สภาเศรษฐกิจโลกเผย 105 ประเทศเท่าเทียมทางเพศมากขึ้น ในช่วง 9 ปีที่ผ่านมา

ในการจัดอันดับเรื่องช่องว่างระหว่างเพศในปี 2557 ของสภาเศรษฐโลกระบุประเทศไทยอยู่ในอันดับที่ 61 ในแง่ความเท่าเทียมโดยรวม แต่ในด้านการเมืองอยู่ในอันดับที่ 121 เนื่องจากการส่งเสริมผู้หญิงในทางการเมืองแย่ลงมาก


ผลสำรวจประเทศไทย
ที่มา:
http://reports.weforum.org/global-gender-gap-report-2014/
 

29 ต.ค. 2557 สภาเศรษฐกิจโลก (World Economic Forum: WEF) เปิดเผยผลการสำรวจเรื่องช่องว่างความไม่เท่าเทียมกันทางเพศประจำปี 2557 ระบุว่านับตั้งแต่ปี 2548 เป็นต้นมามีการเปลี่ยนแปลงด้านความเท่าเทียมกันไปในทางที่ดีขึ้นเป็นวงกว้าง โดยมีประเทศที่มีความเท่าเทียมกันทางเพศมากขึ้น 105 ประเทศ

WEF ทำการสำรวจ 142 ประเทศ จากตัวแปรด้านต่างๆ เช่น ด้านสุขภาวะ ด้านการศึกษา และการมีส่วนร่วมทางการเมือง มีเพียง 6 ประเทศเท่านั้นที่มีช่องว่างความไม่เท่าเทียมกันทางเพศเพิ่มมากขึ้นนับตั้งแต่ปี 2548 ได้แก่ ประเทศศรีลังกา มาลี โครเอเชีย มาซิโดเนีย จอร์แดน และตูนิเซีย

ในการสำรวจ WEF อาศัยมาตรวัดจากคำถามดังต่อไปนี้คือ ผู้หญิงได้รับค่าจ้างเท่าเทียมกับผู้ชายหรือไม่ในงานแบบเดียวกัน ผู้หญิงเข้าถึงการศึกษาหรือไม่ ผู้หญิงได้รับอนุญาตให้มีอำนาจทางการเมืองหรือไม่ ในด้านสุขภาวะ ผู้หญิงมีความเป็นอยู่อย่างไรเมื่อเทียบกับผู้ชาย

ผลการสำรวจระบุว่าประเทศไอซ์แลนด์ยังคงครองอันดับหนึ่งในเรื่องความเท่าเทียมกันทางเพศจากมาตรวัดโดยรวมติดต่อกันเป็นปีที่ 6 รองลงมาคือประเทศแถบสแกนดิเนเวียอย่างฟินแลนด์ นอร์เวย์ สวีเดน และเดนมาร์ก อยู่ในอันดับ 2-5 ตามมาด้วยประเทศนิคารากัว รวันดา ไอร์แลนด์ ฟิลิปปินส์ และเบลเยียมในอันดับที่ 6-10 ตามลำดับ

ประเทศที่ได้อันดับต่ำที่สุดคือเยเมน เนื่องจากมีอัตราการเสียชีวิตของผู้หญิงสูงและมีเด็กผู้หญิงที่อายุระหว่าง 6-14 ปี ไม่ได้ไปโรงเรียนเป็นจำนวนมาก ทางด้านประเทศรวันดาอยู่ในอันดับที่สูงเนื่องจากมีจำนวนผู้หญิงในที่ทำงาน รวมถึงในหน่วยงานของรัฐ มากพอๆ กับผู้ชาย

ทั้งนี้ รายงานของสภาเศรษฐกิจโลกยังแบ่งการจัดอันดับเป็นโดยภาพรวมและเรื่องการเมือง ในหลายประเทศอาจจะมีอันดับสองประเภทนี้แตกต่างกันมากเช่น อินเดีย ซึ่งมีความเท่าเทียมกันทางเพศด้านการเมืองอันดับที่ 15 แต่ความเท่าเทียมกันทางเพศโดยรวมอันดับที่ 114 เพราะแม้ว่าในอินเดียจะมีผู้นำหญิงอยู่ในวงการการเมืองจำนวนมาก แต่การมีส่วนร่วมในระดับสาธารณะของผู้หญิงยังถูกจำกัดซึ่งเป็นผลกระทบมาจากการโดยสารรถสาธารณะซึ่งอาจจะไม่ปลอดภัยสำหรับผู้หญิง

ส่วนประเทศไทยถูกจัดอันดับความเท่าเทียมกันทางเพศโดยรวมอยู่ในอันดับที่ 61 ซึ่งอยู่ในอันดับต่ำกว่าลาวและสิงคโปร์ ส่วนในด้านการเมืองอยู่ในอันดับที่ 121 ในเว็บไซต์ของ WEF ระบุว่าประเทศไทยทำได้ดีขึ้นในแง่การอยู่รอดและสุขภาวะอีกทั้งยังถูกจัดอยู่ในอันดับที่ 4 ของโลกในแง่ค่าแรงที่เท่าเทียมกันระหว่างสองเพศ แต่ประเทศไทยทำได้แย่ลงมากในเรื่องการส่งเสริมทางการเมืองสำหรับผู้หญิง

ทางด้านฟิลิปปินส์ซึ่งถูกจัดอยู่ในอันดับสูงสุดสำหรับกลุ่มประเทศแถบเอเชียแปซิฟิก WEF ระบุว่าเป็นประเทศที่ผู้หญิงส่วนร่วมทางเศรษฐกิจสูงมากและมีค่าแรงที่เท่าเทียมกันเมื่อเทียบระหว่างเพศ นอกจากนี้ยังมีความเท่าเทียมกันด้านอื่นๆ รวมถึงการเปิดโอกาสให้ผู้หญิงมีโอกาสเป็นผู้นำในองค์กร โดยผู้หญิงในฟิลิปปินส์มีส่วนร่วมในความเป็นเจ้าของบริษัทต่างๆ มากถึงร้อยละ 69

 

เรียบเรียงจาก

Top 10 most gender equal countries in Asia and the Pacific, WEF, 28-10-2014
http://forumblog.org/2014/10/top-10-gender-equal-countries-asia-pacific/

'Sweeping change' narrows gender gap, BBC, 28-10-2014
http://www.bbc.com/news/world-29722848

รายงานฉบับเต็ม
http://reports.weforum.org/global-gender-gap-report-2014/

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท