Skip to main content
sharethis

17 ต.ค.2557  ที่ทัณฑสถานหญิงกลาง ดานิยาน ยาวาหาบ เด็กหนุ่มจากจังหวัดสตูลเดินทางมาแต่เช้าเพื่อเข้าเยี่ยม ‘ภรณ์ทิพย์’ หรือกอล์ฟ หรือที่เพื่อนๆ เรียก กอล์ฟ เด็กปีศาจ ศิลปินผู้ถูกคุมขังจากมมาตรา 112 กรณีเกี่ยวข้องกับละครเวทีเจ้าสาวหมาป่าที่จัดแสดงเมื่อปลายปีที่แล้ว (อ่านข่าวที่เกี่ยวข้องด้านล่าง)

เขามาเยี่ยมกอล์ฟเป็นครั้งที่ 3 หลังจากวานซืนนี้มาเยี่ยมเป็นครั้งแรก แต่ไม่ทันได้คุยเนื่องจากไม่สามารถทำใจได้

“น้องเขาเอาแต่ร้องไห้ พูดไม่ออก คงช็อค คนข้างในก็พยายามปลอบ แล้วก็ฝากฝังอีกว่าให้ดูแลน้อง (ดานิยาน) หน่อย เพราะเขาอ่อนไหว” คนใกล้ชิดกอล์ฟกล่าว

ครั้งที่สองเขาได้คุยเพียงเล็กน้อย เนื่องจากเวลาเยี่ยม 15 นาทีต่อวันต้องแบ่งสรรให้เพื่อนคนอื่นด้วย เช่นเดียวกับวันนี้เขาก็ต้องแชร์เวลากับเพื่อนอีกสองคน แต่อย่างน้อยเขาก็ยังโชคดีเนื่องจากเป็น 1 ใน 10 รายชื่อที่ผู้ต้องขังยื่นแก่เรือนจำให้เข้าเยี่ยมได้ นอกเหนือจากนั้นไม่มีใครสามารถเข้าได้ นี่เป็นกฎใหม่ที่เพิ่งบังคับใช้ไม่กี่เดือน

ดานิยาน เล่าว่า เขารู้จักกับกอล์ฟมาตั้งแต่ปี 2551 และเคยร่วมกับกอล์ฟทำค่ายด้านสิทธิมนุษยนกับเยาวชนในภาคใต้หลายต่อหลายครั้ง และนี่คือเรื่องราวที่เขาเล่าให้ฟัง

คนในแวดวงกิจกรรมการเมืองและศิลปะต่างทราบกันว่า กอล์ฟและเพื่อนๆ ทำกิจกรรมหลากหลายทั้งด้านศิลปะ สิทธิมนุษยชน วัฒนธรรม และทำมายาวนานตั้งแต่ยังเป็นนักเรียนมัธยม โดยมากมุ่งเน้นการทำกิจกรรมกับกลุ่มเยาวชน ตั้แต่เด็กเล็กๆ ที่ซนเป็นลิง ยันเด็กวัยรุ่นยี่สิบต้นๆ

ในปี 2551 เธอและเพื่อนอีก 2 คนจัดตั้งกลุ่ม ‘บุหงาสันติ’ จัดค่ายอบรมเรื่องสิทธิให้เยาวชนมุสลิมผู้หญิง

“ตอนนั้นเป็นการให้ความรู้เรื่องสิทธิอันพึงมีพึงได้ให้กับเยาวชนหญิงมุสลิม ทั้งค่ายจะเป็นผู้หญิงหมด ผมไปช่วยเป็นพี่เลี้ยง เพราะรู้จักกันมาก่อน ทำอยู่ 3 ครั้ง ได้รับผลตอบรับดี ต่อมาก็ขยายเป็นกลุ่ม บุหงากาซะลองดอกจาน”

ไม่ต้องสงสัยกับชื่อกลุ่มที่ยาวขึ้น เพราะหากสังเกตจะพบว่าเป็นชื่อดอกไม้ประจำถิ่นของภาคใต้ ภาคเหนือ ภาคอีสาน  เนื่องจากทีมงานที่มีพื้นเพจากหลายจังหวัด และเริ่มขยายวงชักชวนเด็กๆ จากภาคภูมิภาคต่างๆ มาจัดกิจกรรมร่วมกัน เพื่อแลกเปลี่ยนวัฒนธรรม สภาพปัญหาของพื้นที่ต่างๆ ร่วมกัน

“เราเริ่มทำค่ายแรก มีน้องๆ จากหลายจังหวัดจากทุกภูมิภาครวม 40 กว่าคน อายุ 16-19 ปี เริ่มต้นครั้งแรกที่สตูลบ้านผม เด็กๆ ในค่ายจะได้เข้าไปนอนในบ้าน ‘พ่อแม่’ ในหมู่บ้าน เป็นโฮมสเตย์เลย แล้วก็ทำกิจกรรมร่วมกัน มีแตะๆ ประเด็นเรื่องสิทธิ เรื่องในพื้นที่อย่างท่าเรือปากบารา คล้ายๆ จุดประกายให้เด็กๆ ไปคิดต่อ”

เขาเล่าว่า กิจกรรมนี้ทำให้พ่อแม่ในชุมนุมรู้สึกตื่นเต้นและพากันมาร่วมดูงานถึงร้อยกว่าคน เด็กๆ ก็ตื่นตัวในการเรียนรู้ หลังจากค่ายนั้นมาปรากฏว่าพ่อแม่หลายบ้านยังคงติดต่อกับลูกๆ ในจังหวัดอื่นอยู่หลายคน และเกิดค่ายลักษณะเดียวกันนี้โดยเยาวชนจัดกันเองหลายครั้ง

“เรากำลังจะจัดครั้งที่สอง แต่ยังไม่ทันได้ทำก็เกิดเรื่อง”

“เขาเป็นคนมีพลังเยอะ ทะเยอทะยาน มุ่งมั่นอยากช่วยเหลือคนอื่น อยู่ที่ไหนก็มีแต่คนรัก เป็นคนสร้างความสุขให้หลายๆ คนได้ เด็กๆ ในพื้นที่หรือหลานผมก็ถามหาน้ากอล์ฟตลอด เราทำกิจกรรมไปมาหาสู่กันจนเหมือนครอบครัวเดียวกัน ไม่มีเรื่องสีเสื้อขวางกั้นแล้ว”

“เหตุการณ์มันหนักเกินไป คิดว่าผู้หญิงตัวเล็กๆ แค่นี้จะทำร้ายใครได้ นอกจากแสดงจุดยืน แสดงความคิดของเขาให้คนอื่นรู้ ถ้าการแสดงความคิดที่อาจไม่เหมือนคนอื่นเป็นความผิดได้ขนาดนี้ ผมก็ไม่รู้จะพูดว่ายังไง”

“บางทีผมก็คิดว่า การเมืองไม่ใช่ของเราคนเดียว ใครที่ทุ่มเต็มที่แต่สุดท้ายก็ไม่มีใครช่วย ทำไมประชาชนต้องมาถูกฆ่า ถูกจับด้วยเรื่องการเมือง ถึงที่สุดมันไม่มีวีรบุรุษอย่างที่ประชาชนคาดหวังหรอก”

ท้ายที่สุด ดานิยาน ยืนยันว่า เขาจะยังคงสืบทอดการทำกิจกรรมกับเยาวชนต่อไป โดยเฉพาะในการจุดประกายเรื่องสิทธิเสรีภาพ
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net