นักวิชาการอังกฤษวิเคราะห์ ทำไมคนในวงการวิชาการมักไม่ค่อย 'แต่งตัว'

ในวงการวิชาการเราอาจจะไม่ได้เห็นการแต่งตัวที่แสดงตัวตนหรือมีความหรูหรามากนัก บางคนอาจจะแต่งชุดเชยๆ หลงยุค เสื้อนอกกับเสื้อข้างในไม่เข้ากัน หรือแต่งแบบเรียบๆ เอาแค่ให้มีสิ่งปกคลุมร่างกาย เรื่องนี้ศาตราจารย์ด้านปรัชญาจากอังกฤษมีคำอธิบายในแบบขำขันแต่ก็น่าคิด

27 ต.ค. 2557 โจนาธาน วูลฟฟ์ ศาตราจารย์ด้านปรัชญาจากมหาวิทยาลัยคอลเลจลอนดอนเขียนบทความลงในเว็บไซต์เดอะการ์เดียน เกี่ยวกับคำถามประเด็นเบาๆ ที่ว่าทำไมเหล่านักวิชาการถึงมักจะแต่งตัวไม่เก่ง

วูลฟฟ์เล่าว่าเคยมีเพื่อนร่วมงานหญิงกล่าวชมเสื้อเชิ้ตของนักวิชาการคนหนึ่งแต่ก็บอกอีกว่านักวิชาการมักจะสวมเสื้อเชิ้ตกับชุดสูทที่ไม่เข้ากัน วูลฟฟ์เล่าอีกว่าเพื่อนนักวิชาการของเขาเคยได้รับบัตรเชิญไปงานที่ให้แต่งตัวแบบ "ลำลองที่ดูเนี้ยบ" แต่ก็มีศาตราจารย์อายุค่อนข้างมากสวมชุดที่เก่ากว่าตัวเขาเองทำให้สภาพชุดเป็นแบบ "มอมแมมอย่างดูเป็นทางการ" ซึ่งตรงกันข้ามกับหลักเกณฑ์การแต่งกายที่ระบุไว้ในบัตรเชิญงาน

วูลฟฟ์ระบุในบทความว่า ในสังคมชั้นสูง หลักเกณฑ์การแต่งกายที่กำหนดให้ผู้หญิงและผู้ชายต้องทำตามมีความไม่เท่าเทียมกัน ผู้ชายมักจะแต่งตัวได้ง่ายกว่าในชุดดินเนอร์สูท แต่ผู้หญิงถูกกำหนดให้ต้องสวมชุดเดรสแตกต่างกันออกไปในทุกงาน วูลฟฟ์ตั้งคำถามว่าในวงการนักวิชาการเรื่องการแต่งกายนี้มีความไม่เท่าเทียมกันอยู่ด้วยหรือไม่ เขาเล่าว่ามักจะเห็นผู้ชายในวงการวิชาการถูกวิจารณ์เรื่องแต่งกายแย่มากกว่า เช่น สวมเสื้อกันหนาวลายลูกน้ำไปสอนหนังสือ

นักวิชาการควรจะใส่ใจเรื่องรูปลักษณ์ภายนอกของเขาหรือไม่ วุลฟฟ์ระบุว่าบางคนก็ไม่ใส่ใจอย่างเห็นได้ชัด ขณะที่เพื่อนร่วมงานเขาที่เป็นผู้หญิงบอกว่าเธอคงใช้เวลาในการเลือกชุดที่แสดงให้เห็นว่า "ฉันไม่สนใจรูปลักษณ์ภายนอก" มากพอกับใช้เวลาในการเลือกชุดที่ต้องการแสดงความประทับใจ วูลลฟ์ชี้ว่าจุดนี้เองที่ทำให้มีความต่างกันทางเพศสภาพในการแต่งตัวของนักวิชาการ

"ผู้ชายสามารถสวมชุดเดิมๆ ได้ทุกวันจนกว่ากางเกงขายาวของเขาจะเผ่นหนีเวลาที่เขาพยายามหยิบมันขึ้นมาจากพื้นเพื่อเป็นการประท้วง" วุลฟฟ์ระบุในบทความ

อย่างไรก็ตามวูลฟฟ์ได้เขียนในเชิงปกป้อง "การแต่งตัวแย่ๆ" ในบทความว่า การแต่งตัวที่ดีหรือไม่ดีเป็นสิ่งที่ถูกสร้างขึ้นทางวัฒนธรรมแตกต่างกันไปตามยุคสมัยและการให้คุณค่าของแต่ละกลุ่มวัฒนธรรมแม้กระทั่งกับอาจารย์ต่างสาขาวิชา

วูลฟฟ์เขียนในเชิงติดตลกว่า "ผมมีเคล็ดลับอย่างหนึ่ง ถ้าหากคุณอยากเป็นอุปสรรคต่อการเสวนา ผมแนะนำให้คุณแต่งตัวให้ดูดีที่สุดในห้องประชุม มันจะทำให้คุณดูเหมือนผู้ให้คำปรึกษาด้านการจัดการมากกว่าจะเป็นคนหลงยุคจากยุคซิกส์ตี้"

"สำหรับผู้ชาย การติดกระดุมข้อมือจะช่วยได้ และถ้าหากคุณมีตรามหาวิทยาลัยติดอยู่ด้วยทุกคนจะรู้ว่าคุณต้องพยายามเล่นเกมอะไรบางอย่างอยู่แน่ๆ สำหรับผู้หญิงแค่มีผ้าพันคอยี่ห้อแอร์เมสก็ทำให้คนหันมาลงคะแนนให้คุณแล้ว" วูลฟฟ์ระบุในบทความในเชิงขำขัน

วูลฟฟ์ก็ยังได้อ้างอิงแนวคิดเรื่อง "การทำให้แรงงานรู้สึกแปลกแยก" ของคาร์ล มาร์กซ์ จากเอกสารต้นฉบับทางเศรษฐศาสตร์และปรัชญา (Economics and Philosophical Manuscript of 1884) ซึ่งระบุว่าในระบอบทุนนิยมทำให้คนโดยเฉพาะในสายการผลิตถูกลดคุณค่าทำให้ไม่สามารถแสดงเอกลักษณ์ของตัวบุคคลในที่ทำงานได้ ทำให้ต้องชดเชยปลอบประโลมตัวเองด้วยวิธีต่างๆ อย่างการบริโภครวมถึงการแต่งตัว วูลฟฟ์ได้คิดเชื่อมโยงแนวคิดนี้กับกรณีนักวิชาการว่า "การที่นักวิชาการแต่งตัวแย่ๆ นั้นน่าจะเพราะพวกเขารู้สึกได้รับการเติมเต็มจากการทำงานแล้ว" จึงไม่จำเป็นต้องปลอบประโลมตัวเองด้วยการแต่งกายเพื่อแสดงตัวตน

เรียบเรียงจาก

Why do academics dress so badly? (Answer: they are too happy), The Guardian, 21-10-2014
http://www.theguardian.com/education/2014/oct/21/why-do-academics-dress-so-badly

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท