Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis


ความคิดสังคมนิยมเสรีมิใช่สิ่งใหม่ในประวัติศาสตร์การเมืองไทย แต่เริ่มปรากฏตั้งแต่การปฏิวัติเปลี่ยนแปลงระบอบการปกครองในปี 2475 โดยมันสมองแห่งคณะราษฎร อ ปรีดี พนมยงค์ ได้นำความคิดสังคมนิยมเสรีมาประยุกต์ใช้ในร่างเค้าโครงเศรษฐกิจแห่งชาติ เพื่อให้ค่านิยมหลักหกประการของคณะราษฎรสำเร็จได้ตามปณิธาน ความคิดสังคมนิยมเสรีกำเนิดขึ้นในยุโรปช่วงศตวรรษที่ 19 ถึงต้น ศตวรรษที่ 20 และในสมัยสาธารณรัฐที่สามของฝรั่งเศสอันเป็นสมัยที่เหล่าผู้นำคณะราษฎรได้ศึกษาก็เป็นช่วงสำคัญในการบ่มเพาะแนวความคิดสังคมนิยมเสรีให้กับพลเมืองทุกคน

เนื่องด้วยสังคมยุโรปได้ผ่านช่วงเลวร้ายของ เสรีนิยมสุดโต่ง (Laissez-Faire) ในศตวรรษที่ 17-18 ที่นับถือกลไกตลาดเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์โดยรัฐล่วงละเมิดไม่ได้ และในช่วงศตวรรษที่ 19 ประสบปัญหาสังคมนิยมยูโธเปีย และมาร์กซิสม์ที่ปฏิเสธกรรมสิทธิ์เอกชนอย่างเต็มที่ และให้ความสำคัญของประโยชน์ส่วนรวมมากกว่าประโยชน์ส่วนตน นักคิดฝรั่งเศสในช่วงนั้นจึงรังสรรค์แนวความคิดการปกครองที่นำข้อดีของเสรีนิยมและสังคมนิยมมาสมาสกันกลายเป็น สังคมนิยมเสรี

สังคมนิยมเสรีมิใช่ปฏิปักษ์กับระบอบทุนนิยมแต่อย่างใด ซ้ำยังสนับสนุนให้เกิดการบริโภคและการเติบโตทางเศรษฐกิจและอุตสาหกรรม อีกทั้งไม่ปฏิเสธกลไกตลาดเสรี เพียงแต่ว่ากลไกเสรีนั้นสามารถถูกแทรกแซงได้เป็นระยะๆจากอำนาจส่วนกลางอันชอบธรรมโดยมีจุดประสงค์เพื่อสร้างความยุติธรรมในสังคม ปัญหาที่ตามมาคือ 1.อะไรคือขอบเขตอำนาจและความชอบธรรมของรัฐบาลกลางในการเข้าแทรกแซงกิจกรรมของเอกชน และ 2. อะไรคือความยุติธรรมในสังคม

ความชอบธรรมในการแทรกแซงของรัฐบาลกลางจึงต้องวางอยู่บนฐานความชอบธรรมทางกฎหมายที่ออกโดยผู้แทนราษฎรที่เป็นตัวแทนของประชาชน เพื่อสร้างนโยบายสาธารณะด้านสังคมและควบคุมงบประมาณส่วนกลาง หรือ การออกกฎหมายต่างๆเพื่อควบคุมกฎระเบียบต่างๆขององค์กรสาธารณะอันเป็นอำนาจบริหารสาธารณะ และการแทรกแซงสาธารณะจะไม่ลงลึกถึงการจำกัดพฤติกรรมของปัจเจกชน แต่ครอบคลุมเฉพาะระบบปกป้องสังคม  มากกว่าที่จะไปแทรกแซงทางด้านเศรษฐกิจอย่างเต็มที่ และยังสนับสนุนการพัฒนาอุตสาหกรรม กลไกตลาด และการทำงานของสมาคมหรือองค์กรเอกชน
ส่วนความยุติธรรมสังคมนั้นยิ่งเป็นสิ่งที่นิยามได้ยากกว่า เพราะแต่ละคนต่างมีมุมมองเรื่องความยุติธรรมไม่เหมือนกัน เราควรจัดสรรทรัพยากรใดให้เท่ากัน จัดสรรด้วยวิธีการอะไร กลุ่มประชากรใดควรจะเป็นผู้ได้รับผลประโยชน์ก่อน ดังนั้นแล้วเมื่อมุมมองความยุติธรรมอันหลากหลายในสังคมย่อมส่งผลต่อความขัดแย้งขึ้นมา ความยุติธรรมในสังคมจึงต้องวางอยู่บนฐานมติเอกฉันท์ของเสียงส่วนใหญ่ในสังคม อันได้แก่ การเลือกตั้ง ระบบประชาธิปไตย และนิติรัฐ

ระบบการศึกษาก็เป็นสิ่งสำคัญที่จะสร้างสังคมนิยมเสรีขึ้นมา โดยต้องสร้างรากฐานความเป็นประชาธิปไตยตั้งแต่อยู่ในห้องเรียน สร้างสังคมที่สามารถอยู่ร่วมกันได้ถึงมีความคิดที่แตกต่าง การศึกษาจึงวางอยู่บนฐานของเสรีภาพของพลเมือง เสรีภาพทางการเมืองและศาสนา และสอนให้ถึงขอบเขตของกรรมสิทธิ์ส่วนบุคคลและกรรมสิทธิ์ส่วนร่วม

เป็นที่น่ายินดีอย่างยิ่งที่สภาปฏิรูปแห่งชาติมีดำริที่จะสร้างประเทศไทยให้กลายเป็นสังคมนิยมเสรีภายใน 20 ปี ข้างหน้า โดยหวังว่ารัฐสังคมนิยมเสรีนั้นจะขจัดการลุกลามของทุนนิยม และนโยบายประชานิยม และลดความไม่เท่าเทียมกันในสังคม สร้างความยุติธรรมในสังคมไทยขึ้นอีกครั้ง  อย่างไรก็ตาม หลังจากการสิ้นสุดของสงครามเย็นแล้ว ทฤษฎีทางความยุติธรรมทางสังคมถึงแม้มีหลากหลายสำนักคิด แต่มีจุดร่วมกันคือ การที่จะเข้าถึงความยุติธรรมทางสังคมได้นั้นสังคมต้องวางอยู่บนฐานประชาธิปไตยและนิติรัฐ ที่คนทุกคนมีสิทธิพื้นฐานทางการเมืองเท่าเทียมกัน มีเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น และพร้อมที่จะรับฟังความเห็นต่าง  สังคมนิยมเสรีที่มุ่งหาความยุติธรรมทางสังคมนั้นก็มิสามารถแยกออกจากประชาธิปไตยได้เช่นกัน นอกจากว่าคณะสภาปฏิรูปต้องการจะสร้างทฤษฎีสังคมนิยมเสรีแบบไทยๆโดยวางอยู่บนฐานประชาธิปไตยแบบไทยๆ

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net