‘วรเจตน์’ ยื่นตีความประกาศคสช.ขัดรธน. ศาลทหารเลื่อนตรวจหลักฐาน ม.ค.ปีหน้า

‘วรเจตน์’ ขึ้นศาลทหาร นัดตรวจพยานหลักฐานสู้คดีขัดคำสั่งคสช. พร้อมทำคำร้องส่งศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาอำนาจศาลทหาร ชี้ประกาศคสช. ฉบับที่ 37/2557 และ38/2557 ขัดรธน.ชั่วคราว ศาลฯนัดอีกครั้ง 26 ม.ค.58

24 พ.ย.2557 ที่ศาลทหารกรุงเทพ กรมพระธรรมนูญ ถ.หลักเมือง คณะตุลาการศาลทหารกรุงเทพได้นัดตรวจพยานหลักฐานคดีหมายเลขดำ 32 ก./2557 ที่อัยการทหารเป็นโจทก์ ยื่นฟ้องนายวรเจตน์ ภาคีรัตน์ อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์ และนักวิชาการคณะนิติราษฎร์ เป็นจำเลย ในความผิดฐานฝ่าฝืนคำสั่งเรียกบุคคลให้มารายงานตัวตามประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ฉบับที่ 5/2557 ลงวันที่ 24 พ.ค.2557 และฉบับที่ 57/2557 ลงวันที่ 9 มิ.ย.2557 ซึ่งความผิดระวางโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 40,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ โดยอัยการทหารยื่นฟ้องเมื่อวันที่ 4 ส.ค. ที่ผ่านมา

จากนั้นเวลา 11.00 น. นายวรเจตน์ ให้สัมภาษณ์ว่า ในวันนี้เป็นการนัดตรวจพยานหลักฐานของฝ่ายโจทย์ ส่วนทางตนและทนายความได้มีการยื่นคำร้องในประเด็นที่ว่าประกาศของคสช. ฉบับที่ 37/2557 และ38/2557 ที่ให้คดีอยู่ในอำนาจของศาลทหารกรุงเทพนั้นขัดต่อรัฐธรรมนูญ (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ. 2557 เนื่องจากประเทศไทยเป็นภาคีประเทศสมาชิกของกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (ไอซีซีพีอาร์) ซึ่งในมาตรา 4 ของรัฐธรรมนูญฯ กำหนดให้พันธะกรณีที่ไทยมีอยู่นั้นต้องผูกพันด้วย ทั้งนี้ในไอซีซีพีอาร์ระบุไว้ว่าศาลต้องเป็นอิสระ และในคดีอาญาทางจำเลยต้องมีโอกาสอุทธรณ์คำตัดสิน ในกรณีของตนนั้นมีปัญหาเรื่องความเป็นอิสระของศาล เพราะศาลทหารกรุงเทพเป็นองค์กรอยู่ในกระทรวงกลาโหม ซึ่งอาจไม่สอดคล้องกับไอซีซีพีอาร์ อีกทั้งคดีดังกล่าวเป็นการขึ้นศาลทหารฯช่วงที่ประกาศกฎอัยการศึก คือเมื่อศาลทหารฯตัดสินคดีก็จะจบทันที ตนไม่สามารถยื่นอุทธรณ์หรือฎีกาได้ นายวรเจตน์ กล่าวต่อว่า ทั้งนี้ในมาตรา 47 ของรัฐธรรมนูญฯ บัญญัติให้ประกาศหรือคำสั่งของคสช. ชอบตามรัฐธรรมนูญฯและเป็นที่สุด ทำให้สงสัยว่าจะสามารถโต้แย้งได้อย่างไร แต่มีประเด็นว่าในมาตรา 26 ของรัฐธรรมนูญฯนั้นบัญญัติให้ในการพิจารณาพิพากษาคดีของศาลจะต้องพิจารณาพิพากษาด้วยความยุติธรรมตามกฎหมายดังนั้นการตีความของรัฐธรรมนูญจะต้องมีเรื่องความยุติธรรมด้วย การตัดสินคดีโดยศาลชั้นเดียวไม่สอดคล้องกับความยุติธรรม ดังนั้นประกาศของคสช.จึงถูกรับรองตามรัฐธรรมนูญฯมาตรา 47 ซึ่งคาดว่าจะขัดกับมาตรา 4 และมาตรา 26 ตนจึงทำคำร้องขอให้ศาลทหารส่งคำร้องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยชี้ขาดข้อกฎหมายตามรัฐธรรมนูญ(ฉบับชั่วคราว) พ.ศ. 2557 ประกอบพ.ร.บ.ธรรมนูญศาลทหาร พ.ศ. 2498 ซึ่งศาลทหารได้รับคำร้องนี้ไว้และจะมีคำสั่งในวันที่ 26 ม.ค. 2558 พร้อมกับนัดตรวจพยานโจทย์

“วันนี้เราพูดถึงเรื่องประกาศของคสช.และอำนาจของศาลทหาร ที่ต้องดูว่าศาลทหารจะพิจารณาอย่างไรต่อไป เพราะยังไม่ทราบต้องรอวันที่ 26 ม.ค. 2558 ว่าจะเดินสถานะใดต่อไป ประกาศคสช.ไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ เพราะขณะนี้มีรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวแล้ว และเขียนข้อความทำให้เห็นได้ว่ามีการขัดต่อรัฐธรรมนูญ เพาะฉะนั้นต้องมีองค์กรชี้ก่อนว่าประกาศคสช.ขัดต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่” นายวรเจตน์ กล่าว

ทั้งนี้ โดยการนัดตรวจพยานหลักฐานครั้งนี้ ทางคณะตุลาการศาลฯได้อนุญาตให้ตัวแทนสื่อมวลชน และเจ้าหน้าที่ของสถานทูตฝรั่งเศสและเยอรมัน เข้าร่วมรับฟังการพิจารณาคดีดังกล่าวด้วย แต่ไม่อนุญาตให้นำอุปกรณ์สื่อสาร เครื่องบันทึกเทป หรือสมุดจดเข้าไปในห้องพิจารณาคดีอย่างเด็ดขาด

เรียบเรียงจาก มติชนออนไลน์, คมชัดลึกออนไลน์

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท