นักกฎหมายเสนอแก้ พ.ร.บ.รื้อฟื้นคดีอาญาฯ ชี้มีข้อจำกัด-รื้อฟื้นคดียาก

28 ต.ค.2557 คณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย (คปก.) จัดสัมมนาในหัวข้อ “ข้อจำกัดในการบังคับใช้พระราชบัญญัติรื้อฟื้นคดีอาญาขึ้นพิจารณาใหม่ พ.ศ.2526” ที่ห้องประชุมสำนักงานคณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย อาคารซอฟต์แวร์ ปาร์ค ผู้ร่วมอภิปรายประกอบด้วย ผศ.ปกป้อง ศรีสนิท จากคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, เบห์นาม โมฟี่ อดีตผู้ต้องโทษ และวสันต์ พานิช อดีตกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ

สมชาย หอมลออ ประธานกรรมการพิจารณาปรับปรุงและพัฒนากฎหมายด้านกระบวนการยุติธรรม และประธานอนุกรรมการปฏิรูปกฎหมายด้านการศึกษาการดำเนินคดีที่เป็นธรรม กล่าวถึงพระราชบัญญัติรื้อฟื้นคดีอาญาขึ้นพิจารณาใหม่ พ.ศ.2526 ว่า มีข้อจำกัดหลายประการทำให้กฎหมายฉบับนี้ไม่สามารถใช้บังคับได้ และยกตัวอย่างคดีเชอร์รี่แอน ว่าเป็นคดีตัวอย่างของการจับกุมผู้ต้องหาผิดตัว ซึ่งคดีในลักษณะดังกล่าวยังไม่ได้รับการแก้ไขเยียวยาในทางกระบวนการ จึงควรมีการนำกฎหมายดังกล่าวมาทบทวนและแก้ไข

ผศ.ปกป้อง ศรีสนิท เห็นว่าความผิดพลาดในกระบวนการยุติธรรมเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นได้ และการแก้ไขถูกแบ่งเป็นการอุทธรณ์ต่อศาลสูงกับการรื้อฟื้นคดีขึ้นมาพิจารณาใหม่ ซึ่งการรื้อฟื้นคดีจะทำได้ต่อเมื่อคดีดังกล่าวต้องถึงที่สุด และต้องปรากฏพยานหลักฐานใหม่เท่านั้น อย่างไรก็ตาม ผศ.ปกป้อง กล่าวถึงข้อจำกัดสำคัญของการรื้อฟื้นคดีอาญาในประเทศไทยว่า เกี่ยวข้องกับทัศนคติที่ขัดแย้งกันระหว่างความศักดิ์สิทธิ์ของคำพิพากษากับความถูกต้องแท้จริงของข้อเท็จจริง

ทางด้านเบห์นาม โมฟี่ หรือเบนนี่ อดีตผู้ต้องโทษที่ได้รับผลกระทบจากกระบวนการพิจารณาคดีอาญาที่ผิดพลาด กล่าวถึงคดีของเขาว่า ในช่วงที่อยู่ในเรือนจำ เขาพยายามแสวงหาความเป็นธรรมให้กับตัวเองจนได้พบพยานหลักฐานใหม่ จึงนำไปสู่การยื่นคำร้องขอรื้อฟื้นคดีอาญาขึ้นพิจารณาใหม่ตาม พ.ร.บ.ดังกล่าว ซึ่งในเบื้องต้นศาลอุทธรณ์อนุญาตให้มีการรื้อฟื้นคดีขึ้นพิจารณาใหม่ แต่ศาลฎีกาตัดสินให้ยกคำร้องขอรื้อฟื้นคดีอาญาขึ้นพิจารณาใหม่ในที่สุด ส่งผลให้นายเบนนี่จำต้องเป็นอดีตนักโทษ (ที่ได้รับพระราชทานอภัยโทษ)

วสันต์ พานิช ประธานกรรมการสิทธิมนุษยชนของสภาทนายความ และอดีตกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ กล่าวถึงความพยายามที่จะช่วยเหลือผู้ที่ได้รับผลกระทบจากกระบวนการพิจารณาคดีอาญาที่ผิดพลาด ซึ่งจากประสบการณ์การเป็นทนายความกว่า 40 ปี พบว่ามีคดีลักษณะดังกล่าวอยู่เป็นจำนวนมากที่ไม่สามารถเข้าสู่เงื่อนไขของการรื้อฟื้นคดีอาญาขึ้นพิจารณาใหม่ได้ เนื่องจากไม่เข้าเงื่อนไขของการปรากฏพยานหลักฐานใหม่ในคดี จึงมีประเด็นว่าจะทำอย่างไรให้พยานหลักฐานใหม่นั้นสามารถเป็นเครื่องมือในการรื้อฟื้นคดีอาญาขึ้นพิจารณาใหม่ได้จริง และควรมีการกำหนดแนวทางของลักษณะการเป็น “พยานหลักฐานใหม่” ให้มีความชัดเจน

ทางด้านแพทย์หญิงคุณหญิงพรทิพย์ โรจนสุนันท์ กล่าวว่า เรื่องข้อมูลและพยานหลักฐานแห่งคดีเป็นสิ่งสำคัญที่จะช่วยพิสูจน์ความจริงแห่งคดีจึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องใช้พยานทางวิทยาศาสตร์ ซึ่งจะต้องมีการพัฒนาระบบนิติวิทยาศาสตร์ให้เป็นไปตามหลักมาตรฐานสากล

ขณะที่ตัวแทนผู้พิพากษาศาลอุทธรณ์ให้ความเห็นว่า ควรแก้ไขมาตรา 5 ของ พ.ร.บ.ฉบับนี้ให้ครอบคลุมมากขึ้นโดยคำนึงถึงความเป็นจริงที่เกิดขึ้น เนื่องจากบทบัญญัติมาตราดังกล่าวเป็นช่องทางและเงื่อนไขของการร้องขอให้รื้อฟื้นคดีขึ้นพิจารณาใหม่

ทั้งนี้มาตรา 5  ระบุไว้ว่า “คดีใดที่ได้มีคำพิพากษาถึงที่สุดให้บุคคลใดต้องรับโทษอาญาในคดีนั้นแล้ว อาจมีการร้องขอให้รื้อฟื้นคดีขึ้นพิจารณาพิพากษาใหม่ได้ เมื่อปรากฏว่า
(1) พยานบุคคลซึ่งศาลได้อาศัยเป็นหลักในการพิพากษาคดีอันถึงที่สุดนั้น ได้มีคำพิพากษาถึงที่สุดในภายหลังแสดงว่าคำเบิกความของพยานนั้นเป็นเท็จ หรือไม่ถูกต้องตรงกับความจริง
(2) พยานหลักฐานอื่นนอกจากพยานบุคคลตาม (1) ซึ่งศาลได้อาศัยเป็นหลักในการพิจารณาพิพากษาคดีอันถึงที่สุดนั้น ได้มีคำพิพากษาถึงที่สุดในภายหลังแสดงว่าเป็นพยานหลักฐานปลอมหรือเป็นเท็จ หรือไม่ถูกต้องตรงกับความจริง หรือ
(3) มีพยานหลักฐานใหม่อันชัดแจ้งและสำคัญแก่คดีซึ่งถ้าได้นำมาสืบในคดีอันถึงที่สุดนั้น จะแสดงว่าบุคคลผู้ต้องรับโทษอาญาโดยคำพิพากษาถึงที่สุดนั้นไม่ได้กระทำความผิด”

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท