UN WOMEN-ESCAP ทบทวน 2 ทศวรรษปฏิญญาปักกิ่ง ประเมินความสำเร็จ-ความเสมอภาคทางเพศ

โรเบอร์ต้า คล้าก จาก UN WOMEN ภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิก และผู้แทนประจำประเทศไทยกล่าวถึงการประชุมปักกิ่ง+20 ซึ่งจะเกิดขึ้นกรุงเทพฯ สัปดาห์หน้านี้ จะทบทวนถึงการทำงานในการส่งเสริมสิทธิผู้หญิงและความเท่าเทียมทางเพศที่ผ่านมา โดยวาระของการทบทวนคือ ความเท่าเทียมในการมีส่วนร่วมในกระบวนการสันติภาพและการพัฒนา

15 พ.ย. 2557 - โรเบอร์ต้า คล้าก องค์การส่งเสริมความเสมอภาคระหว่างเพศและเพิ่มพลังของผู้หญิงแห่งสหประชาชาติ (หรือ ยูเอ็น วีเมน- UN WOMEN) ภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิก และผู้แทนประจำประเทศไทยกล่าวถึงการประชุม ปักกิ่ง+20 ที่จะเกิดขึ้นในสัปดาห์หน้าที่จะถึงนี้ ซึ่งการประชุมจะจัดขึ้นที่กรุงเทพฯ โดยจะทบทวนถึงการทำงานในการส่งเสริมสิทธิผู้หญิงและความเท่าเทียมทางเพศที่ผ่านมา ซึ่งวาระของการทบทวนและแลกเปลี่ยนในครั้งนี้ คือ ความเท่าเทียมในการมีส่วนร่วมในกระบวนการสันติภาพและการพัฒนา

โดยสิ่งที่คาดหวังจากการประชุมครั้งนี้คือการร่วมมือจากภาครัฐในการส่งเสริมการทำงานของนักสิทธิสตรี และความเท่าเทียมทางเพศในด้านนโยบาย

แจกเกอลีน พอล จาก จากองค์การคณะกรรมาธิการเศรษฐกิจและสังคมสำหรับเอเชียและแปซิฟิก (เอสแคป) กล่าวถึงการประชุมที่จะเกิดขึ้นจะเป็นโอกาสที่จะได้ทบทวนว่าอะไรที่บรรลุเป้าหมาย และอะไรที่ไปไม่ถึงเป้า โดยเธอระบุว่าในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกนั้นต้องถือว่ารัฐบาลในภูมิภาคนี้มีความก้าวหน้ามากในแง่ของนโยบาย รวมถึงกลไกเครื่องมือต่างๆ การผลักดันความเท่าเทียวทั้งจากภาครัฐและภาคประชาสังคม แต่ในแง่ของการนำไปปฏิบัติให้ได้ผลนั้นยังคงมีอุปสรรค ความก้าวหน้าที่เป็นสิ่งที่คาดหวังว่าจะเกิดขึ้นต่อไปก็คือ  การต่อต้านความรุนแรงที่เกิดกับผู้หญิงและเด็กหญิง และในส่วนสุดท้ายคือ การพัฒนาความร่วมมือของผู้หญิงในการมีสาวนร่วมต่างๆ เช่น กระบวนการสันติภาพเป็นต้น

ในประเด็นสิทธิผู้หญิงในพื้นที่ขัดแย้งนั้น โรเบอร์ต้า คล้าก องค์การส่งเสริมความเสมอภาคระหว่างเพศและเพิ่มพลังของผู้หญิงแห่งสหประชาชาติ (UN WOMEN) ภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิก เสริมว่าเป็นประเด็นที่เกี่ยวข้องกับการไม่ต้องรับผิด (Impunity) ของกองกำลัง และฝ่ายความมั่นคงของรัฐ ซึ่งในพื้นที่ขัดแย้งนั้น มีการละเมิดทั้งผู้หญิง เด็กและผู้ชาย แต่ในส่วนของผู้หญิงนั้นมีการละเมิดทางเพศ ซึ่งสถานการณ์เช่นนี้ต้องการกระบวนการที่ผู้หญิงในพื้นที่ขัดแย้งได้เข้าไปมีส่วนร่วมในการเจรจาทั้งการเจรจาสันติภาพ และการ เยียวยา

โนบุโกะ โฮริเบะ  ผู้อำนวยการกองทุนประชากรแห่งสหประชาชาติภาคพื้นเอเชียแปซิฟิก ระบุว่าความก้าวหน้าในประเด็นสิทธิอนามัยเจริญพันธุ์นั้นก้าวหน้าขึ้นมาก ทั้งในแง่ของการควบคุมประชากร  และสิทธิของผู้หญิงในอนามัยเจริญพันธุ์ ซึ่งผู้หญิงควรได้เลือกตัดสินใจเกี่ยวกับการมีลูกได้

"เรามองเห็นความก้าวหน้าเห็นว่าสถานการณ์ของผู้หญิงนั้นก้าวหน้าขึ้นมาก แต่สามารถลดจำนวนผู้หญิงที่ได้รับปลกระทบเพียงแต่ครึ่งเดียว ตอนนี้เรามีคนรุ่นใหม่จำนวนมาก ซึ่งยังต้องการการศึกษาในประเด็นและมีอุปสรรค เช่น กฎหมายไม่สนับสนุน ถูกขัดขวางจากพ่อแม่ในการเข้าถึงข้อมูลข่าวสาร การเข่าถึงการทำแท้งและการคลอดที่ไม่ปลอดภัย ซึ่งมีส่วนให้เกิดการตายจำนวนมาก ซึ่งต้องทำงานต่อไป"

ผู้อำนวยการกองทุนประชากรแห่งสหประชาชาติภาคพื้นเอเชียแปซิฟิก กล่าวว่าท้องวัยรุ่นกำลังกลายมาเป็นปัญหาของหลายประเทศ ซึ่งประเทศไทยและมาเลเซียเป็นตัวอย่างที่ชัดเจนของปัญหานี้

ซึ่งการให้การศึกษาด้านสิทธิทางเพศนี้ เป็นเรื่องที่จะสร้างความตระหนักให้กับเยาวชนว่าสิทธิที่จะเลือกว่าจะมีเพศสัมพันธ์กับใครและเมื่อไหร่

คีตา เซน นักเศรษฐศาสตร์การพัฒนาจากมหาวิทยาฮาร์วาร์ด ระบุว่าหากมองในมุมของภาคประชาสังคมมีการพูดมากมายเกี่ยวกับความเท่าเทียม แต่จริงๆ แล้วการส่งเสริมศักยภาพให้กับผู้หญิงคือการส่งเสริมให้ผู้หญิงเข้าถึงสิทธิมนุษยชนของตัวเอง

ทั้งนี้ เมื่อพูดถึงประเด็นความเท่าเทียมทางเพศและสิทธิของผู้หญิง ต้องพูดด้วยว่าใครเป็นคนรับผิดชอบต่อประเด็นนี้ และถ้าประเด็นเหล่านี้ไม่สามารถผลักดันไปให้ถึงได้ ก็ต้องหาด้วยว่าใครเป็นคนรับผิดชอบ

สำหรับบทบาทของภาคประชาสังคมนั้นต้องทำหน้าที่เฝ้าระวังและต้องมีข้อมูลว่าประเด็นใดบ้างที่มีการละเมิดมาก แต่ไม่ถูกมองเห็น และทำไมการละเมิดสิทธิเกิดขึ้น และต้องทำอย่างไร และต้องรู้ว่าประเด็นหลักในสังคมเกี่ยวกับผู้หญิงนั้นคือประเด็นอะไร

ทั้งนี้ ข้อมูลจาก UN WOMEN ระบุว่าในปัจจุบันยังคงมีผู้เชี่ยวชาญที่เป็นผู้หญิงในระดับนโยบายต่างๆ น้อยมาก ไม่ว่าจะเป็นนักเศรษฐศาสตร์ผู้หญิงที่ยังมีไม่ถึงห้าเปอร์เซ็นต์ นักเศรษฐศาสตร์  นักกฎหมาย นักภูมิศาสตร์ เจ้าหน้าที่ในกระบวนการยุติธรรม  ซึ่งก็มีดัชนีบ่งชี้ว่าหากมีผู้หญิงในกระบวนการยุติธรรมมากขึ้น คดีที่เกี่ยวข้องกับการละเมิดทางเพศจะมีการปิดคดีมากขึ้น

สำหรับการประชุม ปักกิ่ง+20 นั้นจัดขึ้นในเดือนกันยายน พ.ศ. 2538 โดยมีเป้าหมายส่งเสริมความเท่าเทียมทางเพศและศํกยภาพของผู้หญิงทั่วโลก โดยมีปฏิญญาปักกิ่งที่ระบุถึงเป้าหมาย มาตรการและกลไก

โดยการประชุมที่จะเกิดขึ้นในสัปดาห์หน้าจะมีขึ้นที่หอประชุมองค์การสหประชาชาติ ประเทศไทย ในระหว่างวันที่ 17-21 พ.ย. โดยจะมีผู้เข้าร่วมประชุมจาก 480 องค์กรทั่วโลก

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท