจะใช้เวลาถึง 10 ปี ถ้าจะทำครบ ใช้งบประมาณสูงมากแต่เราก็จะพยายามใช้งบประมาณประจำปี ปีนี้ เราปี 2558 เราก็บางส่วนเราบรรจุใช้งบประมาณปี 2558 ดำเนินการจะเริ่มดำเนินการได้เลย อันนี้เป็นเสี่ยวหนึ่งเท่านั้นเอง น้อยมาก ในแผนบริหารจัดการภาพใหญ่แต่ก็อย่างน้อยก็จะบรรเทาความเดือดร้อนพี่น้องประชาชนได้ในระดับหนึ่ง ในบางพื้นที่ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เรื่องการแก้ไขปัญหาน้ำแล้ง ในเรื่องของการใช้อุปโภคบริโภค แหล่งน้ำประปาหรือไม่ก็เป็นในเรื่องของการเปลี่ยนไปเป็นปลูกพืชที่ใช้น้ำน้อยระยะเวลาสั้น ถ้าทำนาไม่ได้ ทำนาปรังไม่ได้ วันนี้เราทำนาปรังไม่ได้มากมายในหลายพื้นที่ด้วยกัน

ในส่วนนี้ก็คงต้องใช้งบประมาณประจำปี ถ้าจะต้องไปหางบประมาณอื่น ๆ มาร่วมทุนหรือกู้เงินต่าง ๆ ไปว่ากันอีกที ก็ต้องพิจารณากันให้ละเอียดอีกครั้งว่าเราพร้อมจะรักษาการในการกู้ต่าง ๆ หรือไม่ ในอนาคต เรื่องหนี้สาธารณะด้วย

ในเรื่องของความเหลื่อมล้ำ วันนี้ก็มีกฎหมายหลายตัวที่เข้ามาเรื่องการลดความเหลื่อมล่ำ ถ้ายกตัวอย่างง่าย ๆ คือ ตอนนี้กระทรวงยุติธรรมมีการเสนอตั้งกองทุนยุติธรรมขึ้นมา เคยกราบเรียนไปแล้วว่า ทำอย่างไรคนที่มีรายได้น้อยหรือคนที่มีปัญหาเรื่องทางกฎหมายเข้าไม่ถึงกระบวนการยุติธรรมก็จะตั้งกองทุนนี้ไว้ให้ ก็คงต้องจัดหาเงิน เม็ดเงินเข้าไปเติม นอกเหนือจากงบประมาณ จะนำเงินที่ไหนมาดีนำใส่เข้าไป แล้วก็เป็นการต่อสู้คดีความอะไรก็แล้วแต่ ตอนนี้กำลังดำเนินการอยู่ หลักการอนุมัติไปแล้ว ก็คงต้องไปทำเรื่องกฎหมาย ในเรื่องงบประมาณต่าง ๆ อีกครั้งหนึ่ง ก็จะทำให้ได้โดยเร็ว

ในเรื่องของการลงทุนทางด้านการค้า เราก็เคยคิดกันว่า ถ้ารัฐจะต้องลงทุนต่อไปในเรื่องโครงสร้างพื้นฐาน ในเรื่องของการสื่อสาร การคมนาคมอะไรต่าง ๆ เหล่านี้ ยกตัวอย่างเฉย ๆ  ถ้ารัฐอย่างเดียวไม่ทันเวลา เพราะฉะนั้น อาจจะมีการตั้งกองทุน มีสมาพันธ์ หรือว่ากองทุนเกี่ยวกับการสื่อสาร เกี่ยวกับพลังงาน ซึ่งมีอยู่บ้างแล้ว คราวนี้ทำอย่างไรจะเพิ่มมากขึ้น ทำอย่างไรประชาชนจะมีส่วนร่วม ผมว่าคนมีสตางค์ในเมืองไทยก็มีมาก แต่ว่าปัญหาอยู่ว่าถ้าตั้งกองทุนแบบนี้ขึ้นมาก็ต้องมีผลประโยชน์ตอบแทนเขา ในวงเงินในอัตราดอกเบี้ยที่สูงพอสมควร อาจจะสูงกว่าการที่จะต้องไปกู้จากสถาบันทางการเงินอื่น ๆ  ก็ต้องไปทบทวนอีกที แต่อย่างไรก็เริ่มแน่นอน มีอยู่บ้างแล้วแต่จำนวนไม่มากนัก อันนี้เป็นเรื่องของการลงทุน

ในส่วนของการส่งเสริมธุรกิจ วันนี้เราจำเป็นต้องส่งเสริมทั้งในส่วนของระดับชาติ ในระดับต่างประเทศด้วยแล้ว และภายในประเทศด้วย ทั้งขนาดเล็กและขนาดใหญ่ เคยกราบเรียนไปแล้วในเรื่องของธุรกิจ SMEs  ก็ต้องให้ความสำคัญ เรามีถึงเป็นล้านล้านแห่ง ในวันนี้เป็นธุรกิจขนาดเล็กและขนาดกลาง เราต้องส่งเสริมให้เป็นจากเล็กเป็นกลางจากกลางเป็นขนาดใหญ่ขึ้น เราตั้งกองทุนแล้วในขณะนี้ก็กำลังปรับแก้คณะกรรมการต่าง ๆ แล้วก็ปรับแก้กองทุนต่าง ๆ เราจะโยกงบไหนมาใส่ตรงนี้ได้บ้างไหม เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนส่วนหนึ่ง

อีกส่วนหนึ่งก็เป็นกองทุนในการที่จะขยายธุรกิจต่าง ๆ ก็ขอความร่วมมือพี่น้องที่ประกอบการธุรกิจร้านขนาดเล็กหลาย ๆ ประเภท 6 - 7 ประเภท การเกษตรก็มี ในเรื่องของการบริการก็มี อันนี้คงจะต้องไปหาช่องทางที่เข้าหากองทุนเหล่านี้ได้ วันนี้ก็มีสมาคมการค้าการอุตสาหกรรมอยู่แล้วก็ลองไปติดต่อจากทางโน่นเข้ามา เรามีการประชุมร่วมกันของคณะกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชนเพื่อแก้ไขปัญหาทางเศรษฐกิจ (กรอ.) วันนี้ก็กราบเรียนอย่างนั้นก่อน

เรื่องการสร้างแบรนด์ในประเทศ ผมคิดว่ามีความสำคัญถ้าเราไม่คิดแบรนด์อะไรใหม่ ๆ เลย จะเป็นปัญหาในอนาคต โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เกี่ยวกับเรื่องสมุนไพร เกี่ยวกับเรื่องผลิตผลทางการเกษตร ทำอย่างไรให้มูลค่าสูง ผมยกตัวอย่าง วันนี้ผมก็คุยกันง่าย ๆ จะใช่หรือไม่ใช่ผมว่าก็ไปคิดแบบนี้ง่าย ๆ เช่น วันนี้ผมได้ข่าวว่า มีคนบางคนบอกแนะนำให้ทานบวบ ทานแล้วก็จะป้องกันมะเร็งได้อะไรได้  นี่ไปหาทีสิว่าจริงไม่จริง ถ้าจริงควรจะได้ปลูกบวบมากขึ้นไง ยกตัวอย่างง่าย ๆ เท่านั้นเอง หลาย ๆ อย่าง บางคนก็บอกว่าใบหย่านางบ้างอะไรบ้าง อันนี้ คือ สมุนไพรทั้งหมดมีมากมายในประเทศไทย ไม่เช่นนั้นคนก็รับประทานไป แล้วก็ไม่รู้ถึงคุณค่าของเขา บางทีก็นำไปทำลายทิ้งกำจัดวัชพืช วันนี้ต้องไปเพิ่ม เริ่มตั้งแต่เล็ก ๆ ในระดับหมู่บ้าน ชุมชน เขามีอยู่แล้ว เขาเรียกว่า ความรู้ในท้องถิ่น ปราชญ์ท้องถิ่น ทางการแพทย์หมอยาสมุนไพรไปดูสิทำได้แค่ไหนอย่างไร แล้วเรามาพัฒนาไปสู่การผลิต คือการเพาะปลูกแล้วก็ผลิต แล้วก็ทำเป็นสินค้าซื้อขายกัน เพิ่มมูลค่า

ในส่วนของการลงทุนเหล่านี้นั้น ผมอยากให้มีการลงทุนมากขึ้นในการประกอบการทั้งในประเทศและต่างประเทศ ในชุมชนขนาดเล็กขนาดใหญ่ด้วย ในทุก ๆ เรื่องเลย ทุก ๆ เรื่อง มีหลายสาขาที่เรียนไปแล้วประมาณ 7 สาขา ที่พอจำได้ การเกษตร นวดแผนโบราณ การท่องเที่ยวในเชิงสุขภาพ ต่อเนื่องกัน ไปดูก็แล้วกัน

ในการขับเคลื่อนปัญหาภายในประเทศ เกี่ยวกับเรื่องทางด้านเศรษฐกิจที่สำคัญ วันนี้ก็คิดเรื่องข้าว เรื่องยาง คิดทั้งวันทั้งคืน ก็บอกพี่น้องชาวนา ชาวสาวนยางว่า เราพยายามอย่างเต็มที่ ว่าทำอย่างไรจะให้ราคาไม่ตกลงไปมาก วันนี้ก็ต้องใช้เวลาในการแก้ปัญหา วันนี้ก็เห็นมีหลายคณะมาพบที่ทำเนียบรัฐบาล วันนี้ก็เห็นเชิญกันไปคุยที่กระทรวงเกษตรแล้วว่า จะต้องใช้เวลาอย่างไรจะแก้ปัญหาอย่างไร ถ้าจะใช้เงินมาก ๆ คงไม่ไหวแล้ว ตอนนี้ก็ช่วยไปมากแล้ว คงต้องใช้เวลาไม่มากในการที่จะสร้างมาตรฐานราคาให้สูงขึ้น ผมคิดว่าวันนี้ถ้าราคาน่าจะอยู่ในเกณฑ์ที่ แต่อาจจะกำไรน้อยหน่อยสำหรับชาวนาที่ลงทุนสูง ผมถึงบอกไปแล้วว่าการลงทุนต้องไปลดอย่างไรค่าการลงทุนในการทำนาหรือการทำสวนยาง สวนยางก็ไปคุยสิว่าการดูแลสวนยาง การพัฒนาหรือการให้ปุ๋ยจะทำอย่างไร ปุ๋ยอินทรีใช้ได้หรือไม่ วันนี้มีปัญหามากที่สุดคือเจ้าของสวนยางกับใครกับผู้กรีดยางรับจ้าง ทั้งสองอย่างนี้ก็สัดส่วนต้องปรับอะไรกันหรือเปล่าแล้วจะต้องยอมรับกันอย่างไร ถ้าทั้งสองส่วนนี้ต้องการเพิ่มทั้งคู่ รัฐบาลก็ไปไม่ไหวทุกประเทศเป็นหมด

วันนี้ได้เสนอมีการประชุมร่วมกันมี 4 ประเทศ มี ไทย ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย มาเลเซีย ที่ในส่วนอาเซียนด้วยกัน ในส่วนของจีน ส่วนของญี่ปุ่น ผมก็ได้ขอความร่วมมือไปแล้วว่าจะทำอย่างไรที่จะยกระดับสินค้าทางการเกษตรเหล่านี้

ในส่วนของการที่จะแก้ไขกฎหมายนั้น ผมเรียนว่าทั้งหมดนี้เท่าที่ไล่ในขณะนี้ ถ้าเรามองว่ากฎหมายทั้งหมดที่จะต้องแก้ไขในหลาย ๆ ประเภท ทั้งกฎหมายปกติ กฎหมายที่ออกยังไม่ได้คั่งค้างอยู่ กฎหมายที่เป็นสากล กฎระเบียบเกี่ยวกับการทำสัญญาทางการค้าเหล่านี้ ทั้งหมด 300 – 400 ฉบับ แล้วมีบางอย่างต้องออกใหม่เพิ่มเติมด้วยเรื่องลดความเหลื่อมล่ำ เรื่องการศึกษา เรื่องการเข้าถึงเหล่านี้มากมาย ก็ปรับมาขณะนี้ได้ประมาณสัก 163 ฉบับ ที่จะต้องออกให้ทันภายใน 1 ปี ที่มีการปฏิรูป เพราะฉะนั้น วันนี้ได้กำหนดไว้ว่า แต่ละเรื่อง ๆ ควรจะเท่าไร จำนวนเท่าไร ใน 3 เดือนแรก 3 เดือนต่อไป อันนี้ก็กราบเรียนทางสภานิติบัญญัติ แล้วก็สภาปฏิรูปด้วย ต้องสอดคล้องกันทั้งหมดแม่น้ำ 5 สายที่ว่ารัฐบาลก็จะขับเคลื่อนไป อะไรที่ทำได้ทำเลย อะไรต้องแก้กฎหมายก็แก้ให้ทันภายใน 1 ปี อะไรที่ยังทำไม่ได้ต้องไปเพิ่มเติมรายละเอียดอีกหลายอย่างก็ไปว่ากันในระยะยาว วันนี้อะไรที่ออกได้ต้องออกก่อน แต่ต้องฟังความคิดเห็นก่อน อันนี้ขอย้ำ

เรื่องเศรษฐกิจพิเศษ  เราก็พูดกันหลายครั้งแล้ว เดี๋ยวผมเกรงว่าหลาย ๆ คนจะไม่เข้าใจว่า ถ้าเรามุ่งหวังชุมชนอย่างเดียวหมู่บ้าน ตำบลอย่างเดียวก็คงไม่ได้ เราก็ต้องสร้างทั้งในส่วนของการ Trading เขาเรียกว่าการค้า ถ้าเรายังสร้างสังคมที่เป็นผู้ผลิตอย่างเดียว หรือประเทศเราเป็นประเทศผู้ผลิตอย่างเดียว คือไม่มีการทำการค้าเอง ไม่ได้ วันนี้หลายอย่างที่เราต้องแก้ ระดับประชาชนก็ทำ พี่น้องประชาชนต้องหาทางว่า จะทำอย่างไรจะเกิดตลาดชุมชนให้ได้ ตลาดกลุ่มจังหวัดให้ได้ ลดในเรื่องของการควบคุมราคาต่ำ โดยพ่อค้าคนกลางอะไรแบบนี้ต้องแก้ไข ถ้าเราTrading เองหรือค้าขายกันเองผมว่าจะได้รายได้ดีขึ้น แล้วเรารวมกลุ่ม ใครมาซื้อของถูกเราก็ไปขายอะไรทำนองนี้ แต่ท่านก็ต้องรัฐบาลจะดูแลในเรื่องนี้ ในเรื่องของการ Trading ทั้งในระดับท้องถิ่นและระดับรัฐบาลกับต่างประเทศด้วย

วันนี้ก็มีการเตรียมการในเรื่องของการส่งเสริมการลงทุนในลักษณะบริษัทการเงินจากต่างประเทศ มาลงทุนในประเทศเรา เหมือนกับประเทศที่มีการลงทุนมากมาย ในปัจจุบันปัญหาของเราคือความยากง่ายในการประกอบการ และในเรื่องของการสร้างบุคลากรที่จะรองรับเรื่องเหล่านี้เราต้องเตรียมการให้พร้อม วันนี้ได้สั่งกระทรวงศึกษาธิการไปแล้ว เรื่องเพื่อการเตรียมการเรื่องเหล่านี้ ในเรื่องของการตั้งบริษัทเกี่ยวกับเรื่องการลงทุนด้านการเงินวันนี้มีหลายประเทศสนใจ แล้วเราต้องแก้ไขกฎหมายเหมือนกันจะได้เร็วขึ้นแล้วก็ทำได้โดยเร็ว

ในเรื่องของการแก้ไขปัญหาการขาดน้ำ หรือน้ำท่วมปี 2558 ผมบอกไปแล้วว่า ถ้าเราทำแผนใหญ่ออกมาแล้ว ทั้งประเทศออกมาแล้ว ทั้งทุกระบบแล้วปี 2558 ต้องเกิดผล ในปี 2558 ตรงไหนไม่ควรจะท่วมอีกแล้วก็ต้องไม่ท่วม ตรงไหนที่จะไม่แล้งอีกแล้ว ก็ต้องไม่แล้งคงเป็นพื้นที่ไม่ใหญ่โตมากนักเป็นบางพื้นที่เท่านั้น คงทั้งประเทศไม่ได้ ผมเรียนไปแล้วว่าทั้งประเทศ ใช้เวลาในการทำหลายปี เป็น 10 ปี ใช้งบประมาณสูงมาก แล้วก็ค่อยทำในช่วงที่มีความเดือดร้อนมากที่สุดก่อน ตรงไหนที่พอจะประคับประคองไปได้ก็ค่อย ๆ ทำไป แต่ทั้งหมดก็ต้องบูรณาการทั้งหมดที่

รัฐบาลได้ให้ไปแล้วกับทุกกระทรวงทบวงกรม การดูแลพ่อแม่พี่น้องต้องเฉลี่ยให้เข้าถึงมากน้อยก็ว่ากันมาอะไรที่เพิ่มได้ก็เพิ่ม งบเหลือจ่าย งบกลางปีอะไรต่าง ๆ ก็ไปว่ามา งบเงินกู้ก็ต้องไม่มีปัญหาทั้งกู้ในประเทศ ทั้งกู้ในต่างประเทศด้วย เพราะฉะนั้น ก็เป็นเรื่องของการรับฟังความคิดเห็นจากประชาชนแล้วกัน

หลายเรื่องที่มีปัญหาก็คือเรื่องเงินทุน เรื่องคุณภาพของการทำงาน ก็คือบริษัทต่าง ๆ ที่มารับไปแล้ว บางทีคุณภาพไม่ได้ แล้วก็ในเรื่องของการผ่านการทำประชาพิจารณ์ เหล่านี้จะเป็นปัญหาหมดถ้าไม่ยอมกันเลยก็ทำอะไรไม่ได้ทั้งสิ้น ก็แก้ปัญหาอะไรไม่ได้ทั้งนั้น เพราะฉะนั้น วันนี้เรามีปัญหาเรื่องน้ำอุปโภคบริโภค แหล่งน้ำประปา การส่งน้ำประปาให้ทั่วถึงยังมีปัญหา ผมคุยกับกระทรวงมหาดไทยไปแล้ว ก็รับว่าจะดำเนินการให้เร็วที่สุดเท่าที่สามารรถจะดำเนินการได้ โชคดีที่ทำมาโดยต่อเนื่อง อันนี้ก็ขอบคุณในส่วนที่เกี่ยวข้องหลาย ๆ ส่วนด้วยกันทั้งกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงมหาดไทยแล้วก็ส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง ในการที่จะช่วยดูแลประชาชน

ในเรื่องของการไปประชุมร่วมกับต่างประเทศ ในวันนี้ก็ให้นโยบายกับทุกกระทรวงว่า เวลาประชุมมีเรื่องหลายเรื่องที่จะไปพูดกับเขา ไปรับอย่างเดียวไม่ได้ต้องมีข้อเสนอข้อเราไปด้วย ไม่ว่าจะเรื่องโลกร้อน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของพลังงานสีเขียว ต้องมีข้อเสนอของประเทศเราไปด้วย ยกตัวอย่างง่าย ๆ เรื่องโลกร้อนเราไม่ใช่ประเทศที่สร้างโลกร้อนมลพิษมากนักแต่เรามีป่าไม้ เพราะฉะนั้นทำอย่างไรเราจะได้ให้เขาสนใจเราตรงนี้ว่า ประเทศใดที่มีประเทศที่รักษาป่าไม้ได้ดี เคยพูดกันมาแล้วในเรื่องของคาร์บอนเครดิตก็คงต้องทำให้ต่อเนื่องว่าทำอย่างไรประเทศเหล่านี้จะได้เงินมาสนับสนุนในเรื่องการดูแลป่าไม้ ในเรื่องของการรักษาทรัพยากรสิ่งแวดล้อม เพื่อจะได้เป็นปอดของโลก เราสร้างความสำคัญตรงนี้ให้ได้ก็แล้วกัน

เพราะฉะนั้นการประชุมในทุก ๆ เรื่องทุกกระทรวงต้องรู้ทุกเรื่องว่า เราจะไปพูดอะไรกับเขาเป็นฝ่ายเศรษฐกิจไปประชุมเศรษฐกิจก็พูดในเรื่องความมั่นคงได้ เพราะพันยึดโยงกันในขณะนี้ต้องมีข้อมูล เพราะฉะนั้นจะทำงานแบบอิสระกระทรวงใด กระทรวงหนึ่ง ไม่ได้แล้ว ต้องรู้กระทรวงอื่นเขาด้วย นั้นเวลาประชุม ครม. ผมจะพูดมาก ให้เข้าใจว่านโนบายของรัฐบาลว่าอย่างไร กระทรวงนั้น กระทรวงนี้มีส่วนเกี่ยวข้องตรงไหน อะไรหลักอะไรลอง อะไรเสริม จะได้มีเรื่องจะพูดกับเขา ไปยื่นข้อเสนอเขาบ้าง ไม่ใช่ไปรับเขามาอย่างเดียวไม่ได้

ในเรื่องของการค้าการลงทุนวันนี้เราแก้ไขไปหลายอย่างด้วยกัน เรื่องกฎ กติกา เรื่องขั้นตอนเวลา ระยะเวลา เดิมเคยใช้ระยะเวลาเป็นเดือน ๆ วันนี้ต้องเรียบร้อยภายใน 30 วัน และการลงทุนทั้งหมดต้องไปเข้าที่ BOI ก่อน แล้ว BOI จะชี้แจงได้ ถ้าเป็นต่างประเทศ ในประเทศก็ได้ คือถ้านึกอะไรไม่ออกก็ไปที่ BOI  แต่นึกอะไรไม่ออกมาที่รัฐบาลเลยก็ได้ ผมก็พร้อมที่จะชี้แจง พร้อมที่จะมีผู้นำพาหรือตอบรายละเอียด ผมว่าไปให้ถูกต้องดีกว่า ทางพาณิชย์ก็มี ทางอุตสาหกรรม ทาง BOI มีหมด ศูนย์ One Stop Service

เรื่อง One Stop Service ก็เหมือนกัน วันนี้ก็มีปัญหาอีกเรื่องการค้ามนุษย์ ผมให้ความสำคัญ ที่ทำมาทั้งหมด จดทะเบียนประเทศเพื่อนบ้านไปแล้ว แต่บางประเทศก็ยังไม่ได้จดทะเบียน เช่น เวียดนาม ก็ได้คุยกัน หารือกันแล้วว่า จะต้องตั้งขึ้นมา แล้วก็จดทะเบียนชาวเวียดนามที่ทำงานในประเทศไทย อีกประเทศหนึ่งที่ทำงานอยู่ ทางประเทศต้นทางเขาขอมา ปัญหาอยู่ที่ไหนทราบไหมครับ ปัญหาอยู่ที่ว่าการพิสูจน์สัญชาติทำได้ช้า ต้องมีชุดพิสูจน์สัญชาติเคลื่อนที่ไปอีก อะไรอีก วันนี้ที่ผ่านมา 2 ประเทศก็ยังทำอยู่ และใช้บัตรชั่วคราวไปก่อน เพราะฉะนั้นต่อไปก็คงต้องทำอย่างไรให้เร็ว และต้องเตรียมการให้รองรับ AEC ในปีหน้าด้วย ปีหน้าต้องเตรียมคนงาน แรงงานให้พร้อมทั้ง ไทยและต่างประเทศ ให้ถูกกฎหมาย ถ้าเปิดพื้นที่ขึ้นมา มีโรงงานมากขึ้น แล้วจะเอาคนงานจากที่ไหนมา ถ้าไม่เตรียมให้ขึ้นบัญชีไว้ เตรียมการไว้ด้วย

ปัจจัยวันนี้ที่ต้องการให้พวกเราทุกคนได้เข้าใจก็คือ ปัจจัยในการกำหนดให้ประเทศมีความก้าวหน้าได้อย่างไร สร้างความเข้มแข็งได้อย่างไร หลายประการด้วยกัน ไม่ใช่ปัจจัยแต่ในประเทศ ในประเทศขออย่างเดียวเสถียรภาพ มั่นคง และปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน อันนี้เป็นหลักอันที่ 1 และวันนี้เกิดเรื่องอื่น ๆ มาอีก ไม่ว่าจะเป็นเรื่องสถานการณ์ต่างประเทศ ด้านความมั่งคง ความขัดแย้งยังคงมีอยู่ เมื่อสักครู่ดูข่าวในทีวี ทั้งไทย ต่างประเทศ ก็มีความขัดแย้งหลายประเทศด้วยกัน เพราะฉะนั้นเราก็ต้องอย่าทำให้เกิดขึ้นในประเทศเราดีกว่า เราจะได้รองรับความเจริญต่าง ๆ ที่จะเข้ามา ที่ไหนขัดแย้งมาก ๆ เขาก็ไม่ไป เขาก็จะได้มาที่เรา เพราะเราไม่ขัดแย้ง ฝากไว้ด้วย เพราะการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจวันนี้ก็ต้องใช้คำว่า เป็นพลวัต ก็คือต่อเนื่องเชื่อมโยง หมุนเป็นพลวัต ไม่ใช่เดินมาแล้วก็หยุด แล้วก็หยุดรอเขา ไม่ได้ ต้องเดินไปเรื่อย ๆ เป็นพลวัตก้าวทดแทนกันไปเรื่อย ๆ เพิ่มเติมไปเรื่อย ๆ ขายขนาดอะไรไปเรื่อย ๆ

ในเรื่องของกติกาสากล เรื่องโรคร้อน เรื่องโรคระบาด เรื่องการใช้ความรุนแรง การค้ามนุษย์ การใช้แรงงานทาส ต้องแก้ใหญ่โต วันนี้ประเทศไทยไม่ได้ดูแลลึกรายละเอียดมานาน วันนี้ต้องแก้ทั้งระบบ ต้องใช้เวลาให้เร็ว มีเวลาปีเดียว การพัฒนาความยั่งยืนเป็นเรื่องของกายภาพที่สำคัญ ถนนเส้นทาง สาธารณูปโภค ไฟฟ้า ประปา โทรศัพท์ อันนี้พูดหลายครั้งแล้ว ทุกหน่วยงานต้องไปช่วยกัน ประชาชนก็ต้องร่วมมือช่วยกันในการที่จะแสดงความคิดเห็นหรือแสดงความต้องการ และในสิ่งที่เป็นไปได้ ถ้าต้องการเวลาเดียวเร็ว ๆ ไม่ได้หรอก

อีกอย่างหนึ่งที่จะมีผลต่อการพัฒนาประเทศก็คือความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างในประเทศของเรากับประเทศเพื่อนบ้าน ถ้าความเชื่อถือระหว่างผู้นำของแต่ละประเทศมีความเชื่อถือกัน ให้ความสนใจซึ่งกันและกัน เป็นเพื่อนกัน นับถือซึ่งกันและกัน ให้เกียรติกัน ก็พูดอะไรอย่างอื่นก็ได้ แต่อยู่ในกรอบที่เป็นผลประโยชน์แห่งชาติ อยากจะฝากว่า ขอเถอะ อย่าไปขัดแย้งกับใครอีกเลย ในประเทศก็ไม่ได้ ต่างประเทศก็ไม่ได้อีกแล้ว อย่าไปขัดแย้งกับเขา

วันนี้จริง ๆ ก็อยากจะพูดเบา ๆ พูดไปก็หลายเรื่องอีกเหมือนเดิม ปัญหาก็มากมาย แต่ค่อย ๆ แก้ไปแล้วกัน ในเรื่องของการสร้างความเข้มแข็งในอาเซียนมีผลกระทบกับประชาคมโลกด้วย เพราะเราเป็นแหล่งข้าว แหล่งน้ำ แหล่งอาหารโลก แหล่งพลังงานทดแทนของโลก อนาคตคิดว่าประเทศเราจะเป็นผู้นำทางด้านอาหารร่วมกับประเทศหลายประเทศในอาเซียนด้วย อดใจรอให้ถึงเวลานั้น วันนี้ก็ร่วมมือกัน ความขัดแย้งในประเทศจะเป็นตัวถ่วงความเจริญทุกด้านเลยไม่ได้ ไม่ได้หมายความว่าผมจะไปกดดันใคร ไม่ฟังความคิดเห็นของใคร ใช้การควบคุมอำนาจ มากำกับสิทธิเสรีภาพไม่ใช่ วันนี้ผมถือว่าเต็มที่แล้ว ที่เราผ่อนผันให้ทุกอย่าง ฉะนั้นขอร้องเรื่องการสร้างวาทกรรม สร้างผลกระทบที่มีต่อการปฏิรูป ขอเถอะนะ เพราะไม่เกิดประโยชน์

เรื่องการทุจริตผิดกฎหมาย หลายท่านก็เป็นห่วง คสช. ยังให้ความสำคัญอยู่ ให้เหมือนเดิม จะเห็นได้ว่ามีการสอบสวนดำเนินคดี ไม่ว่าจะเป็นข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ ผู้น้อยมากมายไปหมด ก็สอบสวนไป ใช้เวลาไป ก็ว่าไป อย่าไปเร่งรัดเลย ในส่วนของเรื่ององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ซึ่งจะมีการหมดอายุ ผมได้เสนอไปให้ ครม. พิจารณาแล้ว กำลังอยู่ในขั้นตอนการพิจารณาอยู่ว่าจะทำอย่างไร ถ้าเลือกตั้งไม่ได้ ก็ให้รักษาการก่อนได้หรือไม่ น่าจะดีกว่า ผมคิดว่าอย่างนั้น พี่น้อง อปท. ก็เตรียมตัวให้ดีว่าจะทำอย่างไรกันต่อไป ข้อสำคัญคือท่านคิดแล้วกันว่าท่านจะทำอย่างไร ให้ประเทศชาติปลอดภัย และก้าวหน้าไปให้ได้ เพราะว่าต้องสอดคล้องทั้งรัฐบาล ส่วนกลาง ส่วนภูมิภาค ส่วนท้องถิ่น ต้องเดินไปให้ได้ สร้างความเชื่อมั่นให้กับประชาชน

ในสัปดาห์นี้ผมจำเป็นต้องเดินทางไปต่างประเทศ 2 ประเทศ เป็นประเทศใกล้ ๆ คือ สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว กับสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม ซึ่งมีการพบปะกับท่านผู้นำ 3 ครั้งแล้วในการประชุมที่ผ่านมา ก็คงไปพูดคุยเฉพาะทวิภาคีกันอีกครั้งหนึ่ง ว่าอะไรที่ตรงกัน อะไรที่จะขับเคลื่อน อะไรที่ยังค้างอยู่ ไปพูดกันให้หมด จะได้เดินหน้าประเทศทั้ง 2 ประเทศให้มีความก้าวหน้าไปให้เร็วขึ้น

ในช่วงต่อไป รู้สึกจะมีที่ประเทศทางใต้เรา คงเป็นประเทศสุดท้ายที่ใกล้ ๆ รอบบ้าน มาเลเซียเนื่องจากว่าเลื่อนกันมาหลายครั้งแล้ว ท่านก็ไม่ว่างผมก็ไม่ว่าง ก็ไปว่างกันตอนสิ้นเดือนอีกที คงไปอีกครั้งในช่วงนั้น นอกจากนั้นก็เป็นการประชุมตามวาระ มีที่เกาหลี เรื่องความร่วมมือครั้งหนึ่ง และมีการประชุมที่ท่านรองนายกรัฐมนตรีกล่าวไว้ที่ เมืองดาวอส สมาพันธรัฐสวิส ก็เป็นระยะ ๆ ไป ความจริงแล้วผมอยากขับเคลื่อนทั้งในประเทศและต่างประเทศ ถ้าเรามัวแก้ปัญหาในประเทศอย่างเดียว คงไม่ได้ ก็ต้องไปเดินต่างประเทศด้วย ในประเทศ วันนี้ทุกคนในรัฐบาล ผมคิดว่าทุกรัฐมนตรี รองนายกรัฐมนตรี แต่ละกลุ่มแต่ละฝ่ายก็เดินหน้าอยู่แล้ว เพียงแต่ว่าบางครั้งอาจจะสร้างการรับรู้ได้ไม่มากนัก เพราะอยู่ในขั้นตอนกระบวนการ ถ้าพูดไปทั้งหมด ก็อันตราย ที่พูดไปแล้วเป็นปัญหาอะไรหรือเปล่ายังไม่รู้ เพราะฉะนั้นเราก็จะค่อย ๆ สร้างการรับรู้ไปให้กับพี่น้องประชาชนไปเรื่อย ๆ ตามลำดับ ใจอย่าร้อนมากนัก ผมคิดหมด เพราะรับปัญหามาทั้งหมดอยู่แล้วในขณะนี้ ผมมีประสบประการณ์ยาวนานพอสมควร รับฟังปัญหามาตลอดระยะเวลาในการรับราชการ วันนี้ก็นำสิ่งเหล่านั้นมาทบทวน และนำเข้าสู่การปฏิบัติการขับเคลื่อน

เย็นนี้ ทุกวัน เวลา 18.00 น. ถ้าว่างก็ชมรายการเดินหน้าประเทศไทยด้วย 15 นาทีเองว่า เขาทำอะไรกันบ้าง ถ้าไม่ฟังเลย ก็ไม่รู้ เมื่อไม่รู้แล้ว พอมาถามผม แล้วผมตอบไปบางทีไม่ครบ ก็เป็นปัญหาต่อไปในอนาคต และที่พิเศษอีกอย่าง ที่ผมสั่งการเพิ่มเติมในการประชุม ครม. ทุกครั้ง ผมจะให้โฆษกรัฐบาล สรุปและอธิบายชี้แจงเพิ่มเติมว่า การประชุมมีอะไรบ้าง ที่ผ่านมาอาจจะสร้างการรับรู้ไม่ได้มากนัก ตั้งแต่สัปดาห์ที่ผ่านมา ก็จะให้มีการนำมา ย้อนหลังในรายการเดินหน้าประเทศไทยด้วย ลองติดตามดู จะได้รู้และจะได้ลดความเป็นห่วงว่าเรื่องนี้ผมทำหรือยัง เรื่องนั้นทำหรือยัง คิดหรือยัง ถ้าท่านติดตามแบบนี้ก็จะดี ทั้งเรื่องการปฏิรูป เรื่องกฎหมาย เรื่อง สนช. สปช. เรื่องรัฐบาล อีกช่องหนึ่งที่ไม่ค่อยได้ดู ช่องโทรทัศน์รัฐสภา เขาถ่ายทอดทั้งวัน เป็นสาระใครชอบกฎหมาย ใครชอบการทำงานของรัฐบาลในลักษณะการบริหาร ดีไม่ดีลองเปิดดู ว่าง ๆ ก็เปิดดูก็ได้ อย่าไปดูบันเทิงมาก ๆ อย่างเดียวไม่ได้ ต้องดูทุกอย่าง จะได้รู้ว่าประเทศเรา หนึ่งละครก็ดูได้ ภาพยนตร์ก็ไปชมได้ ไปเที่ยวที่ไหนก็สะดวกขึ้น และการปฏิรูปก็กำลังเดินหน้า สนช. กำลังออกกฎหมาย จะได้เข้าใจว่าประเทศเราไปตรงไหนตอนนี้ ถ้ายังเอาปัญหาพันไปพันมา ไม่ได้ ตอนนี้ต้องเคารพรักษากฎ กติกา ระเบียบให้เดินหน้าประเทศให้ได้ ผมพร้อมรับฟังทุกท่าน พร้อมรับฟังทุกกลุ่ม ขอบคุณในคำแนะนำ จากทุกท่านที่ได้กรุณาให้คำแนะนำกับรัฐบาล และ คสช. มา ขอบพระคุณครับ สวัสดีครับ

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net