Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

 

เมื่อสัปดาห์ที่แล้วผมโพสต์ข้อความลงเฟซบุ๊ก เรื่อง “แกล้งหรือโง่จริง”... เมื่อคนใหญ่คนโตของบ้านเมืองพูดเรื่อง โครงการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งของ ประเทศฯ ของรัฐบาลที่แล้วราวกับว่า พรบ.ที่ผ่านการพิจารณา ของทั้ง ครม. สภาผู้แทนราษฎร และวุฒิสภา เจตนาจะให้มีการกู้เงินมากองไว้ แต่รัฐบาลปัจจุบันน่ะจะทำดีกว่าด้วยการจะทยอยกู้ ซึ่งผมก็ชี้แจงว่า วิธีคิดและปฏิบัติแบบกู้เงินมากองน่ะ มีเพียง “โครงการไทยเข้มแข็ง” ของรัฐบาลก่อนๆ เท่านั้น รัฐบาลสมัยผม เราไม่ทำกันให้สิ้นเปลืองดอกเบี้ยหรอก รวมทั้งยังใส่ใจที่ดูแลภาระหนึ้เดิมก้อนใหญ่กว่า 1.1 ล้านล้านบาท เมื่อครั้งกู้มาอุ้มธนาคารฯ สมัยวิกฤติเศรษฐกิจต้มยำกุ้งให้มีการชำระหนี้ ซึ่งรัฐบาลก่อนๆ ต้องตั้งงบประมาณไปชำระดอกเบี้ยปีละประมาณ 7 หมื่นล้านบาทโดยไม่ได้ชำระเงินต้นให้ลดลง จนยอดรวมดอกเบี้ยที่จ่ายไปสูงจนจะไล่ทันยอดเงินต้นอยู่แล้ว แต่รัฐบาลที่แล้ว ก็จัดการดำเนินการให้กลไกการชำระหนี้กลับไปเป็นของระบบสถาบันการเงิน ประหยัดงบประมาณดอกเบี้ยในแต่ละปี และยอดเงินต้นดังกล่าวก็กำลังลดลงอย่างน่าพอใจ

รัฐบาลที่แล้วมีแนวทางบริหารหนี้ใหม่ที่จะเกิดขึ้นจาก การลงทุนสร้างระบบคมนาคมขนส่งฯ ที่จะสามารถคงอยู่ และ ยังประโยชน์จนชั่วลูก หลาน เหลน โหลน ตามแผนแม่บทที่ได้พิจารณากันมาอย่างรอบคอบ โดยกำหนดให้มีแผนการชำระหนี้ที่ชัดเจนจนหนี้หมดสิ้นจนบาทสุดท้ายด้วย ในขณะที่ผมไม่เคยได้ยินผู้รับผิดชอบในรัฐบาลนี้พูดอะไรที่เกี่ยวกับ แผนการใช้หนี้ที่รัฐบาลนี้กำลังก่อขึ้น ผมมั่นใจว่าคนพูดไม่ได้โง่ จึงเชื่อว่า แกล้งโง่…

นึกๆ อยู่เหมือนกันว่าข้อความของผมอาจไปกระตุกให้ ผู้รับผิดชอบทางการคลังของประเทศหาทางออกมาพูดเรื่องการใช้หนี้ในลักษณะที่คิดอะไรใหม่ไม่ออก ก็ให้สุมไฟใส่เรื่องสมัยรัฐบาลที่แล้ว

ด้วยความเกรงใจท่านที่นั่งทำงานอยู่ที่กระทรวงการคลัง เพราะวัยวุฒิที่มากกว่าผมมาก แต่เรื่องอื่นผมไม่มีข้อมูล ผมเห็นว่า “การพูดว่า โครงการรับจำนำข้าวของรัฐบาลที่แล้ว จะมีผลขาดทุน 6 ถึง 7 แสนล้านบาท เสียจนต้องไปดำเนินการกู้เงินระยะยาว มาอุดยอดดังกล่าว จนเป็นภาระชั่วลูกชั่วหลาน รวมทั้งรัฐบาลจะมีความสามารถในการกู้ได้เพียงร้อยละ 10 ต่อปีของยอดดังกล่าวนั้นไม่เป็นความจริง” ท่านควรเรียกลูกน้องมาสอบถามสามเรื่องที่สำคัญ

เรื่องแรก...ภาระหนี้ของการช่วยเหลือดูแลเกษตรกรด้วยวิธีการต่างๆ ซึ่งรวมถึงโครงการประกันรายได้ของรัฐบาลก่อนหน้าผม ซึ่งครอบคลุมสินค้าเกษตรหลายชนิด ทั้งข้าว ข้าวโพด และมันสัมปะหลัง ที่เกิดขึ้นมาแต่เก่าก่อน มียอดรวมกัน 86,086 ล้านบาท ซึ่งยอดนี้เคยสูงกว่า หนึ่งแสนล้านบาท แต่รัฐบาลที่แล้วก็ได้ช่วยดูแลให้มีการลดยอดหนี้ลงมาจนเหลือเป็นจำนวนเท่านี้ สันนิษฐานได้ว่า ท่านก็เอายอดนี้มาเหมารวมเอาไว้ด้วยจนกลายเป็นตัวเลข 6 ถึง 7 แสนล้านบาทที่ท่านเข้าใจ (ผิดๆ)

เรื่องที่สอง…ยอดหนี้รวมที่รัฐบาลที่แล้วใช้ดำเนินโครงการรับจำนำข้าว เป็นการสนับสนุนภารกิจของ ธกส. ให้ระดมเงินจากตลาดการเงิน ที่มีสภาพคล่องอย่างเหลือเฟือ โดยรัฐบาลทำหน้าที่ค้ำประกันตามกรอบวินัยการคลังอันเคร่งครัด ซึ่งยอดเงินที่ใช้จะลดลงเรื่อยๆ เมื่อมีการระบายข้าวในคลังออกไป ในขณะที่ผมทำหน้าที่ที่กระทรวงการคลัง ยอดหนี้ รวมอยู่ในระดับต่ำกว่า 5 แสนล้านบาท และดำเนินการระบายข้าว ควบคู่ไปกับการระดมเงินเพื่อชำระค่าข้าวคงค้างต่อชาวนาเพื่อประคองในช่วงเวลาที่เงินรายได้จากการระบายข้าวยังเข้ามาไม่ทัน ซึ่งหากรัฐบาลนี้ใส่ใจกับหลักการที่ถูกต้องของโครงการรับจำนำ ดูแลให้มีการระบายข้าวอย่างต่อเนื่องสม่ำเสมอ “ยอดหนี้จะอยู่ในระดับต่ำ สมแก่สถานะของการเป็น เงินทุนหมุนเวียนของโครงการรับจำนำฯ ที่ไม่มีความจำเป็นต้องไปจัดทำเป็นพันธบัตรระยะยาวให้เป็นที่เข้าใจผิดแก่ใครต่อใคร” และจัดสรรงบประมาณประจำปีเข้าไปดูแลชำระคืน ธกส. ให้เหมาะสม ซึ่งประมาณได้ว่าจะเป็นยอดเงินเพียงไม่เกินร้อยละห้าของยอดรวมงบประมาณ ซึ่งนอกจากจะสามารถดูแลครอบครัวชาวนาประมาณ 4 ล้านครัวเรือนให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีได้ ยังสามารถทำให้กลไกเศรษฐกิจที่สำคัญคือ “กำลังซื้อในประเทศมีความเข้มแข็ง” ทำให้เศรษฐกิจโดยรวมเข้มแข็ง เจริญเติบโต และรัฐบาลจัดเก็บรายได้เพิ่มขึ้นได้โดยไม่ต้องเพิ่มอัตราภาษีใดๆ ด้วย

หากท่านตั้งใจจะออกพันธบัตรระยะยาวเพื่อถ่วงเวลาชำระหนี้ ตามวิสัยที่มักจะคุ้นเคยคือมีหนี้แล้วไม่อยากจะใช้คืน แล้วจะเอางบประมาณไปทำเรื่องอะไรอื่น ก็ควรพูดออกมาตรงๆ แต่ถ้าท่านเพียงเจตนาจะทำให้เป็นความเข้าใจผิด เพื่อป้ายสีกัน ผมก็ขอถือโอกาสตำหนิผู้อาวุโสมาก มา ณ ที่นี้ด้วยความไม่เกรงใจ

เรื่องที่สาม…ผมสังเกตเห็นได้ว่า โครงการประชา(ไม่)นิยม ที่จ่ายเงินแก่ชาวนา และเกษตรกรผู้ปลูกยางพารา ไร่ละ 1,000 บาท ก็ได้ใช้วิธีทางการเงินวิธีเดียวกับที่ทุกรัฐบาลดำเนินการมา คือ ให้ ธกส. สำรองจ่ายไปก่อน ซึ่งก็เป็นการก่อหนี้เพิ่มเพื่อช่วยเกษตรกร แม้ไม่รับจำนำ (แต่มีโครงการสินเชื่อชะลอการขาย แบบฝากไว้ที่ยุ้งฉางของชาวนา…วาทกรรมกายกรรม) โปรดระวังการคอรัปชั่นแบบล่องหน คือ ไม่ได้ปลูกจริงแต่มารับเงินไป โดยไม่ต้องมีผลผลิตมาแสดง และไร้ร่องรอยเพื่อการตรวจสอบด้วย เพื่อนร่วมงานของท่านในรัฐบาลนี้ที่เขาคิดเรื่องนี้ เขามาสารภาพกับกับท่านหรือยังครับว่า ท้ายที่สุดเขา “ตั้งใจจะเอาภาระใหม่ๆ นี้มารวมกับยอดเก่าๆ แล้วทำไม่รู้ไม่ชี้ป้ายสีให้รัฐบาลก่อน หรือ เขาจะทำเป็นลืมๆ” เหมือนหนี้กองทุนฟื้นฟูเพื่ออุ้มธนาคารฯ สมัยต้มยำกุ้ง หรือหนี้โครงการไทยเข้มแข็ง และโครงการประกันรายได้ ของคู่แข่งทางการเมืองของพวกผม สมัยยังเป็นประชาธิปไตยได้เคยทิ้งเอาไว้แบบไม่มีแผนชำระคืน

ผมยังคงตั้งใจอย่างมุ่งมั่นที่จะให้กำลังใจรัฐบาล และผู้กุมบังเหียนเศรษฐกิจ ให้ทำงานให้เป็นผลดี ผลสำเร็จ ผมขอสงบปากสงบคำกับแนวคิดมาตรการทางเศรษฐกิจสิบกว่าข้อของรัฐบาลนะครับ เห็นว่าดีก็ทำไป จะเอาใจช่วยให้สำเร็จ ผู้คนทั่วไปโดยเฉพาะผู้มีรายได้น้อยจะได้ไม่ลำบาก ยากเข็ญนัก

และขอฝากข้อคิดแบบให้กำลังใจแก่ท่านว่า “ท่านสามารถเป็นคนเก่งคนดีได้ โดยไม่จำเป็นต้องให้คนอื่นดูเหมือนเป็นคนเลว”...

 

ที่มา: เฟซบุ๊ก Kittiratt Na-Ranong (กิตติรัตน์ ณ ระนอง)

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net