Skip to main content
sharethis

ทหารลงพื้นที่เข้าพูดคุย 'กลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิด' หลังแสดงจุดยืนสนับสนุนและให้กำลังกลุ่มนักศึกษา 'ดาวดิน' ด้านชาวบ้านหวั่นปัญหาสิ่งแวดล้อม และสิทธิชุมชนถูกมองข้าม

23 พ.ย. 2557 - กลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิด 6 หมู่บ้าน ต.เขาหลวง อ.วังสะพุง จ.เลย เตรียมพูดคุยกับเจ้าหน้าที่ทหารกรณีปัญหาการทำเหมืองแร่ทองคำ และความสัมพันธ์กับกลุ่มนักศึกษา "ดาวดิน" วันนี้ 09.00 น. หลังจากได้รับการติดต่อจากเจ้าหน้าที่ทหารในพื้นที่ เพื่อที่จะเข้ามาพูดคุยเมื่อช่วงเช้าของวันที่ 22 พ.ย. ที่ผ่านมา สองวันหลังจากกลุ่มฅนคนรักษ์บ้านเกิด ออกมาแสดงจุดยืนสนับสนุน และให้กำลังใจกลุ่มดาวดิน ด้วยการชู 3 นิ้ว กลางทุ่งนา(อ่านข่าวที่นี่)

กลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิด จังหวัดเลย ชูป้ายให้กำลังใจ นักศึกษากลุ่มดาวดิน เมื่อวันที่ 20 พ.ย. 2557

สุรพันธ์ รุจิไชยวัฒน์ ในหนึ่งแกนนำกลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิดให้ข้อมูลว่า เจ้าหน้าที่ทหารได้ประสานเข้ามาว่าจะเข้ามาพูดคุยสองเรื่องคือ เรื่องการทำเหมืองแร่ และเรื่องความสัมพันธ์กันกลุ่มดาวดิน

"เรื่องความสัมพันธ์กับกลุ่มดาวดิน ทหารเขาจะเข้ามาคุยกับผมเองเลยที่บ้าน ผมก็บอกให้เขามา เพราะเราไม่ได้ปิดบังอะไรอยู่แล้ว" สุรพันธ์

สุรพันธ์ ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า ก่อนหน้านี้เจ้าหน้าที่ทหารก็น่ารู้อยู่แล้วว่าเรากับดาวดินมีความสัมพันธ์อย่างไรกัน เพราะกลุ่มดาวดินเป็นกลุ่มนักศึกษาที่ลงมาศึกษาปัญหาในพื้นที่ตั้งแต่ 7 ปีก่อน ช่วงแรกนักศึกษาเข้ามาเพื่อศึกษาข้อมูลในพื้นที่ พอเริ่มเห็นปัญหาของชาวบ้าน ก็ได้เข้ามาช่วยชาวบ้านเคลื่อนไหวเพื่อสิทธิชุมชน ปัญหาผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมจากการทำเหมืองแร่ทองคำ ชาวบ้านในพื้นที่จึงเห็นกลุ่มดาวดินเหมือนลูกหลาน มีความสัมพันธ์ไปมาหาสู่กันตลอด นักศึกษาที่เรียนจบไปแล้วก็ยังเข้ามาในพื้นที่มาเยี่ยม มาพาน้องรุ่นน้องมาทำความรู้จักกับชาวบ้านทุกปี

เมื่อถามถึงความกังวลต่อการเข้ามาพูดคุยของเจ้าหน้าที่ทหารครั้งนี้ สรุพันธ์กล่าวว่า รู้สึกว่าการเข้ามาอาจจะเป็นการคุกคาม การแสดงออกทางความคิด และเกรงว่าการเข้ามาครั้งนี้ของเจ้าหน้าที่ทหารอาจจะทำให้ปัญหาทางสิ่งแวดล้อม และสิทธิชุมชนถูกมองข้ามไป

ทั้งนี้ปัญหาในพื้นที่เหมืองแร่ทองคำ จังหวัดเลย เป็นปัญหาที่ส่งผลกระทบต่อชาวบ้านมานานกว่า 12 ปี และภายหลังจากการรัฐประหารได้มีการส่งเจ้าหน้าที่ทหารหนึ่งกองร้อย เข้ามาดูแลความสงบเรียบร้อยภายในพื้นที่ ซึ่งเป็นสิ่งที่ชาวบ้านมาว่าเป็นการเข้าควบคุมสถานการณ์ในพื้นที่ เพื่อเอื้อผลประโยชน์ให้กับนายทุนเหมืองแร่มากกว่า ที่จะเข้ามาดูแลความปลอดภัยให้กับชาวบ้าน อย่างไรก็ตามเจ้าหน้าที่ทหารได้ถอดกำลังออกจากพื้นที่ เมื่อวันที่ 30 ก.ย. ที่ผ่านมา และได้มีการตั้งคณะกรรมการ 4 ชุด เพื่อแก้ไขปัญหาในพื้นที่ ซึ่งชาวบ้านในพื้นที่เองไม่ได้มีโอกาสในการมีส่วนร่วมกับการแก้ไขปัญหาเลย

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net