กมธ.ยกร่างชี้ทำประชามติ รธน. ยาก ใช้เวลานานงบประมาณมาก

"พล.อ.เลิศรัตน์ รัตนวานิช" กรรมาธิการยกร่าง รธน. ระบุทำประชามติ รธน. ยากเพราะต้องใช้เวลานานและงบประมาณจำนวนมาก ได้ กมธ.ครบ 36 คน จ่อประชุมกำหนดหน้าที่ 4 พ.ย. ด้านการประชุม สนช. เริ่มพิจารณาร่างกฎหมาย 9 ฉบับที่ ครม.เสนอ รับหลักการร่าง พ.ร.บ. ประกันสังคมแล้ว
 
31 ต.ค. 2557 ไทยรัฐออนไลน์รายงานว่า พล.อ.เลิศรัตน์ รัตนวานิช สมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ในฐานะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ ระบุถึงการทำงานของกรรมาธิการภายหลังได้กรรมาธิการครบทั้ง 36 คน ภายในวันที่ 4 พ.ย. จะประชุมเพื่อกำหนดหน้าที่รับผิดชอบและระดมความเห็นความทุกภาคส่วน โดยใช้กลไกของกรรมาธิการวิสามัญที่จะตั้งขึ้นและคณะกรรมาธิการวิสามัญ รับฟังความเห็นของประชาชน ก่อนรวบรวมสรุปเพื่อส่งให้กรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญต่อไป
 
ทั้งนี้ พล.อ.เลิศรัตน์ ยังเชื่อว่า ไม่มีล็อกสเปกกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ 25 คน ในสัดส่วนของ สปช. และสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เพราะทั้งหมดมีความหลากหลาย มีความสามารถและจะเป็นที่ยอมรับ ส่วนภายหลังร่างรัฐธรรมนูญเสร็จสิ้น จะทำประชามติหรือไม่ มองว่าเป็นเรื่องยาก เพราะต้องใช้เวลานานและงบประมาณจำนวนมาก ซึ่งเห็นว่าเพียงใช้กลไกของกรรมาธิการน่าจะเพียงพอ
 
ขณะที่ร่างข้อบังคับการประชุม สปช. คาดว่าจะเสร็จสิ้นวันที่ 3 หรือ 4 พ.ย. จากนั้นจะให้สมาชิกคัดเลือกกรรมาธิการสามัญประจำ สปช.17 คณะ และนำเรื่องให้ที่ประชุมเห็นชอบใน วันที่ 10 พ.ย.
 
พิจารณาร่างกฎหมาย 9 ฉบับ ที่ ครม.เสนอ
 
ส่วนการประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ วันนี้ (31 ตุลาคม 2557) เริ่มเวลา 10.00 น. โดยมีนายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ทำหน้าที่ ประธานในที่ประชุม มีวาระเพื่อพิจารณาร่างกฎหมายที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) เสนอเข้าสู่การพิจารณาวาระแรก จำนวน 9 ฉบับ
 
ทั้งนี้ ในการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) การกีฬาแห่งประเทศไทย พ.ศ..... นาง กอบกาญจน์ วัฒนวรางกูร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ชี้แจงถึงเหตุผลการเสนอร่างพระราชบัญญัติฉบับนี้ว่า เพื่อเป็นการปรับปรุงกฎหมายว่าด้วยการกีฬาแห่งประเทศไทย พ.ศ.2528 เนื่องจากมีข้อกฎหมายบางอย่างไม่สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน รวมทั้ง กำหนดให้มีการจัดตั้งกองทุนพัฒนาการกีฬาแห่งชาติ ขึ้นในการกีฬาแห่งประเทศไทย เพื่อส่งเสริมสนับสนุนพัฒนา และจัดสวัสดิการที่เกี่ยวกับกีฬา ขณะเดียวกัน ยังมีการกำหนดหลักเกณฑ์เกี่ยวกับการจดทะเบียนจัดตั้งสมาคมกีฬา และกำหนดมาตรการในการกำกับดูแลการดำเนินการของสมาคมกีฬาให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น
 
โดยการอภิปรายของสมาชิก สนช. ส่วนใหญ่เห็นด้วยกับการแก้ไขร่างพระราชบัญญัติดังกล่าว แต่แสดงความเป็นห่วงในการบริหารจัดการกองทุนพัฒนาการกีฬาแห่งชาติ จำนวน 3,000 ล้านบาท ที่อยู่ในอำนาจการบริหารของคณะกรรมการฯ จึงต้องการให้การดำเนินงานของกองทุนเป็นไปเพื่อประโยชน์ของกีฬาอย่างแท้จริง พร้อมฝากให้ผู้ที่เกี่ยวข้องร่วมกันแก้ไขปัญหาการพนัน และการทะเลาะวิวาทของนักกีฬาระหว่างการแข่งขัน
 
รับหลักการร่าง พ.ร.บ. ประกันสังคม 
 
ในการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ประกันสังคม (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... โดยที่ประชุมได้มีมติในวาระที่ 1 รับหลักการ ด้วยคะแนนเสียง เห็นด้วย 150 ต่อ 4 งดออกเสียง 19 เสียง พร้อมตั้งกรรมาธิการวิสามัญฯ เพื่อศึกษาร่างพระราชบัญญัติ จำนวน 18 คน ในจำนวนนี้ มีผู้แทนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง 6 คน กำหนดแปรญัตติภายใน 15 วัน กรอบเวลาในการดำเนินงาน 45 วัน
 
โดย พลเอก สุรศักดิ์ กาญจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน กล่าวชี้แจงว่า สาระสำคัญในการแก้ไข คือ เรื่องความคุ้มครองให้แก่ลูกจ้างชั่วคราวทุกประเภทของส่วนราชการ การแก้ไขเพิ่มเติมนิยามคำว่า ลูกจ้าง ทุพพลภาพ ให้มีความชัดเจน รวมถึง การแก้ไขเพิ่มเติมเรื่องการจ่ายเงินสมทบของรัฐบาลเข้ากองทุนประกันสังคม เป็นต้น พร้อมกันนี้ ยังเพิ่มบทบัญญัติให้ลดหย่อนการออกเงินสมทบกรณีเกิดภัยพิบัติร้ายแรงที่ส่งผลกระทบต่อสภาวการณ์ทางเศรษฐกิจ เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของนายจ้าง ตลอดจนกำหนดโทษทางอาญากรณีนายจ้างไม่ยื่นแบบรายการแสดงการส่งเงินสมทบ
 
ทั้งนี้ ในการอภิปรายของสมาชิกฯ ได้ตั้งข้อสังเกตเกี่ยวกับกรณีให้ยกเลิกความในบทนิยามคำว่าลูกจ้าง ในมาตรา 5 แห่งร่าง พ.ร.บ. ประกันสังคม พ.ศ.2533 ให้กำหนดว่า ลูกจ้าง หมายถึง ผู้ซึ่งทำงานให้นายจ้างโดยรับค่าจ้าง ตามความในมาตรา 4 ของร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ แทน หมายรวมถึงลูกจ้างที่ทำงานในบ้านซึ่งไม่ได้ประกอบธุรกิจด้วยนั้น จะทำให้เกิดปัญหาเกี่ยวกับการจ่ายเงินสมทบในอนาคต ขณะที่ ในมาตรา 36 ที่ให้ผู้ประกันตน ซึ่งไม่มีสัญชาติไทย เมื่อความเป็นผู้ประกันตนสิ้นสุดลงไม่ว่าจะส่งเงินสมทบครบ 180 เดือน หรือไม่ก็ตามและประสงค์จะไม่พำนักอยู่ในประเทศไทยให้มีสิทธิได้รับเงินบำเหน็จชราภาพนั้น มีลักษณะที่ขัดกับพระราชบัญญัติผู้สูงอายุที่ให้ความคุ้มครองกับผู้มีสัญชาติไทย
 
นอกจากนี้ ยังได้มีการตั้งข้อสังเกตอีกหลายประการ ทั้งในกรณีผู้ประกันตน ซึ่งเป็นผู้พิการที่ถูกตัดสิทธิประโยชน์บางประการตามพระราชบัญญัติอื่นหลังเข้าเป็นผู้ประกันตน การขยายความคุ้มครองแรงงาน รวมไปถึงการขาดแรงจูงใจที่จะทำให้แรงงานนอกระบบเข้าสู่ระบบประกันสังคม
 
อย่างไรก็ตาม สมาชิก สนช. ได้อภิปรายอย่างกว้างขวาง เกี่ยวกับคณะกรรมการประกันสังคม และกองทุนประกันสังคม ว่ามีเงื่อนไขติดขัดเกี่ยวกับโครงสร้างและข้อกฎหมาย ทำให้เกิดปัญหาหลายประการทั้งในเรื่องการบริหารจัดการ การลงทุน และสวัสดิการประชาชน จึงเสนอให้แยกคณะกรรมการประกันสังคม และกองทุนประกันสังคม ออกจากส่วนราชการ เพื่อการดำเนินงานที่มีความเป็นอิสระ เป็นไปตามกลไกที่เป็นมาตรฐานสากล และตรวจสอบได้
 
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน กล่าวชี้แจงว่า กฎหมายนี้เกิดประโยชน์สุงสุดต่อผู้ประกันตนและประเทศชาติ ที่ผ่านมา มีความพยายามจะผลักดัน แต่ไม่สำเร็จจนมาถึงสมัยนี้ ทราบดีว่าทุกคนมีความรู้ ประสบการณ์ ทัศนคติมุมมองที่แตกต่างกัน แต่ยืนยันว่าร่างพระราชบัญญัติฉบับนี้ดีกว่าฉบับเดิม เพราะครอบคลุมไปถึงลูกจ้างของรัฐ และราชการที่ไม่ได้เป็นลูกจ้างประจำให้ได้รับสิทธิประโยชน์ด้วย ส่วนเรื่องความโปร่งใสของคณะกรรมการบริหาร ได้พยายามใช้ความสามารถ รื้อบอร์ดทั้งหมดด้วยดุลยพินิจ แต่ยอมรับว่า หนักใจที่เงินกองทุนนี้อยู่ภายใต้การดูแลของกระทรวงแรงงาน ส่วนตัวเห็นด้วยกับข้อเสนอที่จะให้องค์กรอิสระเข้ามาบริหารจัดการ แต่ไม่มีใครยืนยันได้ว่า จะบริหารเงินจำนวนมหาศาลได้สำเร็จ เพราะเป็นเงินจำนวนมาถึง 1.19 ล้านล้านบาท
 
 
 
ที่มาข่าวเรียบเรียงจาก
 
ไทยรัฐออนไลน์, สถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท