Skip to main content
sharethis


ในการเลือกตั้งครั้งสำคัญของสหรัฐอเมริกาทุกครั้งตั้งแต่ปี 2008 เฟซบุ๊กจะมีการขึ้นข้อความเชิญชวนให้ผู้ใช้ไปลงคะแนนเสียง ดังเช่นเมื่อวันที่ 4 พฤศจิกายนที่ผ่านมา ซึ่งเป็นวันเลือกตั้งกลางเทอมของสหรัฐฯ เมื่อผู้ใช้เฟซบุ๊กในสหรัฐเปิดเฟซบุ๊กขึ้น พวกเขาก็จะเห็นคำเชิญชวนให้ไปเลือกตั้งที่ว่า "วันนี้เป็นวันเลือกตั้ง แชร์ให้เพื่อนคุณรู้ว่าคุณกำลังจะไปลงคะแนนเสียงและหาหน่วยเลือกตั้งของคุณ" (วันที่ 4 พ.ย.) จากนั้นเฟซบุ๊กก็จะนำเสนอปุ่ม "I'm a Voter" ให้คุณกดเพื่อเป็นการแชร์สิ่งดังกล่าว

บทความชื่อ "เฟซบุ๊กอาจเปลี่ยนผลการเลือกตั้งได้อย่างไร" (How Facebook Could Skew an Election) โดย โรบินสัน เมเยอร์ ในเว็บไซต์ The Atlantic ชี้ว่า เพื่อจะเปลี่ยนผลการเลือกตั้ง ทั้งหมดที่เฟซบุ๊กต้องทำก็แค่สร้างปุ่ม “I'm a Voter” ขึ้นมาเพื่อชักชวนให้ผู้มีสิทธิลงคะแนนบางกลุ่มไปเลือกตั้ง เนื้อความบางส่วนของบทความมีดังต่อไปนี้

วันนี้เมื่อคุณเปิดเฟซบุ๊กขึ้นมา คุณก็จะเห็นข้อความเชิญชวนให้ไปเลือกตั้ง และปุ่ม “I'm a Voter” (ฉันเป็นผู้มีสิทธิลงคะแนน) ให้คุณคลิก เฟซบุ๊กยังจะขึ้นรายชื่อและรูปโปรไฟล์ของเพื่อนสองสามคนของคุณที่กดปุ่ม “I'm a Voter” และบอกว่าคนอีก 1.8 ล้านคนก็ได้ทำเช่นเดียวกันนี้

ทั้งนี้ ปุ่มอื่นๆ ที่คล้ายกับปุ่ม “I Voted!” (ฉันไปลงคะแนนมาแล้ว!) ได้ปรากฏอยู่ที่หน้าเว็บไซต์ของเฟซบุ๊กในทุกการเลือกตั้งครั้งสำคัญของสหรัฐมาตั้งแต่ปี 2008 โดยคุณไปลงคะแนนเสียง บอกเฟซบุ๊กว่าคุณไปลงคะแนนมาแล้ว และกระตุ้นให้เพื่อนในเฟซบุ๊กทำหน้าที่พลเมืองของตน

อย่างไรก็ตาม ปุ่มพวกนี้ยังเป็นส่วนหนึ่งในการทดลองมาโดยตลอดด้วย อาทิ ปุ่มชวนลงคะแนนในปี 2010 เป็นส่วนหนึ่งในงานศึกษาซึ่งต่อมาภายหลังถูกตีพิมพ์ในชื่อ "การทดลองว่าด้วยแรงจูงใจทางสังคมและการขับเคลื่อนทางการเมืองโดยใช้คนจำนวน 61 ล้านคน" (A 61-million-person experiment in social influence and political mobilization) ซึ่งตีพิมพ์ลงวารสาร Nature ในปี 2012

งานศึกษาดังกล่าวพบว่า ปุ่มชวนให้ไปลงคะแนนมีผลต่อจำนวนคนที่ไปลงคะแนนอย่างมีนัยสำคัญ โดยหากคุณได้รับการบอกกล่าวว่าเพื่อนของคุณได้ไปลงคะแนนมาแล้ว คุณก็มีแนวโน้มจะไปโหวตมากขึ้นร้อยละ 0.39 มากกว่าคนที่ไม่ได้รับการบอกกล่าว เฟซบุ๊กเชื่อว่าเมื่อปี 2010 ที่ผ่านมา การรณรงค์เลือกตั้งของเฟซบุ๊กทำให้มีคนไปลงคะแนนเสียงเพิ่มขึ้น 340,000 คน

ศาสตราจารย์โจนาธาน ซิทเทรน จากมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดกล่าวว่า ผลการเลือกตั้งประธานาธิบดีเมื่อปี 2000 - ตอนที่จอร์จ ดับเบิลยู. บุช ชนะการเลือกตั้งในรัฐฟลอริดาด้วยคะแนนเสียงที่มากกว่าคู่แข่งเพียง 537 คะแนน - อาจถูกเปลี่ยนโดยปุ่มรณรงค์เลือกตั้งของเฟซบุ๊ก

ทว่าการจะทำการทดลองเช่นนี้ได้ เฟซบุ๊กจำต้องสร้างกลุ่มควบคุมขึ้นมา นั่นก็คือ การแสดงปุ่มดังกล่าวให้กับผู้ใช้จำนวนหนึ่ง ขณะที่ผู้ใช้อีกจำนวนหนึ่งจะไม่เห็นปุ่มที่ว่า ในปี 2012 เฟซบุ๊กแถลงว่าเว็บไซต์จะแสดงปุ่มดังกล่าวกับผู้ใช้ทุกคน ทว่าที่จริงแล้วเฟซบุ๊กไม่เคยทำเช่นนั้น แต่ยังคงทำการทดลองของตนต่อไป

รองประธานของเฟซบุ๊กเปิดเผยว่า การทดลองดังกล่าวมีขึ้นเพื่อต้องการหาว่าการเปลี่ยนคำบนปุ่มดังกล่าวจากคำว่า “I'm a Voter” (ฉันเป็นผู้โหวต) ไปเป็นคำว่า “I Voted” (ฉันโหวตแล้ว) และไปเป็นคำอื่นๆ จะส่งผลต่อจำนวนผู้คนที่คลิกปุ่มดังกล่าวอย่างไร และเป็นไปได้ที่เฟซบุ๊กจะทำการทดลองอื่นๆ กับผู้ใช้โดยไม่ตีพิมพ์การทดลองเหล่านั้นลงในวารสารวิชาการ

เมเยอร์ชี้ว่าการกระทำดังกล่าวของเฟซบุ๊กมีผลสำคัญ เนื่องจากเฟซบุ๊กมีข้อมูลจำนวนมากเกี่ยวกับผู้ใช้ ทั้งความเห็นทางการเมือง รายได้ รสนิยมทางเพศ และรู้ว่าเราจะตกหลุมรักเมื่อใด บริษัทจึงสามารถนำข้อมูลเหล่านี้มาใช้และเลือกแสดงปุ่ม “I Voted” ให้กับคนบางกลุ่ม เพื่อปรับเปลี่ยนผลการเลือกตั้งให้เข้าข้างฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง โดยให้คนกลุ่มหนึ่งมีแนวโน้มที่จะเห็นปุ่มดังกล่าวมากกว่าคนอีกกลุ่มหนึ่ง

เมเยอร์กล่าวว่า บางทีเฟซบุ๊กอาจจะปรับเปลี่ยนผลการเลือกตั้งไปแล้วด้วยโซเชียลเน็ตเวิร์ก โดยเปรียบเทียบแล้ว ผู้ใช้เครือข่ายสังคมออนไลน์มีผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย และมีคนวัยหนุ่มสาวมากกว่าคนแก่ ซึ่งทั้งผู้หญิงและคนหนุ่มสาว (ในสหรัฐอเมริกา) เป็นกลุ่มประชากรที่มีแนวโน้มจะสนับสนุนนโยบายเชิงก้าวหน้า ดังนั้นแม้ว่าเฟซบุ๊กจะแสดงปุ่มดังกล่าวให้ผู้ใช้ทุกคนเห็นอย่างเท่าเทียม แต่มันก็อาจจะทำให้ผู้ใช้ที่เป็นเสรีนิยมออกไปเลือกตั้งมากกว่าผู้ใช้ที่เป็นอนุรักษนิยมอยู่ดี

ในตอนท้ายของข้อความซิทเทรนได้เสนอให้คณะกรรมการกลางกำกับดูแลกิจการสื่อสาร (เอฟซีซี) ออกมากำกับดูแลปุ่ม “I Vote” ของเฟซบุ๊ก เช่นเดียวกับที่คณะกรรมการเคยทำมาแล้วกับข้อความที่เชื่อว่ามีอิทธิพลต่อการรับรู้ในระดับใต้จิตสำนึกที่เกิดขึ้นในช่วงต้นทศวรรษที่ 1970 ซิทเทรนกล่าวว่า คนที่มีแนวคิดอนุรักษนิยมบางคนอาจไม่เห็นด้วยกับข้อเสนอนี้ และบางทีพวกเขาอาจจะถูกก็ได้ แต่จนกว่าสังคมอเมริกันจะเข้าใจความสามารถของเฟซบุ๊กในการปรับเปลี่ยนผลการเลือกตั้ง กลุ่มอนุรักษนิยมอาจเป็นกลุ่มคนที่ต้องเสียประโยชน์มากที่สุด

นอกจากการแสดงปุ่มดังกล่าวแล้ว นิตยสาร Mother Jones ยังรายงานว่า เฟซบุ๊กยังได้ทดลองปรับเปลี่ยนความถี่ของข่าวการเมืองที่แสดงบนไทม์ไลน์ของผู้ใช้ 1.9 ล้านราย ในช่วงสามเดือนการเลือกตั้งเมื่อปี 2012 และจากคำบอกเล่าของนักวิทยาศาสตร์ข้อมูลรายหนึ่งของเฟซบุ๊ก การทดลองปรับเปลี่ยนข่าวบนไทม์ไลน์ดังกล่าว ส่งผลที่วัดได้ต่อการเพิ่มขึ้นของการมีส่วนร่วมทางการเมืองและการไปลงคะแนนเลือกตั้ง ประเด็นสำคัญที่ Mother Jones ชี้ก็คือ การทดลองทั้งหมดนี้ ทำไปโดยที่ผู้ใช้ไม่เคยถูกแจ้งให้ทราบ

นักสังคมศาสตร์และนักเทคโนโลยีจำนวนหนึ่งเริ่มส่งเสียงความกังวัลมากขึ้นเรื่อยๆ ถึงอิทธิพลของอัลกอริธึมหรือวิธีการที่คอมพิวเตอร์เลือกเนื้อหาขึ้นมาแสดงให้ผู้ใช้อ่านบนสื่อออนไลน์

สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานว่าในปี 2014 นี้ เฟซบุ๊กจะแสดงปุ่ม “I’m a Voter” แบบเดียวกัน สำหรับการเลือกตั้งในประเทศอื่นๆ ด้วย ได้แก่ อินเดีย โคลอมเบีย เกาหลีใต้ อินโดนีเซีย สวีเดน นิวซีแลนด์ บราซิล รวมถึงการเลือกตั้งสภายุโรป (European Parliament) เมื่อเดือนพฤษภาคม และการลงประชามติเอกราชสกอตแลนด์ เมื่อเดือนกันยายนที่ผ่านมา

 

ที่มา:
http://www.theatlantic.com/technology/archive/2014/11/how-facebook-could-skew-an-election/382334/

http://www.newrepublic.com/article/117878/information-fiduciary-solution-facebook-digital-gerrymandering

http://www.motherjones.com/politics/2014/10/can-voting-facebook-button-improve-voter-turnout

http://www.reuters.com/article/2014/05/19/us-usa-facebook-voters-idUSBREA4I0QQ20140519

รายงานการศึกษาฉบับเต็ม http://fowler.ucsd.edu/massive_turnout.pdf

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net