Skip to main content
sharethis

เครือข่ายชุมชนท้องถิ่นและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นภาคเหนือวอนคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญคงหลักสิทธิชุมชนตามปี 50 โดยเฉพาะ ม.66, 67 กมธ.ยกร่างฯ เผยชาติพัฒนาเสนอนายกฯ คนกลางผ่าทางตันประเทศ

นายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ รองประธานสภาปฏิรูปแห่งชาติ ( สปช.)  และประธานคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ รับหนังสือจาก นายก่อชิ เพชรไพรพนาวัลย์ ผู้แทนเครือข่ายชุมชนท้องถิ่นและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นภาคเหนือ เพื่อเป็นแนวทางในการปฏิรูปกฎหมายและการยกร่างรัฐธรรมนูญ โดยเครือข่ายฯ ยืนยันในหลักสิทธิชุมชนที่เคยบรรจุไว้ในปี 2550 โดยเฉพาะมาตรา 66  และมาตรา 67  ซึ่งเป็นหลักการสำคัญในการส่งเสริมสิทธิชุมชน และการสร้างการมีส่วนร่วม บนฐานของการลดความเหลื่อมล้ำ สร้างความเป็นธรรมในการเข้าถึงและใช้ประโยชน์จากทรัพยากรอย่างยั่งยืน ดังนั้นจึงควรนำเนื้อหาหลักสิทธิชุมชนดังกล่าวมาบรรจุไว้เหมือนเดิม และให้ปรับปรุงแก้ไขระเบียบ กฎหมาย นโยบาย มติคณะรัฐมนตรี กระทรวง ทบวง กรม ที่ขัดต่อหลักสิทธิชุมชนและการมีส่วนร่วมให้แล้วเสร็จภายใน 5 ปี รวมทั้งให้องค์กรปกครองท้องถิ่น บริหารจัดการทรัพยากรร่วมกับหน่วยงานภาครัฐ โดยให้ท้องถิ่นมีหน้าที่ในการออกเทศบัญญัติหรือข้อบัญญัติตำบล

กมธ.ยกร่างฯ เผยชาติพัฒนาเสนอนายกฯ คนกลางผ่าทางตันประเทศ

พล.อ.เลิศรัตน์ รัตนวานิช โฆษกคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ แถลงภายหลังรับฟังความคิดเห็นและข้อเสนอแนะจากพรรคชาติพัฒนาและพรรคพลังชลว่า กรรมาธิการยกร่างฯ เห็นว่าพรรคชาติพัฒนาได้รวบรวมประเด็นเกี่ยวกับการยกร่างรัฐธรรมนูญค่อนข้างละเอียดครบถ้วน และเป็นประโยชน์ที่จะได้นำไปประกอบการร่างรัฐธรรมนูญ โดยเสนอว่ารัฐธรรมนูญควรกระชับ กระทัดรัด ไม่มีข้อความที่ยากต่อการตีความ เป็นเอกลักษณ์ความเป็นไทย สามารถดำเนินงานด้านต่างประเทศได้ทันเหตุการณ์ มีบทบัญญัติที่จะไม่ให้ประเทศเข้าสู่ทางตัน และเป็นธรรมกับทุกฝ่าย  พร้อมนำเสนอให้รายละเอียดอีก 10 ประเด็นที่เกี่ยวกับสถาบันทางการเมือง รวมถึงที่มาของฝ่ายบริหาร และไม่เห็นด้วยกับการกำหนดเขตจังหวัดเป็นเขตเลือกตั้งเหมือนข้อเสนอของ 2 พรรคก่อนหน้านี้ และยังเสนอว่าหากเกิดวิกฤติ อาจจะให้ ส.ส.เสนอบุคคลที่ไม่ใช่ ส.ส.เป็นนายกรัฐมนตรีได้ โดยใช้เสียง 3 ใน 4 และให้อยู่ในวาระจำกัดเพื่อแก้ไขปัญหา ซึ่งประเด็นนี้เป็นเรื่องที่ต้องมาคิดกันว่าจะเขียนรัฐธรรมนูญอย่างไรเพื่อไม่ให้เกิดทางตันในบ้านเมือง

“ยังตอบไม่ได้ว่าจะบัญญัติอย่างไร อาจจะเขียนเป็นกรณีนายกฯ คนกลาง แต่จะเขียนได้หรือไม่  ไม่ใช่เรื่องง่าย แต่เมื่อเห็นวิกฤติการเมืองมา 2-3 ครั้ง ก็สามารถเปิดช่องให้คนนอกมาเป็นนายกรัฐมนตรีได้ ซึ่งกรรมาธิการก็รับฟัง และเมื่อถึงเวลาแล้วคงมีการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกันถึงข้อดีข้อเสีย และสามารถนำมาบรรจุไว้ในรัฐธรรมนูญหรือไม่” พล.อ.เลิศรัตน์ กล่าว

สำหรับข้อเสนอของพรรคพลังชลนั้น โฆษกคณะกรรมาธิการฯ กล่าวว่า เสนอความเห็นสอดคล้องกับหลายพรรคที่ให้ ส.ส.สังกัดพรรค แต่ควรให้สิทธิในการเสนอกฎหมายโดยไม่ต้องใช้มติพรรค อยากเห็นการใช้ใบเหลือง-ใบแดงมีประสิทธิภาพและเป็นธรรมกว่าที่ผ่านมา โดยเสนอให้ใช้หน่วยงานยุติธรรมเป็นผู้วินิจฉัย อย่างไรก็ตาม ยังมีประเด็นที่ทุกพรรคเห็นตรงกันคือมาตรา 237 เรื่องการตัดสิทธิ์ทางการเมืองกรรมการบริหารพรรคทุกคนกรณีที่มีกรรมการบริหารพรรคทำผิดโดยที่บุคคลอื่นไม่ได้มีส่วนร่วม ซึ่งมองว่าเป็นการกระทบสิทธิ์

โฆษกคณะกรรมาธิการฯ กล่าวอีกว่า ทั้งนี้คณะกรรมาธิการฯ จะยังเดินหน้ารับฟังความเห็นจากพรรคการเมือง โดยวันที่ 20 พ.ย.นี้ เป็นพรรคมาตุภูมิ และในช่วงบ่ายจะพิจารณาแนวทางการทำงานของคณะกรรมาธิการฯ

 

เรียบเรียงจาก สำนักข่าวไทย

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net