"มันจบแล้วครับนาย" เทศบาลเมืองบุรีรัมย์ทุบอนุสาวรีย์รธน. แจงแก้ปัญหาจราจร ย้ายที่ใหม่

เทศบาลเมืองบุรีรัมย์รื้อวงเวียนรัฐธรรมนูญ แจงเพื่อติดตั้งสัญญาไฟจราจรดิจิตอลแก้ปัญหาจราจร ย้ายไปศาลากลางจังหวัดบุรีรัมย์ จนเกิดกระแสวิจารณ์ ประชาชนไม่มีส่วนร่วม เป็น ‘สถาปัตยกรรมคณะราษฎร’ มองเป็นเรื่อง "การเมืองเรื่องทำให้ลืม"

ที่มาภาพ  เฟซบุ๊ก ‘บุรีรัมย์ น่าอยู่’ 

วานนี้(6 พ.ย.57) เฟซบุ๊ก ‘บุรีรัมย์ น่าอยู่’ โพสต์ภาพการทุบรื้ออนุสาวรีย์และวงเวียนรัฐธรรมนูญ โดยระบุว่า “ภาพชุดประวัติศาสตร์การรื้อวงเวียนรัฐธรรมนูญ วันที่ 6 พฤศจิกายน 2557 9.19 น แม็กโครหัวกระแทกเริ่มดำเนินก่อน ตามด้วยแม็กโครรถตัก แล้วคนงานก็เริ่มนำรัฐธรรมนูญลงมาก่อน ตามด้วยพานรอง และพานล่างสุด แล้วนำไปรอการบูรณะจากเทศบาลเมืองบุรีรัมย์ ซึ่งผู้รับเหมาแจ้งว่าจะสร้างทดแทนตรงทางเข้าศาลากลางทีไม่ได้ใช่(ตรงป้ายเขียวแทน)”

 

 

 

โดยประกาศของเทศบาลเมืองบุรีรัมย์ ระบุว่า ได้รื้อวงเวียนรัฐธรรมนูญออก เพื่อติดตั้งสัญญาไฟจราจรดิจิตอล ส่วนพานรัฐธรรมนูญเดิม จะนำไปก่อสร้างฐานใหม่โดยใช้รูปแบบดังเดิมและจะติดตั้งบริเวณหน้าศาลากลางจังหวัดบุรีรัมย์ หลังเก่า

อย่าไรก็ตามหลังมีการเผยแพร่ภาพการรื้ออนุสาวรีย์และวงเวียนดังกล่าว มีประแสวิพากษ์วิจารณ์ตามมา เช่น วิวัฒน์ โรจนาวรรณ(Wiwat Rojanawan) แสดงความเห็นด้วยว่า พานรัฐธรรมนูญ ชุดนี้ สร้างออกแบบและสร้างโดย กรมศิลปากร สมัยหลังการเปลี่ยนแปลงประเทศปี 2475 โดยคำสั่งของ รัฐบาลคณะราษฏร แล้วส่งไปให้ ทุกจังหวัดของไทย ในช่วงเวลาประมาณ 2478-2482 แต่ละจังหวัดสร้างไม่พร้อมกัน เสร็จไม่พร้อมกัน และรูปแบบของ เสา,ฐาน, รองรับ "พานรัฐธรรมนูญ" ก็ไม่เหมือนกัน เท่าที่ติดตามเรื่องนี้มาหลายปี ทั่วประเทศเหลืออยู่ไม่มากจังหวัดแล้ว เฉพาะภาคอีสาน มีเหลืออยู่ แห่ง 1. ขอนแก่น 2. ร้อยเอ็ด 3. มหาสารคาม 4. สุรินทร์ และ 5 บุรีรัมย์ เท่านั้น สำหรับฐานรองรับ พานรัฐธรรมนูญ ของบุรีรัมย์ เป็น เสากลมแบบเสาโรมัน แต่ฐานที่เห็นเป็น แท่งคอนกรีต ปูทับด้วยกระเบื้องลายธงชาติ สร้างในสมัยผู้ว่า พร อุดมพงษ์ ประมาณปี 2528-2532 คนออกแบบคืออาจารย์เทคนิคบุรีรัมย์ ชื่อ อาจารย์อานุภาพ หรือ อาจารย์ท็อก

วิวัฒน์ มองว่า การเปลี่ยนแปลงที่เหมาะสม ก็ควรให้ ประชาชน ที่เลือกคุณเข้าไปนั่งทำงาน ได้ทราบเรื่องบ้าง ถามเถอะมีใครเห็นประกาศการทำลายวงเวียนรัฐธรรมนูญบุรีรัมย์ ครั้งนี้บ้าง ไม่ใช่เอาตัวประกาศไปติดที่สถานีวิทยุแบบประกวดรับเหมาก่อสร้าง

ขณะที่ เชตวัน เตือประโคน แสดงความเห็นในเฟซบุ๊กตัวเอง ‘Chetawan Thuaprakhon’ ด้วยว่า "มันจบแล้วครับนาย ไม่ทันแล้ว วงเวียนดังกล่าว ไม่ได้มีสถานะเป็น "โบราณสถาน" แต่เป็น "สถาปัตยกรรมคณะราษฎร" เห็นรูปปุ๊บคิดถึงคำ อ.ชาตรี ประกิตนนทการ เคยพูดไว้กรณีทุบ "กลุ่มอาคารศาลฎีกา" "การเมืองเรื่องทำให้ลืม" ตามนี้เลย...

"เวลาพูดการรื้อเป็นเรื่องการเมือง ประเด็นใจกลางคือ ไม่ได้บอกว่าพวกที่รื้อรู้ว่าเป็นอาคารเกี่ยวกับคณะราษฎรแล้วเลยรื้อ ซึ่งมันซื่อไป ประเด็นการเมืองในงานสถาปัตย์คือ "การรื้อโดยไม่รู้ว่าได้เอกราชก็เลยรื้อ" จุดนี้คือการเมือง กล่าวคือ "การเมืองของการทำให้ลืม" ทำลายโดยที่ไม่รู้ว่าตัวเองทำลาย เป็นปฏิบัติการทางการเมืองโดยที่ไม่รู้ว่าตัวเองปฏิบัติการทางการเมือง ซึ่งประเด็นตรงนี้ศิลปินในไทยยังทำตัวไร้เดียงสา หรือแกล้งไร้เดียงสา"

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท