Skip to main content
sharethis

ถอดบทเรียนปฏิบัติการสื่อสารที่ปากบารา ในงาน 40 ปีคณะมนุษย์ฯ ม.อ.ปัตตานี ตัวแทนสภาประชาสังคมเผยผลงาน 3 ปี เปิดพื้นที่และการหนุนเสริมสันติภาพ แต่ภาคปฏิบัติไม่สำเร็จเท่าที่ควร ชี้แนวโน้มสายตารัฐที่หวาดระแวงเริ่มเบาบางลง


 

ในการประชุมวิชาการระดับชาติเรื่อง “ภาคใต้ในกระแสโลก กระแสโลกในภาคใต้” ระหว่างวันที่ 23-24 ตุลาคม 2557 ที่โรงแรมลีการ์เดนส์ พลาซ่า อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา เนื่องในโอกาสครบรอบ 40 ปีคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี (ม.อ.ปัตตานี) มีการนำเสนอบทความ “การเคลื่อนไหวทางสังคมกับประวัติศาสตร์ระยะใกล้” ที่น่าสนใจ 2 ชิ้น ได้แก่

1.บทบาทของสภาประชาสังคมในการสนับสนุนกระบวนการสันติภาพและสันติสุขในจังหวัดชายแดนใต้ โดย นายอับดุลสุโก ดินอะ และ 2.การสื่อสารประเด็นสาธารณะในการรักษาทรัพยากรท้องถิ่นพื้นที่อ่าวปากบาราของ ภาคประชาสังคมจังหวัดสตูล โดย แก้วตา สังขชาติ ดังนี้

สภาประชาสังคมชายแดใต้กับการเปิดพื้นที่
นายอับดุลสุโก ดิอะ ตัวแทนสภาประชาสังคมจังหวัดชายแดนภาคใต้ นำเสนอถึง “บทบาทสภาประชาสังคมชายแดนใต้ในการหนุนเสริมกระบวนการสันติภาพ” ในฐานะคนทำงานเพื่อหนุนเสริมกระบวนการสันติภาพว่า องค์กรภาคประชาสังคมในจังหวัดชายแดนภาคใต้ 22 องค์กรได้ผนึกกำลังกันเป็น“สภาประชาสังคมชายแดนใต้” ได้ระดมความคิด กำลังกายและกำลังใจในการแก้ไขปัญหาความไม่สงบจังหวัดชายแดนภาคใต้มาเป็นเวลากว่า 3 ปีแล้ว ถือว่าประสบความสำเร็จอย่างมาก
นายอับดุลสุโก กล่าวว่า ความสำเร็จดังกล่าวคือการส่องแสงให้เห็นอย่างชัดเจนในหลายเรื่อง เช่น การทำงานของสภาประชาสังคมชายแดนใต้นำมาสู่การเปิดพื้นที่หรือเปิดโอกาสให้คนในพื้นที่ไม่ว่าเป็นชาวไทยพุทธหรือชาวมุสลิมสามารถพูดคุยความขับข้องใจและความต้องการของกันและกันได้มากขึ้น และเกิดความไว้วางใจต่อกันระหว่างคนต่างชาติพันธ์

ผลงาน 3 ปีหนุนเสริมสันติภาพ
นายอับดุลสุโก ยกตัวอย่างผลงานของสภาประชาสังคมชายแดนใต้ตลอด 3 ปีที่ผ่านมา เช่น การจัดสมัชชาปฏิรูป 2 ครั้งในประเด็น “ชายแดนใต้ไม่ทอดทิ้งกัน และเสียงเพรียกเพื่อสันติภาพ

นอกจากนั้น ยังสร้างความเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างด้วยการรวมตัวกันขอให้มีการยกเลิกการใช้พระราชการกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 หรือพ.ร.ก.ฉุกเฉินในจังหวัดชายแดนภาคใต้
การขับเคลื่อนเรื่องการกระจายอำนาจ รูปแบบการปกครองพิเศษที่สอดคล้องกับพื้นที่ จนกระทั่งภาครัฐมีปฏิกิริยาที่รับฟังมากขึ้น

การเรียกร้องความเป็นธรรมและการเยียวยากรณีผู้ได้รับผลกระทบ จากการใช้กฎหมายพิเศษ และการจัดประชุมเพื่อเสริมสร้างสันติภาพ กล่าวคือ มีการจัดประชุมทั้งในพื้นที่และนอกพื้นที่ ร่วมกับเครือข่ายต่างๆ เพื่อนำเสนอประเด็นสันติภาพที่ควรเกิดขึ้นในจังหวัดชายแดนภาคใต้ และการจัดสมัชชาเชิงพื้นที่จำนวน 2 ครั้ง เป็นต้น

ข้อเสนอสู่การปฏิบัติยังไม่สำเร็จเท่าที่ควร
นายอับดุลสุโก กล่าวว่า การเปลี่ยนแปลงที่สำคัญและเห็นได้อย่างชัดเจนที่สุดในการทำงานของสภาประชาสังคมชายแดนใต้ คือ การสร้างการมีส่วนร่วมของประชาชน โดยการเปล่งเสียงของประชาชนคนตัวเล็กตัวน้อยที่ได้รับผลกระทบให้สาธารณะรับรู้ผ่านสื่อทางเลือกในพื้นที่ ความเปลี่ยนแปลงอีกหนึ่งประการ คือ การสร้างความกินดีอยู่ดีให้กับประชาชน
อย่างไรก็ตามนายอับดุลสุโกก็ยอมรับเฉกเช่นเดียวกันว่า การทำงานของสภาประชาสังคมชายแดนใต้ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมายังมีปัญหาและอุปสรรคอยู่ เช่น ปัญหาการประสานงาน งบประมาณ และการยกระดับข้อเสนอเชิงนโยบายไปสู่การปฏิบัติที่ยังไม่ประสบความสำเร็จเท่าที่ควร

สายตารัฐที่หวาดระแวงเริ่มเบาบางลง
ผศ.ดร.ศรีสมภพ จิตรภิรมย์ศรี ผู้อำนวยการสถานวิจัยความขัดแย้งและความหลากหลายทางวัฒนธรรมภาคใต้ (CSCD) นำเสนอเพิ่มเติมว่า ในช่วงเริ่มต้น ปรากฏการณ์ที่เจ้าหน้าที่ความมั่นคงใช้กฎหมายอย่างอยุติธรรมในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ เป็นปัจจัยดึงดูดให้ภาคประชาสังคมในจังหวัดชายแดนภาคใต้เข้ามาทำงานผลักดันเรื่อง “ความยุติธรรม” มากขึ้น ซึ่งก็เห็นความเปลี่ยนแปลงหลายมิติ แต่การทำงานบางช่วงเวลาก็ส่งผลให้เจ้าหน้าที่ความมั่นคงในพื้นที่มองภาคประชาสังคมจังหวัดชายแดนใต้ด้วยความหวาดระแวง

“ปัจจุบันปัญหาเรื่องการมองด้วยสายตาที่หวาดระแวงนั้นเริ่มที่จะเบาบางลง เช่น ในช่วงการยึดอำนาจโดยกลุ่มทหาร วิทยุชุมชนถูกปิดตัวลงทั่วประเทศ แต่ทว่าในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยเฉพาะในช่วงเทศกาลรอมฏอน วิทยุชุมชนถูกอนุญาตให้เปิดใช้งานได้ ซึ่งลักษณะนี้ถือว่าเป็นสัญญาณทางบวกที่สัมผัสได้” ผศ.ดร.ศรีสมภพ กล่าว

ปฏิบัติการสื่อสารของประชาสังคมปากบารา
จากนั้นเป็นการนำเสนอการถอดบทเรียนการทำงานของภาคประชาสังคมจังหวัดสตูล โดยนางสาวแก้วตา สังข์ชาติ นักศึกษาปริญญาโท สาขาความขัดแย้งและสันติศึกษา สถาบันสันติศึกษา ม.อ. กล่าวถึงการเคลื่อนไหวของภาคประชาสังคมจังหวัดสตูล ในบทความ “การสื่อสารประเด็นสาธารณะในการรักษาทรัพยากรท้องถิ่น พื้นที่อ่าวปากบาราของภาคประชาสังคมจังหวัดสตูล”

นางสาวแก้วตา กล่าวว่า การสื่อสาร เป็นเครื่องมือสำคัญของภาคประชาสังคมในการขับเคลื่อนต่อต้านโครงการท่าเรือน้ำลึกปากบารา ทั้งนี้ภายในจังหวัดสตูลมีองค์กรภาคประชาสังคมเข้ามาขับเคลื่อนงานเพื่อปกป้องพื้นที่ปากบาราหลากหลายองค์กร เช่น เครือข่ายคุ้มครองผู้บริโภค, สภาพัฒนาการเมืองจังหวัดสตูล, ศูนย์ประสานงานวิจัยท้องถิ่นจังหวัดสตูล, ชมรมอนุรักษ์ปะการัง และโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลปากน้ำ ฯลฯ

“องค์กรภาคประชาสังคมเหล่านี้เข้ามาขับเคลื่อนงานปกป้องพื้นที่ปากบาราโดยมีการใช้ “การสื่อสาร” เป็นกลวิธีในการแสดงเจตจำนง “คัดค้าน” ให้ฝ่ายรัฐบาลรับทราบ และใช้ “การสื่อสาร” สร้างความสัมพันธ์และสร้างความเข้าใจในประเด็นเรื่องท่าเรือน้ำลึกปากบาราแก่ชาวบ้านในชุมชนต่างๆ ซึ่งถือเป็นกลวิธีที่ส่งประสิทธิผลได้เป็นอย่างดี” นางสาวแก้วตา กล่าว

ใช้ข้อมูลและความเข้าใจไปประสาน
นางสาวแก้วตา กล่าวว่า ประสิทธิผลดังกล่าว ปรากฏให้เห็นเชิงประจักษ์ เป็นต้นว่า ก่อนหน้านี้ชาวบ้านยังไม่มีปฏิกิริยาตื่นตัวต่อโครงการท่าเรือน้ำลึกปากบารา หรือบางส่วนที่รับรู้ก็ยังไม่ค่อยเข้าใจถึงรูปแบบโครงการท่าเรือน้ำลึกปากบารามากนัก ก็เกิดความรับรู้และเข้าใจโครงการท่าเรือน้ำลึกปากบารามากขึ้น

นางสาวแก้วตา กล่าวต่อไปว่า นอกจากนั้น ก่อนหน้าที่จะมีการใช้ยุทธวิธีการสื่อสารสาธารณะ ชาวบ้านยังมีความขัดแย้งด้านความคิดระหว่างกัน อันนำมาสู่เงื่อนไขของความสัมพันธ์ที่แตกกระจายของคนในพื้นที่ แต่การที่ภาคประชาสังคมใช้กลวิธีสื่อสารสาธารณะ ด้วยการเปิดเวที หรือจัดวงเสวนาสัญจรไปตามชุมชนต่างๆ นำมาสู่การโยงใยผู้คนในพื้นที่จังหวัดสตูลที่เห็นต่าง ได้เข้ามาแสดงความคิดเห็นร่วมกัน และตัดสินใจบางอย่างบนพื้นฐานของความเข้าใจกันและกัน 

อ่าวปากบารา ลมหายใจของชาวประมง
นางสาวแก้วตา ชี้ความสำคัญของพื้นที่อ่าวปากบาราว่า เป็นพื้นที่แห่งการต่อลมหายใจของชาวประมงในจังหวัดสตูล ปัจจุบันอ่าวปากบาราถูกใช้เป็นพื้นที่สำหรับจอดเรือเพื่อหลบฝนหลบลมในช่วงหน้ามรสุม นอกจากนั้นพื้นที่อ่าวปากบารายังเป็นแหล่งอาหาร ประกอบอาชีพของคนในจังหวัดสตูล

จากความสมบูรณ์ทางด้านระบบนิเวศของอ่าวปากบาราที่มีแนวปะการังน้ำตื้น และแหล่งหญ้าทะเล จึงนับว่าพื้นที่แห่งนี้ควรค่าแห่งการหวงแหน มากกว่าพัฒนาให้เป็นท่าเรือน้ำลึกในเชิงเปรียบเทียบ
ท้ายที่สุดนางสาวแก้วตา ฝากไว้ว่า อยากให้ทุกคน โดยเฉพาะคนในภาคใต้ช่วยกันติดตามโครงการท่าเรือน้ำลึกปากบารา ท่ามกลางกระแสการเมืองที่ไม่ปกติ การเคลื่อนไหวของภาคประชาสังคมอาจหยุดนิ่งไปบ้าง แต่สิ่งสำคัญที่ไม่ควรหยุดวางเฉย คือ การติดตาม สอดส่อง และใส่ใจความคืบหน้าของโครงการท่าเรือน้ำลึกปากบารา

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net