Skip to main content
sharethis
สปช. ระดมสมองอีก 20 ปี อยากเห็นประเทศไทยเป็นอย่างไร โดยเสนอลดทอนความเหลื่อมล้ำด้านเศรษฐกิจ-ทรัพยากร-การศึกษา ในกลุ่มย่อยมีข้อเสนอส่งเสริมคนจนให้มีฐานะดีขึ้น-ลดทอนคนร่ำรวยแบบไม่มีเหตุผล เก็บภาษีมรดก-ภาษีขั้นบันได ปฏิรูปที่ดิน ส่งเสริมการศึกษา ตั้งสภาพลเมืองเพื่อคัดกรองคนดีลงสมัครเลือกตั้งท้องถิ่น

เทียนฉาย กีระนันท์ ประธานสภาปฏิรูปแห่งชาติ (ที่มา: เว็บไซต์รัฐสภา)

ส่วนหนึ่งจากการระดมความเห็นของ สปช. (ที่มา: เว็บไซต์รัฐสภา)

11 พ.ย. 2557 - เมื่อวันที่ 10 พ.ย. ที่โรงแรมเซ็นทรา ศูนย์ราชการ และคอนเวนชั่นเซ็นเตอร์ ศูนย์ราชการ ถ.แจ้งวัฒนะ มีการสัมมนาสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) วันสุดท้าย มีการสรุปผลการประชุมย่อย 10 กลุ่ม ในหัวข้อ "ฝันว่าอยากจะเห็นประเทศไทยเป็นอย่างไรใน 20 ปีข้างหน้า"

โดย หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ รายงานว่า ทั้ง 10 กลุ่ม นำเสนอไปในทิศ ทางเดียวกันว่า อุปสรรคปัญหาความเหลื่อมล้ำทั้งทางเศรษฐกิจ ทรัพยากรและการศึกษา ควรผลักดัน ให้เป็นวาระแห่งชาติ ทั้งหมดเกิดจากผู้กำหนดนโยบายและผู้รับนโยบายไม่จริงจัง ไม่ใส่ใจ นักการเมือง นายทุนและกลุ่มผลประโยชน์ไม่ให้ความร่วมมือ กฎหมายล้าสมัยเกินไป ไม่มีหน่วยงานที่เป็นเจ้าภาพโดยตรง รัฐไม่ยอมกระจายอำนาจ การเมืองขาดเสถียรภาพ ไม่เอื้อต่อการปฏิรูป พลเมืองเองก็ไม่ตระหนักถึงสิทธิและหน้าที่ ในเรื่องปัญหาความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ ที่ประชุม สปช. ระบุว่า เกิดจากช่องว่างรายได้ระหว่างคนรวยคนจนมากขึ้น ต้องใช้นโยบายการคลังและภาษี ปฏิรูประบบภาษีอากรใหม่ ปรับปรุงให้มีความเป็นธรรมมากขึ้น เช่น ภาษีทรัพย์สิน ภาษีมรดก ภาษีรถยนต์แบบก้าวหน้า สร้างชุมชนเข้มแข็ง ลดอำนาจส่วนบน ขยายอำนาจ ฐานการเมืองส่วนล่าง โดยต้องร่วมมือกันระหว่างภาค รัฐและภาคเอกชน เพิ่มเพดานภาษี ปิดช่องโหว่การเก็บภาษี เปลี่ยนจากทุนนิยมเป็นสังคมนิยมเสรี จัดรูปองค์กรให้มีอำนาจต่อรอง และเพิ่มนวัตกรรมด้าน เทคโนโลยีมากขึ้น ให้ความรู้และรณรงค์การไม่ยอม รับคนโกง แก้ไขระเบียบราชการที่สลับซับซ้อน

ทั้งนี้ใน เว็บไซต์รัฐสภา รายงานว่า ในเวลา 16.00 น. ที่ห้องประชุมวายุภักษ์ โรงแรมเซ็นทรา ศูนย์ราชการ นายเทียนฉาย กีระนันทน์ ประธานสภาปฏิรูปแห่งชาติ และนางสาวทัศนา บุญทอง รองประธานสภาปฏิรูปแห่งชาติ คนที่สอง พร้อมด้วยสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ ร่วมกันแถลงข่าวสรุปผลการสัมมนา "วิสัยทัศน์-ภิวัฒน์ไทย: ภาพฝันอนาคตประเทศไทยใน 20 ปีข้างหน้า" โดยมีภาพรวม ดังนี้

หนึ่ง ต้องลดความเหลื่อมล้ำด้านเศรษฐกิจ ด้านการเข้าถึงการศึกษา และด้านการเข้าถึงทรัพยากร

สอง ด้านสังคม โดยพลเมืองไทยต้องมีคุณภาพ มีความรู้ มีคุณธรรม มีวินัย และมีความภาคภูมิใจในความเป็นคนไทย สังคมพหุวัฒนธรรม คนต้องอยู่ร่วมกันได้บนความหลากหลาย เกื้อกูลและแบ่งปัน ชุมชนต้องเข้มแข็ง ลดอำนาจรัฐส่วนบน ขยายฐานอำนาจการเมืองส่วนล่าง สร้างสมดุลระหว่างภาคการเมือง ราชการและประชาชน เป็นสังคมแห่งพลังปัญญา ใช้ข้อมูลความรู้เพื่อแก้ปัญหา สร้างมูลค่าและคุณค่า เป็นสังคมที่ขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรม

สาม ด้านเศรษฐกิจ ต้องเป็นระบบทุนที่ดีมีความเป็นธรรม ไม่ผูกขาด มีธรรมาภิบาล เป็นทุนที่รับใช้สังคม มีระบบเศรษฐกิจที่แข่งขันได้ เป็นมิตรกับสังคมและสิ่งแวดล้อม เป็นผู้นำทางเศรษฐกิจในระดับภูมิภาค โดยปฏิรูประบบการคลังให้มีวินัยทางการเงิน ควบคู่ไปกับการสร้างขีดความสามารถ สนับสนุนระบบการออมให้เกิดการสมดุลกับการลงทุน ปฏิรูประบบสถาบันการเงินให้เอื้อต่อภาคเอกชน โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเข้าถึงแหล่งเงินทุนของ SME

สี่ ด้านการเมืองการปกครอง ต้องมีการกระจายอำนาจและกระจายศูนย์กลางความเจริญทางเศรษฐกิจออกจากส่วนกลาง ลดการทุจริตคอรัปชั่น มีระบบกฎหมายที่เป็นธรรม มีการบังคับใช้ที่เสมอภาคและมีประสิทธิภาพ เป็นระบบการเมืองการปกครองที่มีการคัดกรอง "คนดี" เข้าสู่การเมือง ทั้งในระดับท้องถิ่นและระดับชาติ ประชาชนตื่นตัวและมีส่วนร่วม

โดยข้อสรุปเบื้องต้นที่ได้นี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อให้คณะกรรมาธิการชุดต่างๆ นำไปหารือและขยายความเชิงลึกต่อไป และเพื่อเป็นข้อมูลพื้นฐานที่จะเปิดรับฟังความคิดเห็นของประชาชนต่อการปฏิรูปในด้านต่างๆ เพื่อสภาปฏิรูปแห่งชาติจะได้นำมาประกอบการยกร่างแนวทางการปฏิรูปต่อไป

สำหรับการประชุมกลุ่มย่อย 10 กลุ่มดังกล่าว เว็บไซต์รัฐสภา รายงานว่า แต่ละกลุ่มมีการนำเสนอดังนี้

กลุ่ม 1 นายคุรุจิต นาครทรรพ เป็นผู้แทนนำเสนอประเด็นความเลื่อมล้ำ 3  ด้าน ได้แก่ ด้านเศรษฐกิจ ทรัพยากร และการศึกษา โดยใช้กระบวนการปรับปรุงระบบภาษีให้มีความเป็นธรรม เข้มข้นและกวดขันการจัดเก็บภาษี การบังคับใช้กฎหมายในการจัดเก็บภาษีให้มีประสิทธิภาพ และไม่เลือกปฏิบัติ

กลุ่ม 2 นายกอบศักดิ์ ภูตระกูล เป็นผู้แทนนำเสนอประเด็นการลดความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ การศึกษา ทรัพยากรธรรมชาติ และการสร้างชุมชนเข้มแข็ง การลดอำนาจรัฐส่วนบน ขยายอำนาจฐานการเมืองส่วนล่าง สร้างสมดุลระหว่างการเมือง ราชการ และประชาชน

กลุ่ม 3 นายดุสิต เครืองาม นางทิชา ณ นคร และนายชาติชาย ณ เชียงใหม่ เป็นผู้แทนนำเสนอ โดยนางทิชา ณ นคร นำเสนอประเด็น ลดความเหลื่อมล้ำทางด้านการศึกษา โดยกล่าวถึงภาครัฐต้องเพิ่ม การเปิดพื้นที่การศึกษาทางเลือก สร้างโอกาสให้แก่เยาวชน ผู้ด้อยโอกาส ผู้มีข้อจำกัดทางร่างกาย ให้เข้าถึงการศึกษาตามแผนพัฒนาการศึกษาแห่งชาติ

นายดุสิต เครืองาม นำเสนอประเด็นลดความเหลื่อมล้ำทางด้านทรัพยากรธรรมชาติ โดยเน้นให้ทุกภาคส่วนมีส่วนร่วมในการใช้และเยียวยาทรัพยากรธรรมชาติให้สอดคล้องกับสภาพของชุมชน และท้องถิ่น รัฐมีหน้าที่สำรวจ ศึกษาข้อมูลทรัพยากรธรรทชาติเพื่อนำไปใช้อย่างเป็นธรรม

และนายชาติชาย ณ เชียงใหม่ นำเสนอประเด็นลดความเหลื่อมล้ำทางด้านเศรษฐกิจ โดยจะเร่งส่งเสริมให้คนจนมีฐานะดีขึ้นและลดทอนการร่ำรวยแบบไม่มีเหตุผลคือการเอาเปรียบผู้อื่นให้น้อยลง

กลุ่ม 4 นายวิวัฒน์ ศัลยกำธร และ นางประภาภัทร นิยม เป็นผู้แทนในการนำเสนอประเด็นลดความเหลื่อมล้ำด้านเศรษฐกิจ การศึกษาและทรัพยากร ดังนี้ 1. ด้านเศรษฐกิจ ควรจัดเก็บภาษีแบบขั้นบันได และผลักดันภาษีมรดกและที่ดิน จำกัดการถือครองที่ดินและตั้งธนาคารเพื่อส่งเสริมการเข้าถึงเงินทุนของผู้มีรายได้น้อย 2. ด้านการศึกษา ควรปรับแก้ พรบ. ระเบียบบริหารด้านบุคลากรทางการศึกษา ครู ให้อยู่กับผู้บริหารสถานศึกษาหรือท้องถิ่น ปรับปรุงคุณภาพด้านการศึกษา มีการเรียนการสอนที่ส่งเสริมให้เด็กใช้สมองมากกว่าการท่องจำ 3. ด้านทรัพยากร เน้นสร้างการมีส่วนร่วมตัดสินใจของชุมชนในการใช้ทรัพยากรธรรมชาติ เปิดโอกาสให้ประชาชนเข้าถึงทรัพยากรและใช้ทรัพยากรธรรมชาติอย่างเสมอภาคและเท่าเทียม ทั้งนี้ ในการสร้างพลเมืองไทยที่มีคุณภาพนั้นควรมีการกำหนดนโยบายในการพัฒนาพลเมืองไทยเป็นวาระแห่งชาติ โดยผ่านการศึกษาวัฒนธรรมและสื่อ ควรปรับบทบาทสื่อให้เสมือนหนึ่งเป็นครูช่วยสร้างจิตสำนึกการเป็นพลเมืองที่ดีให้ประชาชน โดยสอดแทรกเรื่องวินัยของประชาชนตั้งแต่อนุบาล ยกย่องคนดี ปลูกฝังความรักชาติและวัฒนธรรมไทย

กลุ่ม 5 นางพรพันธุ์ บุณยรัตพันธุ์ และนางอัญชลี ชวนิชย์ เป็นผู้แทนในการนำเสนอประเด็นในการลดความเหลื่อมล้ำทางด้านเศรษฐกิจ สังคม การศึกษา และการเข้าถึงทรัพยากรธรรมชาติ การผูกขาดทางเศรษฐกิจ กฎหมายที่ล้าหลัง และความไม่เท่าเทียมทางการศึกษา นำไปสู่ความไม่เท่าเทียมในทุกๆ ด้าน ทำให้เป็นอุปสรรค ต่อความเหลื่อมล้ำในด้านต่างๆ การแก้ไขปัญหานี้คือ แก้ไขระบบการศึกษาและระบบยุติธรรมให้เกิดความเท่าเทียม มีการบังคับใช้อย่างเสมอภาคและมีประสิทธิภาพ ลดการผูกขาดและความเหลื่อมล้ำ เพื่อแก้ปัญหาคอรัปชั่น ในด้านกฎหมายที่เป็นธรรม มีการบังคับใช้กฎหมายอย่างเสมอภาคและมีประสิทธิภาพ อีกทั้งควรปรับปรุงระบบกฎหมายให้มีประสิทธิภาพ ยกเลิกและละเว้นการออกกฎหมายที่จำกัดเสรีภาพของประชาชนโดยไม่จำเป็น รัฐและพลเมืองต้องเคารพกฎหมายอย่างเท่าเทียมกัน และไม่เลี่ยงกฎหมาย

กลุ่ม 6 นางเตือนใจ สินธุวณิก และนายอมรวิชช์ นาครทรรพ เป็นผู้แทนนำเสนอประเด็นการลดความเหลื่อมล้ำ ดังนี้ 1. ด้านเศรษฐกิจ ได้แก่ การปรับโครงสร้างภาษี และมีกลไกทางภาษีให้เป็นธรรมอย่างแท้จริง ดำเนินการด้านภาษีมรดกและทรัพย์สิน จัดรัฐสวัสดิการให้สมบูรณ์แบบในทุกสาขาอาชีพ ตามบริบทของสังคมไทย 2.ด้านการศึกษา ควรเพิ่มเทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อการศึกษาที่มีคุณภาพและสามารถเข้าถึงครอบคลุมทั่วประเทศ รัฐควรประกันโอกาสทางการศึกษาในแนวทางเดียวกับ สปสช. มีการกระจายการจัดการพื้นที่ สร้างการมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วน 3. ด้านทรัพยากรธรรมชาติ ควรจัดสรรทรัพยากรธรรมชาติอย่างเพียงพอและเป็นธรรม จัดสรรที่ดินทำกินอย่างพอเพียง ปฏิรูปกฎหมายถือครองที่ดิน และสร้างจิตสำนึกในการหวงแหน รักษาทรัพยากรธรรมชาติของชุมชน รักษาป่าชุมชน สำหรับปัญหาและอุปสรรคด้านความเหลื่อมล้ำในสังคมนั้นเกิดจาก คน 3 กลุ่ม ได้แก่ 1. นักการเมือง และเจ้าหน้าที่รัฐ 2.ค่านิยมที่ขาดคุณธรรมและจริยธรรม ขาดจิตสำนึกต่อส่วนรวม และ 3.กลุ่มนายทุนผู้เสียผลประโยชน์

ส่วนด้านสังคมพหุวัฒนธรรมนั้น ควรกระจายอำนาจการตัดสินลงสู่พื้นที่ รวมถึงการสร้างการมีส่วนร่วมของทุกฝ่ายในการแก้ปัญหาพื้นที่ ให้ความสำคัญกับศาสนาในการสร้างความสมานฉันท์ทางสังคม ส่งเสริมการปฏิรูปทางการศึกษา การเรียนรู้ประวัติศาสตร์ ใช้สื่อเป็นเครื่องมือส่งเสริมความเข้าใจทางวัฒนธรรมส่งเสริมงานจิตอาสาให้เกิดขึ้นในกลุ่มคนทุกภาคส่วน ส่งเสริมการเข้าถึงและการใช้ประโยชน์ในอาคาร สถานที่ ขนส่ง บริการ สาธารณะได้อย่างทั่วถึงและเท่าเทียม ขจัดการเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมทั้งหมดในสังคม

กลุ่ม 7 นายพงศ์โพยม วาศภูติ นายพิสิฐ ลี้อาธรรม และนางสาวสุภัทรา นาคะผิว เป็นตัวแทนกลุ่มผลัดเปลี่ยนกันนำเสนอต่อที่ประชุมว่าในเรื่องการลดความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ การศึกษา การเข้าถึงทรัพยากรธรรมชาติ โดยการปฎิรูปที่ดินโดยกระจายการถือครองที่ดิน การตั้งธนาคารที่ดิน และนำระบบสหกรณ์มาใช้จัดการทรัพยากร โดยเฉพาะการนำระบบ โฉนดชุมชนมาใช้ สนันสนุนให้ผู้ประกอบการรายย่อยและผู้มีรายได้น้อยเข้าถึงแหล่งทุนได้ง่าย ส่งเสริมและสนับสนุนให้ภาคเอกชน อปท. ชุมชน เข้ามามีส่วนในการจัดการศึกษาให้มากขึ้น และควรให้ชุมชนมีสิทธิในการตัดสินใจในเรื่องการใช้ทรัพยากรท้องถิ่น เน้นการ "ลดอำนาจรัฐ เพิ่มอำนาจชุมชน" ทั้งนี้ยังได้มีการนำเสนอถึงปัญหาและอุปสรรค เช่น การเมืองขาดเสถียรภาพ ข้อเสนอแนะในการปฏิรูปประเทศของ สปช.ไม่ถูกนำไปใช้ เป็นต้น

กลุ่ม 8 นายสังศิต พิริยะรังสรรค์ เป็นผู้แทนนำเสนอประเด็นการลดความเหลื่อมล้ำในด้านต่างๆ โดยได้กล่าวถึงแรงหนุนและแรงส่งที่ทำให้ฝันเป็นจริง ฝันที่หนึ่ง ความเหลื่อมล้ำในสังคมไทยลดลง แรงหนุนคือ การส่งเสริมกระจายอำนาจขจัดปัญหาความยากจน และส่งเสริมความเท่าเทียมกันทางด้านการศึกษา อาชีพและรายได้แก่คนพิการและผู้ด้อยโอกาสทางสังคม ส่วนแรงต้านนั้นกลไกของภาครัฐและเอกชนไม่เอื้อต่อความเหลื่อมล้ำและความไม่เท่าเทียมกันในสังคม ฝันที่สอง แรงหนุน คือการให้ความรู้ให้การศึกษา การไม่ยอมรับคนโกง การแก้ปัญหาคอร์รัปชั่น โดยการปรับปรุงกฎหมายการควบคุมการคอรัปชันทั้งด้านเศรษฐกิจ และการบริหารราชการแผ่นดิน ส่วนแรงต้านนั้น ยังคงระบบอุปถัมภ์พวกพ้องและกลุ่มผู้มีอิทธิพล

กลุ่ม 9 นายสมบัติ ธำรงธัญวงศ์ และนางสารี อ๋องสมหวัง เป็นผู้แทนนำเสนอประเด็นการลดความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ การศึกษาและทรัพยากรธรรมชาติ โดยการลดช่องว่างระหว่างคนรวยกับคนจน คนจนต้องมีรายได้ต่อหัวต่อปีเพิ่มขึ้นเป็นปีละหนึ่งล้านบาท ให้ประชาชนเกิดความรับรู้และเข้าถึงสวัสดิการขั้นพื้นฐาน   อย่างทั่วถึง พร้อมทั้งกระตุ้นประชาชนให้มีความตื่นตัวในการรับรู้เกี่ยวกับสวัสดิการสังคมและการจัดการศึกษาให้เป็นวาระแห่งชาติ โดยให้เรียนฟรีในสายอาชีพ และปริญญาตรีใบแรก พร้อมทั้งปรับโครงสร้างเงินเดือนของสายอาชีพให้สูงขึ้น สำหรับด้านกฏหมายควรมีการตรวจสอบการบังคับใช้กฏหมายอย่างจริงจัง สำหรับด้านการเมืองเสนอให้มี "สภาพลเมือง" มีหน้าที่คัดกรองคนดีลงสมัครรับเลือกตั้งการเมืองท้องถิ่นในทุกระดับ

กลุ่ม 10 นายอนุสรณ์ แสงนิ่มนวล และนาย กิติพงศ์ อุรพีพัฒนพงศ์ เป็นผู้แทนนำเสนอประเด็นความเหลื่อมล้ำ โดยได้ผลัดเปลี่ยนกันนำเสนอความคิดเห็นในการลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา เห็นควรให้มีการจัดทำแผนระยะยาวเชิงยุทธศาสตร์เพื่อพัฒนาการศึกษาให้ตรงกับความต้องการของตลาดแรงงาน ควรกระจายทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพ จัดหลักสูตรการศึกษาให้มีความหลากหลาย รวมทั้งพัฒนาคุณภาพครู และเปิดโอกาสให้ทุกภาคส่วนเข้ามามีส่วนร่วมในการจัดการศึกษา กระจายการศึกษาสู่ท้องถิ่น ส่วนความเหลื่อมล้ำด้านเศรษกิจ ที่สำคัญควรมีการปฏิรูประบบภาษีอากร ระบบงบประมาณ รวมทั้งลดต้นทุนด้าน Logistics ลดการผูกขาด ปฎิรูปตลาดเงิน สำหรับการกระจายอำนาจนั้นควรมีการแยกอำนาจและภารกิจระหว่างรัฐบาลกับท้องถิ่นให้ชัดเจน กระจายอำนาจทางการคลัง ลดอำนาจรัฐบาลกลาง เพิ่มบทบาทขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นให้มากขึ้น

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net