สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ: 14 ตุลากับวัฒนธรรมหนังสือ

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

 

เมื่อวันอาทิตย์ที่ 12 ตุลาคมที่ผ่านมาคณะกรรมการ 14 ตุลาเพื่อประชาธิปไตยสมบูรณ์ ได้จัดรายการแนะนำ 100 เล่ม หนังสือดี 14 ตุลา ที่ห้องประชุมมูลนิธิ 14 ตุลา เพื่อเป็นการสรุปโครงการ และหวังที่จะให้หนังสือเหล่านี้เป็นแหล่งสืบค้นหรือข้อมูลอ้างอิงในการเรียนการสอน และจัดกิจกรรมในโรงเรียนหรือห้องสมุด และมากกว่านั้น คือการนำเสนอชักชวนให้สังคมไทยเกิดความสนใจอ่านหนังสือมากขึ้น

ความจริงแล้วโครงการนี้ สอดคล้องอย่างยิ่งกับพัฒนาการทางประวัติศาสตร์ของขบวนการ 14 ตุลา เพราะสาเหตุสำคัญของการก่อเกิดขบวนการ 14 ตุลา คือ วัฒนธรรมหนังสือ จากนั้น ขบวนการนักศึกษาไทยก็ก่อเกิดปรากฎการณ์พิเศษของวัฒนธรรมหนังสือ ที่ถือได้ว่าเป็นครั้งเดียวในประวัติศาสตร์ไทยที่มีลักษณะเช่นนี้

ย้อนหลังกลับไปก่อนหน้าเหตุการณ์ 14 ตุลาคม พ.ศ.2516 ซึ่งเป็นยุคสมัยเผด็จการทหาร สื่อสารสนเทศหลักคือวิทยุเป็นสถานีวิทยุของหน่วยงานกองทัพแทบทั้งหมด ส่วนโทรทัศน์มี 4 ช่อง และอยู่ภายใต้การควบคุมของรัฐ ภายใต้ระบอบเช่นนั้น หนังสือกลายเป็นเครื่องมือสำคัญในการเคลื่อนไหวทางความคิดของปัญญาชนต่อต้านเผด็จการ ดังนั้น วารสารเช่น สังคมศาสตร์ปริทัศน์ จึงมีความสำคัญอย่างมากในการให้ข้อมูล และเผยแพร่ความรู้ใหม่นอกกรอบความรู้กระแสหลักของทางราชการ สาระสำคัญของความรู้ที่ถูกนำเสนอ ก็คือ ประชาธิปไตย เช่น เรื่องการต่อสู้ของขบวนการประชาธิปไตยต่างประเทศ เรื่องการต่อต้านคัดค้านจักรพรรดินิยม และแม้แต่เรื่องราวเชิงทฤษฎีการเมืองประชาธิปไตย

หลังการรัฐประหาร พ.ศ.2514 ได้เริ่มมีการนำหนังสือก้าวหน้าช่วงทศวรรษ 2490 กลับมาตีพิมพ์ เช่น เรื่อง ศิลปะเพื่อชีวิต หรือ นวนิยายเรื่อง ความรักของวัลยา ของเสนีย์ เสาวพงศ์ แลไปข้างหน้า และ สงครามชีวิต ของศรีบูรพา เป็นต้น แต่ที่สำคัญ คือ การเกิดของวัฒนธรรมหนังสือเล่มละบาทที่พิมพ์เป็นเล่มเล็ก จำนวนไม่มากนัก เสนอประเด็นเฉพาะเรื่อง และขายในสถาบันการศึกษาหรือหน้าประตูโรงเรียนสำคัญ ซึ่งเป็นการขยายความรู้กระแสรอง ให้กว้างออกไป

หนังสือเหล่านี้ไม่ได้เป็นเพียงการขยายความรู้เท่านั้น แต่ยังเป็นเครื่องมือสำคัญในการสร้างอุดมการณ์ หรือจิตสำนึกเพื่อส่วนรวม หนังสือเช่น หนุ่มสาวคือชีวิต ผลงานของ”ศราวก”(อนุช อาภาภิรม) เรื่องโลกของหนูแหวน หรือแม้กระทั่ง นวนิยายเรื่อง เขาชื่อกานต์ ของสุวรรณี สุคนธา ก็มีส่วนอย่างมากในการสร้างแรงบันดาลใจสำหรับเยาวชนคนหนุ่มสาว อันนำมาซึ่งขบวนการ 14 ตุลา

หลังจากเหตุการณ์ 14 ตุลาคมผ่านไปด้วยชัยชนะของประชาชน นำมาซึ่งยุคประชาธิปไตยเบ่งบาน ก็ได้นำมาซึ่งยุคเบ่งบานหรือบูมของตลาดหนังสือด้วย ได้มีการพิมพ์หนังสือใหม่ออกมาเป็นจำนวนมากมายอย่างไม่เคยปรากฏมาก่อน ตั้งแต่ พ.ศ.2517 จะเห็นการเฟื่องฟูของหนังสืออย่างชัดเจน หนังสือเหล่านี้เผยแพร่ความรู้ใหม่ ความคิดใหม่ และกลายเป็นเครื่องมือสำคัญในการสร้างอุดมการณ์ใหม่ แต่ที่สำคัญคือหนังสือเหล่านี้”ขายได้”หรือเป็นที่ต้องการของตลาด หลายเรื่องขายดีต้องพิมพ์ซ้ำหลายครั้ง นั่นหมายถึงว่า กรณี 14 ตุลาได้สร้างการบูมของการซื้อหนังสือด้วย เงินที่ได้จากการพิมพ์หนังสือเล่มเดิม นำมาสู่การพิมพ์หนังสือเล่มใหม่ ทำให้ความรู้ความคิดใหม่ขยายตัวอย่างมาก และกลายเป็นเรื่องท้าทายสั่นคลอนความรู้กระแสหลักในสังคมไทย

ทั้งนี้คงต้องอธิบายเพิ่มเติมว่า หนังสือใหม่จำนวนมากที่เป็นหนังสือขายดีสำหรับยุคสมัย ก็คือหนังสือสังคมนิยม เพราะในสมัยเผด็จการ ความรู้เรื่องสังคมนิยมเป็นเรื่องต้องห้าม ศึกษาหรือเผยแพร่ได้เพียงด้านเดียว คือ  ด้านที่ต่อต้านคอมมิวนิสต์เท่านั้น ข้อมูลกระแสหลักถือว่า จีนคอมมิวนิสต์นั้นเป็นศัตรู มีการสร้างภาพเกี่ยวกับความเลวร้ายของคอมมิวนิสต์ โดยยกตัวอย่างด้านลบของคอมมิวนิสต์จีน ซึ่งจำนวนมากเป็นเรื่องที่บิดเบือนเติมแต่ง สถานะที่เป็นของประเทศจีน ไม่ได้เป็นที่ทราบกันมาก่อน เพราะความสัมพันธ์ทางการทูตกับจีนก็ไม่มี เผด็จการไทยรับรองจีนก๊กมินตั๋งเสมอ ดังนั้น ความรู้ใหม่เกี่ยวกับจีนจึงกลายเป็นเรื่องแรกที่ประชาชนสนใจใคร่รู้ เมื่อองค์การนักศึกษาธรรมศาสตร์ จัดนิทรรศการจีนแดงเมื่อต้นปี พ.ศ.2517 จึงกลายเป็นนิทรรศการที่มีผู้ชมมากมายมหาศาล หนังสือในงานขายหมดจนต้องพิมพ์ซ้ำ และนิทรรศการก็ต้องจัดซ้ำ ความรู้เรื่องจีนจึงเป็นเรื่องใหม่ในความสนใจของประชาชนที่เฟื่องฟูเป็นเรื่องแรก

หลังจากนั้น ก็ได้มีการพัฒนามาสู่การเผยแพร่หนังสือลัทธิมาร์กซ ทฤษฎีสังคมนิยม ประวัติของนักต่อสู้สังคมนิยม เช่น เช กูวารา เหล่านี้ กลายเป็นหนังสือขายดี และนำมาสู่หนังสือด้านอื่น โดยเฉพาะหนังสือที่เสนอข้อมูลเชิงวิพากษ์ ตั้งแต่วิพากษ์การนำเสนอประวัติศาสตร์แบบเดิมที่มุ่งอธิบายบุญญาบารมีของชนชั้นนำ มาสู่กระแสใหม่อันเป็นประวัติศาสตร์เศรษฐกิจสังคม และเป็นประวัติศาสตร์ของประชาชนชนชั้นล่าง กระแสวิพากษ์ความไม่เท่าเทียม ความเหลื่อมล้ำต่ำสูงในสังคม วิพากษ์หลักสูตรการศึกษาและวิพากษ์การศึกษาเพื่อผู้กดขี่ นำเสนอปัญหาความไม่เท่าเทียมกันระหว่างเพศ หรือเรื่องการกดขี่สตรี เป็นต้น ซึ่งอาจสรุปได้ว่า วัฒนธรรมหนังสือที่พัฒนาหลัง 14 ตุลา กลายเป็นวัฒนธรรมหนังสือกระแสใหม่ ที่จะมีผลอย่างมากในการเปลี่ยนโครงสร้างทางความคิดของขบวนการนักศึกษา

ในกระบวนการนี้ นวนิยายแบบใหม่ก็ได้เกิดขึ้นและพัฒนาด้วย ซึ่งก็คือการเกิดของนวนิยายเพื่อชีวิต ซึ่งไม่ได้หมายรวมเพียงเรื่องแลไปข้างหน้า หรือ ปีศาจของเสนีย์ เสาวพงศ์เท่านั้น แต่ต้องนับรวมวรรณกรรมต่างประเทศที่สะท้อนสังคม เช่น เรื่องแม่ ของ แมกซิม กอร์กี้ ฉบับแปลของศรีบูรพา ซึ่งมีเพียงครึ่งเรื่องแรก เรื่อง เหยื่ออธรรม ของ จูเลียต ซึ่งมีครึ่งเรื่องเช่นกัน เรื่อง คนขี่เสือ ฉบับแปลของทวีปวร และเมื่อ พ.ศ.2519 เมื่ออุดมการณ์ลัทธิมาร์กซของขบวนการนักศึกษาเข้มข้นมากขึ้น ก็มีการพิมพ์เรื่อง เบ้าหลอมนักปฏิวัติ ซึ่งเรียกร้องวินัยและการเสียสละเพื่ออุดมการณ์ นอกจากนี้ ก็คือการพิมพ์วรรณกรรมแปลจากจีนเป็นจำนวนมาก ซึ่งเป็นวรรณกรรมรักชาติและวรรณกรรมปฏิวัติ เช่น เรื่อง พายุ ตะเกียงแดง หญิงผมขาว หรือ หลิวหูหลาน ก็เป็นที่รู้จักกันเป็นอย่างดี

หนังสือที่นำเสนอในเชิงของชีวทัศน์อย่างเข้มข้นในลักษณะอื่น ก็พิมพ์ออกสู่ตลาดหนังสือมากขึ้นตั้งแต่ พ.ศ.2518 เป็นต้นมา เช่น เสริมทฤษฎี ชีวทัศน์เยาวชน พลังชีวิต ทัศนะความรักที่ก้าวหน้า ฯลฯ หนังสือเหล่านี้กลายเป็นเครื่องมือในการดัดแปลงตนเองของนักศึกษาให้เป็นนักปฏิวัติที่เสียสละเพื่อประชาชน จิตสำนึกเพื่อส่วนรวมที่สร้างขึ้นในช่วงก่อน 14 ตุลา พัฒนามาเป็นจิตใจรับใช้ประชาชน จิตสำนักปฏิวัติโดยผ่านกระบวนการของหนังสือ หรืออธิบายในอีกด้านหนึ่งก็คือ วัฒนธรรมหนังสือมีส่วนสำคัญในการปรับโฉมหน้าของขบวนการ 14 ตุลาไปสู่การกลายเป็นขบวนการปฏิวัติสังคม

อยากจะตั้งข้อสังเกตเพิ่มเติมว่า ในท่ามกลางการเฟื่องฟูของหนังสือสังคมนิยม หนังสือต่อต้านคอมมิวนิสต์ก็เฟื่องฟูขึ้นด้วย มีการพิมพ์หนังสือที่มีเนื้อหาต่อต้านคอมมิวนิสต์ออกมาอย่างมากมายเป็นประวัติการเช่นเดียวกัน ในช่วง พ.ศ.2517-2519 แต่หนังสือเหล่านี้กลับไม่เป็นที่นิยม ไม่ครองใจตลาด และยอดขายเทียบไม่ได้เลยกับหนังสือฝ่ายสังคมนิยม

เมื่อเกิดการกวาดล้างในกรณี 6 ตุลา วัฒนธรรมหนังสือลักษณะดังกล่าวก็ปิดฉากลงด้วย แน่นอนว่าระยะตั้งแต่ พ.ศ.2521 มีการรื้อฟื้นการพิมพ์หนังสือสังคมนิยม หรือรื้อฟื้นเอาหนังสือช่วง 14 ตุลากลับมาตีพิมพ์ แต่ไม่เคยบูม ขายดี หรือเฟื่องฟูเท่าช่วงหลัง พ.ศ.2516 อีกเลย ยิ่งหนังสือต่อต้านคอมมิวนิสต์ก็ปิดฉากสมบูรณ์เช่นกัน

นี่ถือว่าเป็นเรื่องเล่าสู่กันฟัง

เผยแพร่ครั้งแรกใน โลกวันนี้ วันสุข ฉบับที่ 484 วันที่ 20 ตุลาคม 2557
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท