Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

ฟุตบอลไทยพรีเมียร์ลีกฤดูกาล 2014 ได้ปิดฉากลงไปเรียบร้อยแล้ว พร้อมกับการคว้าแชมป์ของสโมสรบุรีรัมย์ ยูไนเต็ด โดยมียอดผู้ชมในทุกสนามจำนวน 1,915,529 คน เพิ่มขึ้นจากยอดผู้ชมในฤดูกาล 2013 ร้อยละ 15.54 และมียอดขายสินค้าที่ระลึกและบัตรเข้าชมการแข่งขันทุกสโมสรจำนวน 237,587,936 บาท เพิ่มขึ้นจากฤดูกาล 2013 ร้อยละ 17.94 [1]

ผู้เขียนได้มีโอกาสสัมผัสบรรยากาศการแข่งขันในหลาย ๆ สนาม และพบว่าผู้ชมในทุก ๆ สนามมีความหลากหลายพอสมควร ตั้งแต่แฟนบอลพันธุ์แท้ของสโมสรที่เข้ามาชมเกือบทุกนัด และร่วมกิจกรรมการเชียร์อย่างเต็มที่, แฟนบอลที่มาชมเป็นประจำ แต่ไม่ได้ร่วมกิจกรรมเชียร์ ไปจนถึงผู้ชมที่มากับคู่รัก ครอบครัว หรือเพื่อนฝูงเป็นครั้งคราว ผู้เขียนคิดว่ากิจกรรมการชมฟุตบอลในช่วงวันหยุดสุดสัปดาห์น่าจะเป็นทางเลือกหนึ่งที่น่าสนใจมากขึ้นเรื่อย ๆ สำหรับคนไทย จึงอยากแบ่งปันประสบการณ์และความประทับใจส่วนตัว เพื่อเป็นข้อมูลเบื้องต้นสำหรับผู้ที่สนใจฟุตบอลไทยไว้ใช้ประกอบการตัดสินใจเข้าชมการแข่งขันที่สนามแข่งขัน โดยเลือกมา 4 สนามด้วยกัน

 

สนามในฝันของแฟนบอล

ปัจจุบันสนามฟุตบอลของสโมสรต่าง ๆ ในประเทศไทยได้รับการพัฒนาให้อยู่ในมาตรฐานที่ดี หลายสโมสรได้รับการรับรองมาตรฐานระดับ A Class จากสหพันธ์ฟุตบอลแห่งเอเชีย (Asian Football Confederation-AFC) แต่สนามที่ผู้เขียนไปเยือนครั้งแรกแล้วประทับใจมากที่สุดคือ สนาม New I-mobile สเตเดี้ยม สนามเหย้าของบุรีรัมย์ยูไนเต็ด

สนามแห่งนี้มีพื้นที่กว้างขวางให้แฟนบอลทำกิจกรรมช่วงก่อนเข้าชมการแข่งขันได้หลากหลาย มีทั้งร้านกาแฟและอาหารว่างซึ่งติดแอร์ไว้สำหรับคนที่อยากหลบอากาศร้อนมานั่งดื่มนั่งทานอาหารสบาย ๆ, มีลานเบียร์ไว้สำหรับนั่งจิบเบียร์และชมบรรยากาศแฟนบอลรอบ ๆ สนาม, มีร้านขายของที่ระลึกของสโมสร (ของที่ระลึก โดยเฉพาะเสื้อแข่งขันของบุรีรัมย์ยูไนเต็ดมีราคาย่อมเยากว่าของสโมสรอื่น ๆ ซึ่งอาจจะช่วยให้คุณตัดสินใจซื้อได้ง่ายขึ้น), และมีพื้นที่โล่งให้แฟนบอลร้องเพลงปลุกเร้าอารมณ์ก่อนการแข่งขัน หรือเฉลิมฉลองหลังการแข่งขัน

ที่มา: www.facebook.com/ BuriramUTD

ในส่วนของตัวสนามแข่งขันเอง มีลักษณะเป็นฟุตบอลสเตเดี้ยมที่ไม่มีลู่วิ่งคั่นกลางระหว่างอัฒจันทร์และพื้นสนามที่ใช้แข่งขัน ทำให้แฟนบอลสามารถรับชมการแข่งขันได้อย่างใกล้ชิด ระหว่างการแข่งขันมีนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดบุรีรัมย์/ภรรยาประธานสโมสรทำหน้าที่เป็นผู้นำเชียร์อย่างเป็นกันเอง ในช่วงพักครึ่งเวลาการแข่งขันทุก ๆ นัดยังมีการจับรางวัลจากหางบัตรเพื่อคืนกำไรให้กับแฟนบอลด้วย และที่สำคัญนักฟุตบอลของบุรีรัมย์ ยูไนเต็ดแต่ละคนล้วนมีฝีเท้าระดับหัวแถวของเมืองไทย จึงไม่ต้องสงสัยว่ามาเยือนที่นี่แล้วได้รับความบันเทิงจากการแข่งขันฟุตบอลกลับไปหรือไม่

นอกจากนี้เท่าที่ผู้เขียนทราบหลังการแข่งขันฟุตบอลจบแล้ว สโมสรมักจัดคอนเสิร์ตให้แฟนบอลชมโดยไม่เสียค่าใช้จ่ายอีกด้วย หลายคนที่เคยไปเยือนสนามแห่งนี้จึงต่างพูดกับผู้เขียนว่านี่เป็นสนามในฝันของแฟนบอลเลยก็ว่าได้

สำหรับแฟนบอลในกรุงเทพฯ ที่กังวลเรื่องการเดินทาง หากไม่ต้องการเดินทางด้วยตัวเอง ผู้เขียนทราบว่าสโมสรได้จัดทริปเดินทางจากร้านค้าสโมสร (ที่ทำการพรรคภูมิใจไทย-พหลโยธิน 42) ไปชมฟุตบอลที่บุรีรัมย์ในราคาที่สมเหตุผลด้วย

 

คุ้มค่าบัตร

สนาม SCG สเตเดี้ยมของสโมสร SCG เมืองทองยูไนเต็ด นับเป็นอีกหนึ่งสนามที่คู่ควรแก่การมาเยือน เพราะนอกจากจะเป็นสนามที่มีลักษณะเป็นฟุตบอลสเตเดี้ยมแล้ว สนามนี้ยังเป็นสนามที่ไม่มีสิ่งกีดขวางการชมของผู้ชมเลย (บางสนามจะมีตาข่ายหรือรั้วกั้น เพื่อป้องกันแฟนบอลขว้างปาสิ่งของลงไปในสนาม) และการที่อัฒจันทร์ของ SCG สเตเดี้ยมไม่ได้ยกตัวสูงมากก็ทำให้ผู้ชมใกล้ชิดสนามและนักฟุตบอลได้มากเป็นพิเศษ

การจัดที่นั่งของสนามนี้สามารถตอบสนองความต้องการของแฟนบอลได้หลายลักษณะ กล่าวคือมีทั้งโซนที่นั่งสำหรับแฟนบอลที่ต้องการนั่งชมการแข่งขันเงียบ ๆ สบาย ๆ (โซน E และ W) โซนที่นั่งสำหรับแฟนบอลที่ต้องการมีส่วนร่วมหรือใกล้ชิดกับกลุ่มแฟนบอลที่ร้องเพลงเชียร์อย่างสนุกสนานตลอดเวลา (โซน S) และโซนที่นั่งสำหรับแฟนบอลที่อยากส่งเสียงเชียร์อย่างดุดัน (โซน N) ซึ่งทุกโซนที่นั่งจะระบุหมายเลขที่นั่งไว้ให้ แฟนบอลจึงไม่ต้องรีบร้อนเข้าสนามเพราะกลัวจะไม่ได้ที่นั่งดี ๆ หรือกลัวไม่มีที่นั่ง ทั้งยังมีเจ้าหน้าที่ของสนามบริการพาแฟนบอลไปยังที่นั่งหรือจัดการในกรณีมีผู้อื่นนั่งผิดที่นั่งให้เป็นอย่างดี และเมื่อการแข่งขันเริ่มต้นขึ้น นอกจากการแข่งขันของนักฟุตบอลในสนามแล้ว การส่งเสียงร้องเพลงเชียร์ที่ดังกระหึ่มและการแสดงอุปกรณ์ประกอบการเชียร์ของแฟนบอลขาประจำในสนามก็ยังนับเป็นอีกหนึ่งจุดที่น่าสนใจไม่น้อย

ที่มา: www.facebook.com/ SCGMuangthongUnited

ด้านนอกสนามมีพิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์ของสโมสรให้เข้าชมโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย มีร้านขายของที่ระลึกของสโมสรซึ่งมีสินค้าหลากหลายมากที่สุดสโมสรหนึ่ง อีกทั้งบางครั้งในการแข่งขันนัดสำคัญ ๆ สโมสรอาจจัดให้มีคอนเสิร์ตในช่วงก่อนแข่งขันหรือช่วงพักครึ่งเวลา ปีที่ผ่าน ๆ มาเคยมีนักร้องอย่างบุรินทร์ บุญวิสุทธิ์ (กรู๊ฟไรเดอร์) และสิงโต นำโชค มาแสดง นอกจากนี้ SCG สเตเดี้ยมยังเป็นหนึ่งในไม่กี่สนามที่เก็บค่าบัตรทีมเยือนในราคาเป็นธรรม (ราคาเดียวกันกับที่นั่งทีมเหย้าในตำแหน่งเดียวกันของสนาม) และในฤดูกาลที่ผ่านมาบัตรเข้าชมการแข่งขันนัดเหย้าของ SCG เมืองทองยูไนเต็ดยังสามารถนำไปเป็นส่วนลดสำหรับบุฟเฟต์อาหารเย็นของโรงแรมโนโวเทล อิมแพคได้อีกด้วย (ลดเหลือ 390 บาท จาก 9xx บาท)นับว่าเป็นสนามที่มาเยือนแล้วไม่ทำให้รู้สึกเสียดายค่าบัตรเข้าชมการแข่งขันเลย

 

บรรยากาศเผ็ดร้อน

แม้ผู้เขียนจะคลุกคลีกับการชมการแข่งขันฟุตบอลที่สนามแข่งขันมาเป็นระยะเวลาหนึ่ง และคุ้นเคยกับการเชียร์ของแฟนบอลพอสมควร แต่ครั้งแรกที่ไปเยือน PAT สเตเดี้ยมของสโมสรสิงห์ท่าเรือ การเชียร์ของแฟนบอลสิงห์ท่าเรือก็ทำให้ผู้เขียนรู้สึกตื่นตะลึงมากทีเดียว

ที่มา: www.facebook.com/ SINGHTARUA

เป็นที่ทราบกันดีว่าในสนามฟุตบอลโดยทั่วไปจะมีแฟนบอลกลุ่มหนึ่งทำหน้าที่ตีกลองร้องเพลงเพื่อให้กำลังใจนักฟุตบอลและสร้างความบันเทิงให้แฟนบอลด้วยกัน ขณะที่แฟนบอลอื่น ๆ มักจะนั่งชมการแข่งขันเฉย ๆ เป็นส่วนใหญ่ แต่สำหรับ PAT สเตเดี้ยมนั้นต่างออกไป ในช่วงต้นของการแข่งขันอาจจะมีแฟนบอลหลังโกล์กลุ่มหนึ่งตีกลองร้องเพลงเชียร์เหมือนสนามอื่น ๆ แต่เมื่อการแข่งขันดำเนินไปสักระยะหนึ่งแฟนบอลแทบทั้งหมดในสนามจะพากันส่งเสียงและออกท่าทางเชียร์ (นักฟุตบอลของตนเอง) และกดดัน (นักฟุตบอลคู่แข่ง) อย่างอื้ออึง ถ้านักฟุตบอลคู่แข่งจิตไม่แข็งพออาจจะเสียสมาธิไปชั่วขณะหนึ่งเลยก็ได้ นอกจากนี้ราคาบัตรเข้าชมการแข่งขันของที่นี่กำหนดให้ทุกโซนราคาเดียวกันหมด (100 บาท-รวมถึงบัตรฝั่งทีมเยือนด้วย) คุณซื้อบัตรแล้วสามารถเลือกได้ว่าจะไปนั่งส่วนไหนของสนาม รวมถึงสามารถย้ายโซนที่นั่งได้ในระหว่างการแข่งขันเพราะมีทางเดินเชื่อมถึงกัน

ความดีงามอีกหนึ่งอย่างของสนาม PAT สเตเดี้ยมคือเรื่องการเดินทาง สำหรับแฟนบอลในกรุงเทพฯ ถ้าจะไปสนามแห่งนี้ก็นับว่าสะดวกพอสมควรเพราะอยู่ใกล้กับสถานีรถไฟใต้ดินศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์

 

ดรีมแมตท์เมืองไทย

อีกหนึ่งสนามที่ผู้เขียนอยากกล่าวถึง คือสนามชลบุรีสเตเดี้ยมรังเหย้าของชลบุรีเอฟซีซึ่งแม้จะไม่ใช่ฟุตบอลสเตเดี้ยม (เป็นสนามที่มีลู่วิ่ง) แต่การแข่งขันที่ทำให้ผู้เขียนประทับใจที่สุดในการติดตามชมฟุตบอลไทยพรีเมียร์ลีกมาราว ๆ 3 ฤดูกาลกลับเกิดขึ้นที่สนามแห่งนี้ นั่นคือการแข่งขันระหว่างสโมสรชลบุรีเอฟซีกับสโมสร SCG เมืองทองยูไนเต็ด การพบกันของ 2 สโมสรใหญ่เป็นการแข่งขันที่คอบอลไทยให้ความสนใจมากอยู่แล้ว ในทุกปีบัตรเข้าชมการแข่งขันคู่นี้ถูกจำหน่ายหมดอย่างรวดเร็ว (แทบจะทันทีที่เปิดจำหน่าย) และตั๋วผีก็ราคาค่อนข้างสูง และแน่นอนว่ามันสร้างความตื่นตาตื่นใจให้ผู้เขียนเป็นอย่างมาก ในส่วนของนักฟุตบอลนั้นก็น่าดูอยู่แล้ว เพราะแทบจะเหมือนกับการแบ่งทีมชาติไทยออกเป็น 2 ชุดแล้วนำมาแข่งกัน สำหรับบรรยากาศรอบ ๆ สนามในช่วงก่อนการแข่งขันก็คึกคักเป็นพิเศษ มีร้านค้าตั้งขายอาหาร เครื่องดื่ม และอุปกรณ์การเชียร์อยู่รอบบริเวณสนาม (มีร้านอาหารและเครื่องดื่มของสโมสรตั้งอยู่ไม่ห่างจากสนามมากนัก—ราว 200 เมตร ชื่อร้านชาร์คกี้-Sharky-หรือชาร์คคาเฟ่เดิม)

ขณะที่บรรยากาศภายในสนามก็เริ่มดุเดือดตั้งแต่นักฟุตบอลยังไม่ลงสนาม เพราะแฟนบอลของทั้ง 2 ทีมต่างแข่งกันร้องเพลงเชียร์เสียงดังอื้ออึงไปทั้งสนาม ประหนึ่งว่าเป็นการแสดงแสนยานุภาพของกองเชียร์แต่ละฝ่ายไปด้วย เพราะทั้ง 2 สโมสรเป็นคู่แข่งกันมายาวนานหลายปีและต่างก็มีแฟนบอลจำนวนมากและเหนียวแน่นไม่แพ้กัน เมื่อการแข่งขันดำเนินไปเสียงร้องเพลงก็ยังคงดังต่อเนื่องสลับกับเสียงโห่เสียงเฮตามจังหวะของการแข่งขัน นอกจากนี้ ผู้เขียนสังเกตว่าในระยะหลัง แฟนบอลหลังโกล์ของชลบุรีเอฟซีมักหาลูกเล่นใหม่ ๆ มาใช้ประกาอบการเชียร์อยู่เสมอ เช่น ร่วมกันดาวน์โหลดแอปพลิเคชั่นไฟฉายในโทรศัพท์มือถือเพื่อใช้ส่องสว่างพร้อม ๆ กันในช่วงท้ายการแข่งขัน, ร่วมกันแปลอักษร และร่วมกันสะบัดธงสโมสร ซึ่งเป็นสีสันที่สวยงามมาก นับว่าน่าดูไม่น้อยกว่าการแข่งขันของนักฟุตบอลในสนามเลย 

ที่มา: www.facebook.com/ chonburi.football.club

สนามชลบุรีสเตเดี้ยมเป็นอีกหนึ่งสนามที่จำหน่ายบัตรเข้าชมให้กับทีมเยือนในราคายุติธรรม (100 บาท—ราคาเท่ากันกับที่นั่งทีมเหย้าในตำแหน่งเดียวกันของสนาม) ที่ตั้งของสนามอยู่ไม่ไกลจากหาดบางแสน และตลาดอาหารทะเลอ่างศิลา โดยสามารถใช้บริการรถสองแถวภายในจังหวัด รถมอเตอร์ไซด์รับจ้าง หรืออาจพักค้างคืนที่หาดบางแสนแล้วเช่ามอเตอร์ไซด์ขี่สบาย ๆ มาที่สนามก็ได้ นอกจากนี้ในทุกบ่ายวันเสาร์ที่ตลาดท่าเรือพลีใกล้ ๆ สนามยังมีการจำหน่ายอาหารทะเลและของกินเล่นจึงเหมาะสำหรับการไปเที่ยวพักผ่อน ทานอาหารทะเลและชมการแข่งขันฟุตบอลไปพร้อมกัน

แฟนบอลชลบุรีที่อยู่ในกรุงเทพฯ ได้รวมตัวกันจัดรถตู้เพื่อเดินทางไปเชียร์ที่ชลบุรี (และที่อื่น ๆ ที่สโมสรไปแข่ง) ในราคา 220 บาทซึ่งถูกกว่าการนั่งรถตู้โดยสารไปเอง และเท่าที่ผู้เขียนได้สัมผัสพบว่าทางกลุ่มมีท่าทียินดีต้อนรับสมาชิกใหม่เสมอ ๆ จึงอาจเป็นทางเลือกที่ดีสำหรับแฟนบอลที่อยู่กรุงเทพฯ และกังวลเรื่องการเดินทางขากลับ

อันที่จริงแล้วยังมีสนามของสโมสรอื่น ๆ ในไทยพรีเมียร์ลีกและลีกดิวิชั่นอื่นของไทยที่น่าสนใจอีก เช่น สนามยูไนเต็ดสเตเดี้ยมของเชียงรายยูไนเต็ด ซึ่งว่ากันว่าเสียงเชียร์ของแฟนบอลทำให้ทีมเยือนเก็บคะแนนออกไปลำบากขึ้น, สนาม PTT สเตเดี้ยมของ ปตท.ระยองที่บรรยากาศรอบสนามร่มรื่นสวยงามมาก หรือสนามศรีนครลำดวนของศรีสะเกษเอฟซี ที่มีแฟนบอลเหนียวแน่นและมีเพลงเชียร์ที่สนุกสนาน เป็นต้น

ปัจจุบันสโมสรฟุตบอลในประเทศไทยพัฒนาตัวเองไปมาก ทำให้เกมการแข่งขันสนุกสนานมากขึ้น อย่างไรก็ตาม จากประสบการณ์ของผู้เขียนแล้ว การชมการถ่ายทอดสดจากโทรทัศน์กับการมาชมการแข่งขันสด ๆ ในสนามนั้นต่างกันค่อนข้างมาก แม้ในสนามจะไม่มีภาพช้าให้ดู แต่มีบรรยากาศของการแข่งขันที่ดีงามน่าตื่นตาตื่นใจเกินกว่ากล้องถ่ายทอดสดใด ๆ จะสามารถสื่อได้ ในมุมมองของผู้เขียนแล้วการชมการแข่งขันฟุตบอลที่สนามฟุตบอลน่าจะเป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่น่าสนใจสำหรับคนที่มองหากิจกรรมร่วมกับครอบครัว คนรัก หรือเพื่อนฝูงในช่วงวันหยุดสุดสัปดาห์ โดยที่คุณอาจจะไม่ต้องเป็นกองเชียร์แฟนพันธุ์แท้ของสโมสรไหนก็ได้

 

อ้างอิง:

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net