ทำไม ประวัติศาสตร์ มักซ้ำรอยเดิมเสมอ

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

 

เหตุใดและทำไม  เหตุการณ์ที่เคยเกิดขึ้นในอดีตเมื่อนานมาแล้ว  ยังคงวนเวียนเกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำอีกเป็นระยะ  รูปแบบวิธีปฏิบัติอาจจะเปลี่ยนแปลงไปบ้าง  แต่บริบทเนื้อหาภายในก็ยังคงเดิมไม่แปรเปลี่ยน

เหตุใดและทำไม  ผู้กุมอำนาจรัฐในรุ่นต่อมา  จึงยังคงกระทำการซ้ำรอยเดิมอยู่เสมอ  คล้ายกับว่า  ยังไม่ได้เรียนรู้บทเรียนจากเหตุการณ์ในอดีต  รวมถึงไม่ได้ทบทวนข้อผิดพลาดที่เกิดขึ้นเพื่อจะนำมาใช้แก้ไขปัญหาในปัจจุบันเลย

แต่แท้ที่จริงแล้ว  ผู้สืบทอดอำนาจรัฐรุ่นต่อมาที่เติบโตขึ้นภายใต้กงล้อประวัติศาสตร์นี้ได้เกิดการเรียนรู้จากประสบการณ์ในอดีต  จนกระทั่งได้ข้อสรุปที่ชัดเจนว่า  ขั้นตอนและวิธีการเข้าสู่อำนาจ  การรักษาไว้ซึ่งอำนาจ  รวมทั้งการขยายขอบเขตแห่งอำนาจนั้น  เป็นสิ่งที่พิสูจน์มาแล้วว่า  มีประสิทธิภาพและประสิทธิผลเสมอ ไม่ว่ากาลเวลาและสังคมจะหมุนเวียนเปลี่ยนไปเช่นใด  ดังนั้นจึงดำเนินรอยตามวิธีการปฏิบัติดังแบบอย่างที่คนรุ่นก่อนเคยกระทำเรื่อยมา  โดยเชื่ออย่างสนิทใจว่า  จะสามารถควบคุมสภาพการณ์ต่างๆ ได้  ไม่ว่าจะมีการตอบโต้จากฝ่ายประชาชนผู้เสียประโยชน์หรือไม่อย่างไร  กลุ่มคนเหล่านั้นยังคงเชื่อมั่นอย่างมิเสื่อมคลายว่า  เอาอยู่  และสามารถจัดการกับฝ่ายตรงข้ามได้  ดังผลที่ปรากฎชัดแจ้งแล้ว  ดังนั้นจึงเป็นความท้าทายอย่างยิ่งต่อกลุ่มคนรุ่นหลังที่จะเลียนแบบอย่างความสำเร็จ  หรืออาจจะกล่าวได้ว่า  แม้วันเวลาได้ผันแปรไปอย่างมีพลวัตแล้ว  แต่ผู้กุมอำนาจรัฐยุคปัจจุบันกลับยึดติดอยู่ในมโนทัศน์  กรอบแนวคิด  และความเพ้อฝันถึงวันวานในสังคมแบบจารีตดั่งเดิมไม่เสื่อมคลาย

1. สังคมแห่งสยามประเทศที่ผ่านมา  มีรูปแบบการปกครองโดยการควบคุมกลุ่มคนตามลำดับชั้นที่เรียกว่า ระบอบศักดินาอนุรักษ์ทุนนิยม โดยมีกลุ่มชนชั้นนำทางอำนาจที่สืบเชื้อสายจากวงศ์ตระกูล  กลุ่มนายทุนผู้ใกล้ชิดที่ได้ประโยชน์จากการผูกขาด  กลุ่มทหาร  กลุ่มข้าราชการนักวิชาการ  เป็นผู้กำหนดนโยบายและวางกรอบกติกาทางเศรษฐกิจ  สังคม  และการเมือง  โดยการสร้างความได้เปรียบให้กับกลุ่มตนเองเพื่อผลประโยชน์พรรคพวกเพื่อนพ้องและวงศาคณาญาติ  พร้อมกับสร้างอุปสรรคและเงื่อนไขกีดกันในการเข้าถึงทรัพยากรของกลุ่มคนฝ่ายตรงข้าม  ต่อมาความขัดแย้งดังกล่าวนี้ก็เกิดการปะทุและขยายตัวทวีความรุนแรงมากยิ่งขึ้น  ระหว่างกลุ่มผู้ปกครองและกลุ่มผู้ใกล้ชิด  กับกลุ่มทุนรุ่นใหม่  ประชาชนหัวก้าวหน้า  นักศึกษา  หรือผู้ที่ต้องการปลดปล่อยพันธนาการจากความเชื่อดั่งเดิม  ไม่ต้องการถูกเอารัดเอาเปรียบอีกต่อไป

2. เกิดการประท้วงเพื่อเรียกร้องประชาธิปไตย สิทธิเสรีภาพและความเสมอภาค โดยมีอุดมการณ์ขั้นพื้นฐานที่ต้องการให้ทุกคนอยู่ภายใต้กฏระเบียบเดียวกัน  พร้อมทั้งมีการบังคับใช้กฎหมายที่เที่ยงตรงและเป็นธรรม  ต้องการความโปร่งใสที่สามารถพิสูจน์ตรวจสอบได้  นั่นคือ  ต้องการสถาปนา ระบบยุติธรรม ให้ยั่งยืน  ไม่ใช่ระบบที่ ยุติ-ความเป็นธรรม  รวมถึงต้องการคัดเลือกตัวแทนกลุ่มผลประโยชน์อย่างเป็นอิสระ  ปราศจากการชี้นำจากศูนย์กลางอำนาจ

3. มีการตั้งข้อกล่าวหาที่ไม่เป็นธรรม เพื่อเป็นเครื่องมือในการทำลายล้างฝ่ายตรงข้าม เช่น การอ้างถึงภัยจากคอมมิวนิสต์  การอ้างถึงภัยที่จะมาทำลายสถาบันหลักของชาติ  ใช้เป็นข้ออ้างในการปลุกระดมมวลชน  พร้อมทั้งขยายแนวร่วมไปยังกลุ่มอื่นในสังคม เช่น กลุ่มชนชั้นนำตามจารีต  ข้าราชการ  นักวิชาการ  พระสงฆ์  รวมถึงผู้มีการศึกษาสูงและประชาชนที่อาศัยอยู่ในเมืองหลวง

มีการประดิษฐ์มุสาวาทกรรมและผลิตซ้ำถ้อยคำโฆษณาชวนเชื่อ  เพื่อขยายประเด็นความขัดแย้งให้มากยิ่งขึ้น  สร้างกระแสความโกรธแค้นชิงชังโดยไร้เหตุผล  จนไม่สามารถค้นหาตรรกะทางปัญญาใดๆ มาอรรถาธิบายได้กระจ่างแจ้ง  เช่น  ฆ่าคอมมิวนิสต์ไม่บาป  หรือ  ฆ่าเวลาบาปกว่าฆ่าคน  เป็นต้น  รวมทั้งตราหน้าคนเหล่านั้นว่าเป็นผู้ที่ไม่มีความปรารถนาดีต่อประเทศชาติและประชาชน

4. เกิดการปฏิวัติรัฐประหาร  มีการใช้กำลังเข้าปราบปรามอย่างรุนแรงต่อผู้ที่มีความคิดแตกต่าง รวมทั้งกล่าวอ้างว่า  กลุ่มคนเหล่านี้ได้รับการสนับสนุนจากกองกำลังต่างชาติ ข้ออ้างอันศักดิ์สิทธิ์ที่ยังคงใช้ได้ผลเป็นอย่างดี  ไม่ว่าเวลาจะผันเปลี่ยนไปนานเท่าไร  นั่นคือ  การกล่าวอ้างความชอบธรรมที่ผูกขาดไว้เฉพาะกลุ่มตนเท่านั้น อ้างถึงความซื่อสัตย์สุจริต ความจงรักภักดีต่อประเทศชาติ ดังนั้นจึงมีเหตุผลและความจำเป็นอย่างสูงสุดที่จะต้องเข้ามาควบคุมเพื่อยุติความขัดแย้งของคนในชาติ  ซึ่งเป็นหน้าที่และเป็นภารกิจอันชอบธรรมของผู้พิทักษ์รักษา  พร้อมทั้งมีความปรารถนาอย่างแรงกล้าที่จะสถาปนาระบอบประชาธิปไตยที่แท้จริงให้เกิดขึ้น  เพื่อให้ประชาชนผู้อยู่ใต้การปกครองได้อยู่ในสังคมอย่างมีความสงบสุข

ทั้งนี้แนวคิดอันทรงพลานุภาพและถูกปลูกฝังให้เชื่อเช่นนั้นตลอดมาว่า  ประชาธิปไตยที่มาจากสังคมตะวันตกนั้น  ยังไม่เหมาะสมกับสภาพสังคมไทยในปัจจุบัน  อีกทั้งประชาชนส่วนใหญ่ยังมีความศึกษาต่ำ  จึงไม่เข้าใจวิถีทางประชาธิปไตยที่ถูกต้อง  ทำให้ถูกโน้มน้าวทางความคิดและถูกชักจูงใจได้ง่าย  รวมถึงยังขาดจิตสำนึกพื้นฐานของระบอบประชาธิปไตยอีกด้วย  ดังนั้นจึงเป็นหน้าที่สำคัญของกลุ่มผู้ยึดกุมอำนาจจะต้องเข้ามาปฏิรูป  ตลอดจนสถาปนาระบอบคุณธรรมจริยธรรมขึ้นมาใหม่  เพื่อให้เหมาะสมกับสังคมไทยที่มีเอกลักษณ์โดดเด่น  ไม่เหมือนใคร  เป็นรูปแบบเฉพาะอย่างไทย  ซึ่งปุถุชนคนธรรมดาส่วนอื่นบนโลกใบนี้ไม่มีวันเข้าใจและเข้าถึงได้  รวมทั้งรักษาอัตลักษณ์และคุณลักษณะอันดีงามตามขนบจารีตนิยม

อาวุธที่สำคัญประการหนึ่ง  คือ  การโฆษณาชวนให้เชื่อ  เคลิบเคลิ้มและคล้อยตาม  คำปลอบประโลมให้ฝันถึงและเฝ้ารอวันใหม่ที่ดีกว่าเดิม  ทั้งจากการบอกกล่าวเล่าขานนิทานยามเย็นหรือเสียงกระซิบจากสายลม รวมถึงการบัญญัติค่านิยมพื้นฐานแห่งรัฐที่เปลี่ยนไปตามยุคสมัย โดยแอบอิงกับศาสนาและความเชื่อที่มีมาแต่โบราณ  มีการสร้างขอบเขตแห่งฝันเพื่อให้ทุกคนไขว้คว้าไปให้ถึง  โดยกลุ่มคนที่มีความเชื่อความศรัทธาแบบเดียวกันเท่านั้น  ที่จะมีสิทธิ์อยู่ในวิมานแดนสุขาวดีนี้

5. เกิดการไล่ล่าผู้เห็นต่าง  โดยผ่านกระบวนการทางกฎหมายและรวมทั้งตั้งข้อกล่าวหาอันเป็นเท็จที่ไม่สามารถพิสูจน์ได้  เลือกที่จะปฏิบัติต่อผู้เห็นต่างอย่างเข้มงวดกวดขัน  แต่ย่อหย่อนกฎเกณฑ์สำหรับกลุ่มของพวกตนเอง

6. ตั้งรัฐบาลเผด็จการแนวอนุรักษ์นิยมที่เน้นผู้มีภาพลักษณ์ดีงามตามแบบแผน  มีนโยบายหลักในการขจัดคอรัปชั่นให้หมดไปโดยเร็ว  สร้างสังคมแห่งการพอเพียง  แต่ท้ายที่สุดแล้วก็ไม่สามารถสร้างผลงานได้อย่างเป็นรูปธรรม รวมทั้งเกิดคำถามในเรื่องความโปร่งใสที่ไม่สามารถตรวจสอบได้

7. จัดทำรัฐธรรมนูญและสร้างกฎเกณฑ์ให้ฝ่ายตัวเองได้เปรียบในการเลือกตั้ง  เพิ่มอำนาจข้าราชการประจำ  รวมถึงโยกย้ายข้าราชการเพื่อสร้างความได้เปรียบ

8. ตั้งพรรคการเมืองหรือสนับสนุนพรรคการเมืองบางพรรค  เลือกตั้งแล้วพ่ายแพ้  ในที่สุดได้รัฐบาลฝ่ายตรงข้าม

9. เกิดความขัดแย้งทางการเมืองรอบใหม่  ระหว่างรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งกับกลุ่มศักดินาอนุรักษ์ทุนนิยม  และวนเวียนกลับไปสู่จุดเริ่มต้น  อย่างซ้ำแล้วซ้ำอีก  ไม่เปลี่ยนแปลง

กงล้อแห่งประวัติศาสตร์ยังคงทำหน้าที่อย่างซื่อสัตย์และตรงไปตรงมาเสมอ  ในการให้บทเรียนแก่อนุชนรุ่นหลังได้เห็นถึงสังคมที่มีกระบวนการเกิดขึ้น  ตั้งอยู่  และดับไป  ซึ่งเป็นธรรมดาแห่งโลก  เป็นกฎที่ธรรมชาติได้สร้างสรรค์ไว้ดีแล้ว  ทั้งนี้หากคนรุ่นต่อมาได้สรุปบทเรียนอย่างครุ่นคิดและใส่ใจ  และพร้อมใจกันหยุดยั้งเหตุการณ์ในอดีตไม่ให้เกิดขึ้นซ้ำรอยเดิมในปัจจุบันแล้ว  ในที่สุดสังคมนั้นก็จะสามารถก้าวผ่านการทดสอบขั้นที่หนึ่งเพื่อไปสู่สังคมที่มีความก้าวหน้าในลำดับต่อไปได้  อย่างไรก็ตาม  ยังคงมีบททดสอบใหม่ที่รอคอยให้คนในสังคมได้ร่วมแรงร่วมใจกันฟันผ่าอุปสรรค  ความยากลำบาก  เพื่อยกฐานะแห่งความเสมอภาคนั้นไปสู่หมู่คนทุกชนชั้น  และเพื่อให้กงล้อแห่งประวัติศาสตร์นี้ได้หมุนเวียนเปลี่ยนทิศทางไปสู่เส้นทางใหม่  ในอันที่จะธำรงรักษาไว้ซึ่งเพื่อความผาสุกแห่งสังคมโดยรวมต่อไป

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท