Skip to main content
sharethis

(กรุงเทพฯ/ 2 พ.ย.57) ตามที่สภาธุรกิจสหรัฐฯ-อาเซียนมีกำหนดการเข้าพบรัฐบาลของ พล.อ.ประยุทธ์ จันท์โอชา วันจันทร์ที่ 3 พ.ย.นี้ในเวลา 9 นาฬิกา โดยกลุ่มนักธุรกิจอเมริกันดังกล่าวประกอบไปด้วยอุตสาหกรรมยา อุตสาหกรรมยาสูบ อุตสาหกรรมแอลกอฮอล์ อุตสาหกรรมน้ำอัดลม และอุตสาหกรรมพลังงาน

นางสาวกรรณิการ์ กิจติเวชกุล ผู้ประสานงานกลุ่มศึกษาข้อตกลงเขตการค้าเสรีภาคประชาชน (เอฟทีเอ ว็อทช์) เชื่อว่า นักธุรกิจอเมริกันเหล่านี้จะมาล็อบบี้เพื่อล้มนโยบายสาธารณะที่ดีหลายเรื่องเพื่อแลกกับการที่ประเทศตะวันตกจะได้ยอมรับรัฐบาลที่มาจากการรัฐประหารมากขึ้น

“อุตสาหกรรมยาจะพยายามล็อบบี้ให้ไทยเพิ่มการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาให้มากและเข้มงวดมากขึ้น ทั้งการขอให้แก้ไข พรบ.สิทธิบัตร เพิ่มอายุการคุ้มครอง ให้จดสิทธิบัตรพันธุ์พืช พันธุ์สัตว์ ให้บริษัทยาต้นแบบสามารถได้การผูกขาดข้อมูลทางยา โดยจะอ้างเรื่องเพื่อทำให้ประเทศไทยน่าลงทุนมากขึ้น ที่สำคัญนักธุรกิจเหล่านี้จะมาล้มข้อดีของ พรบ.ยาฉบับที่กำลังแก้ไขที่ระบุให้การขึ้นทะเบียนยาต้องแสดงโครงสร้างราคายาและสถานะสิทธิบัตรซึ่งจะทำให้ราคายามีความเหมาะสม และต้องการให้กรมทรัพย์สินทางปัญญายกเลิกประกาศใช้คู่มือตรวจสอบสิทธิบัตรที่ช่วยคัดกรองคำขอสิทธิบัตรที่ไม่มีคุณภาพ เพราะทำให้การได้สิทธิบัตรยาผูกขาดทำไม่ได้ง่ายๆ ซึ่งที่ผ่านมาพวกนี้ส่งคนล็อบบี้ตามหน่วยราชการต่างๆมาโดยตลอด แต่ครั้งนี้จะพุ่งเป้าไปที่ผู้นำรัฐบาล เพราะทราบดีว่า กำลังแสวงหาการยอมรับจากนานาประเทศ ฉะนั้น ประเด็นเหล่านี้ต้องมีความรอบคอบ เพราะหากหลงเชื่อโดยปราศจากข้อมูลจะกระทบต่อระบบสาธารณสุขของไทยอย่างรุนแรง”

ผู้ประสานงานเอฟทีเอ ว็อชท์ยังเชื่อว่า สภานักธุรกิจสหรัฐฯจะพยายามล็อบบี้ให้ไทยเข้าร่วมความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิค หรือ TPP ซึ่งขณะนี้เป็นประเด็นที่ทำให้เกิดการประท้วงในหลายประเทศสมาชิก เพราะในความตกลง TPP จะครอบคลุมทุกประเด็นที่จะทำให้ยาต้นแบบผูกขาดได้เจ้าเดียวไร้คู่แข่ง และไม่อนุญาตให้มีการต่อรองราคายา ที่สำคัญยังให้สิทธินักลงทุนต่างชาติฟ้องล้มออกนโยบายสาธารณะที่เป็นประโยชน์กับประชาชนและเรียกร้องค่าเสียหายจากรัฐได้ ผ่านอนุญาโตตุลาการระหว่างประเทศ เช่นที่ขณะนี้ระเบียบซองบุหรี่สีเดียวของออสเตรเลียถูกอุตสาหกรรมยาสูบฟ้องให้ยกเลิกและเรียกค่าเสียหายนับพันล้านดอลลาร์อยู่ในขณะนี้

“นักธุรกิจสหรัฐฯทราบดีว่า รัฐบาลทหารต้องการการยอมรับจากต่างชาติ จึงอาศัยช่วงจังหวะเช่นนี้ในการกดดัน จะเห็นได้จากประสบการณ์ในอดีต รัฐบาลสมัยคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ (รสช.) ปี 2535 แก้ไข พ.ร.บ.สิทธิบัตร ยอมรับสิทธิบัตรยาตามแรงกดดันของสหรัฐฯก่อนหน้าที่ไทยต้องทำตามองค์การการค้าโลกถึง 8 ปี ทำให้ราคายาในประเทศไทยมีราคาแพงมากเมื่อเทียบกับจีดีพี รัฐบาลสมัยของคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ (คมช.) ปี 2551 เร่งรีบลงนามความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจที่ใกล้ชิด ไทย-ญี่ปุ่น (JTEPA) เพื่อให้ญี่ปุ่นยอมรับ คมช.โดยไม่ใส่ใจว่า ความตกลงดังกล่าวเปิดโอกาสให้มีการนำเข้าขยะทุกประเภทมาทิ้งในประเทศไทย ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของปัญหาในปัจจุบัน เราจึงไม่อยากเห็นการดำเนินนโยบายที่ผิดพลาดเช่นที่ผ่านๆมาอีก”

รายงานข่าวแจ้งว่า สภาธุรกิจสหรัฐฯ-อาเซียน ที่จะเข้าพบกับรัฐบาล มีผู้บริหารมาจาก 30 บริษัท อาทิ เชฟรอน, แกล็กโซสมิทธ์ไคลน์, มี้ด จอห์นสัน, ไฟเซอร์, ฟิลลิป มอร์ริส, เดียจิโอ (อุตสาหกรรมแอลกอฮอล์) และ โคคาโคล่า เป็นต้น

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net