Skip to main content
sharethis

ผลสำรวจและศึกษาเส้นทางจักรยานในกรุงเทพมหานครของศูนย์วิจัยและพัฒนาการจราจรและขนส่ง มจธ. พบเส้นทางเหมาะสม 2 เส้นทางสำหรับทำทางจักรยานนำร่อง ระยะทางรวม 17.45 กิโลเมตร

11 พ.ย.2557 ศูนย์วิจัยและพัฒนาการจราจรและขนส่ง หรือ Traffic and Transport Development and Research Center (TDRC) มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) ศึกษาและสำรวจ “โครงการศึกษาความเหมาะสมทางด้านวิศวกรรม เศรษฐกิจการเงิน เพื่อจัดทำแผนแม่บทการพัฒนาโครงข่ายถนนสำหรับรถจักรยานในเขตทางพิเศษ” และออกแบบเบื้องต้นเส้นทางรถจักรยานโครงการนำร่อง (Pilot Project) ในเขตทางพิเศษ

รศ.ธวัชชัย เหล่าศิริหงษ์ทอง ผู้อำนวยการ TDRC กล่าวว่า โครงการนี้ได้รับงบประมาณจากการทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) เพื่อสนับสนุนและกระตุ้นให้เกิดการใช้รถจักรยานสำหรับการเดินทางในชีวิตประจำวันมากขึ้น ประกอบกับ กทพ.มีโครงข่ายทางพิเศษอยู่ในความรับผิดชอบเป็นจำนวนมากที่ผ่านพื้นที่ใจกลางเมืองและเชื่อมต่อพื้นที่ชานเมือง ซึ่งสามารถนำมาพัฒนาให้มีโครงข่ายเส้นทางรถจักรยานและสิ่งอำนวยความสะดวกสำหรับการใช้รถจักรยานที่ได้มาตรฐานสูงและสอดคล้องกับความต้องการเดินทางประจำวันได้อย่างสะดวก คล่องตัว ปลอดภัย และประหยัด   

ผู้อำนวยการ TDRC กล่าวว่า จากการสำรวจและศึกษาเส้นทางทั้งหมด 207.9 กิโลเมตร พบว่าเส้นทางที่เหมาะสมที่สุดที่ควรทำเป็นเส้นทางรถจักรยานนำร่องมี 2 ส่วน คือ (1) เส้นทางจากถนนรามอินทรา–ถนนพระราม 9 ระยะทางรวม 13 กิโลเมตร และ (2) เส้นทางจากถนนพระราม 9 – ถนนรัชดาภิเษก ระยะทางรวม 4.45 กิโลเมตร โดยมีเส้นทางเชื่อมต่อไปยังสถานีรถไฟฟ้าแอร์พอร์ต เรล ลิงค์ ที่สถานีมักกะสัน และเส้นทางเชื่อมต่อไปยังท่าเรือโดยสารคลองแสนแสบที่ท่าเรือชาญอิสสระ ระยะทางรวมทั้งสิ้น 17.45 กิโลเมตร วงเงินค่าก่อสร้างประมาณ 1,039.5 ล้านบาท และผลการวิเคราะห์ พบว่าโครงการมีความคุ้มค่าทางเศรษฐศาสตร์ หรือมีค่า EIRR เท่ากับ 8.8%

รายละเอียดของเส้นทางนำร่องส่วนที่ 1 มีจุดเริ่มต้นจากถนนรามอินทรา มาสิ้นสุดที่ถนนพระราม 9 มีลักษณะเป็นเส้นทางรถจักรยานบนดินใต้สะพานทางด่วน มีขนาดความกว้าง 4 เมตร แบ่งเป็น 2 ช่องไป – กลับ ( 2X2เมตร ) และเส้นทางนำร่องส่วนที่ 2 จะเริ่มต้นจากถนนพระราม 9 สิ้นสุดที่ถนนรัชดาภิเษก ซึ่งจะมาเชื่อมต่อกับสถานีรถไฟฟ้าแอร์พอร์ต เรล ลิงค์ มีลักษณะเป็นเส้นทางจักรยานแบบยกระดับ โดยเริ่มทำสะพานยกระดับข้ามแยกบริเวณลานกีฬาแยกลาดพร้าวเพื่อข้ามมายังฝั่งถนนพระราม 9

นอกจากนี้ ยังมีการออกแบบช่องทางสำหรับการข้ามถนนแบบลอดอุโมงค์ใต้ดินเพื่อให้เกิดการเชื่อมโยงโครงข่ายกับชุมชนที่มีอยู่หนาแน่นตลอดทั้งสองฝั่ง ซึ่งมีการสัญจรและมีผู้คนอาศัยอยู่เป็นจำนวนมาก จึงเป็นเส้นทางที่เหมาะสมสำหรับการพัฒนาเส้นทางจักรยานที่จะทำให้เกิดการสัญจรของคนเมือง

“แผนแม่บทการพัฒนาโครงข่ายถนนสำหรับรถจักรยานในเขตทางพิเศษขณะนี้ได้ส่งมอบให้กับ กทพ. เรียบร้อยแล้ว หากมีการดำเนินการตามแผนฯ เชื่อว่าจะสามารถเพิ่มส่งเสริมการใช้รถจักรยานในการเดินทางในพื้นที่เขตเมืองได้มากขึ้น และจะนำไปสู่การขยายแนวคิดออกไปยังเส้นทางอื่นๆ ที่มีความเป็นไปได้สามารถนำไปปรับใช้ได้เพิ่มมากขึ้น” รศ.ธวัชชัย กล่าว

 

 

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net