Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

 

อีกไม่กี่วันข้างหน้านี้ กรมทรัพยากรน้ำในฐานะเลขานุการคณะกรรมการแม่น้ำโขงแห่งชาติไทย จะจัดการประชุมที่ใช้ชื่อว่า “การดำเนินการให้ข้อมูลโครงการเขื่อนไฟฟ้าพลังน้ำดอนสะหง สปป. ลาว ตามกระบวนการ PNPCA”[1] ที่จังหวัดอุบลราชธานี และนครพนม ในวันที่ 10 และ 12 พฤศจิกายน โดยหน่วยงานที่เป็นเจ้าภาพหลักภายในกรมทรัพยากรน้ำ คือ สำนักบริหารจัดการลุ่มน้ำโขง การจัดการประชุมในครั้งนี้ กล่าวได้ว่าเป็นการจัดการประชุมที่น่าอับอายขายหน้ามากที่สุดอีกครั้งหนึ่งโดยหน่วยงานราชการของประเทศไทย ด้วยเหตุที่การประชุมภายใต้กระบวนการ PNPCA ไม่ได้เพิ่งเกิดขึ้นครั้งแรก หากแต่เคยเกิดขึ้นมาแล้ว ในช่วงปี 2553-2554 ในกรณีที่ประเทศสปป.ลาว เสนอโครงการเขื่อนไซยะบุรีมายังสำนักเลขาธิการคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง และได้เริ่มใช้ระเบียบปฏิบัติตามกระบวนการ PNPCA ในกรณีเขื่อนกั้นแม่น้ำโขงสายหลักเป็นกรณีแรก การจัดประชุมของกรมทรัพยากรน้ำในครั้งนั้น ได้จัดขึ้น 3 ครั้ง ที่อำเภอเชียงของ จังหวัดเชียงราย, อำเภอเชียงคาน จังหวัดเลย และอำเภอเมือง จังหวัดนครพนม โดยใช้ชื่อการประชุมว่า “การจัดเวทีให้ข้อมูลและรับฟังความคิดเห็นของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียต่อโครงการไฟฟ้าพลังน้ำไซยะบุรี”

ผลการประชุมทั้ง 3 ครั้งชี้ว่า ผู้เข้าร่วมประชุมมีข้อท้วงติงหลายประการต่อการดำเนินงานของกรมทรัพยากรน้ำดังปรากฏในรายงานสรุปการประชุมของกรมทรัพยากรน้ำเอง[2] โดยเฉพาะในเรื่องที่ยังไม่มีการเปิดเผยข้อมูลโครงการเขื่อนไซยะบุรีและรายงานการศึกษาผลกระทบทางสังคมและสิ่งแวดล้อมก่อนการจัดการประชุม, กรมทรัพยากรน้ำควรดำเนินการจัดการประชุมให้สอดคล้องกับระเบียบปฏิบัติของกฎหมายในประเทศไทยเช่นกัน เพราะเป็นเขตอธิปไตยของประเทศไทย (อาทิ ระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการรับฟังความเห็นของประชาชน พ.ศ. 2548), เจ้าของโครงการต้องมาชี้แจงให้ข้อมูลและตอบข้อซักถามต่อผู้มีส่วนได้ส่วนเสียโดยตรง เพราะการชี้แจงโดยผู้แทนจากสำนักเลขาธิการคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง ไม่สามารถชี้แจงโครงการในรายละเอียดได้, การจัดประชุมควรต้องจัดประชุมให้ครบทุกจังหวัดของประเทศไทยที่ติดแม่น้ำโขง การจัดเพียง 3 ครั้ง ถือเป็นการกีดกันการมีส่วนร่วมของประชาชน, ต้องมีการขยายระยะเวลากระบวนการ PNPCA ให้มากกว่า 6 เดือน เนื่องจากเป็นระยะเวลาที่สั้นเกินไปในการเปิดเผยข้อมูลและรับฟังความเห็นจากผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย และต้องมีการแปลเอกสารทั้งหมดเป็นภาษาไทย รวมถึงมีการเผยแพร่ในระยะเวลาหนึ่งก่อน เพื่อให้ประชาชนไทยมีเวลาในการศึกษาข้อมูลต่าง ๆ

เป็นความน่าอับอายของกรมทรัพยากรน้ำอย่างถึงที่สุด กับการจัดการประชุมตามกระบวนการ PNPCA ครั้งที่สองในประเทศไทย ที่ยังคงดำเนินการไปโดยไม่ได้รู้สึกอินังขังขอบกับข้อท้วงติง และจากความผิดพลาดในครั้งแรกแม้แต่น้อย ขณะที่การจัดประชุมจะจัดในอีกไม่กี่วัน แต่กลับยังไม่มีข้อบ่งชี้ใด ๆ ที่ช่วยให้เห็นว่า กรมทรัพยากรน้ำได้ทำงานอย่างมีความรับผิดชอบต่อเงินภาษีของประชาชนคนไทย ถึงวันนี้ ยังไม่มีแม้แต่ความกล้าหาญที่จะประกาศกำหนดการประชุมในเว็บไซต์ของกรมทรัพยากรน้ำ (หรือสำนักบริหารจัดการลุ่มน้ำโขง) และอีกประเด็นหนึ่งที่สำคัญ คือ การจัดประชุมครั้งนี้ กรมทรัพยากรน้ำได้ตัดคำว่า “รับฟังความคิดเห็นของผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย” ออกไป เพราะฉะนั้นการจัดเวที 2 ครั้งนี้ อาจจัดให้หมาแมวที่ไหนฟังก็ได้ รวมทั้งไม่มีเจ้าของโครงการมาเป็นผู้ชี้แจงในเวที นอกจากนี้แล้วยังไม่มีการเผยแพร่ข้อมูลรายงานการศึกษาโครงการเขื่อนดอนสะโฮงและผลกระทบต่าง ๆ ฉบับเต็มที่เป็นภาษาไทย และรายงานที่สำนักเลขาธิการคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขงได้ทำการประเมินโครงการเขื่อนดอนสะโฮงไว้ คือ รายงานการประเมินเบื้องต้นโครงการเขื่อนดอนสะโฮง[3] (Initial Assessment on Don Sahong Project) ซึ่งแล้วเสร็จตั้งแต่เดือนมกราคม 2557 แต่อย่างใด

ท้ายที่สุด กรมทรัพยากรน้ำได้ละเลยการปฏิบัติหน้าที่ที่จะต้องดำเนินการตามระเบียบปฏิบัติตามกฎหมายไทย เนื่องจากกรมทรัพยากรน้ำในฐานะกรรมการและเลขานุการของคณะกรรมการแม่น้ำโขงแห่งชาติไทย มีหน้าที่ต้องเสนอแนะแนวทาง วิธีการในกระบวนการการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนในลุ่มแม่น้ำโขงของไทยให้สอดคล้องกับกระบวนการการมีส่วนร่วมของประเทศภาคีสมาชิกในลุ่มแม่น้ำโขง ตามพันธกรณีของความตกลงว่าด้วยความร่วมมือเพื่อการพัฒนาลุ่มแม่น้ำโขงอย่างยั่งยืน พ.ศ. 2538 ซึ่งหมายถึงสามารถนำระเบียบ กฎหมายของไทยมาใช้ได้ แต่กลับทำเป็นไม่รู้ไม่เห็นไปเสียอย่างนั้น

4 ปีที่แล้ว ผมได้เข้าร่วมประชุมในเวทีที่อำเภอเชียงคาน และอำเภอเมืองนครพนม ได้ยินจากเจ้าหน้าที่ของกรมทรัพยากรน้ำพูดแก้ตัวอยู่ตลอดเวลาว่า “เราทำอะไรไม่ได้ เพราะเป็นอธิปไตยของประเทศลาว” เป็นการพูดของข้าราชการไทย ในการประชุมบนแผ่นดินไทยของคนไทย ที่จะไม่จัดการกระบวนการประชุมให้เป็นไปตามกฎหมายไทย ผมแน่ใจว่า การประชุมที่จะกำลังเกิดขึ้นที่อุบลราชธานีและนครพนม เราจะได้ยินคำพูดทำนองนี้จากปากข้าราชการไทยอีก  เป็น 4 ปีที่สูญเปล่า ไม่อาจหาวิวัฒนาการและความรับผิดชอบใด ๆ ของกรมทรัพยากรน้ำ ทั้งต่อประเทศและประชาชนไทยที่อาศัยในลุ่มน้ำโขงได้เลย

 

 

 

ฮูสะโฮง ที่ตั้งของเขื่อนดอนสะโฮง




[1] Procedures for Notification, Prior Consultation and Agreement: PNPCA คือ การแจ้ง การปรึกษาหารือล่วงหน้าและข้อตกลง ตามความตกลงว่าด้วยความร่วมมือเพื่อการพัฒนาลุ่มแม่น้ำโขงอย่างยั่งยืนปี 2538

[2] Report on National Consultation Meeting on Prior Consultation for the proposed Xayaburi hydroelectric power dam project

[3] รายงานการประเมินในเรื่อง Hydrology, Sediment Transport and Morphology, Fisheries,  Water Quality and Aquatic Ecosystem Health, Dam Design and Operation, Navigation, Social Issues

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net