Skip to main content
sharethis

ถึงแม้ว่าพรรคคอมมิวนิสต์จีนจะเพิกเฉยหรือแม้แต่สนับสนุนนายทุนแต่กลับระแวดระวังกับกลุ่มศาสนามากกว่าเพราะกลัวแย่งความภักดีจากพรรค แต่ขณะเดียวกันความแพร่หลายของศาสนาโดยเฉพาะศาสนาคริสต์ในจีนก็ควบคุมได้ยากและดูเหมือนว่าเจ้าหน้าที่รัฐบาลส่วนหนึ่งก็ปรับตัวตามหรือแม้แต่ใช้ประโยชน์ศาสนานี้


โบสถ์ในเซี่ยงไฮ้
ภาพโดย
bricoleurbanism (CC BY-NC 2.0)


1 พ.ย. 2557 เว็บไซต์นิตยสารดิอิโคโนมิสต์นำเสนอเรื่องการเติบโตอย่างรวดเร็วของศาสนาคริสต์ในเมืองเวินโจวซึ่งเป็นเมืองติดกับทะเลในมณฑลเจ้อเจียง จนถูกเรียกว่าเป็น "นครเยรูซาเลมแห่งจีน"

เมืองเวินโจวมีลักษณะภูมิศาสตร์คือมีภูเขาล้อมรอบและอยู่ห่างไกลจากเมืองหลวงปักกิ่ง เป็นเมืองที่ผู้นับถือศาสนามักจะเดินทางไปอยู่เนื่องจากพรรคคอมมิวนิสต์จีนมีนโยบายห้ามไม่ให้มีศาสนา ซึ่งเมื่อนับรวมจากเมืองอื่นๆ ในจีนจะมีอาคารสิ่งก่อสร้างชาวคริสต์อยู่ไม่มากนัก แต่เมื่อไม่นานมานี้มีโบสถ์คริสต์ที่ประดับหลังคาด้วยไม้กางเขนอยู่หลายร้อยแห่งในเวินโจว

อย่างไรก็ตามในปีนี้มีอาคารกว่า 230 แห่งในเวินโจวที่ถูกกล่าวหาว่าเป็น "สิ่งก่อสร้างผิดกฎหมาย" และถูกรื้อถอน มีวิดีโอแสดงให้เห็นภาพผู้คนพากันยืนล้อมโบสถ์เป็นโล่มนุษย์เพื่อขัดขวางแต่ก็มีคนหลายสิบคนได้รับบาดเจ็บ มีผู้ศรัทธาในศาสนาพากันร้องเพลงสวดทั้งน้ำตาในตอนที่โบสถ์ถูกรื้อถอน

ดิอิโคโนมิสต์ระบุอีกว่าเจ้าหน้าที่ทางการจีนไม่รู้สึกอะไรกับระบอบทุนนิยมในเมืองซึ่งขัดกับแนวคิดของพรรคคอมมิวนิสต์แต่กลับเห็นว่าศาสนาและสัญลักษณ์ทางศาสนาเป็นสิ่งที่ต่อต้านแนวคิดของพรรค

ชาวคริสต์ในจีนต้องทุกข์ทนจากการถูกปราบปรามมานานแล้วนับตั้งแต่สมัยของเหมาเจ๋อตุงที่แม้จะระบุเรื่องเสรีภาพทางความเชื่อไว้ในรัฐธรรมนูญแต่ก็เป็นไปเพื่อรองรับชาวมุสลิมและชาวพุทธทิเบตมากกว่า ขณะที่ชาวคริสต์ครึ่งล้านคนถูกไล่ล่าจนเสียชีวิตมีส่วนหนึ่งถูกส่งตัวไปค่ายกักกันแรงงาน แม้ว่าหลังยุคเหมาเจ๋อตุง พรรคคอมมิวนิสต์จีนจะค่อยๆ อนุญาตให้มีเสรีภาพทางศาสนาคืนมาอย่างช้าๆ มีโบสถ์ที่มีการจัดการตนเองโดยรัฐเพื่อไม่ให้มีอิทธิพลจากต่างประเทศเข้าไปได้เป็นโบสถ์ที่จดทะเบียนและแสดงความภักดีต่อรัฐบาลจีน แต่ชาวคริสต์ส่วนใหญ่ที่เหลือรอดจากยุคเหมาและผู้ศรัทธารายใหม่ก็ปฏิเสธจะเข้าร่วมกับโบสถ์ที่จดทะเบียนและหันไปหาโบสถ์ที่ตั้งเองโดยไม่ได้จดทะเบียนแทน และพรรครัฐบาลจีนก็พยายามปราบปรามโบสถ์เหล่านี้มาเป็นเวลานาน

อย่างไรก็ตามดิอิโคโนมิสต์รายงานว่าศาสนาคริสต์ควบคุมยากขึ้นเรื่อยๆ ในจีน เนื่องจากแพร่กระจายเร็วมากและมีคนในพรรคบางส่วนเป็นหันมานับถือศาสนาคริสต์ด้วย ทำให้เส้นแบ่งระหว่างโบสถ์ที่มาจากทางการกับโบสถ์ที่ก่อตั้งขึ้นเองโดยไม่ได้จดทะเบียนมีความพร่าเลือนลง อีกทั้งชาวคริสต์บางส่วนยังมีบทบาทสำคัญในสังคมมากขึ้น ทำให้พรรคคอมมิวนิสต์จีนต้องแสวงหาแนวทางใหม่ๆ ในการจัดการเรื่องนี้ ไม่เพียงแค่ศาสนาคริสต์เท่านั้น ชาวอุยกูร์ที่เป็นมุสลิม และชาวพุทธทิเบตยังเติบโตขึ้นเป็นขบวนการประชาสังคมที่มีภาพในเชิงศาสนาและแพร่กระจายเร็วทำให้ทางการจีนไม่ไว้วางใจ

ดิอิโคโนมิสต์ระบุอีกว่าแม้แต่กับชาวฮั่นเองซึ่งเป็นประชากรร้อยละ 90 ของจีนก็เริ่มมีคนนับถือศาสนามากขึ้น มีอาคารทางศาสนาปรากฏตามเมืองต่างๆ ชาวฮั่นจำนวนมากก็ยังคงเดินทางไปแสวงบุญตามศาสนสถานชาวพุทธ ซึ่งเรื่องนี้ทำให้เจ้าหน้าที่ทางการจีนกังวล ไม่เพียงเพราะคำสอนของแนวคิดมาร์กซ์ที่ระบุว่า "ศาสนาเหมือนยาฝิ่น" เท่านั้น แต่ยังเกรงว่าศาสนาจะมาแย่งความภักดีต่อพรรคและต่อรัฐจีนไปอีกด้วย

การสำรวจจำนวนชาวคริสต์ในจีนยังระบุจำนวนที่ชัดเจนไม่ได้เพราะพรรครัฐบาลจีนปฏิเสธที่จะสำรวจจำนวนประชากรที่เข้าโบสถ์ที่ไม่ใช่ของทางการ อย่างไรก้ตามศูนย์วิจัยพิวซึ่งเป็นองค์กรในสหรัฐฯ ได้เผยแพร่ผลการสำรวจเมื่อปี 2553 ว่ามีชาวคริสต์โปรเตสแตนต์อยู่ราว 58 ล้านคน และชาวคริสต์คาทอลิกอยู่ราว 9 ล้านคนในจีน แต่ผู้เชี่ยวชาญทั้งชาวจีนและชาวต่างชาติประเมินไว้ว่ามีชาวคริสต์มากกว่าจำนวนสมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์จีนเสียอีก

นักวิชาการจีนประเมินความเป็นไปได้ว่าภายในปี 2573 ประเทศจีนอาจจะมีประชากรชาวคริสต์มากที่สุดในโลกจากการเติบโตของประชากรชาวคริสต์ในประเทศนี้ร้อยละ 10 ทุกปี ทางด้านนักวิชาการต่างชาติกล่าวว่าที่ศาสนาคริสต์เติบโตขึ้นในตอนนี้เนื่องจากความเชื่อในแนวคิดมาร์กซ์กำลังเสื่อมลง ศาสนาคริสต์กลับเสนอระบบคิดในเชิงจริยธรรมแบบสำเร็จรูปรวมถึงสิ่งเหนือธรรมชาติซึ่งผู้คนมองว่าสิ่งที่ดูตายตัวแบบนี้มีความน่าดึงดูดกว่าในช่วงเวลาที่มีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา

นอกจากนี้ยังมีชาวจีนบางคนที่มองว่าศาสนาคริสต์เป็นรากฐานของแนวคิดด้านดีของตะวันตก พวกเขามองว่าเป็นพื้นฐานของการพัฒนาความเป็นธรรมในสังคม ระบอบนิติธรรมและประชาสังคม ซึ่งล้วนเป็นสิ่งที่พวกเขาต้องการจะให้เกิดขึ้นในจีน มีเอ็นจีโอที่นำโดยผู้นับถือคริสต์และพุทธ มีนักวิชาการที่เป็นคริสต์มากขึ้น นักกิจกรรมเพื่อสิทธิพลเมืองและสิทธิมนุษชนจำนวนหนึ่งเป็นคริสต์

เรื่องการจัดการศาสนาเป็นสิ่งที่ทางการกลางของจีนมอบหมายให้เจ้าหน้าที่ท้องถิ่นจัดการ การปฏิบัติต่อศาสนาในแต่ละพื้นที่จึงต่างกันไป การปราบปรามศาสนาคริสต์ในเวินโจวน่าจะเป็นเพราะเจ้าหน้าที่ท้องถิ่นต้องการเอาใจประธานาธิบดีจีน สี จิ้นผิง

อย่างไรก็ตามเจ้าหน้าที่ทางการจีนจำนวนมากกลับมองเห็นข้อได้เปรียบของการเติบโตของศาสนาคริสต์ในจีน มีนักธุรกิจผู้ร่ำรวยในเวินโจวที่กลายเป็นผู้ศรัทธาในศาสนาคริสต์ พวกเขามักจะถูกเรียกว่า "หัวหน้าชาวคริสต์" ที่สร้างโบสถ์ใหญ่ในเมือง พวกเขามักจะใช้โบถส์เป็นที่จัดประชุมระหว่างนักธุรกิจด้วยกันเพื่อหารือเรื่อง "วิธีการทำเงินตามหลักคัมภีร์ไบเบิล" ซึ่งสนับสนุนให้ทำธุรกิจอย่างสุจริต มีการจ่ายภาษีและช่วยคนจน ในแง่นี้ทำให้เจ้าหน้าที่ไม่ค่อยต่อต้านเพราะถือว่าพวกเขาเป็นนักลงทุนในพื้นที่

อีกประการหนึ่งคือเจ้าหน้าที่มักจะมองว่าชาวคริสต์เป็นพลเมืองดีที่ช่วยเหลือด้านสวัสดิการในชุมชนซึ่งส่งผลให้เกิดเสถียรภาพมากขึ้น ทางพรรคเริ่มใส่ใจเรื่องความเชื่อของประชาชนน้อยลงและหันมาใส่ใจเรื่องเสถียรภาพและการทำให้พรรคคงอำนาจผูกขาดไว้ได้ จนไม่สนว่าต้องหันมาพึ่งศาสนาหรือไม่ ซึ่งจริงๆ แล้วเจ้าหน้าที่จีนบางคนยังต้องใช้ศาสนาสร้างภาพหรืออาศัยผู้ศรัทธาในศาสนาเพื่อให้ช่วยเหลือด้านสังคมสงเคราะห์และทั้งชาวคริสต์และชาวพุทธก็ดูจะให้ความร่วมมือตรงจุดนี้อย่างเต็มใจ

ดิอิโคโนมิสต์ระบุว่าในยุคแห่งสุขนิยมและ "ความเสื่อมทราม" การทำกิจกรรมแบบเสียสละตนเองทำให้โบสถ์ได้ภาพลักษณ์ที่ดีและยังทำให้รัฐบาลเชื่อว่าชาวคริสต์ไม่ได้ต้องการโค่นล้มพวกเขา

เกอดา วีแลนเดอร์ จากมหาวิทยาลัยเวสต์มินสเตอร์ ผู้เขียนหนังสือเกี่ยวกับศาสนาในยุคจีมคอมมิวนิสต์กล่าวว่า แม้เธอจะไม่คิดว่าการเติบโตของผู้นับถือคริสต์จะเพิ่มขึ้นร้อยละ 10 ต่อปีในจีน แต่ก็ยอมรับ่วาทางการจีนเริ่มสนใจการหันไปนับถือศาสนาของประชาชนทั่วไปมากขึ้น แม้ว่าจะพยายามกดดันชาวพุทธและชาวมุสลิมในแถบภูมิภาคชาวทิเบตและอุยกูร์ แต่ในช่วงเดือน พ.ค. ที่ผ่านมาก็เปิดรับหัวหน้านักบวชคริสเตียนนิกายออโธดอกซ์จากรัสเซียซึ่งถือเป็นผู้นำทางศาสนาคริสต์ชาวต่างชาติคนแรกที่ได้พบประธานาธิบดีจีน

ก่อนหน้านี้ในปี 2544 พรรคคอมมิวนิสต์จีนอนุญาตให้ผู้ประกอบการเข้าร่วม มีบางคนเสนอให้ผู้ศรัทธาในศาสนาเข้าร่วมด้วยแต่ก็ไม่ได้รับความสนใจ แต่ในปี 2547 มีบทความในจีนอ้างว่าสมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์ 3-4 ล้านคนกลายเป็นผู้ศรัทธาในศาสนาคริสต์

การประท้วงในฮ่องกงล่าสุดก็ทำให้เกิดความกังวลเรื่องการแผ่ขยายของศาสนาคริสต์ด้วยเนื่องจากมีผู้จัดการชุมนุมบางคนเป็นชาวคริสต์ ซึ่งเป็นความกลัวในเชิงการสร้างลัทธิต่อยอดจากนั้นจนมีความเป็นการเมืองและหันมาต่อต้านคอมมิวนิสต์โดยในประวัติศาสตร์ก็มีกบฏไทปิงซึ่งนำโดยคนที่เรียกตัวเองว่าเป็นพี่น้องของพระเยซูทำให้มีผู้เสียชีวิตมากกว่า 20 ล้านคน

มีชาวคริสต์อาศัยวิธีการเช่าที่ในห้องอาคารสำนักงานช่วงวันอาทิตย์เพื่อทำพิธีกรรมซึ่งเจ้าหน้าที่ก็อนุญาต เว้นแต่เมื่อเริ่มแสดงความกระด้างกระเดื่องต่อทางการจีน แค่ในเรื่องการชุมนุมรวมตัวกันทางศาสนาพวกเขาก็ถูกปราบปราม แต่โบสถ์ไหนที่มีความระมัดระวังในเรื่องอ่อนไหวพวกเขาก็จะไม่ถูกปราบ แต่บางครั้งคนในระดับใกล้ชิดรัฐบาลจีนที่นับถือศาสนาก็อาจจะแอบช่วยเหลือเช่นเสนอการปราบปรามให้เบาลงเมื่อทางการจีนพยายามปราบปรามคนศาสนาเดียวกัน เจ้าหน้าที่และปัญญาชนผู้นับถือศาสนาบางคนยังพยายามเสนอแนวทางใหม่เป็นกฎหมายในการจัดการศาสนาในจีนด้วยเช่น การออกกฎให้เจ้าหน้าที่ทางการปราบปรามศาสนาตามอำเภอใจได้ยากขึ้น

ชาวคริสต์บางส่วนในจีนยังเริ่มมีความตื่นตัวทางสังคมและการเมืองมากขึ้น บางคนก็เริ่มพยายามต่อสู้ขัดขืนในพรรคเช่นกรณีเจ้าหน้าที่พรรคผู้หญิงคนหนึ่งยืนยันต่อผู้บังคับบัญชาว่าความเชื่อทางศาสนาของเธอได้รับการคุ้มครองจากรัฐธรรมนูญจีนทำให้เธอไม่ถึงขั้นถูกไล่ออกแต่ถูกส่งไปที่โรงเรียนปรับทัศนคติของพรรคจนกระทั่งกลับมาทำงานได้ ชาวคริสต์บางคนยังพยายามเชื่อมความสัมพันธ์กับต่างชาติเช่น อดีตประธานาธิบดีสหรัฐฯ จอร์จ ดับเบิลยู บุช ด้วย

ในแวดวงวิชาการมีชาวคริสต์จากจีนเข้าร่วมประชุมที่ออกซ์ฟอร์ดเป็นครั้งแรกในปี 2556 ซึ่งนอกจากชาวคริสต์แล้วยังมีกลุ่มซ้ายใหม่ซึ่งเน้นแนวทางความเสมอภาค กลุ่มขงจื้อใหม่ที่ต้องการส่งเสริมแนวคิดปรัชญาดั้งเดิมของจีน กลุ่มเสรีนิยมใหม่ซึ่งมีแนวคิดเศรษฐศาสตร์แบบคลาสสิกและแนวทางการเมืองแบบเสรีนิยม พวกเขาร่วมกันร่างเอกสารที่ชื่อว่า "ฉันทามติออกซ์ฟอร์ด" ซึ่งเน้นแนวคิดที่ประเทศจีนควรมีศูนย์กลางเป็นประชาชนไม่ใช่รัฐ ควรมีความหลากหลายทางวัฒนธรรม และปฏิบัติอย่างสันติต่อคนกลุ่มอื่น

แต่รายงานของดิอิโคโนมิสต์วิเคราะห์ว่าเสรีภาพทางศาสนาอาจจะทำให้เกิดความย้อนแย้งซึ่งเป็นอันตรายต่อชาวคริสต์เอง คือการที่โบถส์คริสต์จะเริ่มกลายเป็นสถาบัน มีความมั่งคั่ง และจากนั้นก็จะมีการทุจริตหรือเสื่อมทรามเช่นที่เกิดขึ้นในกรุงโรมหรือในช่วงยุคกลาง และสิ่งนี้อาจจะเกิดขึ้นแล้วเล็กน้อยในหมู่นักธุรกิจของโบสถ์เวินโจว หรือในอีกทางหนึ่งศาสนาซึ่งมีความเข้มแข็งเพราะถูกปราบปรามมาโดยตลอดอาจจะอ่อนแอลงเมื่อมีความอดกลั้นต่อความต่างของศาสนามากขึ้นเช่นที่ผู้สูงวัยคนหนึ่งในโบสถ์คริสต์ที่ไม่ได้รับอนุญาตจากทางการกล่าวว่า "ถ้าเรามีเสรีภาพในการนับถือศาสนาอย่างเต็มที่เมื่อไหร่ ศาสนาของพวกเราก็จบลงเมื่อนั้น"


เรียบเรียงจาก

Religion in China : Cracks in the atheist edifice, The Economist, 01-11-2014
http://www.economist.com/news/briefing/21629218-rapid-spread-christianity-forcing-official-rethink-religion-cracks

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net