จุดร่วม-จุดต่างของผู้ชุมนุมเรียกร้อง ปชต. 2 ย่านในฮ่องกง

แม้ว่าสื่อส่วนใหญ่จะเน้นนำเสนอเรื่องราวของผู้ชุมนุมย่านแอดไมรัลตี้ซึ่งเป็นกลุ่มที่ดูมีอุดมคติด้านประชาธิปไตยมากกว่า แต่ยังมีอีกมุมหนึ่งคือกลุ่มผู้ชุมนุมย่านมงก๊ก ซึ่งเต็มไปด้วยคนจนและผู้สูงอายุขาดสวัสดิการที่ต้องการต่อสู้เพื่อปากท้องของตน


การชุมนุมย่านแอดไมรัลตี้ 1 ต.ค.2557
ภาพโดย
Pasu Au Yeung (CC BY 2.0)
 


การชุมนุมย่านมงก๊ก 19 ต.ค.2557
ภาพโดย
alcuin lai (CC BY-SA 2.0)

19 พ.ย. 2557 สำนักข่าวโกลบอลโพสต์รายงานเกี่ยวกับการประท้วงเรียกร้องประชาธิปไตยของชาวฮ่องกงซึ่งดำเนินมาป็นเวลามากกว่า 50 วันแล้ว ซึ่งแม้ว่าการประท้วงในย่านอื่นๆ จะดำเนินไปอย่างสงบ แต่ในย่านมงก๊กเคยเกิดการปะทะกันระหว่างกลุ่มผู้ชุมนุมกับกลุ่มแก๊งมาเฟียที่ต่อต้านการประท้วงและขว้างปาสิ่งของ แม้กระทั่งของสกปรกหรือแมลงเข้าไปจนต้องมีการขึงตาข่ายกั้นไว้รอบที่ชุมนุม

แม้ว่าในที่ชุมนุมของกลุ่มสนับสนุนประชาธิปไตยในฮ่องกงจะมีเต๊นท์และสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ ให้เหมาะแก่การปักหลักชุมนุม แต่ดูเหมือนว่าการปักหลักชุมนุมของพวกเขาจะทำให้กลุ่มสมาคมคนขับรถมินิบัสไม่พอใจเนื่องจากสูญเสียรายได้ พวกเขาสามารถขอคำสั่งห้ามของศาลได้สำเร็จซึ่งศาลอนุญาตให้พวกเขาร่วมมือกับตำรวจในการ "กำจัดสิ่งกีดขวางการจราจร" ในมงก๊ก

จากการปะทะและใบอนุญาตจากศาลดังกล่าวทำให้ย่านมงก๊กมีบรรยากาศตึงเครียดกว่าการชุมนุมในย่านแอดไมรัลตี้ ทางเว็บไซต์โกลบอลโพสต์ระบุในรายงานอีกว่าผู้ชุมนุมย่านมงก๊กมีท่าทีทางการเมืองที่ดุดันกว่าผู้ชุมนุมในย่านแอดไมรัลตี้ซึ่งมักจะมีบรรยากาศสนุกสนาน มีความเป็นระเบียบเรียบร้อย และดูสะอาด

รายงานของโกลบอลโพสต์ยังได้ระบุถึงประเด็นเรื่องวิกฤติด้านอัตลักษณ์ของชาวฮ่องกงหลังยุคอาณานิคม โดยที่ชาวฮ่องกงจำนวนมากไม่คิดว่าตัวเองเป็นชาวจีน แต่เป็น "ชาวฮ่องกง" จากผลสำรวจของมหาวิทยาลัยไชนีสเมื่อสัปดาห์ที่แล้วระบุว่ามีผู้ตอบผลสำรวจเพียงร้อยละ 8.9 เท่านั้นที่เรียกตัวเองว่าเป็นชาวจีน

ในแง่ของการชุมนุม ผู้นำการชุมนุมมีความสามารถทำให้กลุ่มคนหนุ่มสาวเข้าร่วมได้เป็นจำนวนมาก ซึ่งหวองหย่างถา จากกลุ่มการเมืองที่ชื่อ 'ซีวิคแพสชั่น' เปิดเผยว่าส่วนหนึ่งมาจากอิทธิพลของโซเชียลมีเดียที่เขาใช้เผยแพร่นิตยสารที่ชื่อ 'แพสชั่นไทม์' ซึ่งโกลบอลโพสต์ระบุว่าหวองหย่างถาคอยอัปเดตสื่อแพสชั่นไทม์ของเขาให้กับผู้เข้าร่วมชุมนุมตลอดเวลาในช่วงที่มีการชุมนุมรวมถึงมีการใข้คำปราศรัยที่ดุเดือด สื่อแพสชั่นไทม์เองก็มีลักษณะปลุกเร้าอารมณ์ จุดนี้เองที่เป็นตัวดึงคนเข้าร่วม

ตัวหวองหย่างถาเองกล่าวว่าเขาต้องการปกป้องแนวคิดหลักการ 'หนึ่งประเทศ สองระบบ' ไว้ซึ่งเขามองว่าทางการจีนแผ่นดินใหญ่พยายามแผ่ขยายอิทธิพลสร้าง 'ความเป็นแผ่นดินใหญ่' ในฮ่องกงมากขึ้นในแง่ของการขยายธุรกิจ การเปลี่ยนแปลงป้ายจากอักขระจีนดั้งเดิมเป็นอักขระจีนแบบง่ายซึ่งใช้กันในจีนแผ่นดินใหญ่ รวมถึงการหลั่งไหลเข้าไปในฮ่องกงของนักท่องเที่ยวชาวจีน โดยคณะกรรมการด้านการท่องเที่ยวฮ่องกงระบุว่ามีนักท่องเที่ยวเกือบ 41 ล้านคนเดินทางจากจีนเพื่อท่องเที่ยวในฮ่องกง และมีการจับจ่ายซื้อหาของหรูหราอย่างนาฬิกาข้อมือและเพชรพลอยตามร้านต่างๆ ที่ตั้งอยู่จำนวนมากในย่านมงก๊ก

อีวาน โฟว์เลอร์ นักเขียนในฮ่องกงที่อยากบันทึกประเด็นเรื่องอัตลักษณ์ของชาวฮ่องกงกล่าวว่า ผู้ชุมนุมในมงก๊กเป็นผู้ชุมนุมที่มีลักษณะในเชิงคนท้องถิ่นที่ประท้วงแสดงความกังวลเกี่ยวกับการหลั่งไหลเข้ามาของคนต่างถิ่นแล้วจะกลายเป็นการมาตั้งรกรากและทำให้วิถีชีวิตคนในพื้นที่เปลี่ยนไป

โฟว์เลอร์กล่าวว่ากลุ่มอย่างซีวิคแพสชั่นเป็นปฏิกิริยาโต้ตอบจากคนที่รู้สึกว่าวิถีชีวิตของตนเปลี่ยนไป มีร้านค้าหลายร้านที่ไม่ยอมให้บริการคนในชุมชนเดิมเลย ขณะเดียวกันประเด็นนี้ของกลุ่มผู้ประท้วงในย่านมงก๊กก็ไม่ค่อยได้รับการกล่าวถึงในสื่อนักเมื่อเทียบกับกลุ่มผู้ประท้วงย่านแอดไมรัลตี้ซึ่งอยู่ใกล้กับที่ว่าการรัฐบาลฮ่องกง โฟว์เลอร์กล่าวอีกว่าผู้ชุมนุมในย่านมงก๊กอาจจะรู้สึกว่ากลุ่มผู้ชุมนุมในย่านแอดไมรัลตี้มี "ความเป็นฮิปปี้" มากกว่า ขณะที่ผู้ชุมนุมในมงก๊กมีลักษณะอุดมคตินิยมน้อยกว่า

มีผู้ประท้วงบางคนเช่นลาวิน่า อู นักเรียนมัธยมปลายอายุ 17 ปีบอกว่าเธอไม่ชอบที่ผู้ชุมนุมที่ย่านแอดไมรัลตี้ทำเหมือนการประท้วงเป็นเรื่องบันเทิง ในขณะที่ย่านมงก๊กมีความตึงเครียดมากกว่าย่านแอดไมรัลตี้มีลักษณะคล้ายงานเทศกาล อย่างไรก็ตามดูเหมือนว่าผู้นำกลุ่มนักศึกษาจากทั้งสองย่านต่างพยายามสงวนจุดต่างและพยายามทำให้การเคลื่อนไหวมีความเป็นแนวร่วม

โจชัวร์ หว่อง ผู้ร่วมก่อตั้งกลุ่มนักเรียนนักศึกษา 'สกอลาร์ลิซึ่ม' กล่าวว่าพวกเขาต่างก็มีเป้าหมายเดียวกัน ทางด้านอเล็ก โจว จากกลุ่มสมาพันธ์นักศึกษาฮ่องกงซึ่งเป็นอีกกลุ่มหนึ่งก็ยืนยันความเห็นเดียวกันว่าพวกเขาทำงานร่วมกับกลุ่มประชาชนในมงก๊กได้เป็นอย่างดี แต่ก็มีบางคนที่ยังรู้สึกว่าเสียงจากประชาชนธรรมดาทั่วไปยังไม่มีคนฟัง เนื่องจากสื่อในฮ่องกงเน้นนำเสนอการเคลื่อนไหวที่ย่านการประท้วงหลักในแอดไมรัลตี้เท่านั้น

ก่อนหน้านี้กลุ่มผู้จัดการชุมนุม 'ยึดครองย่านใจกลาง' (Occupy Central) วางแผนจัดลงประชามติในวันที่ 26 ต.ค. เพื่อกำหนดแนวทางในอนาคตของกลุ่มเคลื่อนไหวที่ไม่มีผู้นำ แต่ก็ต้องยกเลิกไปเพราะผู้ชุมนุมในมงก๊กมองว่า เบนนี่ ไท ผู้นำยึดครองย่านใจกลางพยายามครอบงำพวกเขา ถึงขั้นนำภาพของไทมาล้อเลียนเป็นเผด็จการในประวัติศาสตร์ ในแง่นี้อัลเบิร์ต จาง ผู้ร่วมก่อตั้งกลุ่มพีเพิลพาวเวอร์ซึ่งเป็นกลุ่มสนับสนุนประชาธิปไตยแบบสุดโต่งกล่าวว่า "มงก๊กเป็นกรณีที่พิเศษมาก ...โดยเฉพาะสำหรับประชาชนระดับรากหญ้า"

โกลบอลโพสต์ระบุว่า ในขณะที่มงก๊กเป็นย่านที่มีภาพลักษณ์ดิบเถื่อน เต็มไปด้วยแสงไฟนีออนและเป็นแหล่งอาชญากรรม แต่ในความเป็นจริงมงก๊กเป็นย่านสำคัญของกลุ่มชนชั้นแรงงานในฮ่องกงและเป็นที่พักอาศัยของคนจนและคนชราในฮ่องกง ซึ่งส่วนมากอาศัยอยู่ในบ้านพักการเคหะแห่งชาติ

จางเชื่อว่าผู้ประท้วงในย่านมงก๊กจะไม่ยอมทำตามความคิดเห็นของเบนนี่ ไท ซึ่งแนะนำให้พวกเขารอให้โดนจับในวัน "กำจัดสิ่งกีดขวางทางจราจร" แต่จะมีการปะทะกันเกิดขึ้นหรือไม่ก็ย้ายไปที่ถนนอื่นหรือพื้นที่อื่นๆ คงไม่มีใครยอมโดนจับง่ายๆ

การสำรวจของสหประชาชาติระบุว่าฮ่องกงเป็นเมืองที่มีช่องว่างระหว่างคนรวยกับคนจนมากที่สุดในกลุ่มประเทศพัฒนาแล้ว จางบอกว่า "ชาวฮ่องกงที่แท้จริง" ที่เขาพูดคุยด้วยเป็นคนที่แทบไม่มีอะไรจะเสีย ในย่านมงก๊กก็เต็มไปด้วยที่พักอาศัยโทรมๆ เหมือนคุกรูหนู และระบบสวัสดิการที่มีอยู่น้อยในฮ่องกงทำให้ผู้สุงอายุและคนงานผู้ยากจนต้องจ่ายเงินเป็นค่าห้องพักแคบๆ หรือกระท่อมโทรมๆ แบบในสลัม

เมื่อปีที่แล้วรัฐบาลฮ่องกงเปิดเผยว่าในจำนวนประชากรชาวฮ่องกง 7 ล้านคน มีอยู่ 1.3 ล้านคนที่มีรายได้อยู่ต่ำกว่าเส้นความยากจน ทำให้เรื่องความไม่เท่าเทียมกันรวมถึงเรื่องอัตลักษณ์ของชาวฮ่องกงกลายเป็นประเด็นนำสำหรับการประท้วงนี้

เชสเตอร์ ซาง นักศึกษาอาย 21 ปีที่เคยชุมนุมอยู่ที่ย่านแอดไมรัลตี้แล้วย้ายไปร่วมชุมนุมที่มงก๊กกล่าวว่า คนในที่ชุมนุมมงก๊กมีการแลกเปลี่ยนกันในเรื่องประเด็นทางสังคมมากกว่า แต่การเปลี่ยนแปลงจริงๆ น่าจะมาจากการถกเถียงในแอดไมรัลตี้ ซางบอกว่าคนในมงก๊กมักจะมองอะไรแบบแบ่งขาวดำชัดเจนคนกลุ่มนี้ไม่ค่อยรู้เรื่องการเมืองแต่ต้องการจะเปลี่ยนแปลงชีวิตตนเอง

"มันไม่ใช่แค่การต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย พวกเรามีความต้องการทางสังคมต่างกัน ในรุ่นของพวกเรา พวกเราต้องการความเป็นธรรมในสังคม ในรุ่นแม่ของพวกเรา พวกเธอต้องการหลังคาคุ้มหัว ในรุ่นยายของพวกเราพวกเธอต้องการเพียงแค่มีอาหารอุ่นๆ บนโต๊ะ" ซางกล่าว

นอกจากนี้นักศึกษาส่วนหนึ่งยังวางแผนเคลื่อนขบวนผู้ชุมนุมอย่างน้อย 50 คนไปที่สถานกงสุลอังกฤษในวันที่ 21 พ.ย. แดเนียล มา นักศึกษาที่วางแผนในเรื่องนี้บอกว่าทางการอังกฤษมีพันธะทางกฎหมายต้องปกป้องแถลงการณ์ร่วมจีน-อังกฤษ ปี 2527 ที่ระบุให้จีนต้องยอมให้ฮ่องกงมีอำนาจปกครองตนเองสูง

แต่ มา บอกว่าการให้คำมั่นของจีนกับเรื่องจริงขัดแย้งกันทำให้พวกเขาโกรธและกลัว พวกเขาต้องการเปลี่ยนแปลงอนาคต ทางการจีนแอบละเมิดแถลงการณ์ในปี 2527 แต่อังกฤษก็ไม่ได้ทำอะไรเลย

โกลบอลโพสต์ระบุว่าธงชาติอาณานิคมบริติชฮ่องกงมีให้เห็นทั่วไปในที่ชุมนุมย่านมงก๊ก สำหรับคนส่วนใหญ่แล้วมันเป็นสัญลักษณ์ของการต่อต้าน เป็นเสมือน "การชูนิ้วกลาง" ใส่ทางการกลางของจีน แต่ มา ก็บอกว่ามีคนจำนวนเล็กน้อยที่ต้องการให้อังกฤษกลับมาปกครองจริงๆ และมีจำนวนน้อยกว่านั้นที่ต้องการเรียกร้องให้ฮ่องกงเป็นเอกราชจากจีน ซึ่งทั้งสองกรณีนี้ล้วนเป็นไปได้ยาก แต่เรื่องนี้ก็แสดงให้เห็นว่าในมงก๊กมีกลุ่มคนที่มีมุมมองสุดโต่งอยู่มากกว่า และนักวิชาการก็มองว่าแนวคิดสุดโต่งแบบนี้เป็นเรื่องดีสำหรับขบวนการเคลื่อนไหว

แดน การ์เร็ต ผู้ศึกษาเรื่องวัฒนธรรมการประท้วงจากมหาวิทยาลัยซิตี้ของฮ่องกงกล่าวว่าคนในมงก๊กแสดงออกในท่าทีมากกว่าและมีความเป็นปัจเจกมากกว่า ตรงจุดนี้มีลักษณะใกล้เคียงกับขบวนการเคลื่อนไหวเรียกร้องสิทธิพลเมืองในสหรัฐฯ ที่มีผู้นำอย่างมาร์ติน ลูเธอร์ คิง ซึ่งเป็นตัวแทนของท่าทีการอารยะขัดขืนแบบกลางๆ ขณะเดียวกันก็มีคนอย่างมัลคอล์ม เอ็กซ์ กลุ่มเดอะแบล็กแพนเธอร์ส การ์เร็ตเชื่อว่ากลุ่มอำนาจคนผิวขาวคงไม่ยอมร่วมมือด้วยถ้าหากไม่มีกลุ่มสุดโต่งเหล่านี้ที่เป็นแรงกดดันอีกทางหนึ่ง

โกลบอลโพสต์ระบุว่า ขบวนการเคลื่อนไหวเรียกร้องประชาธิปไตยในฮ่องกงดำเนินมาเป็นเวลา 8 สัปดาห์แล้ว มันได้เปิดเผยให้เห็นความเจ็บแค้นและความขัดแย้งที่ซ่อนอยู่ในการถกเถียงเรื่องประชาธิปไตยในฮ่องกง อย่างไรก็ตามกลุ่มผู้ประท้วงในมงก๊กที่มีการใส่อารมณ์มากกว่าอาจจะช่วยเพิ่มอำนาจต่อรองให้กับกลุ่มผู้นำนักศึกษาในย่านการประท้วงหลักได้ได้โดยการทำให้พวกเขาดูเป็นแนวสายกลางเมื่อมีการเปรียบเทียบทั้งสองกลุ่มนี้แล้ว และแม้การเคลื่อนไหวที่เกิดขึ้นใหม่นี้จะเจอกับความเจ็บปวด มีความยุ่งเหยิงและคาดเดาไม่ได้ แต่การต่อสู้เพื่อสิทธิในการเลือกตั้งตามหลักสากลจะยังคงดำเนินต่อไปแม้ว่าแคมป์ปักหลักของผู้ชุมนุมจะถูกรื้อออกไปก็ตาม

 

เรียบเรียงจาก

After 50 days, rifts emerge among Hong Kong’s protesters, Tom Grundy, Globalpost, 17-11-2014
http://www.globalpost.com/dispatch/news/regions/asia-pacific/141117/50-days-rifts-emerge-hong-kong-protesters

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท