เมื่อกระแส 'จูบประท้วง' กลายเป็นการเคลื่อนไหวระดับชาติในอินเดีย

การจูบกันในที่สาธารณะบางประเทศอาจได้รับการยอมรับ แต่ในอินเดียถือเป็นเรื่องผิดกฎหมายและเป็นเรื่องสร้างความไม่พอใจให้กับผู้ เคร่งศาสนาบางกลุ่ม แต่การห้ามเช่นนี้ทำให้การจูบกลายมาเป็นการแสดงออกต่อต้านขัดขืน จนมีผู้เข้าร่วมประท้วงจูบหมู่จำนวนมากในหลายเมืองของอินเดีย

20 พ.ย. 2557 ในประเทศอินเดียการจูบอย่างเปิดเผยในที่สาธารณะถือเป็นเรื่องต้องห้ามเพราะถูกมองว่าเป็นการกระทำที่น่าอับอายในที่สาธารณะและผู้กระทำอาจจะถูกจับเข้าคุกได้ อย่างไรก็ตาม หลังจากเหตุการณ์ที่กลุ่มเคร่งศาสนาฮินดูบุกเข้าไปทำลายข้าวของในร้านกาแฟที่มีคนจูบกัน ผู้คนทั่วอินเดียก็ออกมาประท้วงโดยทำให้การจูบกันกลายเป็นสัญลักษณ์ของการต่อต้านกฎหมายห้ามจูบนี้

เหตุการณ์ที่กลุ่มคนบุกทำลายข้าวของในร้านเกิดขึ้นหลังจากสำนักข่าวท้องถิ่นแห่งหนึ่งในรัฐเคราลาประเทศอินเดียนำเสนอภาพวิดีโอของคนกำลังจูบกันบนระเบียงร้านกาแฟแห่งหนึ่งในเมืองกาลิกัต หลังจากนั้นเพียง 1 ชั่วโมงกลุ่มผู้เคร่งศาสนาฮินดูกลุ่มหนึ่งก็พากันเข้าไปในร้านกาแฟพร้อมท่อนเหล็ก พวกเขาทุบกระจก ล้มเฟอร์นิเจอร์ในร้าน โดยอ้างว่าร้านกาแฟแห่งนี้ส่งเสริมพฤติกรรมที่ "ไม่เป็นอินเดีย"

หลังจากเหตุการณ์ดังกล่าวเพียงไม่ถึง 1 วัน ก็เกิดการประท้วงขึ้นทั่วประเทศอินเดียในหลายๆ เมือง อย่างกัลกัตตา มุมไบ นิวเดลี ซึ่งเป็นที่รู้จักกันดีในนามโครงการรณรงค์ 'Kiss Of Love' หรือ 'จูบแห่งรัก' ที่ต้องการส่งเสริมการจูบในที่สาธารณะ

ราฮูล ปาสุปาลัน ผู้ร่วมก่อตั้งเพจเฟซบุ๊กโครงการรณรงค์ 'จูบแห่งรัก' เปิดเผยว่าพวกเขาต้องการให้คนเราแสดงความรักต่อกันโดยการจูบเป็นวิธีการแสดงความรักที่ใช้เวลาไม่นานและมีความอ่อนหวาน

ในช่วงต้นเดือน พ.ย. ที่ผ่านมามีประชาชนมากกว่า 10,000 คน รวมตัวกันที่เมืองโคจิประเทศอินเดีย มีราวร้อยละ 80 ไปเข้าร่วมเพื่อคอยดูเท่านั้น การประท้วงด้วยการจูบกันไม่เคยมีมาก่อนในอินเดีย ทำให้คนนึกจินตนาการไปต่างๆ นานา มีคนถึงขั้นปีนต้นไม้เพื่อถ่ายรูป แต่สิ่งที่ทำให้การประท้วงนี้ถูกแชร์ต่อเนื่องไปทั่วเป็นไวรัลคือรูปของปาสุปาลันกับภรรยาของเขา รัศมี นาอีร์ จูบกันหลังรถตู้ของตำรวจในตอนที่พวกเขาถูกจับกุม

หลังจากการประท้วงมีผู้ประท้วง 52 คนถูกจับกุม มีอยู่ราว 25 คนเข้าโรงพยาบาลเพราะถูกกลุ่มผู้ต่อต้านการประท้วงทำร้ายด้วยท่อนเหล็กและแก๊สน้ำตาจนได้รับบาดเจ็บเล็กน้อย

ประมวลกฎหมายอาญาของอินเดียระบุว่าใครก็ตามที่ "กระทำอนาจารในที่สาธารณะ" อาจจะถูกจับกุมได้โดยที่ตำรวจได้รับอำนาจในการแทรกแซงการกระทำ กฎหมายนี้ตีความหมายรวมถึงการจูบกันในที่สาธารณะด้วย อย่างไรก็ตาม กลุ่มจูบแห่งรักบอกว่ากฎหมายนี้มีการนำมาใช้ตามอำเภอใจ

ทางด้านกลุ่มต่อต้านที่ชื่อว่า 'Ban Kiss of Love' ระบุว่ากฎหมายฉบับนี้ไม่มีความคลุมเครือใดๆ ทั้งสิ้น มันเป็นไปตามภาษิตที่ว่า "เข้าเมืองตาหลิ่วต้องหลิ่วตาตาม"

ข้อถกเถียงในประเด็นนี้ยังกลายมาเป็นข้อถกเถียงในเชิงปรัชญาว่าควรนิยามวัฒนธรรมอินเดียว่าอย่างไร ชาวฮินดูชาตินิยมจะอ้างว่าการจูบกันในที่สาธารณะเป็นลักษณะที่มีแต่เฉพาะใน "วัฒนธรรมตะวันตก" ที่พวกเขามองว่า "สกปรก" เท่านั้น ขณะที่นักวิจารณ์บางคนมองว่าสิ่งที่กลุ่มผู้ประท้วงต้องการจะสื่อเป็นเรื่องที่ถูกต้องแต่วิธีการสื่อนั้นผิด ส่วนผู้ร่วมจัดการประท้วงจูบแห่งรักบอกว่า วัฒนธรรมอินเดียมีความหลากหลายมาก การจะจำกัดว่าวัฒนธรรมอินเดียมีเอกลักษณ์จึงเป็นเรื่องน่าขันในตัวมันเอง

การประท้วงของกลุ่มจูบแห่งรักได้รับการต่อต้านจากกลุ่มฝ่ายขวา นอกจากนี้ผู้จัดในเมืองหนึ่งชื่ออรุณธาตี นาลูเคตียังถูกโทรศัพท์ขู่เอาชีวิตหลายครั้งจนต้องเปลี่ยนเบอร์โทร รูปการจูบในที่ประท้วงของเธอยังถูกตัดต่อกลายเป็นรูปนู้ดและเผยแพร่ผ่าน WhatsApp ยังมีอีกหลายคนที่ถูกข่มขู่ในรูปแบบเดียวกัน โดยผู้จัดรายหนึ่งบอกว่าเธอถูกขู่ฆ่าและถูกขู่ว่าจะข่มขืนตั้งแต่ก่อนการประท้วงแล้ว

ในกรุงนิวเดลี การประท้วงมาจากกลุ่มนักศึกษาจำนวนหนึ่งซึ่งกล่าวคำขวัญต่อต้านนายกรัฐมนตรี นเรนทรา โมดี และจงใจใช้ที่ทำการของฝ่ายขวาเป็นที่ชุมนุม ในช่วงกลางคืนมีตำรวจพยายามควบคุมการชุมนุมโดยการจับกุมกลุ่มผู้ประท้วงจูบแห่งรัก 70 คน

นายกรัฐมนตรีอินเดียยังคงไม่ได้กล่าววิจารณ์ใดๆ เกี่ยวกับขบวนการประท้วงด้วยการจูบ แต่พรรคการเมืองในเครือของเขาเคยออกแถลงการณ์ระบุว่า "วัฒนธรรมอินเดียไม่อนุญาตให้แสดงออกในเชิงความรักใคร่เช่นนี้ในที่สาธารณะ" มีการใช้วิธีการจูบอย่างแพร่หลายในหมู่นักกิจกรรมที่แห่งอื่นของโลกที่ต้องการทำให้พื้นที่สาธารณะแสดงออกได้อย่างเสรีมากขึ้น เช่นในตุรกีเมื่อปี 2556 เคยมีการประท้วงจูบที่สถานีรถไฟใต้ดินจนมีกลุ่มอิสลามหัวรุนแรงแทงผู้ประท้วง ในตูนิเซียมีกลุ่มนักกิจกรรมเรียกร้องให้มี "วันจูบแห่งชาติ" ในซาอุดิอาระเบียมีคนพยายามทำโครงการ "กอดฟรี" แต่ก็ถูกยกเลิกอย่างรวดเร็ว

"เมื่อฉันเห็นรูปถ่ายจากตุรกี ฉันคิดว่าอะไรแบบนี้น่าจะเกิดขึ้นในเดลีบ้าง แล้วฉันก็หวังว่ารูปถ่ายจากเดลีจะกลายเป็นพลังให้กับคนอื่นเช่นกัน" ปันกุรี ซาฮีร์ ผู้ร่วมจัดการประท้วงในเดลีกล่าว

"พวกเรากำลังพยายามขยายรูปแบบวิธีการสื่อใหม่ๆ ในการประท้วง" ซาฮีร์กล่าว

เรียบเรียงจาก

In India, public kissing is becoming a national movement, Globalpost, 19-11-2014
http://www.globalpost.com/dispatch/news/regions/asia-pacific/india/141117/india-public-kissing-national-protest-kiss-of-love

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท