พ.ร.บ. ถวายความปลอดภัยฯ บังคับใช้ 14 พ.ย.

13 พ.ย. 2557 เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา ได้เผยแพร่พระราชบัญญัติการถวายความปลอดภัย พ.ศ. 2557 โดยใน พ.ร.บ.การถวายความปลอดภัย พ.ศ. 2557 ได้ระบุให้มีการจัดตั้งคณะกรรมการถวายความปลอดภัย ทั้งนี้เพื่อให้มีการกำหนดหลักเกณฑ์และวิธีปฏิบัติในการถวายความปลอดภัยของหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องที่เป็นเอกภาพ และให้การปฏิบัติหน้าที่ของหน่วยงานของรัฐมีการบูรณาการ และมีประสิทธิภาพ ประสิทธิผลยิ่งขึ้น โดยมีรายละเอียดดังนี้้

00000

พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้า ฯให้ประกาศว่าโดยที่เป็นการสมควรปรับปรุงกฎหมายว่าด้วยการรักษาความปลอดภัยสําหรับองค์พระมหากษัตริย์พระราชินี พระรัชทายาท ผู้สําเร็จราชการแทนพระองค์ พระบรมวงศานุวงศ์ ผู้แทนพระองค์และพระราชอาคันตุกะ

จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ให้ตราพระราชบัญญัติขึ้นไว้โดยคําแนะนําและยินยอมของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ดังต่อไปนี้

มาตรา 1 พระราชบัญญัตินี้เรียกว่า “พระราชบัญญัติการถวายความปลอดภัย พ.ศ. 2557”

มาตรา 2 พระราชบัญญัตินี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป

มาตรา 3 ให้ยกเลิก

(1) ประกาศคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขฉบับที่ 36 เรื่อง กฎหมายว่าด้วยการรักษาความปลอดภัยสถาบันพระมหากษัตริย์ ลงวันที่ 30 กันยายน  พุทธศักราช 2547

(2) พระราชบัญญัติว่าด้วยการรักษาความปลอดภัยสำหรับองค์พระมหากษัตริย์ พระราชินี  พระรัชทายาท ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ พระบรมวงศานุวงศ์ ผู้แทนพระองค์ และพระราชอาคันตุกะ  พ.ศ. 2549

มาตรา 4 ในพระราชบัญญัตินี้

“การถวายความปลอดภัย” หมายความว่า การรักษาความปลอดภัยสำหรับองค์พระมหากษัตริย์พระราชินี พระรัชทายาท พระบรมวงศานุวงศ์ตั้งแต่ชั้นพระองค์เจ้าขึ้นไป และให้หมายความรวมถึง การรักษาความปลอดภัยสำหรับผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ผู้แทนพระองค์ซึ่งเป็นพระบรมวงศานุวงศ์ตั้งแต่ชั้นพระองค์เจ้าขึ้นไป และบุคคลที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ รับเป็นพระราชอาคันตุกะ

“ความปลอดภัย” หมายความว่า ความปลอดภัยต่อพระองค์หรือร่างกาย ความปลอดภัย ของพระราชฐาน ที่ประทับหรือที่พัก ความปลอดภัยของยานพาหนะ และความปลอดภัยของเอกสาร และอุปกรณ์การสื่อสาร

“คณะกรรมการ” หมายความว่า คณะกรรมการการถวายความปลอดภัย

“หน่วยงานของรัฐ” หมายความว่า ราชการส่วนกลาง ราชการส่วนภูมิภาค ราชการส่วนท้องถิ่น รัฐวิสาหกิจ หรือหน่วยงานอื่นของรัฐ

มาตรา 5 พระราชบัญญัตินี้ให้ใช้บังคับแก่หน่วยงานของรัฐทั้งปวงเพื่อการถวายความปลอดภัย ไม่ว่าหน่วยงานนั้นจะมีกฎหมายกำหนดอำนาจหน้าที่ในการถวายความปลอดภัยไว้เป็นการเฉพาะหรือไม่ก็ตาม เว้นแต่หน่วยบัญชาการถวายความปลอดภัยรักษาพระองค์  ให้ถือว่าการดำเนินการเพื่อการถวายความปลอดภัยตามพระราชบัญญัตินี้เป็นการดำเนินการ  ตามมาตรา 4 (7) แห่งพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. 2539

มาตรา 6 กำลังทหารจากกองบัญชาการกองทัพไทย กองทัพบก กองทัพเรือ กองทัพอากาศ และกำลังตำรวจจากสำนักงานตำรวจแห่งชาติ มีหน้าที่ในการถวายความปลอดภัยตามที่สมุหราชองครักษ์ กำหนด

ในกรณีเป็นการถวายความปลอดภัยที่เป็นหน้าที่ของสำนักพระราชวัง ให้เลขาธิการพระราชวัง เป็นผู้บังคับบัญชาสั่งการ

มาตรา 7 เมื่อพระมหากษัตริย์ พระราชินี พระรัชทายาท พระบรมวงศานุวงศ์ตั้งแต่ ชั้นพระองค์เจ้าขึ้นไป ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ผู้แทนพระองค์ซึ่งเป็นพระบรมวงศานุวงศ์ตั้งแต่ ชั้นพระองค์เจ้าขึ้นไป และบุคคลที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ รับเป็นพระราชอาคันตุกะ จะเสด็จไป หรือไปยังสถานที่ใด ให้หน่วยงานของรัฐซึ่งมีหน้าที่ตามกฎหมายและบุคคลอื่นที่เกี่ยวข้องแจ้งรายละเอียด พิธีการ และมีหน้าที่อำนวยความสะดวกตามที่สมุหราชองครักษ์หรือเลขาธิการพระราชวังกำหนด  และต้องปฏิบัติตามระเบียบ ข้อบังคับ ประกาศ คำสั่ง หรือคำแนะนำของกรมราชองครักษ์หรือระเบียบสำนักพระราชวัง แล้วแต่กรณี

ในกรณีเป็นการถวายความปลอดภัยในต่างประเทศ ให้กรมราชองครักษ์และกระทรวง การต่างประเทศมีหน้าที่ร่วมสำรวจสถานที่และปฏิบัติการอื่นตามความเหมาะสมตามที่สมุหราชองครักษ์กำหนด เพื่อวางแผนและประสานการปฏิบัติการถวายความปลอดภัยร่วมกับประเทศนั้น

มาตรา 8 ให้สมุหราชองครักษ์โดยความเห็นชอบของนายกรัฐมนตรีมีอำนาจออกระเบียบ ข้อบังคับ หรือประกาศกรมราชองครักษ์ เพื่อการถวายความปลอดภัย หรือการขอให้เจ้าหน้าที่ของหน่วยงาน ของรัฐให้ความร่วมมือหรืออำนวยความสะดวกในการถวายความปลอดภัย เพื่อประโยชน์ในการถวายความปลอดภัย สมุหราชองครักษ์จะกำหนดหลักปฏิบัติว่าด้วย การถวายความปลอดภัยเพื่อใช้แก่หน่วยงานตามมาตรา 5 ก็ได้

มาตรา 9 ให้มีคณะกรรมการคณะหนึ่ง เรียกว่า “คณะกรรมการการถวายความปลอดภัย” ประกอบด้วย สมุหราชองครักษ์ เป็นประธานกรรมการ ราชเลขาธิการ เลขาธิการพระราชวัง  รองเลขาธิการพระราชวังปฏิบัติหน้าที่ราชเลขานุการในพระองค์สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช ฯ สยามมกุฎราชกุมาร ปลัดกระทรวงการต่างประเทศ ปลัดกระทรวงมหาดไทย ผู้อำนวยการสำนักข่าวกรอง แห่งชาติ ผู้บัญชาการทหารสูงสุด ผู้บัญชาการทหารบก ผู้บัญชาการทหารเรือ ผู้บัญชาการทหารอากาศ  ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ หัวหน้าสำนักงานฝ่ายเสนาธิการในพระองค์สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช ฯสยามมกุฎราชกุมาร หน่วยบัญชาการถวายความปลอดภัยรักษาพระองค์ ผู้บัญชาการหน่วยทหารมหาดเล็ก  ราชวัลลภรักษาพระองค์ หน่วยบัญชาการถวายความปลอดภัยรักษาพระองค์ หัวหน้านายตำรวจราชสำนักประจำ และผู้อำนวยการสำนักงานราชองครักษ์ประจำ เป็นกรรมการ  ให้เสนาธิการกรมราชองครักษ์ เป็นกรรมการและเลขานุการ

มาตรา 10 คณะกรรมการมีอำนาจหน้าที่ ดังต่อไปนี้

(1) กำหนดแนวทาง มาตรการ และอำนวยการการถวายความปลอดภัยให้สอดคล้องกับ พระราชบัญญัตินี้ และระเบียบ ข้อบังคับ หรือประกาศกรมราชองครักษ์ตามมาตรา 8

(2) พิจารณาระเบียบ ข้อบังคับ และประกาศเกี่ยวกับการถวายความปลอดภัยที่จะออกตามความ ในมาตรา 8

(3) พิจารณาข้อมูลจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและประเมินสถานการณ์เพื่อประโยชน์ใน การถวายความปลอดภัย

(4) พิจารณาปัญหาและอุปสรรคในการถวายความปลอดภัย เพื่อเสนอความเห็นต่อหน่วยงาน ที่เกี่ยวข้อง

(5) แต่งตั้งคณะอนุกรรมการหรือคณะทำงานตามที่สมุหราชองครักษ์เสนอ เพื่อปฏิบัติหน้าที่ ตามที่คณะกรรมการมอบหมาย

(6) เชิญบุคคลที่เกี่ยวข้องมาชี้แจง ให้ข้อมูล หรือข้อเสนอแนะ อันเป็นประโยชน์ต่อ การปฏิบัติหน้าที่ของคณะกรรมการ

(7) ปฏิบัติหน้าที่อื่น ๆ เกี่ยวกับการถวายความปลอดภัยตามที่สมุหราชองครักษ์หรือนายกรัฐมนตรี มอบหมายให้นำบทบัญญัติว่าด้วยคณะกรรมการที่มีอำนาจดำเนินการพิจารณาทางปกครองตามกฎหมาย ว่าด้วยวิธีปฏิบัติราชการทางปกครองมาใช้บังคับแก่การประชุมของคณะกรรมการและคณะอนุกรรมการ โดยอนุโลม

มาตรา 11 ให้พระราชบัญญัติว่าด้วยการรักษาความปลอดภัยสำหรับองค์พระมหากษัตริย์ พระราชินี พระรัชทายาท ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ พระบรมวงศานุวงศ์ ผู้แทนพระองค์ และพระราชอาคันตุกะ พ.ศ. 2549 และบรรดาระเบียบ ข้อบังคับ และประกาศที่เกี่ยวกับการถวายความปลอดภัยที่ใช้บังคับอยู่ในวันก่อนวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ ยังคงใช้บังคับได้ต่อไปเพียงเท่าที่ไม่ขัดหรือแย้งกับพระราชบัญญัตินี้ จนกว่าจะมีระเบียบ ข้อบังคับ หรือประกาศตามพระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ

มาตรา 12 ให้นายกรัฐมนตรีรักษาการตามพระราชบัญญัตินี้

ผู้รับสนองพระบรมราชโองการ
พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา
นายกรัฐมนตรี

หมายเหตุ - เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ คือ โดยที่ได้มีประกาศคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ฉบับที่ 36 เรื่อง กฎหมายว่าด้วยการรักษาความปลอดภัยสถาบันพระมหากษัตริย์ ลงวันที่ 30 กันยายน พุทธศักราช 2549 กําหนดให้ระเบียบสํานักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการรักษาความปลอดภัยสําหรับองค์พระมหากษัตริย์ พระราชินี พระรัชทายาท ผู้สําเร็จราชการแทนพระองค์ พระบรมวงศานุวงศ์ ผู้แทนพระองค์ และพระราชอาคันตุกะ พ.ศ. 2546 เป็นพระราชบัญญัติว่าด้วยการรักษาความปลอดภัยสําหรับองค์พระมหากษัตริย์ พระราชินี พระรัชทายาท ผู้สําเร็จราชการแทนพระองค์พระบรมวงศานุวงศ์ ผู้แทนพระองค์ และพระราชอาคันตุกะ พ.ศ. 2549 แต่เนื่องจากพระราชบัญญัติดังกล่าวยังคงมีรูปแบบของระเบียบสํานักนายกรัฐมนตรี จึงทําให้การกําหนดหลักเกณฑ์และวิธีปฏิบัติในการถวายความปลอดภัยของหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องยังไม่เป็นเอกภาพ ดังนั้น เพื่อให้การถวายความปลอดภัยสําหรับองค์พระมหากษัตริย์ พระราชินี พระรัชทายาท พระบรมวงศานุวงศ์ตั้งแต่ชั้นพระองค์เจ้าขึ้นไปผู้สําเร็จราชการแทนพระองค์ ผู้แทนพระองค์ซึ่งเป็นพระบรมวงศานุวงศ์ตั้งแต่ชั้นพระองค์เจ้าขึ้นไป และพระราชอาคันตุกะมีการบูรณาการร่วมกันของหน่วยงานของรัฐในการถวายความปลอดภัยอย่างเป็นเอกภาพและมีประสิทธิภาพและประสิทธิผลยิ่งขึ้น จึงจําเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท