กสม.ชี้ โครงการเขตเศรษฐกิจฯทวาย ละเมิดสิทธิฯแบบข้ามพรมแดน

กลุ่มผู้ได้รับผลกระทบจากโครงการเขตเศรษฐกิจฯทวาย เข้าให้ข้อมูลคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนฯ สะท้อนภาพรวมของผลกระทบ ที่ยังไม่ได้แก้ไข ภายใต้การผลักดันโครงการครั้งใหม่ของรัฐบาลไทย-พม่า ด้าน‘หมอนิรันดร์’ ชี้ละเมิดสิทธิมนุษยชนแบบข้ามพรมแดน

21 ต.ค. 57 ที่สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ตัวแทนชุมชนที่ได้รับผลกระทบจากโครงการเขตเศรษฐกิจพิเศษทวาย(Dawei Special Economic Zone – DSEZ) พร้อมตัวแทนภาคประชาสังคม เดินทางให้ข้อมูลกับคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ และเสนอข้อกังวลเกี่ยวกับโครงการที่กำลังจะเดินหน้าอีกครั้ง หลังจากพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีได้เดินทางเยือนสาธารณรัฐแห่งสภาพพม่าอย่างเป็นทางการ เมื่อวันที่ 9 –10 ตุลาคม ที่ผ่านมา (อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง)

ตัวแทนจากสมาคมพัฒนาทวาย(Dewei Development Association – DDA) เปิดรายงานฉบับใหม่ที่ชื่อว่า “เสียงจากชุมชน: ข้อกังวลต่อโครงการเศรษฐกิจพิเศษทวายและโครงการที่เกี่ยวข้อง” โดยเป็นการรวบรวมข้อมูลผลกระทบและข้อกังวลของคนในชุมชน เพื่อเสนอต่อคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ

ในรายงานฉบับดังกล่าวระบุถึงปัญหาและผลกระทบที่เกิดขึ้นกับชุมชนในเขตโครงการเขตเศรษฐกิจพิเศษทวาย โดยประเด็นที่สำคัญที่สุดและเป็นที่มาของปัญหาอื่นๆ คือ ในการดำเนินโครงการที่ผ่านมาไม่ว่าจะเป็นการสร้างท่าเรือขนาดเล็กซึ่งปัจจุบันได้สร้างเสร็จแล้ว การสร้างถนนเพื่อใช้เป็นเส้นทางเข้าออก และกิจกรรมอื่นๆ ที่กำลังจากเกิดขึ้น ข้อมูลต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับโครงการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษนี้ ไม่ได้มีการแจ้งให้ชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบทราบอย่างทั่วถึง ชาวบ้านโดยส่วนมากได้รับข้อมูลอย่างไม่เป็นทางการจากการบอกเล่าปากต้องปาก ซ้ำยังไม่เข้าใจรายละเอียดของโครงการว่าเกี่ยวข้องกับอะไร เพราะไม่ได้มีการแจ้งรายละเอียดใดๆให้ทราบ

รายงานฉบับนี้ยังระบุถึงกระบวนการเปิดรับฟังความคิดเห็นจากชาวบ้าน ด้วยว่า เป็นเพียงการเรียกเชิญเฉพาะบุคคลที่เป็นประโยชน์ต่อการดำเนินโครงการ หรือเป็นบุคคลที่เห็นด้วยกับโครงการเท่านั้น อย่างไรก็ตามแม้จะมีการเข้ามาพูดคุยของเจ้าหน้าที่รัฐ(พม่า)กับชาวบ้านอยู่บ้าง แต่ก็ไม่ได้เป็นการรับฟังความคิดเห็นของชาวบ้านและชุมชนแต่อย่างใด ทว่าเป็นเพียงการเข้ามาบอกข้อเสนอข้อรัฐเท่านั้น

สิ่งที่เป็นปัญหาอีกประการหนึ่งคือ การยึดคืนที่ดินที่ทำกินของชาวบ้านซึ่งส่วนมากประมาณร้อย 71 ประกอบอาชีพเกษตรกรรม มีกระบวนการที่ไม่เป็นธรรม ขาดการตกลงระหว่างรัฐกับชุมชน และมีการจ่ายค่าชดเชยที่ไม่ถูกต้อง

“ชาวบ้านอย่างเราไม่รู้ข้อมูลอะไรมาก เจ้าหน้าที่รัฐเข้ามาบอกว่าจะต้องใช้พื้นที่ตรงนี้ก่อสร้างโครงการ แล้วให้เราเซ็นรับเงินชดเชย ซึ่งถึงว่าน้อยมากไม่เพียงพอที่จะย้ายออกไปหาที่ทำกินใหม่ แต่เราก็ต้องรับ เพราะเขาขู่ว่าถ้าไม่เซ็นรับจะไม่ได้อะไรเลย” ชาวบ้านจากทวายกล่าว

“เมื่อสองปีก่อน มีการสร้างถนนและท่าเรือน้ำลึก สิ่งที่เกิดขึ้นคือมีชาวบ้านในหมู่บ้านมูดู 16 คนสูญเสียที่ทำกินของตัวเอง จนกระทั้งวันนี้ยังไม่ได้รับเงินชดเชยใดๆ เลย” U Aung Myint ชาวบ้านหมู่บ้านมูดูกล่าว

ขณะที่ Saw Keh Doh ชาวบ้านจากหมู่บ้านตะบิวซองได้ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า ตั้งแต่เริ่มโครงการและมีการสร้างถนนเข้ามาในหมู่บ้าน ทำให้ตนและคนในหมู่บ้าน สูญเสียทั้งที่ดินที่ทำกิน น้ำสะอาด และอาชีพ แต่กลับไม่ได้รับการชดเชยอะไร ไม่มีการแจ้งข้อมูลหรือปัญหาที่จะเกิดขึ้นพร้อมกับโครงการนี้

ในส่วนของการโยกย้ายชาวบ้านออกจากพื้นที่ ชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบจากโครงการได้เล่าว่า ได้มีการโยกย้ายชาวบ้านออกจากพื้นที่นาบูเล่ เพื่อที่จะพัฒนาให้เกิดเขตเศรษฐกิจพิเศษ แต่สิ่งที่ยังเป็นที่กังวลคือ บ้านที่รัฐได้สร้างให้ไม่ได้มีโครงสร้างที่มั่นคง และที่สำคัญคือ ชาวบ้านกว่า 32,000 คนที่จะถูกย้ายออกไปส่วนมากประกอบอาชีพเกษตรกรรม แต่พื้นที่ที่จะต้องไปอยู่นั้นไม่มีพื้นที่เพียงพอสำหรับทำการเกษตร ทั้งนี้ยังย้ำว่าหากจะให้ชาวบ้านออกจากพื้นรัฐจะต้องมีหลักประกันว่า คุณภาพชีวิตของพวกเขาจะต้องไม่แย่ลงกว่าเดิม

ใครจะเป็นผู้รับผิดชอบ

“ที่มาวันนี้เพราะเราต้องการรู้ว่าใครจะเป็นผู้รับผิดชอบ ซึ่งการให้ข้อมูลครั้งนี้ทางคณะกรรมการสิทธิฯได้เชิญ บริษัท อิตาเลียนไทย ซึ่งเคยเป็นผู้ลงทุนหลักในโครงการ ก่อนจะมีการเปลี่ยนแปลงเป็นการร่วมมือระหว่างรัฐไทยกับพม่า แต่น่าเสียดายที่ทางบริษัทปฏิเสธไม่ร่วมงานครั้งนี้ โดยให้เหตุผลว่าไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับโครงการนี้แล้ว และยิ่งตอนนี้กำลังจะมีการผลักดันโครงการนี้อีกครั้ง คำถามที่เราต้องการคือใครกันจะเป็นผู้รับผิดชอบผลกระทบที่เกิด ทั้งที่เกิดขึ้นแล้วและกำลังจะเกิดขึ้นอีก”ตัวแทนจากกลุ่มประชาสังคมชุมชนกระเหรี่ยงกล่าว

ด้าน นิรันดร์ พิทักษ์วัชระ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ กล่าวถึงการศึกษารายละเอียดกรณีโครงการเขตเศรษฐกิจพิเศษทวายว่า มีการกระบวนดำเนินการที่เป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนแบบข้ามพรมแดน ซึ่งปัจจุบันแม้ว่าการพัฒนาทางด้านเศรษฐกิจจะมีความสำคัญอย่างมากต่อภูมิภาคอาเซียน แต่ก็ไม่สามารถที่จะละเลยเรื่องของสิทธิมนุษยชนได้ อย่างไรก็ตามภายใต้การร่วมในนามกลุ่มประเทศอาเซียนไม่ได้มีเพียงการร่วมมือทางด้านเศรษฐกิจแต่เพียงอย่างเดียวเท่า แต่ยังมีข้อตกลงร่วมกันในเรื่องสิทธิมนุษยชน และมีกลไกพิทักษ์สิทธิมนุษยชนในภูมิภาคด้วย

“แน่นอนผมเองก็เห็นด้วยกับการพัฒนา แต่ประเด็นสำคัญคือเราจะพัฒนาอย่างไรไม่ให้เกิดการทำร้ายประชาชน” นิรันดร์กล่าว

ขณะที่แนวทางที่คณะกรรมการสิทธิฯ กำลังเร่งดำเนินการคือ จะมีการเชิญตัวแทนจากรัฐบาลไทยและหน่วยงานต่างๆที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งบริษัทอิตาเลียนไทย เข้ามารับฟังข้อมูลและข้อกังวลจากรายงานพิเศษที่ทางสมาคมพัฒนาทวายได้ทำขึ้น พร้อมทั้งจะเสนอคำแนะนำให้การดำเนินการต่างๆต้องมีความเป็นธรรมต่อคนทุกกลุ่ม โดยจะต้องยึดสิทธิมนุษยชนเป็นหลักการในการดำเนินงาน ซึ่งภายใน 1-2 สัปดาห์จะมีข้อมูลและหนังสือเชิญผู้ที่เกี่ยวข้องทั้งหมดมาร่วมรับฟังปัญหา คาดว่าประมาณต้นเดือนพฤศจิกายน จะได้มีการพูดคุยร่วมกันระหว่างคณะกรรมการสิทธิฯ ตัวแทนจากรัฐบาล และผู้ที่เกี่ยวข้องอีกครั้ง

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท