Skip to main content
sharethis

ในวาระ 180 วันการหายตัวไปของ "บิลลี่ พอละจี" - องอาจ เดชา เขียนถึงภาพยนตร์สั้น "วิถีชีวิต The Way of Lives" ผลงานของ "บิลลี่" ร่วมกับชาวบ้านโป่งลึก-บางกลอย และ "เพื่อนไร้พรมแดน" และผลงานเพลงของศิลปินชาวปกาเกอะญอ "ชิ สุวิชาน" ที่อัลบั้มล่าสุดของเขาได้แรงบันดาลใจมาจากการต่อสู้เพื่อรักษาทรัพยากรของชาวบ้านแห่งป่าแก่งกระจาน

พิณนภา พฤกษาพรรณ หรือ "มึนอ" ผู้เป็นภรรยา "บิลลี่" พอละจี รักจงเจริญ และลูกของบิลลี่

หนังสั้น "วิถีชีวิต The Way of Lives" ผลงานของบิลลี่ และ ชาวบ้านโป่งลึก-บางกลอย ร่วมกับ มูลนิธิเพื่อนไร้พรมแดน และ ศูนย์ศึกษาชาติพันธุ์และการพัฒนา มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

180 วันการหายตัวไปของบิลลี่ ดูเหมือนว่า เหตุการณ์ยังคงเกิดขึ้นอยู่ซ้ำๆ ความตายและการทำให้หายสาบสูญ ยังคงเกิดขึ้นบนผืนแผ่นดินไทย แผ่นดินที่พี่น้องปกาเกอะญอบอกว่า "โห่ โข่ เคลอ" หรือแผ่นดินที่ร้องไห้

หากย้อนกลับไป ปี 2539 เราจะยินข่าว ชาวบ้านกะเหรี่ยง หรือปกาเกอะญอ หมู่บ้านใจแผ่นดิน ซึ่งเป็นบ้านดั้งเดิมของชาวบ้านปกาเกอะญอหรือกะเหรี่ยงที่ตั้งรกรากอาศัยอยู่มานานหลายชั่วอายุคน ได้ถูกเจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติแก่งกระจานขับไล่ให้มาอยู่ที่บ้าน บางกลอยล่าง และบ้านโป่งลึก ทว่ามีชาวบ้านหลายรายปรับตัวไม่ได้ และมีปัญหาเรื่องที่ดินทำกิน จึงกลับไปยังรกรากเดิมของพวกเขา แต่เจ้าหน้าที่อุทยานติดตามไล่กลับลงมาหลายครั้ง และครั้งล่าสุดเมื่อปี 2554 มีการเผาบ้าน เผายุ้งฉาง จนกลายเป็นคดีความ จนกระทั่ง "ปู่โคอี้" วัย 104 ปี ชาวไทยเชื้อสายกะเหรี่ยง ซึ่งเป็นปู่ของ "บิลลี่" หรือนายพอละจี รักจงเจริญ หรือบิลลี่ หนึ่งในผู้เสียหายจากการถูกเผาบ้าน ได้ยื่นฟ้องต่อกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช และกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ในข้อหาละเมิด เนื่องจากถูกเจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติแก่งกระจานบุกรุก เผาบ้านและยุ้งฉางข้าว พร้อมขับไล่ออกจากชุมชนเดิม

ต่อมา "บิลลี่"  ยังคงเป็นเหมือนตัวเชื่อมระหว่างพี่น้องชาวบ้านกับสังคมภายนอก ให้รับรู้เรื่องราว ความขัดแย้ง การต่อสู้เรียกร้องของชาวบ้านมาอย่างยาวนาน และหนึ่งกิจกรรมหนึ่งของเขา นั่นคือเป็นผู้ประสานงาน ชักชวนพี่น้องชาวบ้านโป่งลึก-บางกลอย ร่วมกันผลิตหนังสั้น เรื่อง “วิถีชีวิต The way of lives” โดยได้ร่วมกับมูลนิธิเพื่อนไร้พรมแดน และศูนย์ศึกษาชาติพันธุ์และการพัฒนา มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

แต่จู่ๆ เมื่อวันที่ 17 เมษายน2557 ที่ผ่านมา "บิลลี่" ก็ได้หายตัวไปอย่างลึกลับ โดยเหตุการณ์นี้เกิดขึ้นหลังถูกนายชัยวัฒน์ ลิ้มลิขิตอักษร หัวหน้าอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน ควบคุมตัวสอบสวนบิลลี่ ว่าครอบครองน้ำผึ้งป่าและได้อ้างว่าปล่อยตัวไปแล้ว แต่หลายฝ่ายตั้งข้อสังเกตว่า การหายตัวไปของบิลลี่เกี่ยวข้องกับการที่บิลลี่เป็นผู้ประสานงานกับนักกฎหมายฟ้องนายชัยวัฒน์ต่อศาลปกครอง กรณีเผาบ้าน เผายุ้งข้าวชาวกะเหรี่ยง เพื่อผลักดันให้ออกจากป่า เมื่อปี 2554 ที่ผ่านมา

ทุกวันนี้ ความคืบหน้าของบิลลี่ ยังคงเงียบงัน ยังไม่รู้ชะตากรรม จนทำให้ น.ส.พิณนภา พฤกษาพรรณ หรือมึนอ ภรรยานายพอละจี รักจงเจริญ หรือบิลลี่ แกนนำกะเหรี่ยงบ้านโป่งลึก-บางกลอย ต้องอดทน และเฝ้ารอคอยด้วยความหวัง ในขณะเดียวกัน เธอยังคงเดินหน้าเรียกร้องและทวงถามไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งในประเทศไทยและองค์กรระหว่างประเทศ มาอย่างต่อเนื่อง

ในขณะเดียวกัน หนังสั้น เรื่อง “วิถีชีวิต The way of lives” ซึ่งเป็นผลงานของบิลลี่ และ ชาวบ้านโป่งลึก-บางกลอย ร่วมกับ มูลนิธิเพื่อนไร้พรมแดน ศูนย์ศึกษาชาติพันธุ์และการพัฒนา มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ก็ได้รับรางวัลพิราบขาว จากมูลนิธิ 14 ตุลา และประกาศนียบัตร รางวัล รัตน์ เปสตันยี ในงานเทศกาลภาพยนตร์สั้น ครั้งที่ 18 ซึ่งเหมือนเป็นงานศิลปะอีกแขนงหนึ่ง ที่ได้บันทึกเรื่องราวประวัติศาสตร์ความขัดแย้งระหว่างรัฐกับชุมชนให้ผู้ชมได้ดูสัมผัสอย่างเจ็บปวดและตอกย้ำ ว่ารัฐไทยยังคงมีอคติทางชาติพันธุ์อยู่เหมือนเดิม

มาลี สิทธิเกรียงไกร อาจารย์ศูนย์ศึกษาชาติพันธุ์และการพัฒนา มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ บอกเล่าไว้ว่า “เนื้อหาของภาพยนตร์สั้น The way of lives ที่ชาวบ้านบางกลอยเลือกนำเสนอ เป็นเรื่องที่เขาเผชิญอยู่ อยากบอกเล่าเรื่องราวให้คนภายนอกรู้ ว่าเขาเจออะไรบ้าง   หลังจากที่ชาวบ้านได้ทำแล้วเขาก็อยากทำอีก เขามีความสุขที่ได้เล่าเรื่องราว และได้พัฒนาทักษะ ซึ่งเขาไม่เคยจับกล้องมากันก่อน บิลลี่เคยจับกล้อง แต่คนอื่นไม่เคยคุ้นกับเทคโนโลยี และก่อนที่บิลลี่จะหายไป 1-2 เดือนที่แล้ว เขาได้มาปรึกษาว่าอยากทำภาพยนตร์นั้นอีกเรื่องหนึ่ง แต่ยังไม่ได้นัดคุยกับชาวบ้าน”

มาลี บอกว่า ภาพยนตร์เรื่องนี้ คนดูจะเข้าใจชีวิตที่ถูกอพยพลงมาว่าเขาต้องเผชิญกับปัญหาอะไรบ้าง เราเคยเอาไปให้คนที่ไม่มีข้อมูลของแก่งกระจานและคนที่พอรู้เรื่องราวของ แก่งกระจาน พบว่า มีความรู้สึกหรือข้อคิดเห็นไม่แตกต่างกัน ว่าเขาก็เป็นคนเหมือนกันแต่ทำไมต้องเจอการกระทำไล่รื้อลงมาและถูกปฏิบัติเช่นนี้

"เรื่องราวจากภาพยนตร์สะท้อนให้เห็นถึงความไม่เข้าใจวิถีชีวิตชาวกะเหรี่ยง อยู่อย่างไร การที่อยากอนุรักษ์ป่า โดยคิดว่าป่าไม่ควรมีคนอยู่ เลยเอาคนมาอยู่รวมกันนอกป่าเสียเช่นนี้ สะท้อนว่าเราไม่เข้าใจวิถีชีวิตของเขาจริงๆ และเราใช้แนวคิดอนุรักษ์มากเกินไป เราไม่เข้าใจสิทธิทางวัฒนธรรมและสิทธิชุมชน สิทธิชาติพันธ์ เราอาจมองว่าชาติพันธุ์กลุ่มหนึ่ง จะเอาไปอยู่ที่ไหน การพัฒนาที่ยั่งยืนต้องคำนึงถึงสิทธิวัฒนธรรม ลิทธิชุมชนของคนเหล่านี้ด้วย"

มาลี กล่าวทิ้งท้ายเอาไว้ว่า การที่บิลลี่ลุกขึ้นมา เรียกร้องสิทธิให้กับคนที่ถูกเบียดขับ คนที่มีชีวิตที่อยู่ตามภูมิปัญญา รัฐน่าจะเข้ามาส่งเสริม ให้เขาเป็นส่วนหนึ่งของการช่วยกันดูแลรักษาป่า ตรงป่าที่ต้นน้ำเพชรเป็นป่าที่อุดมสมบูรณ์มาก ชาวบ้านก็ตั้งคำถามว่า ถ้าพวกเขาตัดไม้ทำลายป่า บริเวณป่าที่พวกเขาอยู่ทำไมป่าถึงสมบูรณ์ และทำไม่ที่ที่พวกเขาไม่อยู่  ป่าถึงถูกทำลาย คิดว่าเราต้องมีไคร่ครวญเกี่ยวกับตรงนี้ แล้วนโยบายทำอย่างไรที่จะให้คนเหล่านี้อาศัยอยู่ที่นี่ และร่วมกันดูแลรักษาป่า ตลอดเวลาที่ผ่านมา มันก็เป็นบทสะท้อนว่า ลำพังเจ้าหน้าที่รัฐไม่สามารถที่จะดูแลรักษาได้ และมากกว่านั้นก็คือ คนเหล่านี้อยู่กับพื้นที่มาก่อน อย่างที่เรารู้ว่า คนกะเหรี่ยง อยุ่กับน้ำรักษาน้ำ อยู่กับป่ารักษาป่า แล้วเขาได้ประโยชน์จากป่า ไม่มีเหตุผลอะไรที่เขาจะไปทำลาย มีแต่คนข้างนอกที่จะมาใช่h หรือจะมาเอาทรัพยากรไปใช้เพื่อผลประโยชน์ของตัวเองมากกว่า

000

ชิ สุวิชานและ คือวา ศิลปินปกาเกอะญอ

อัลบั้ม ต่าที ต่าเตาะ ซึ่งชิ สุวิชาน ได้รับแรงบันดาลใจจากเพลงปกาเกอะญอ บ้านโป่งลึก-บางกลอย

เช่นเดียวกับ "ชิ สุวิชาน พัฒนาไพรวัลย์" ศิลปินปกาเกอะญอ ซึ่งเขาพยายามใช้เสียงเพลงและดนตรีเป็นอาวุธใช้ขับเคลื่อนต่อสู้กับความไม่เป็นธรรมในสังคม ล่าสุด เขาได้เขียนเพลง "ใจแผ่นดิน" ขึ้นมา และอยู่ในอัลบั้ม ต่าที ต่าเตาะ (Ta-ti Ta – taw) ชุดใหม่ล่าสุดของเขา ชิ บอกว่า งานเพลงนี้ ได้รับแรงบันดาลใจจากบทเพลงปกาเกอะญอ บ้านโป่งลึก-บางกลอย อ.แก่งกระจาน จ.เพชรบุรี

ชิ สุวิชาน บอกเล่าว่า "เพลง ใจแผ่นดิน มีที่มาจาก การที่ผมได้ร่วมเดินทางไปกับเครือข่ายกะเหรี่ยงภาคเหนือ ไปส่งมอบข้าวให้พี่น้องที่บ้านโป่งลึก บางกลอย แล้วผมต้องรับผิดชอบในเรื่องการเรียกขวัญให้คน ผมก็เลยใช้ศิลปวัฒนธรรม ใช้ดนตรี เสียงเพลงในการเรียกขวัญให้กับคนที่นั่น จากนั้นได้รับฟังเรื่องราว ได้ฟังบทเพลงของเขา ได้ชมดนตรีของเขา ได้สัมผัสความทุกข์ของเขา ได้รับรู้หลายสิ่งที่เขาถูกกระทำ ได้เข้าใจความฝัน ของเขา ผมจึงต้องการนำเรื่องราวของเขาไปสื่อสารให้ผู้คนได้รับรู้ โดยใช้ดนตรีแนวบรรเลงในช่วงจังหวะชีวิตที่เศร้า จังหวะหัวใจที่ต้องระทึกแบบอ่อนระทวย แต่หัวใจยังเต้น ยังมีหวัง คนจะเกิดคำถามให้มากที่สุด ถึงที่มาของจังหวะ ที่มาของทำนอง เพื่อไปค้นหาเนื้อหาของเพลงมากขึ้นและมากขึ้น”

ชิ สุวิชาน ยังบอกอีกว่า “เนื้อหาของเพลงไม่ได้อยู่ในบทเพลง แต่อยู่ในพื้นที่ชุมชนเขาและชีวิตเขา เพลงใจแผ่นดิน นี้เป็นเพลงที่ บิลลี่ ที่หายตัวไป อยากฟังมาก...ผมก็อยากร้องเพลงนี้ให้เขาฟังเป็นคนแรก แต่ก็ไม่โอกาสได้ร้องให้เขาฟัง...”

ชิ สุวิชาน บอกว่า ที่ผ่านมาบิลลี่ ได้ร่วมต่อสู้เรื่องสิทธิในการอยู่กับชุมชนดั้งเดิม เพราะชุมชนของบิลลี่ เป็นชุมชนที่อยู่ก่อนการประกาศเขตอุทยานแห่งชาติฯ และเกิดการไล่ชุมชนออกจากพื้นที่ด้วยวิธีการที่ใช้ความรุนแรง คือ รื้อบ้าน เผาบ้าน ทำให้บิลลี่ เป็นตัวแทนของชุมชน ในการออกไปจับมือกับเครือข่ายฯ เพื่อเรียกร้องความเป็น ธรรมให้กับคนในชุมชนของตนเอง

“การหายไปของบิลลี่ มันสะท้อนให้เห็นว่าสังคมไทยนั้น ความปลอดภัยของคนเล็กคนน้อย ในสังคมไทยนั้นมีความเสี่ยงมาก คนเล็กคนน้อยถูกทำให้ไร้เสียง ไร้พลัง ถูกกดทับด้วยพลังอำนาจ ของรัฐและทุน จนเมื่อคนเล็กคนน้อย พยายามเปล่งเสียงเล็กของตนออกมาให้ผู้คน ให้สังคมได้ยิน ฝ่ายอำนาจก็จะพยายามตัดตอนเสียงของคนเล็กคนน้อยมิให้ออกไปสู่สาธารณะได้ ยิ่งคนเล็กคนน้อย ที่เป็นชาวบ้าน พยายามที่จะดิ้นรนเพื่อพังประตูกำแพงการปิดกั้น ก็จะยิ่งตกเป็นเป้าหมายในการตัดตอน การอุ้มหรือการบังคับให้สูญหาย จึงเป็นวิธีการหนึ่งของฝ่ายอำนาจ พยายามตัดตอน ผู้คนที่ไปขัดขวางไปเปิดโปงการกระทำที่ละเมิดสิทธิของชุมชน”

"และอีกหลายกรณี กลายเป็นประเด็นพิพาทระหว่างคนในชุมชนกับรัฐเสียเอง ในขณะที่รัฐ หรือกระบวนการยุติธรรมเอง ยังไม่มีมาตรการเชิงรุก ในการป้องการมิให้เกิดกรณีเช่นนี้อย่างจริงจัง สังเกตจากเวลาเกิดเหตุ รัฐเองใช้เพียงกระบวนการปกติที่มีอยู่ ซึ่งไม่เคยได้ผล แม้กระทั่งในกรณีของทนายสมชาย นีละไพจิตร จนถึงป่านนี้ ก็ยังไม่มีความคืบหน้า ซึ่งกรณีบิลลี่ ทำให้บิลลี่ต้องกลายเป็นคู่กรณีกับนโยบายการดูแลรักษาป่าของรัฐ โดยเฉพาะอุทยานฯ ไปโดยปริยาย" ชิกล่าว

000

จากรายงานขององค์กร Global Witness องค์กรด้านสิทธิมนุษยชนมีสำนักงานใหญ่อยู่ที่กรุงลอนดอน เปิดเผยรายงานชื่อว่า Deadly Environment ซึ่งบันทึกการเสียชีวิตของนักเคลื่อนไหวด้านสิ่งแวดล้อมในรอบ 10 ปีที่ผ่านมาของ 35 ประเทศในโลก ตั้งแต่ปี 2002-2013 พบว่ามีอย่างน้อย 908 รายที่ถูกสังหารโดยวิธีการนอกกฎหมาย ทั้งโดยรัฐบาล การจ้างวานของบริษัท รวมถึงกองกำลังทหารและตำรวจ และจากกรณีทั้งหมด มีกระทำผิด 10 รายเท่านั้นที่ถูกดำเนินคดีตามกฎหมาย โดย บราซิล เป็นประเทศที่มีนักกิจกรรม นักเคลื่อนไหว ถูกสังหารมากที่สุดคือ 448 ราย ตามมาด้วยฮอนดูรัส 109 ราย และฟิลิปปินส์ 67 ราย

ส่วนประเทศไทย มีสถิตินักกิจกรรม นักเคลื่อนไหว ถูกสังหาร 16 ราย และถือว่าสูงที่สุดเป็นอันดับสองในเอเชีย รองจากฟิลิปปินส์

ขอย้ำว่า ประเทศไทย ติดอันดับสองในเอเชีย ที่มีการละเมิดสิทธิความตายและการทำให้หายสาบสูญ

ต่อกรณีนี้ ชิ สุวิชาน บอกว่า “จากสถิติดังกล่าว แสดงว่าประเทศไทยยังขาดความสามารถในการจัดการความขัดแย้งเชิงสันติวิธี และที่สำคัญแสดงให้เห็นว่ารัฐไทยได้มีการสร้างความรุนแรงเชิงโครงสร้าง (Structure Violence) ผ่านนโยบายการจัดการทรัพยากรธรรมชาติสิ่งแวดล้อม ที่ละเมิดสิทธิชุมชน ทำให้ชุมชนต้องลุกขึ้นมาเรียกร้องสิทธิจนนำไปสู่ความรุนแรงเชิงประจักษ์(Direct Violence)ในที่สุด จึงบันดาลความรุนแรงนั้น ด้วยการอุ้มคนหรือการบังคับทำให้บุคคลสูญหายนั้น ซึ่งถือเป็นความรุนแรงที่เลวร้ายที่สุด เพราะฉะนั้น หากรัฐยังไม่ยอมทบทวนโครงสร้างนโยบายที่สร้างความรุนแรง ก็แสดงให้เห็นว่ารัฐเป็นผู้ร่วมก่อความรุนแรงเสียเอง”

ชิ สุวิชาน ยังได้เน้นย้ำอีกว่า ถ้ารัฐรู้ว่านโยบายไหนที่นำไปสู่ความรุนแรงก็ควรทบทวนและปรับแก้นโยบายนั้น การเพิกเฉยก็คือการสนับสนุน ส่วนผู้ทำให้หายสาบสูญนั้น ตนถือว่าไม่ใช่วิธีการของลูกผู้ชาย ไม่ใช่วิธีการของปัญญาชน แต่เป็นวิธีการของคนขี้ขลาด ขาดความรับผิดชอบ และเป็นพวกหนีความจริง ไม่ยอมรับความจริง

ผ่านมาถึงวันนี้ ครบ180 วัน การหายตัวไปของบิลลี่ แต่ก็ดูเหมือนว่า เหตุการณ์ยังคงเกิดขึ้นอยู่ซ้ำๆ ความตายและการทำให้หายสาบสูญ ยังคงเกิดขึ้นบนผืนแผ่นดินไทย แผ่นดินที่พี่น้องปกาเกอะญอบอกว่า โห่ โข่ เคลอ หรือแผ่นดินที่ร้องไห้

บทเพลง “ใจแผ่นดิน” โดย ชิ สุวิชานและคือวา

ใจแผ่นดิน...คือถิ่นของคนปกาเกอะญอ
อยู่กิน ณ พื้นที่ต้นน้ำเพชรมานานหลายชั่วอายุ
ป่ายังมี ดินยังดี น้ำยังไหล คนพออยู่พอกิน
ใจแผ่นดินเกิดสั่นไหว ถูกโยกย้ายไปแผ่นดินใหม่
จากบ้านป่า ดิน น้ำ ด้วยกฎเกณฑ์ รัฐรักษ์ป่า
จำต้องเก็บแผ่นดินไว้ในใจ
ต้องใช้ธรรมข่มความโกรธไว้ในอก
เห็นหรือยัง ธรรมในแผ่นดินใจ ผู้ถูกกระทำ
ความถูกต้องอาจไม่ดีเสมอไป
ความดีอาจไม่ถูกต้องก็เป็นได้
ห่อ โข่ เคลอ แผ่นดินแห่งการร้องไห้
จะเห็นไหม แผ่นดินธรรม ในแดนคน

ข้อมูลประกอบ: 1. อัจฉราวดี บัวคลี่,The way of lives ภาพยนตร์สั้นผลงานชาวบ้านบางกลอย,นักข่าวพลเมือง ไทยพีบีเอส,25 Apr 2014

2.ภู เชียงดาว,ความตายและการทำให้หายสาบสูญ บนแผ่นดินที่ร้องไห้,วารสาร ผู้ไถ่(พ.ค.-ส.ค.2557)

3.หนังสือพิมพ์ออนไลน์ประชาไท 19 Apr 2014                                           

ที่มาของภาพประกอบ: วุฒิ บุญเลิศ, ชิ สุวิชาน, เฟซบุ๊ค อังคนา นีละไพจิตร

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net