ม.ทักษิณจับมือองค์กรสิทธิจัดสัปดาห์สิทธิมนุษยชน ‘คืนสิทธิ์ คืนสุข (ศุกร์) ประชาชน’

ม.ทักษิณร่วมกับองค์กรสิทธิมนุษยชนจัดสัปดาห์สิทธิมนุษยชน ครั้งที่ 3 ระหว่าง 24-27 พ.ย.นี้ ผู้จัดย้ำรัฐบาลต้องให้เสรีภาพ ปชช.มีส่วนร่วมปฏิรูปและแสดงความคิดเห็นโดยไม่ถูกจับกุม พร้อมเสนอยกเลิกกฎอัยการศึก

25 พ.ย.2557 ที่คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยทักษิณ อ.เมือง จ.สงขลา จัดงานสัปดาห์สิทธิมนุษยชน ขึ้นระหว่างวันที่ 24-27 พ.ย.นี้ โดยการการจัดงานครั้งนี้เป็นครั้งที่ 3 เพื่อส่งเสริมความรู้ความเข้าใจเรื่องสิทธิมนุษยชนให้กับนักศึกษา องค์กรร่วมจัดประกอบไปด้วย คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยทักษิณ มูลนิธิอาสาสมัครเพื่อสังคม สมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน และแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย โดยในงานมีการจัดนิทรรศการ จัดฉายภาพยนตร์ และกิจกรรมต่างๆ เกี่ยวกับสิทธิมนุษยชน

การจัดงานในปีนี้ ผู้จัดเน้นการเคารพสิทธิในการแสดงความคิดเห็นของประชาชน การเปิดรับความคิดเห็นต่าง การหยุดการจับผิดและคุกคามประชาชน

โดยภายใต้กฎอัยการศึก ชาวบ้านและชุมชนถูกกดดันและจำกัดเสรีภาพขึ้นหลายครั้ง โดยเฉพาะในภาคใต้ หลายกิจกรรม คนทำงานถูกทหารจับกุมและนำไปปรับทัศนคติหลายครั้ง ดังเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเร็วๆ นี้ การเดินรณรงค์ปฏิรูปพลังงานของ “ขาหุ้นปฏิรูปพลังงาน” ผู้เข้าร่วมกิจกรรมถูกจับกุมหลายสิบคน หรือแม้แต่วิทยุชุมชนในพื้นที่ภาคใต้ถูกปิดหลายร้อยสถานี โดยได้รับการเปิดเผยจากชาวบ้านที่จัดรายการวิทยุชุมชนว่า หากสถานีวิทยุชุมชนได้ปรับคลื่นกระจายเสียงตามเงื่อนไขแล้ว ก่อนจะได้รับต่ออนุญาตเปิดสถานี ต้องยอมรับเงื่อนไขของทหารด้วยว่า จะไม่จัดรายการที่เกี่ยวกับการเมือง ศาสนา และความขัดแย้ง รวมไปถึงต้องส่งสคริปต์ หรือเทปรายการให้ทหารตรวจสอบก่อนออกอากาศอีกด้วย นับเป็นครั้งแรกที่สื่อวิทยุชุมชนถูกจำกัดเสรีภาพในการแสดงออกเต็มรูปแบบ

ทางคณะผู้จัดงานสัปดาห์สิทธิมนุษยชนได้ตระหนักถึงบรรยากาศอึมครึมทางการเมืองในปัจจุบัน การจัดงานสัปดาห์สิทธิมนุษยชนครั้งที่ 3 ภายใต้แนวคิด “คืนสิทธิ์ คืนสุข (ศุกร์) ประชาชน” นัยเพื่อคืนประชาธิปไตยให้กับประชาชน ไม่ใช่การพูดและบังคับให้ประชาชนเชื่อฟัง ดังอย่างที่ผู้นำพูดออกอากาศสดทุกวันศุกร์ ดังนั้นการคืนวันศุกร์ให้กับประชาชนก็คือการคืนพื้นที่ความหลากหลายทางความคิด โดยไม่ถูกจับกุม  คืนบรรยากาศเสรีภาพประชาธิปไตยกลับคืนสู่ประชาชน

รศ.ณฐพงศ์ จิตรนิรัตน์ คณบดีคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยทักษิณ กล่าวว่า สิทธิมนุษยชนเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชนและผู้คนในสังคมที่จะต้องได้รับการปกป้องคุ้มครอง แม้ในสถานการณ์ที่เปราะบางของบรรยากาศทางการเมืองที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในยามที่สังคมไทยและสังคมการเมืองกำลังเรียกร้องประชาธิปไตยขึ้นมาใหม่ จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องคำนึงถึงการเปิดพื้นที่สำหรับการมีส่วนร่วมของประชาชน ผู้คนในสังคม อย่างไม่เลือกที่รักมักที่ชัง การเลือกปฏิบัติ ปิดกั้นการแสดงออก ปิดหู ปิดตา รังแต่จะเพิ่มความขัดแย้ง ชิงชังให้บาดลึก ร้าวฉานในสังคมเพิ่มมากขึ้น ในสถานการณ์ของการสร้างประชาธิปไตยครั้งใหม่ ต้องสร้างหลักประกันเรื่องสิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐานการแสดงออก การสะท้อนปัญหาและความต้องการของประชาชน ซึ่งสิ่งเหล่านี้จะเกิดขึ้นได้ต้องยกเลิกกฎหมายพิเศษ โดยเฉพาะ “กฎอัยการศึก” และหยุดจับจ้องจับผิดผู้ที่คิดต่าง

วัฒนา นาคประดิษฐ์ ผู้ประสานงานมูลนิธิอาสาสมัครเพื่อสังคม กล่าวถึงการแนวทางที่ของรัฐบาลจะจัดพื้นที่ให้นักศึกษาแสดงความคิดเห็นได้ โดยให้สถาบันทางการศึกษาแห่งหนึ่งเป็นผู้ดำเนินการว่า การที่จะมีพื้นที่ให้คนที่คิดต่างกับรัฐบาลเป็นเรื่องดี แต่ไม่จำเป็นต้องมีคนกลาง เพราะว่ารัฐบาลรู้จักแต่ละกลุ่มองค์กรเป็นอย่างดี ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มนักศึกษาที่ขอนแก่น อย่างกลุ่มดาวดิน หรือกลุ่มพี่น้องเขื่อนปากมูนที่อุบลราชธานี กลุ่มต่อต้านเหมืองโปแตซที่อุดรธานี หรือกลุ่มชาวบ้านกฎหมายที่มาเรียกร้องเรื่องกฎหมาย 4 ฉบับ

“รัฐบาลรู้จักคนเหล่านี้อยู่แล้ว รัฐบาลสามารถเปิดเวทีพูดคุยกับพวกเขาได้เลย และควรเป็นท่าทีที่รัฐบาลพร้อมจะแก้ไขปัญหาร่วมกับชาวบ้าน ไม่ควรเป็นท่าทีที่เห็นนักศึกษาและชาวบ้านเป็นศัตรู เชื่อว่าสังคมจะปฏิรูปได้จริงก็ต่อเมื่อท่าทีที่คุยกันนั้นพร้อมจะแก้ไขปัญหาได้จริงๆ แต่หากจะใช้วิธีการแก้ไขปัญหาโดยมีคนกลาง ก็ควรเป็นสถาบันที่เข้าใจมิติของชาวบ้านและชุมชนด้วย”  ผู้ประสานงานมูลนิธิอาสาสมัครเพื่อสังคมกล่าว

ผรัณดา ปานแก้ว รักษาการผู้อำนวยการสมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน กล่าวว่า การแสดงความคิดเห็น การชุมนุมของประชาชนเป็นสิ่งที่สามารถทำได้ และต้องได้รับการเคารพจากรัฐ รวมถึงต้องปฏิบัติอย่างเคารพสิทธิมนุษยชนของชุมชน การบังคับใช้กฎหมายภายใต้กฎอัยการศึกต้องคำนึงสิทธิในกระบวนการยุติธรรม เช่น ต้องได้รับการแจ้งข้อกล่าวหา ได้รับสิทธิปรึกษาทนายความ มีการติดต่อญาติทันทีที่ถูกควบคุมตัว

รักษาการผู้อำนวยการสมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน ยังเรียกร้องด้วยว่า ให้ยกเลิกกฎอัยการศึก เนื่องจากเป็นอุปสรรคต่อการแสดงความคิดเห็นของประชาชน และการดำเนินคดีต้องขึ้นศาลทหาร ทำให้กระบวนการต่อสู้ทางกฎหมายไม่เป็นไปตามปกติ รวมทั้งผู้ที่ถูกกล่าวหาไม่มีสิทธิในการต่อสู้คดีได้อย่างเต็มที่

 

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท