สปสช.เดินหน้าหนุนผ่าต้อกระจกชนิดบอด เน้นสามจังหวัดชายแดนใต้

29 ต.ค.2557 นพ.ประทีป ธนกิจเจริญ รองเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวว่า การดำเนินโครงการป้องกันตาบอดจากต้อกระจกของ สปสช. เกิดจากข้อจำกัดของการให้บริการผ่าตัดตาต้อกระจก ซึ่งต้องทำโดยจักษุแพทย์ที่กระจุกตัวอยู่ในกรุงเทพฯ และเมืองใหญ่ ทำให้การผ่าตัดต้อกระจกก่อนปี 2550 ทำได้เพียงปีละไม่เกิน 50,000 ตา หรือประมาณ1,000 ตาต่อล้านประชากร ต่ำกว่ามาตรฐานสากลที่กำหนดให้ควรอยู่ที่ 3,500 ตาต่อล้านประชากร หรือต่ำกว่าสวัสดิการข้าราชการที่ผ่าตัดต้อกระจกให้ข้าราชการและครอบครัวเฉลี่ยอยู่ที่ 7,000 ตาต่อล้านประชากร ขณะที่แต่ละปีจากข้อมูลการสำรวจภาวะตาบอด สายตาเลือนรางและโรคตาที่เป็นปัญหาสาธารณสุขของไทย ครั้งที่ 4 เมื่อปี พ.ศ. 2549-2550 ซึ่งสำรวจประชากรทุกกลุ่มอายุทั่วประเทศ พบผู้ป่วยต้อกระจกอยู่ที่ร้อยละ 9.2 ของประชากรทั่วประเทศ 60 ล้านคน โดยมีจำนวนต้อกระจกสะสม 5.4 ล้านคน ในจำนวนนี้อยู่ในส่วนที่ สปสช.ต้องดูแลรับผิดชอบประมาณ 4.3 ล้านคน และน่าจะมีหลายแสนคนที่เป็นชนิดสายตาเลือนรางรุนแรงปานกลางกระทบต่อการดำรงชีวิตจนถึงชนิดบอดที่จำเป็นต้องได้รับการผ่าตัดต้อกระจกตามคำแนะนำผ่าตัดต้อกระจกของราชวิทยาลัยจักษุแพทย์แห่งประเทศไทย แต่ผู้ป่วยเหล่านี้เข้าไม่ถึงการบริการรักษา

ทั้งนี้ถ้าจะแก้ไขปัญหาผ่าตัดต้อกระจกสะสมตามสิทธิระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า รวมถึงรายใหม่ที่เกิดขึ้นแต่ละปี สปสช.ควรผ่าตัดต้อกระจกได้ปีละไม่น้อยกว่ากว่า 150,000 ตาหรือ 3,500 ตาต่อล้านประชากรตามมาตรฐานสากล ด้วยเหตุนี้คณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ มีมติให้ สปสช.จัดทำโครงการป้องกันตาบอดจากต้อกระจกขึ้นในปี2550 เพื่อเพิ่มการบริการผ่าตัดต้อกระจกชนิดสายตาเลือนลางรุนแรงปานกลางและชนิดตาบอดจากเดิมบริการได้ปีละ 50,000 ตาเป็นไม่น้อยกว่าปีละ 120,000 ตา ด้วยการช่วงแรกเพิ่มบริการเชิงรุกในพื้นที่ขาดแคลนหรือมีการบริการต่ำโดยสนับสนุนให้หน่วยบริการของรัฐ เอกชน และมูลนิธิการกุศลต่างๆ เช่น พอ.สว.จัดบริการเชิงรุกควบคู่กับการบริการตั้งรับแบบปกติ ภายใต้การควบคุมตรวจสอบ ปรับเพิ่มคุณภาพมาตรฐานมากกว่าการผ่าตัดในระบบปกติ และในปีงบประมาณ2558 นี้ จะเน้นทำงานร่วมกับกระทรวงสาธารณสุข และฝ่ายทหาร ในการณรงค์ค้นหา และผ่าตัดต้อกระจกชนิดบอดให้กับผู้สูงอายุในจังหวัดชายแดนภาคใต้ เเป็นของขวัญปีใหม่ตามนโยบายของ นพ.รัชตะ รัชตะนาวิน รมว.สาธารณสุข

นพ.ปานเทพ คณานุรักษ์ ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนเครือข่ายระบบบริการทุติยภูมิและตติยภูมิ สปสช. กล่าวว่า สรุปภาพรวมการผ่าตัดต้อกระจก ปี 2550-2557 แนวโน้มจำนวนผ่าตัดต้อกระจกชนิดสายตาเลือนรางรุนแรงปานกลางและชนิดบอดเพิ่มขึ้นและคงที่อยู่ที่ประมาณปีละ 140,000 ตา ขณะที่จำนวนผ่าตัดเชิงรุกลดลงเหลือเฉพาะที่ให้บริการอยู่ใน รพ.ในพื้นที่ที่มีการผ่าตัดน้อยและมีคิวนัดผ่าตัดยาว โดยเฉพาะในภาคอีสานและภาคใต้ และมีแนวโน้มการให้บริการผ่าตัดชนิดบอดเพิ่มมากขึ้น จากเดิมร้อยละ 15 เพิ่มเป็นร้อยละ 25 ของการผ่าตัดต้อกระจกแต่ละปี โดยในช่วง 7 ปี มีผู้ป่วยต้อกระจกได้รับการผ่าตัดแล้ว 988,308 ราย หรือร้อยละ 45.9 ของกลุ่มผู้ป่วยที่ควรได้รับการผ่าตัดตามเกณฑ์ ในจำนวนนี้เป็นผู้ป่วยที่อยู่ในระยะตาบอด 128,480ราย สะท้อนให้เห็นถึงการบริการที่เข้าถึงผู้ป่วยที่จำเป็นต้องได้รับการรักษาเพิ่มขึ้น ส่งผลให้ผู้ป่วยมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น

“การรักษาผู้ป่วยต้อกระจกที่ สปสช.ดำเนินการ แม้ช่วยผู้ป่วยเข้าถึงการรักษาเพิ่มขึ้น แต่จากข้อมูลการบริการที่ผ่านมา สปสช.มีอัตราผ่าตัดต้อกระจกเฉลี่ยเพียง 2,800-3,000 ตาต่อล้านประชากรต่อปี ซึ่งต่ำกว่าเกณฑ์ 3,500 ตาต่อล้านประชากรต่อปี (เมื่อเทียบกลับจาก Cataract Triangle ที่เป็นมาตรฐานการกำหนดเป้าหมายของแต่ละประเทศ ตรงกับค่า VA เท่ากับหรือน้อยกว่า 20/100 ในเกณฑ์ที่ สปสช. กำหนดตามคำแนะนำของราชวิทยาลัยจักษุแพทย์แห่งประเทศไทย) ซึ่งปัจจุบันยังคงมีผู้ป่วยต้อกระจกที่ยังต้องรับการรักษาอยู่ ถือเป็นความจำเป็นในการจัดบริการ ในด้านงบประมาณที่ สปสช.ใช้ต่อรายก็ยังต่ำกว่าของสวัสดิการข้าราชการและของเอกชนมาก” นพ.ปานเทพ กล่าว

ด้าน นางสำเภา นภีรงค์ ประธานเครือข่ายผู้สูงอายุหนองจอก กทม. กล่าวว่า โครงการป้องกันตาบอดจากต้อกระจกของ สปสช. นับเป็นโครงการที่เป็นประโยชน์ โดยเฉพาะกับผู้สูงอายุในมีฐานะยากจน เข้าไม่ถึงการรักษา โดยช่วยให้ผู้ที่มีสายตาเลือนลางและอยู่ในภาวะตาบอดกลับมามองเห็นได้อีกครั้ง ทำให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นอย่างมาก ทั้งนี้ภายหลังจากที่ สปสช.ดำเนินโครงการนี้ ในฐานะประธานเครือข่ายผู้สูงอายุหนอกจอกจึงได้รวบรวมผู้สูงอายุที่มีภาวะตาต้อกระจกในพื้นที่หนองจอกและใกล้เคียงเข้ารับการผ่าตัดจำนวนกว่าพันดวงตาแล้ว จึงนับเป็นโครงการที่ดีและมีประโยชน์มาก

สปสช.จับมือ สมาคมแพทย์ระบบทางเดินอาหาร หนุนข้อมูลบริการบัตรทองสู่การวิจัยป้องกัน

ที่สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ศูนย์ราชการแจ้งวัฒนะ ได้มีการจัดพิธีลงนามบันทึกความร่วมมือ“การศึกษาเกี่ยวกับโรคระบบทางเดินอาหารในประเทศไทย” ระหว่างสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) และสมาคมแพทย์ระบบทางเดินอาหารแห่งประเทศไทย โดยมี นพ.วินัย สวัสดิวร เลขาธิการ สปสช. นพ.พิศาล ไม้เรียง นายกสมาคมแพทย์ระบบทางเดินอาหารแห่งประเทศไทย และ นพ.กำธร  เผ่าสวัสดิ์  ประธานฝ่ายวิจัย สมาคมแพทย์ระบบทางเดินอาหารฯ เป็นผู้ร่วมลงนามในครั้งนี้

นพ.วินัย กล่าวว่า สปสช. มีความยินดีอย่างยิ่งในโอกาสที่ได้มีการลงนามความร่วมมือการศึกษาเกี่ยวกับผู้ป่วยโรคระบบทางเดินอาหารแห่งประเทศไทยครั้งนี้ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อนำไปสู่การศึกษาสภาพปัญหาด้านสุขภาพและการดูแลรักษาเกี่ยวกับโรคระบบทางเดินอาหารในประเทศไทย โดยการใช้ข้อมูลการเจ็บป่วยและการให้บริการในระบบหลักประกันสุขภาพ

ทั้งนี้จากการดำเนินงานในระบบหลักประกันสุขภาพที่ผ่านมา มีข้อมูลการให้บริการผู้ป่วย ทั้งผู้ป่วยในและผู้ป่วยนอกจำนวนมาก ซึ่งที่ผ่านมาได้มีการพัฒนาระบบการจัดเก็บและตรวจสอบข้อมูล ทำให้ข้อมูลที่ได้มีความถูกต้อง ครบถ้วน สมบูรณ์ โดยในกลุ่มโรคระบบทางเดินอาหารมีจำนวนครั้งของการเข้ารับบริการผู้ป่วยนอก เพิ่มขึ้นจากปี 2554 จำนวน 16,126,164 ครั้ง เป็น17,479,419 ครั้ง ในปี 2556 เป็นผู้ป่วยในจำนวน 436,384 ครั้ง ในปี 2555 เพิ่มเป็น จำนวน 470,795 ครั้ง ในปี 2556  ซึ่งพบได้ทั้งโรคติดเชื้อและไม่ติดเชื้อ หลายโรคเป็นโรคที่สามารถป้องกันได้  ตลอดจนโรคมะเร็งในระบบทางเดินอาหาร ซึ่งต้องรับไว้รักษาในโรงพยาบาลเพิ่มขึ้นจากจำนวน 36,174 รายในปี 2554 เป็น 40,831 รายในปี 2556 

“สปสช.ได้ตระหนักถึงความสำคัญในการศึกษาวิจัย โดยเฉพาะอย่างยิ่งการศึกษาโดยใช้ข้อมูลจากสถานการณ์การเจ็บป่วยของคนไทย จะทำให้การแปลผลได้เหมาะสมและสอดคล้องกับบริบท วัฒนธรรมการดำเนินชีวิตของคนไทย และมีความเป็นไปได้ในการนำไปใช้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการให้บริการสาธารณสุข ในมิติต่าง ๆ ตั้งแต่การส่งเสริมป้องกันโรค ส่งผลให้ลดอัตราการเกิดโรค อัตราตาย และเพิ่มคุณภาพชีวิต ซึ่งเป็นเป้าหมายหลักของการดำเนินงานในระบบหลักประกันสุขภาพ อีกทั้งการลงนามครั้งนี้ยังถือเป็นภาคีความร่วมมือที่สำคัญในการสร้างเสริมระบบหลักประกันสุขภาพอย่างมีส่วนร่วมและยั่งยืนต่อไป” เลขาธิการ สปสช. กล่าว

นพ.พิศาล กล่าวว่า ที่ผ่านมาทางสมาคมแพทย์ระบบทางเดินอาหารฯ ได้ให้ทุนเพื่อทำการวิจัยโรคที่เกี่ยวข้องกับระบบทางเดินอาหารที่เป็นปัญหาของประเทศไทย และในการทำวิจัยครั้งนั้นได้พบข้อมูลที่เป็นประโยชน์ทั้งในด้านการแพทย์และสาธารณสุขที่นำไปสู่การป้องกันโรคและอัตราการป่วยได้ ด้วยเหตุนี้ทางสมาคมฯ จึงมีนโยบายที่จะผลักดันให้เกิดการวิจัยใด้ด้านต่างๆ เพิ่มมากขึ้น แต่การวิจัยเหล่านั้นเพื่อให้เกิดความแม่นยำยิ่งขึ้นจำเป็นต้องใช้ข้อมูลการเข้ารับการรักษาพยาบาลในหน่วยบริการต่างๆ ทั่วประเทศที่ถูกต้อง ซึ่งทาง สปสช.เป็นหน่วยงานที่ดูแลด้านการรักษาพยาบาลในระบบกองทุนหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า มีการรวบรวมข้อมูลบันทึกการเบิกจ่ายค่ารักษา ซึ่งเป็นฐานข้อมูลด้านสุขภาพขนาดใหญ่ จึงน่าที่จะนำมาใช้ในการสนับสนุนในการวิจัยให้ดีขึ้นได้  

 “สปสช.มีหน้าที่ในการรวบรวมข้อมูลการเบิกจ่ายค่ารักษาพยาบาล ที่เป็นข้อมูลบ่งชี้ถึงภาวะการป่วยของคนในประเทศได้ดี แต่ขาดบุคลากรในการสังเคราะห์ แต่สมาคมฯ มีนักวิชาการที่จะนำข้อมูลมาใช้ในการวิเคราะห์แก้ไขปัญหาสุขภาพของคนในประเทศ แต่ต้องการข้อมูลจาก สปสช. ดังนั้นจึงนำมาสู่การลงนามความร่วมมือในครั้งนี้ที่ไม่เพียงแค่ลดอัตราการป่วยของคนในประเทศ แต่รวมถึงการลดภาระด้านการรักษาพยาบาลลง ที่เป็นประโยชน์ต่อประชาชนและประเทศชาติ” นายกสมาคมแพทย์ระบบทางเดินอาหารแห่งประเทศไทย กล่าว

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
เรื่องที่เกี่ยวข้อง
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท