Skip to main content
sharethis
 
แจงแรงงานพม่าก่ออาชญากรรมเกาะเต่า เป็นที่ตัวบุคคลไม่เอี่ยวกับจดทะเบียนแรงงาน
 
(8 ต.ค.) นายสุเมธ มโหสถ อธิบดีกรมการจัดหางาน (กกจ.) เปิดเผยว่า ในวันที่ 13 ตุลาคมนี้ จะสามารถเริ่มดำเนินการพิสูจน์สัญชาติแรงงานได้ โดยค่าใช้จ่ายในการดำเนินการได้ออกประกาศกรมการจัดหางาน เรื่อง ค่าใช้จ่ายในการตรวจสัญชาติ และอนุญาตทำงาน แรงงานพม่า ลาว และกัมพูชา โดยกำหนดค่าใช้จ่ายของฝ่ายไทยจำนวน 1,500 บาท แบ่งเป็น ค่าตรวจลงตราประทับวีซ่า 500 บาท ค่าขอใบอนุญาตทำงานจำนวน 100 บาท และค่าใบอนุญาตทำงาน ระยะ 1 ปี 900 บาท ส่วนค่าใช้จ่ายแรงงานนั้นแบ่งตามข้อกำหนดของรัฐบาลแต่ละประเทศ คือ พม่า มีค่าจัดทำหนังสือเดินทาง (พาสปอร์ต) และค่าทำบัตรแรงงาน 1,600 บาท ลาว มีค่าจัดทำพาสปอร์ต จำนวน 1,500 บาท และ กัมพูชา ค่าพาสปอร์ตและค่าบัตรแรงงาน จำนวน 1,400 บาท
       
“ยืนยันว่า ค่าใช้จ่ายข้างต้นเป็นค่าใช้จ่ายที่ได้ทำการตกลงร่วมกันระหว่างไทยและทั้ง 3 ประเทศแล้ว นอกจากนี้ ยังได้ออกประกาศไปยังสำนักงานจัดหางานทั่วประเทศในการตรวจสอบไม่ให้มีสาย หรือนายหน้าไปให้คำแนะนำจนเกิดความสับสน รวมทั้งเจ้าหน้าที่ต้องไม่แนะนำนายจ้างให้ใช้บริการบริษัทจัดหางานในการดำเนินการ ทั้งนี้ หากพบเจ้าหน้าที่ กกจ. ทำความผิดจะตั้งคณะกรรมการสอบวินัยทันที โดยหลังวันที่ 31 ตุลาคม นี้ จะมีการปราบปรามจับกุมอย่างจริงจัง” อธิบดี กกจ. กล่าว
       
นายสุเมธ กล่าวอีกว่า ส่วนกรณีแรงงานเพื่อนบ้าน ก่ออาชญากรรมกับนักท่องเที่ยวจนเสียชีวิต ในเกาะเต่า อ.เกาะพะงัน จ.สุราษฎร์ธานี ไม่มีความเกี่ยวข้องกับการจดทะเบียนแรงงาน เพราะเป็นเรื่องของตัวบุคคลที่มีพฤติกรรมไม่ดี และ กกจ. ไม่ได้ละเลยในการดำเนินการ แต่ไม่มีข้อมูลประวัติอาชญากรรม หรือดีเอ็นเอของแรงงานเพื่อนบ้าน ส่วนกรณีที่ไม่มีการเปิดจุดบริการเคลื่อนที่ ในเกาะเต่านั้น เนื่องจากกำลังเจ้าหน้าที่ไม่เพียงพอ และมีมรสุมที่ทำให้ไม่สามารถเคลื่อนย้ายเครื่องเอกซเรย์ได้ จึงต้องเปิดหน่วยเคลื่อนที่จดทะเบียน ที่ อ.เกาะพะงัน ซึ่งเป็นพื้นที่ครอบคลุมไปถึง ต.เกาะเต่า ระหว่างวันที่ 13-27 ต.ค. ส่วนการจดทะเบียนในจังหวัดต่างๆ เป็นอำนาจของผู้ว่าราชการจังหวัดในการกำหนด ซึ่ง กกจ. มีหน้าที่ในการจัดเจ้าหน้าที่เข้าไปดำเนินการเท่านั้น ทั้งนี้ พบว่า แรงงานที่ผิดกฎหมายในอำเภอเกาะพะงัน จังหวัดสุราษฎร์ธานี มีกว่า 6,500 คน แบ่งเป็น ตำบลเกาะพะงัน และตำบลบ้านใต้จำนวน 3,500 คน และตำบลเกาะเต่าจำนวนกว่า 3,000 คน
 
(ASTV ผู้จัดการออนไลน์, 8-10-2557)
 
สถิติชี้ลูกจ้างก่อสร้างเสี่ยงภัยสูง กสร.ผุด3แนวทางคุมเข้มไซต์งาน
 
เหตุอาคารหรือสิ่งปลูกสร้างที่กำลังก่อสร้างเกิดพังถล่มในช่วงที่ผ่านมา หลายเหตุการณ์มีสาเหตุมาจากความประมาทหรือก่อสร้างไม่ได้มาตรฐานจนทำให้มีผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตจำนวนมาก โดยเฉพาะกับลูกจ้างหรือผู้ใช้แรงงาน นำมาซึ่งความสูญเสียทั้งต่อทั้งชีวิตและทรัพย์สินที่มิอาจประเมินค่าได้
 
และเมื่อดูสถิติการประสบอันตรายจากการทำงานของกองทุนเงินทดแทน สำนักงานประกันสังคม (สปส.) กระทรวงแรงงาน แล้วจะยิ่งตอกย้ำความจริงที่ว่า "กิจการก่อสร้าง" ยังเป็นกิจการที่มีลูกจ้างประสบอันตรายมากที่สุด
 
โดย สปส. ได้สรุปสถิติการประสบอันตรายและการเจ็บป่วยเนื่องจากการทำงานตั้งแต่ปี 2552 - 2556 พบว่า ประเภทกิจการที่มีลูกจ้างประสบอันตรายสูงสุดคือ "กิจการก่อสร้าง" คิดเป็นร้อยละ 7.82 ต่อปี รองลงมากิจการผลิตเครื่องดื่ม อาหาร ร้อยละ 5.69 และกิจการค้าเครื่องไฟฟ้า ยานพาหนะ คิดเป็นร้อยละ 5.45 ตามลำดับ
 
สำหรับยอดผู้บาดเจ็บจากการทำงานจำนวน 191,614 รายนั้นพบการบาดเจ็บมากที่สุดใน กรุงเทพฯ คิดเป็นร้อยละ 28.67 รองลงมาคือ จ.สมุทรปราการ ร้อยละ 15.83 และชลบุรี ร้อยละ 6.93
 
นายวรานนท์ ปีติวรรณ รองอธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน (กสร.) บอกว่า จากสถิติที่พบว่ากิจการก่อสร้างเป็นกิจการที่มีอัตราการประสบอันตรายจากการทำงานมากที่สุดนั้น หากพิจารณารายละเอียดจะพบว่า ส่วนใหญ่เป็นกิจการขนาดกลางและเล็ก แต่กิจการก่อสร้างขนาดใหญ่จะไม่ค่อยมีปัญหา
 
"เหตุที่เป็นเช่นนั้นเพราะกิจการขนาดใหญ่จะปฏิบัติตามมาตรการความปลอดภัยอย่างเข้มงวด ขณะที่กิจการขนาดกลางและเล็กมักจะมีการละเลยมาตรการความปลอดภัย เช่น การใช้อุปกรณ์เซฟตี้ต่างๆ การใส่หมวก และรองเท้าในไซต์งานก่อสร้าง ตลอดจนวิศวกรที่ควบคุมงาน"
 
จากปัญหาที่เกิดขึ้น นายพานิช จิตร์แจ้ง อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน (กสร.) จึงมีแนวคิดว่า น่าจะมีการเพิ่มบุคลากรด้านความปลอดภัยในกิจการก่อสร้างให้มากขึ้น เพื่อให้มีบุคลากรที่มีความรู้ด้านความปลอดภัยในกิจการประเภทนี้ นอกเหนือไปจากเจ้าหน้าที่ความปลอดภัย หรือ จป. ตามที่กฎหมายกำหนด แต่เรื่องนี้ยังคงเป็นแนวคิด ไม่ได้กำหนดเป็นกฎหมาย จึงยังไม่มีผลบังคับใช้
 
นายวรานนท์ เห็นว่า สิ่งสำคัญที่สุดของเรื่องความปลอดภัยในการทำงานคือ จิตสำนึกด้านความปลอดภัย ที่ควรจะมีในใจของทุกคน ไม่ว่าจะทำอาชีพใดก็ตาม โดยเฉพาะงานที่ค่อนข้างเสี่ยงอันตราย เช่น ในกิจการก่อสร้าง หรือในโรงงานอุตสาหกรรมต่างๆ ที่เราจะต้องคำนึงถึงกฎความปลอดภัยในแต่ละสถานประกอบกิจการ
 
อย่างไรก็ตาม กสร. มีนโยบายชัดเจนว่า ให้เจ้าหน้าที่ตรวจแรงงานของกรม ต้องเข้าไปตรวจไซต์งานก่อสร้างอย่างเต็มกำลัง เพื่อเป็นการกวดขันให้ผู้ประกอบกิจการมีความตระหนัก และไม่ละเลยมาตรการความปลอดภัย เพื่อป้องกันปัญหาที่อาจเกิดขึ้น
 
นายวรานนท์ บอกอีกว่า ขณะนี้ กสร.มีเจ้าหน้าที่ตรวจแรงงาน ทั่วประเทศ ประมาณ 600 คน โดยจังหวัดเล็กๆ จะมีประมาณ 2-3 คน จังหวัดใหญ่มีประมาณ 5-6 คน ขณะที่กรุงเทพฯ มีมากที่สุด โดยแบ่งเป็น 10 เขตพื้นที่ แต่ละพื้นที่มีประมาณ 6-7 คน รวมแล้วประมาณ 70 คน แต่กรุงเทพฯ ก็เป็นพื้นที่ที่มีกิจการก่อสร้างชุกชุมมากที่สุด
 
ดังนั้น แม้กรุงเทพฯ จะมีเจ้าหน้าที่ตรวจความปลอดภัยมากกว่าจังหวัดอื่น แต่เมื่อเทียบกับสถานประกอบกิจการก่อสร้างที่มีจำนวนมาก อัตราส่วนก็ยังต่างกันมาก ซึ่งองค์การแรงงานระหว่างประเทศ หรือไอแอลโอ ก็เคยให้ความเห็นในเรื่องนี้ ซึ่ง กสร.ก็สั่งเป็นนโยบายชัดเจนว่า ให้เจ้าหน้าที่ตรวจแรงงานเข้าตรวจสถานประกอบกิจการอย่างเต็มความสามารถ
 
แม้จะมีข้อจำกัดด้านกำลังเจ้าหน้าที่ แต่ กสร.ซึ่งมีหน้าที่ดูแลโดยตรง จึงได้พยายามหายุทธศาสตร์ในการทำงานว่าควรจะทำอย่างไรให้มีการป้องกันปัญหาการประสบอันตรายจากการทำงานของลูกจ้างให้ดีที่สุด โดยแนวทางการป้องกันปัญหาดังกล่าวทั้งหมด 3 แนวทาง ได้แก่
 
1.ให้กฎหมายสร้างเจ้าหน้าที่ความปลอดภัยในระดับต่างๆ อย่างครบถ้วน 2.ทำอย่างไรให้เกิดจิตสำนึกความปลอดภัยในใจคนทำงานทุกคน และ 3.การบังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจัง ซึ่งจะค่อยๆ เปลี่ยนวิธีคิดและจิตสำนึกให้กลายเป็นเคารพกฎอย่างเคร่งครัดในที่สุด
 
เขายกตัวอย่าง การตรวจจับผู้ที่ไม่คาดเข็มขัด และไม่สวมหมวกนิรภัย จากที่เคยคาดเพราะกลัวตำรวจจับก็จะกลายเป็นความเคยชิน และคาดเพราะเป็นห่วงความปลอดภัยของตนเองหากเกิดอุบัติเหตุ
 
"จิตสำนึกด้านความปลอดภัยของทุกคน ทั้งนายจ้างและลูกจ้าง จึงเป็นเรื่องสำคัญที่สุด ที่จะสามารถช่วยป้องกันอันตรายที่เกิดขึ้นจากการทำงานได้" รองอธิบดี กสร. ทิ้งท้าย
 
(กรุงเทพธุรกิจ, 9-10-2557)
 
5 ปีแนวโน้มลูกจ้างประสบอุบัติเหตุลดลง
 
ข้อมูลจาก กองทุนเงินทดแทน สำนักงานประกันสังคม เกี่ยวกับจำนวนสถานประกอบกิจการ และลูกจ้างผู้ประกันตน ตลอดจนลูกจ้างในข่ายความคุ้มครองของกองทุนเงินทดแทนที่ประสบอันตราย หรือเจ็บป่วยเนื่องจากการทำงานทั่วราชอาณาจักร ตั้งแต่ ปี 2552-2556 มีดังนี้
 
จำนวนสถานประกอบกิจการ ในปี 2552 มีจำนวน 3.89 แสนแห่ง ต่อมาปี 2553 มีจำนวน 3.95 แสนแห่ง ปี 2554 มีจำนวน 4.04 แสนแห่ง และเพิ่มขึ้นเล็กน้อยเป็น 4.09 แสนแห่งในปี 2555 ส่วนปีล่าสุด 2556 มีจำนวน 4.17 แสนแห่ง
 
จำนวนผู้ประกันตน ระหว่างปี 2552-2556 มีดังนี้ ปี 2552 มีจำนวน 9.4 ล้านคน ปี 2553 จำนวน 9.7 ล้านคน ปี 2554 จำนวน 10.4 ล้านคน ปี 2555 จำนวน 11.7 ล้านคน และปี 2556 มีจำนวน 12.4 ล้านคน
 
จำนวนลูกจ้างที่อยู่ในข่ายความคุ้มครองกองทุนเงินทดแทนที่ประสบอันตรายหรือเจ็บป่วยเนื่องจากการทำงานทั่วราชอาณาจักร ตั้งแต่ปี 2552-2556 มีดังนี้
 
ปี 2552 มีลูกจ้างที่ประสบอันตรายหรือเจ็บป่วยเนื่องจากการทำงาน จำนวน 149,436 ราย ปี 2553 มีจำนวน 146,511 ราย ปี 2554 ลดลงเหลือ 129,632 ราย แต่มาถึงปี 2555 เพิ่มขึ้นเล็กน้อย มีจำนวน 131,826 ราย และปี 2556 ลดลงเหลือ 111,751 ราย
 
หากคิดเป็นอัตราการประสบอันตรายต่อลูกจ้าง 1,000 ราย ในภาพรวมมีแนวโน้มเฉลี่ยลดลงถึงร้อยละ 10.18 ต่อปี โดยในปี 2552 อัตราการประสบอุบัติเหตุอยู่ที่ 18.82 รายต่อ 1,000 ราย และลดลงอยู่ที่อัตรา 12.55 รายต่อ 1,000 รายในปี 2556
 
ทั้งนี้ ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมาดังกล่าว กองทุนเงินทดแทนของ สปส. มีรายรับจากการเก็บเงินสมทบรวมกว่า 5,473 ล้านบาท ขณะที่มีรายจ่ายกว่า 2,073 ล้านบาท แบ่งเป็น การจ่ายเงินทดแทน 1,752 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 84.52 ของรายจ่ายกองทุน ซึ่งในจำนวนนี้แบ่งเป็นค่าทดแทน 963 ล้านบาท ค่ารักษาพยาบาล 766 ล้านบาท และค่าทำศพ 19 ล้านบาท
 
(กรุงเทพธุรกิจ, 9-10-2557)
 
เสนอ คกก.ไตรภาคี ฝ่ายลูกจ้างต้องมีประสบการณ์ทำงาน
 
(10 ต.ค.) นายบัณฑิตย์ ธนชัยเศรษฐวุฒิ มูลนิธิอารมณ์ พงศ์พงัน เปิดเผยผลการศึกษาเรื่องระบบไตรภาคีไทย : ความท้าทายในการปฏิรูปว่าผลการศึกษาพบว่าคณะกรรมการไตรภาคี 3 ฝ่าย ประกอบด้วย ฝ่ายลูกจ้าง นายจ้าง และข้าราชการ ที่มีอยู่ในกระทรวงแรงงานกว่า 20 คณะ เป็นเพียงตัวแทนสหภาพหรือสภาองค์กรลูกจ้างซึ่งไม่ได้มาจากตัวแทนแรงงานทั้งหมด ในการลงเสียงเลือกคณะกรรมการฝ่ายลูกจ้างให้สิทธิสหภาพเป็นผู้ออกเสียง จึงมองว่าไม่ได้เป็นเสียงจากแรงงานโดยตรง ขณะที่ตามอนุสัญญาแรงงานระหว่างประเทศ (ไอแอลโอ) ฉบับที่ 144 ว่าด้วยการร่วมปรึกษาหารือไตรภาคี ที่ผู้แทนของนายจ้างและแรงงานต้องได้รับการคัดเลือกโดยองค์กรตัวแทนของตนอย่างเสรี นายจ้างและแรงงานมีฐานะเท่าเทียมกันซึ่งการปรึกษาหารือกันทุกความเห็นต้องได้รับการปฏิบัติเหมือนกัน ซึ่งทั้งหมดเป็นสาเหตุที่ทำให้แรงงานส่วนใหญ่ไม่ได้รับการดูแลด้านสิทธิและสวัสดิการอย่างเป็นธรรม
       
“การพิจารณาผลประโยชน์ที่ควร ได้แก่ แรงงานตกอยู่กับกลุ่มสหภาพหรือบางกลุ่มเท่านั้น จึงเสนอว่า ควรมีการกำหนดคุณสมบัติของผู้สมัครเป็นคณะกรรมการไตรภาคีฝ่ายลูกจ้าง ให้มีประสบการณ์การทำงานในด้านนั้นๆ ตามแต่ละชุด ส่วนการลงสมัครควรเปิดโอกาสให้ลงสมัครได้ด้วยตัวเองโดยไม่ต้องผ่านสหภาพ ขณะที่การออกเสียงควรคำนึงถึงฐานสมาชิกมากกว่าการให้ออกเสียงแบบหนึ่งสหภาพหนึ่งเสียง และให้สมาชิกมีสิทธิลงคะแนนได้โดยตรง” นายบัณฑิตย์ กล่าว
 
(ASTV ผู้จัดการออนไลน์, 10-10-2557)
 
กลุ่ม พนง.อุดมศึกษาวอน คสช.ทบทวน'ร่าง พ.ร.บ. กบข.'หวั่นไม่แฟร์ทั้งระบบ
 
เมื่อวันที่ 10 ต.ค. รศ.ดร.วีรชัย พุทธวงศ์ อาจารย์มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ในฐานะ เลขาธิการศูนย์ประสานงานบุคลากรในสถาบันอุดมศึกษาของรัฐ กล่าวว่า หลังจากสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ได้ผ่านร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) การกลับไปใช้สิทธิในบำเหน็จบำนาญตาม พ.ร.บ.บำเหน็จบำนาญข้าราชการ พ.ศ. 2494  พ.ศ. ..ในวาระที่ 2 และ 3 ในวันที่ 9 ต.ค. 2557 นั้น ตามที่ได้มีการเพิ่มเติมสาระสำคัญของร่างกฎหมายฉบับนี้จากร่างเดิมใน 3 ส่วน คือ การขยายกลุ่มบุคคลผู้มีสิทธิ ระยะเวลาการใช้สิทธิ และหลักเกณฑ์การคืนเงินเดิมกลุ่มผู้มีสิทธิ ประกอบด้วยข้าราชการ ผู้รับบำนาญ ทหารกองหนุนมีเบี้ยหวัด ซึ่งร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้จะให้สิทธิประโยชน์ยิ่งขึ้นจากเดิมอีก 5 กลุ่ม ได้แก่ 
 
1. ข้าราชการตุลาการศาลปกครองที่เคยรับราชการก่อนวันที่ 27 มี.ค.2540 และลาออกจากราชการเนื่องจากได้รับแต่งตั้งเป็นตุลาการศาลปกครอง 
 
2. ข้าราชการที่เคยรับราชการก่อนวันที่ 27 มี.ค.2540 ซึ่งลาออกจากราชการและกลับเข้ารับราชการตั้งแต่วันที่ 27 มี.ค.2540 และไม่เกินวันที่ 30 มิ.ย.2558 
 
3. ข้าราชการส่วนท้องถิ่นที่เคยรับราชการก่อนวันที่ 27 มี.ค.2540 และมีกฎหมายหรือมติคณะรัฐมนตรี กำหนดให้ถ่ายโอนภารกิจไปยังองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น 
 
4. พนักงานมหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐที่กฎหมายกำหนดให้เป็นหน่วยงานในกำกับของรัฐ 
 
5. ผู้รับบำนาญซึ่งเคยเป็นข้าราชการใน 4 กลุ่มข้างต้นในข้อ 4 นั้น ได้หมายถึงเฉพาะพนักงานมหาวิทยาลัยที่มีสถานะข้าราชการมาก่อน ซึ่งไม่ได้รวมถึงพนักงานมหาวิทยาลัยที่บรรจุงานหลังมติ ครม. ปี 2542 ที่ระบุให้บรรจุพนักงานมหาวิทยาลัย ทดแทนอัตรากำลังข้าราชการที่เกษียณอายุราชการไป และจำนวนพนักงานกลุ่มบรรจุหลังปี 2542 คือกลุ่มบุคคลกลุ่มใหญ่ที่สุดในระบบอุดมศึกษา แต่กลับถูกมองข้ามในแทบทุกเรื่อง
 
"เป็นที่น่าเสียดายที่ สนช. สายอุดมศึกษา ไม่ได้ท้วงติงและทำระบบให้เสมอภาค แม้กระทั่งข้าราชการที่ลาออกจากกรมกองอื่นๆ เพื่อเข้ามาเป็นอาจารย์มหาวิทยาลัยในตำแหน่งพนักงานมหาวิทยาลัย ก็สุ่มเสี่ยงที่จะไม่ได้อยู่ในเกณฑ์ข้อ 4 ของร่างกฏหมายใหม่นี้ จึงวอนฝาก คสช.เพื่อพิจารณาช่วยเหลือในข้อท้วงติงนี้ด้วย" รศ.ดร.วีรชัย กล่าว
 
(ไทยรัฐ, 10-10-2557)
 
ผุดไอเดียตั้ง "กระทรวงอาชีวะ" แก้ปัญหาผลิตคนพัฒนาประเทศ
 
กระทรวงศึกษาธิการ 10 ต.ค.- สอศ.ตั้งคณะทำงานศึกษาการตั้ง "กระทรวงการอาชีวศึกษา" เพื่อแก้ปัญหาการผลิตแรงงานมีฝีมือไม่เพียงพอต่อความต้องการประเทศ หลัง รมว.ศธ.สั่ง 3 องค์กรหลักพิจารณาการแยกโครงสร้างออกจากกระทรวง ขณะที่สภาการศึกษาทบทวนบทบาทย้ายกลับอยู่ใต้สำนักนายกฯ กำหนดทิศทางการศึกษาของประเทศ
 
นายชัยพฤกษ์ เสรีรักษ์ เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา เปิดเผยว่าได้ตั้งคณะทำงานเพื่อศึกษาความเป็นไปได้และความเหมาะสมในการปรับโครงสร้างสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิตกำลังคนตอบสนองต่อความต้องการของประเทศ ตามที่ พล.ร.อ.ณรงค์ พิพัฒนาศัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) สั่งการในที่ประชุมองค์กรหลัก โดยมี 3 แนวทางให้พิจารณา คือ 1. การปรับประสิทธิภาพการทำงานโดยไม่ปรับโครงสร้าง 2. การตั้งกรมขึ้นมาเพิ่มเติมภายใต้ สอศ.และยังอยู่ภายใต้กระทรวงศึกษาธิการเช่นเดิม และ 3. การแยกออกมาตั้งเป็นกระทรวงการอาชีวศึกษา โดยเฉพาะ
 
"นโยบายรัฐบาลกำลังพัฒนาทางเศรษฐกิจ แต่อาชีวศึกษากำลังประสบปัญหาอย่างยิ่งในการผลิตสร้างกำลังคนเพื่อตอยสนองต่อความต้องการของตลาดแรงงาน เช่น กำลังคนด้านการท่องเที่ยวหรือการโรงแรม มีความต้องการ 180,000 คน แต่ผลิตได้เพียง 20,000 คนเท่านั้น และคุณภาพก็อาจจะไม่ตรงกับความต้องการ" นายชัยพฤกษ์กล่าว
 
ในปัจจุบัน สอศ.มีภารกิจในการผลิตกำลังคนในระดับทักษะ (skill) ผ่านหลักสูตร ปวช. และระดับช่าง  (technician) ผ่านหลักสูตร ปวศ.ซึ่งถือเป็นแรงงานที่ตลาดแรงงานต้องการมากที่สุด ส่วนในระดับเทคโนโลยีและนักวิชาการ เป็นภารกิจหลักของสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.)
 
นายชัยพฤกษ์ กล่าวว่า พล.ร.อ.ณรงค์ ให้แนวทางว่าให้เริ่มคิดจากศูนย์ โดยมองไปที่ภารกิจในการผลิตกำลังคนเพื่อตอบสนองความต้องการของประเทศเป็นหลัก อย่าเพิ่งคิดว่าจะต้องรวมกับหน่วยงานใด หรือจะดึงหน่วยงานใดเข้ามา
 
สำหรับคณะทำงานที่ตั้งขึ้น จะใช้เวลาศึกษาภายใน 1 เดือน ครอบคลุม 3 ประเด็น คือ การศึกษาเอกสารงานวิจัยเกี่ยวกับโครงสร้าง การสัมภาษณ์ผู้บริหารอาชีวศึกษาในอดีต ปัจจุบัน และสถานประกอบการภาคเอกชน และการรับฟังความคิดเห็นจากสาธารณะ โดย คณะทำงานชุดนี้ มีนายจีระพงศ์ หอมสุวรรณ ประธานอาชีวศึกษาภาคเหนือ และผู้อำนวยการวิทยาลัยเทคนิคพิษณุโลกเป็นประธานคณะทำงาน
 
ทั้งนี้ ก่อนหน้านี้ พล.ร.อ.ณรงค์ มอบหมายให้ 3 หน่วยงานองค์กรหลัก ดำเนินการศึกษาการแยกโครงสร้างออกจากกระทรวง ประกอบด้วย สอศ. สกอ. และ สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา (สกศ.)
 
ด้านนายพินิติ รตะนานุกูล เลขาธิการสภาการศึกษา กล่าวว่า สกศ.จะเชิญผู้ทรงคุณวุฒิ และอดีตผู้บริหารมาเสวนาเพื่อรวบรวมข้อมูลและความคิดเห็น ก่อนจะกำหนดทิศทางบทบาทหน้าที่ภารกิจของ สกศ.ในอนาคต รวมทั้งจะรอความชัดเจนของแนวทางการปฏิรูปการศึกษาของสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) และคณะกรรมาธิการการศึกษา ของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ด้วยว่าวางแนวทางของสภาการศึกษาไว้อย่างไร
 
นายพินิติ กล่าวว่า ในอดีตสภาการศึกษาถูกตั้งขึ้นมาภายใต้สำนักนายกรัฐมนตรี เพื่อให้คำแนะนำด้านการศึกษาต่อนายกรัฐมนตรีโดยตรง คล้ายกับสภาพัฒน์ หรือ สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ แต่ภายหลังจากย้ายเข้ามาเป็นองค์กรภายใต้กระทรวงศึกษาธิการ บทบาทดังกล่าวก็หายไป ทั้งนี้ เห็นว่า สภาการศึกษานั้นควรต้องชี้นำการพัฒนาการศึกษาในทุกมิติได้ เช่น ในด้านงบประมาณ การเงินด้านการศึกษา การพัฒนากำลังคนของประเทศ การยกระดับคุณภาพการศึกษา เป็นต้น
 
(สำนักข่าวไทย, 10-10-2557)
 
ผู้ป่วยฮีโมฟีเลียร้องปรับสิทธิการรักษาประกันสังคม เท่าเทียมบัตรทอง เผยยอมออกจากงานเพื่อเปลี่ยนสิทธิ
 
นายเอกวัฒน์ สุวันทโรจน์ รองประธานชมรมผู้ป่วยโรคเลือดออกง่ายฮีโมฟีเลียแห่งประเทศไทย กล่าวว่า หลังจากที่ตัวแทนผู้ป่วยโรคเรื้อรังต่างๆ ได้ยื่นหนังสือข้อเสนอจากภาคประชาชน เพื่อสนับสนุนนโยบายของ ศ.นพ.รัชตะ รัชตะนาวิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) และข้อเสนอเพิ่มเติม ไปเมื่อวันที่ 20 ก.ย.ที่ผ่านมา ซึ่ง รมว.สาธารณสุขก็ได้รับเรื่องไปแล้ว คงต้องรอดูว่าจะมีท่าทีอย่างไรต่อข้อเสนอของภาคประชาชน อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ชมรมฮีโมฟีเลียกังวลที่สุดคือ ข้อเสนอที่ยื่นต่อสำนักงานประกันสังคม (สปส.) ในการเพิ่มสิทธิประโยชน์การรักษาผู้ป่วยฮีโมฟีเลียในสิทธิประกันสังคมให้เท่าเทียมกับสิทธิหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า (สิทธิบัตรทอง)
       
"ทุกวันนี้ผู้ป่วยฮีโมฟีเลียต่างไม่ยอมทำงาน เพื่อให้มาอยู่ในระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าแทน เพราะได้สิทธิประโยชน์ดีกว่า และปลอดภัยกว่า เนื่องจากสิทธิบัตรทองได้จัดโรคเรื้อรังฮีโมฟีเลีย หรือโรคเลือดออกง่ายไว้เป็นโรคเฉพาะ มีการบริหารจัดการเฉพาะ มีการลงทะเบียนผู้ป่วย ซื้อยาตามงบประมาณเพื่อแจกจ่ายผู้ป่วย ช่วยให้ผู้ป่วยเข้าถึงยา" นายเอกวัฒน์ กล่าว
       
นายเอกวัฒน์ กล่าวว่า สิทธิประโยชน์ในระบบประกันสังคมยังเป็นแบบเหมาจ่ายรายหัวอยู่ อีกทั้งระบบการเบิกจ่ายไม่เอื้ออำนวย ทางโรงพยาบาลก็ไม่เบิกยาราคาแพงที่มีคุณภาพให้ ทั้งที่สิทธิประกันสังคมเรามีความสามารถที่จะจ่าย แต่กลับให้ยาตัวอื่น ซึ่งมีความเสี่ยงในการได้รับเชื้อเอชไอวี และไวรัสตับอักเสบ เนื่องจากยาซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์ที่ทำจากเลือด ไม่ได้ผ่านการฆ่าเชื้อแบบยาในสิทธิบัตรทอง
       
นายเอกวัฒน์ กล่าวว่า หลังจากนี้ประมาณ 1-2 สัปดาห์ คงต้องรอดูความคืบหน้าของ สปส.ว่าจะดำเนินการเรื่องนี้อย่างไร เพราะล่าสุดตนเพิ่งหารือกับรองเลขาธิการ สปส.ทราบว่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานเพิ่งเข้ารับตำแหน่ง และเพิ่งมีการแต่งตั้งคณะกรรมการการแพทย์ สปส. ชุดใหม่ ซึ่งเมื่อครั้งที่ชมรมฯไปยื่นข้อเสนอยังเป็นคณะกรรมการชุดเก่า ทั้งนี้ หากยังไม่มีความคืบหน้าอีก ก็จะรวมตัวเข้าไปยื่นหนังสือต่อคณะกรรมการการแพทย์ สปส.ชุดใหม่อีกครั้ง
 
(ASTV ผู้จัดการออนไลน์, 11-10-2557)
 
เตือนคนหางานระวังถูกหลอกไปทำงานโรงแรมที่อังกฤษ
 
ประจวบคีรีขันธ์ 11 ต.ค.-นางอารมณ์ วาจารัตน์ จัดหางานจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เปิดเผยว่า ขณะนี้กรมการจัดหางานได้รับการร้องทุกข์จากคนหางานในจังหวัดสุโขทัย อุตรดิตถ์ และนครราชสีมา ว่าถูกมิจฉาชีพหลอกลวงด้วยการโทรศัพท์ชักชวน อ้างว่าสามารถช่วยเหลือให้ไปทำงานเป็นพนักงานดูแลห้องพัก และพนักงานล้างจานในโรงแรมแห่งหนึ่งในประเทศอังกฤษ โดยจะได้รับเงินเดือน เดือนละ 130,000 บาท และจะได้รับโบนัสอีกจำนวนหนึ่งหากทำงานครบ 2 สัปดาห์ มีผู้หลงเชื่อถูกหลอกให้โอนเงินค่าดำเนินการไปก่อนล่วงหน้าคนละ 35,000-105,000 บาท แล้วจะได้เข้ารับการอบรมจากนายจ้างชาวต่างชาติที่กรุงเทพฯ แต่เมื่อไปถึงกลับพบว่าไม่มีการจัดอบรม และไม่สามารถติดต่อกับบุคคลดังกล่าวได้อีก จึงได้มีการแจ้งความดำเนินคดี
 
ขณะนี้อยู่ระหว่างการสืบสวนจับกุมผู้กระทำผิด จึงขอแจ้งเตือนคนหางานในพื้นที่อย่าหลงเชื่อผู้ที่ชักชวนไปทำงานต่างประเทศอย่างผิดกฎหมาย
 
(สำนักข่าวไทย, 11-10-2557)
 
กรุงเทพโพลชี้อาชีพเกษตรกรเครียดมากสุดกังวลสินค้าตกต่ำค่าครองชีพสูง
 
ศูนย์วิจัยมหาวิทยาลัยกรุงเทพ (กรุงเทพโพล) ได้ทำการสำรวจความคิดเห็นประชาชนทุกภูมิภาคทั่วประเทศในช่วงวันที่ 7-8 ตุลาคม 2557 จำนวน 1,194 คน เรื่อง“คนไทยเครียดเรื่องอะไร และคนภาคไหน อาชีพอะไรที่เครียดมากสุด" พบว่า ปัจจุบันในภาพรวมคนไทยส่วนใหญ่คิดเป็นร้อยละ 80.4 มีความเครียดน้อยถึงน้อยที่สุด และมีจำนวนร้อยละ 18.0 ที่เครียดมากถึงมากที่สุด เมื่อวิเคราะห์ลงไปว่ากลุ่มคนกลุ่มนี้คือคนกลุ่มใด โดยเมื่อพิจารณาจากภูมิลำเนาพบว่า เป็นคนใต้มากที่สุด กล่าวคือ มีคนใต้มากถึงร้อยละ 26.1 ที่บอกว่าเครียดมากถึงมากที่สุด รองลงมาเป็นคนกรุงเทพมหานครที่ร้อยละ 22.1 เครียดมากถึงมากที่สุด เมื่อพิจารณาจากกลุ่มอาชีพพบว่าเจ้าของกิจการเป็นกลุ่มอาชีพที่มีความเครียดมากถึงมากที่สุดคิดเป็นร้อยละ 26.1 รองลงมาเป็นกลุ่มอาชีพค้าขาย/อาชีพอิสระ/รับจ้าง และอาชีพเกษตรกร/ประมง ที่เครียดมากถึงมากที่สุดคิดเป็นร้อยละ 21.2 และ 21.1 ตามลำดับ ดังนั้น คนกลุ่มนี้จึงถือเป็นกลุ่มที่รัฐบาลหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องเข้าไปให้ความช่วยเหลือหรือดูแลเป็นพิเศษ
 
สำหรับค่าคะแนนความเครียดในภาพรวมทั่วประเทศเท่ากับ 1.88 (จากค่าความเครียด 4.00 ซึ่งเป็นระดับที่เครียดมากที่สุด) เมื่อจำแนกพิจจารณาตามข้อมูลส่วนตัวของกลุ่มตัวอย่างพบว่ากลุ่มอาชีพเกษตรกร/ประมงเป็นกลุ่มที่มีความเครียดมากที่สุดเมื่อเปรียบเทียบกับกลุ่มอาชีพอื่น โดยมีค่าคะแนนความเครียดเท่ากับ 1.99 (เครียดน้อย) ซึ่งเรื่องที่ทำให้อาชีพเกษตรกร/ประมงเครียดคือ ปัญหาข้าวของราคาแพง (ร้อยละ 77.9) และปัญหาสินค้าเกษตรราคาตกต่ำ (ร้อยละ 74.3) ส่วนอาชีพที่มีความเครียดรองลงมา คือ ลูกจ้างเอกชนเท่ากับ 1.93 คะแนน อาชีพเจ้าของกิจการเท่ากับ 1.92 คะแนน และอาชีพข้าราชการ/ลูกจ้างรัฐบาลเท่ากับ 1.91 คะแนน
 
เมื่อจำแนกตามภาคพบว่าคนภาคใต้เป็นภาคที่มีความเครียดมากกว่าภาคอื่นๆ โดยมีคะแนนความเครียดเท่ากับ 2.06 คะแนน ซึ่งเรื่องที่ทำให้คนใต้เครียดคือ ปัญหาข้าวของราคาแพง (ร้อยละ 73.6) และปัญหาสินค้าเกษตรราคาตกต่ำ (ร้อยละ 49.4) ส่วนภาคที่มีความเครียดรองลงมา คือ คนกรุงเทพมหานครเท่ากับ 1.92 คะแนน และคนภาคอีสานเท่ากับ 1.91 คะแนน ตามลำดับ
 
สรุปแล้วสาเหตุที่ทำให้เครียดคือ ข้าวข้องแพง ค่าครองชีพสูง และราคาสินค้าเกษตรที่ตกต่ำทำให้ เป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้คนไทยร้อยละ 18.0 เครียดมากถึงมากที่สุด โดยจะพบคนกลุ่มนี้เป็นคนภาคใต้ และคนที่ประกอบอาชีพเจ้าของกิจการ ค้าขาย และเกษตรกร
 
(กรุงเทพโพล, 11-10-2557)
 
ก.ย. ว่างงานพุ่งทะลุ3แสนคน ระดับอุดมศึกษามากสุด 1.55 แสนคน
 
สำนักงานสถิติแห่งชาติ เปิดเผยถึงผลการสำรวจภาวะการทำงานของประชากรเดือน ก.ย. 2557 พบว่า มีผู้ว่างงานสูงถึง3.11 แสนคน  หรือเท่ากับร้อยละ 0.8ของจำนวนประการ โดยผู้ว่างงานมีจำนวนเพิ่มขึ้น 4 หมื่นคนจากช่วงเดียวกันปีก่อน หรือร้อยละ 14.76  และเพิ่มขึ้นจากเดือนส.ค. 2.4 หมื่นคน หรือร้อยละ8.36
 
สำหรับผู้ว่างงาน 3.11 แสนคน แบ่งเป็นผู้ไม่เคยทำงานมาก่อน 1.56แสนคนและผู้ที่เคยทำงานมาก่อน 1.55 แสนคน  ซึ่งกลุ่มหลังนี้มีจำนวนเพิ่มขึ้น3.1 หมื่นคน หรือร้อยละ25  โดยเป็นผู้ว่างงานจากภาคการผลิต 7.8 หมื่นคนภาคการบริการและการค้า 6.4 หมื่นคน และภาคเกษตรกรรม 1.3 หมื่นคน
 
นอกจากนี้ หากแยกระดับการศึกษาของผู้ว่างงานในเดือน ก.ย.พบว่าผู้ว่างงานที่จบระดับอุดมศึกษามี 1.03 แสนคน คิดเป็นอัตราการว่างงานร้อยละ1.3  รองลงมาจบมัธยมศึกษาตอนต้น 8.9 หมื่นคนคิดเป็นร้อยละ 1.4  ระดับประถม 5 หมื่นคน คิดเป็นร้อยละ 0.6ระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย 4.9 หมื่นคน คิดเป็นร้อยละ  0.9 และผู้ที่ไม่มีการศึกษา 2 หมื่นคนคิดเป็นร้อยละ 0.2
 
ทั้งนี้ เดือน ก.ย. ไทยมีผู้อยู่ในกำลังแรงงานซึ่งมีอายุตั้งแต่ 15ปีขึ้นไป  38.85 ล้านคน  เป็นผู้มีงานทำ38.45 ล้านคน ว่างงาน 3.11 แสนคนและผู้ที่รอฤดูกาล 8.8 หมื่นคน ส่วนผู้ที่อยู่นอกกำลังแรงงานหรือไม่พร้อมทำงาน16.08 ล้านคน ได้แก่แม่บ้าน นักเรียน คนชราเป็นต้น
 
(ประชาชาติธุรกิจออนไลน์, 12-10-2557)
 
เปิดผลศึกษาเครื่องจักรกลเกษตรกับแรงงานคนในการปลูกอ้อยโรงงาน
 
นางราตรี  พูนพิริยะทรัพย์ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรเขต 4 ขอนแก่น (สศข.4) สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก) เปิดเผยถึงผลการศึกษาการใช้เทคโนโลยีเครื่องจักรกลการเกษตร กรณี:รถตัดอ้อยโรงงาน ซึ่งเป็นการเปรียบเทียบต้นทุนและผลตอบแทนระหว่างการตัดอ้อยโรงงานจากการใช้แรงงานคน การใช้รถตัดอ้อยกรณีเป็นเจ้าของรถตัดอ้อยเอง และกรณีจ้างรถตัดอ้อย โดยศึกษาจากเกษตรกรผู้ปลูกอ้อยโรงงาน 3 รูปแบบ ในพื้นที่จังหวัดขอนแก่น กาฬสินธุ์ ร้อยเอ็ด และมหาสารคาม ปีการเพาะปลูก 2555/56  พบว่า การปลูกอ้อยโรงงานโดยใช้รถตัดอ้อย กรณีเป็นเจ้าของรถตัดอ้อยเองมีต้นทุนรวมสูงที่สุด คือ 13,406 บาท/ไร่ รองลงมา คือ  กรณีจ้างรถตัดอ้อย 11,837 บาท/ไร่ และ กรณีใช้แรงงานคน 11,199 บาท/ไร่ ตามลำดับ สำหรับผลตอบแทนเฉลี่ยพบว่า ราคาผลผลิตเฉลี่ย และรายได้ทั้งหมด ของทั้ง 3 รูปแบบ มีความใกล้เคียงกัน แต่ในด้านกำไรสุทธิ การใช้แรงงานคนมีกำไรสุทธิเฉลี่ยสูงที่สุด คือ 3,377 บาท/ไร่ รองลงมาคือ จ้างรถตัดอ้อยเฉลี่ย 2,913 บาท/ไร่ และเป็นเจ้าของรถตัดอ้อยเฉลี่ย 1,551 บาท/ไร่ ตามลำดับ โดยผลการศึกษา แต่ละกรณี พบว่า
 
เกษตรกรผู้ปลูกอ้อยที่ใช้แรงงานคนในการเก็บเกี่ยว จะมีการเผาใบอ้อยก่อนตัด คิดเป็นร้อยละ 40.58 เนื่องจากแรงงานปฏิเสธการตัดอ้อยสด เพราะตัดง่ายและรวดเร็ว ทำให้ได้ค่าตอบแทนสูงกว่าอ้อยสด โดยความหวานเฉลี่ย 13.07ซีซีเอส มีข้อได้เปรียบ คือ สามารถตัดอ้อยได้ทุกสภาพพื้นที่ ไม่มีต้นทุนในการปรับพื้นที่ให้เรียบ แต่มีข้อเสียเปรียบ คือ ขาดแคลนแรงงานตัดอ้อย เสียค่าใช้จ่ายในการเลี้ยงอาหารและรับส่งคนงาน นอกจากนี้ เกษตรกรยังประสบปัญหาคนงานไม่มาตัดอ้อยตามที่ตกลงกันไว้ และส่วนใหญ่จะปฏิเสธการตัดอ้อยสด ทำให้สูญเสียน้ำหนัก ค่าความหวาน เกิดมลพิษ และความอุดมสมบูรณ์ของดินลดลง อีกทั้ง ยังถูกโรงงานน้ำตาลหักเงินค่าอ้อยจากราคาอ้อยขั้นต้น 20 บาท/ตัน
 
เกษตรกรผู้ปลูกอ้อยที่ใช้รถตัดอ้อยในการเก็บเกี่ยว กรณีเป็นเจ้าของรถตัดอ้อย ซึ่งเกษตรกรไม่มีการเผาใบอ้อยก่อนตัด โดยความหวานเฉลี่ย 12.88 ซีซีเอส มีข้อได้เปรียบ คือ ลดปัญหาการขาดแคลนแรงงาน รวดเร็ว สะดวกสบาย ได้อ้อยสดที่มีค่าความหวานและมีคุณภาพ ไม่ต้องรอคิวเข้าโรงงานน้ำตาล เข้าโรงงานได้ทันที และได้เงินเพิ่ม 40 บาท/ตัน จากการขายอ้อยสด ส่วนข้อเสียเปรียบ คือ รถตัดอ้อยมีราคาสูง มีค่าใช้จ่ายในการซ่อมบำรุงและค่าน้ำมันเชื้อเพลิงและน้ำมันหล่อลื่น ต้องมีการปรับพื้นที่ให้เรียบ และต้องปลูกอ้อยให้แต่ละแถวห่างกันอย่างน้อย 150 ซม. นอกจากนี้ รถตัดอ้อยไม่สามารถใช้กับอ้อยล้มได้ ทำให้อ้อยได้รับความเสียหาย ผลผลิตลดลง และต้องมีพื้นที่เพาะปลูกที่มีขนาดใหญ่เพียงพอ จึงจะทำให้คุ้มทุน
 
เกษตรกรผู้ปลูกอ้อยโรงงานที่ใช้รถตัดอ้อยในการเก็บเกี่ยว กรณีจ้างรถตัดอ้อย เกษตรกรไม่มีการเผาใบอ้อยก่อนตัด มีค่าความหวานเฉลี่ย 13.37 ซีซีเอส เกษตรกรมีความสนใจใช้รถตัดอ้อย เนื่องจากสะดวก รวดเร็ว ได้อ้อยสดทำให้ไม่ต้องรอคิวเข้าโรงงานน้ำตาล และลดปัญหาการหาแรงงาน มีข้อได้เปรียบ คือ ลดปัญหาการขาดแคลนแรงงาน รวดเร็ว สะดวกสบาย ได้อ้อยสดที่มีค่าความหวานและคุณภาพ ไม่ต้องรอคิวเข้าโรงงานน้ำตาล เข้าโรงงานได้ทันที และได้เงินเพิ่ม 40 บาท/ตัน จากการขายอ้อยสด และข้อเสียเปรียบ คือ ผู้รับจ้างตัดอ้อยจะรับตัดอ้อยเฉพาะพื้นที่ที่มีการปรับให้เรียบ และต้องปลูกอ้อยให้แต่ละแถวห่างกันอย่างน้อย 150 ซม. นอกจากนี้ รถตัดอ้อยไม่สามารถใช้กับอ้อยล้มได้ ทำให้อ้อยได้รับความเสียหายและได้ผลผลิตลดลง และต้องมีพื้นที่เพาะปลูกที่มีขนาดมากกว่า 5 ไร่ขึ้นไป ผู้รับจ้างตัดอ้อยจึงจะรับตัดอ้อย
 
ทั้งนี้ เกษตรกรมีข้อเสนอแนะให้สหกรณ์การเกษตรจัดหารถตัดอ้อยให้เช่าในราคาถูก เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรที่ขาดแคลนแรงงานเก็บเกี่ยว ควรส่งเสริมการวิจัยและพัฒนาการผลิตรถตัดอ้อยในประเทศ เพื่อลดการนำเข้ารถตัดอ้อย และพัฒนาให้สามารถใช้งานได้ในทุกสภาพพื้นที่รวมทั้งสามารถตัดอ้อยล้มได้ เพื่อให้เกษตรกรสามารถลดต้นทุนการปรับพื้นที่ให้เรียบและลดการสูญเสียผลผลิต รวมทั้งควรสนับสนุนให้ ธ.ก.ส.จัดสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำสำหรับเกษตรกรที่ซื้อรถตัดอ้อย ตลอดจนควรให้ความรู้เกี่ยวกับผลเสียของการเผาใบอ้อยและผลดีของการตัดอ้อยสดแก่เกษตรกร นอกจากนี้ เกษตรกรที่มีพื้นที่เพาะปลูกน้อยกว่า 38 ไร่ ควรใช้แรงงานคนหรือจ้างรถตัดอ้อยในการเก็บเกี่ยวจะลดต้นทุนได้มากกว่าการจัดซื้อรถตัดอ้อยเอง นางราตรี กล่าว
 
(สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร, 13-10-2557)
 
คสรท.เสนอ “สุรศักดิ์” ตรวจสอบงบดำเนินการของ สปส.ทบทวนอนุสัญญาไอแอลโอฉบับ 87, 98
 
(13 ต.ค.) นายชาลี ลอยสูง ประธานคณะกรรมการสมานฉันแรงงานสัมพันธ์ (คสรท.) กล่าวหลังเจ้าพบพล.อ.สุรศักดิ์ กาญจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เพื่อยื่นหนังสือเสนอประเด็นด้านนโยบายและปัญหาแรงงานต่อ ว่า ได้เสนอเรื่องการรับรองอนุสัญญาองค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ไอแอลโอ) ฉบับที่ 87 และ 98 เรื่องการรวมตัวและเจรจาต่อรอง การนำร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) แรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518 ฉบับบูรณาการ หรือ การนำ พ.ร.บ.แรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518 และฉบับของรัฐวิสาหกิจ มารวมเป็นฉบับเดียวกัน การชะลอนำร่าง พ.ร.บ.ประกันสังคม ทั้งฉบับของกระทรวงแรงงาน และฉบับที่แรงงานเข้าชื่อ เข้าสู่การพิจารณาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เพื่อนำมาหารือถึงประเด็นที่เห็นตรงกันก่อน นอกจากนี้ยังเสนอให้ตั้งคณะทำงานเพื่อพิจารณาหาข้อยุติการละเมิดสิทธิแรงงานให้เร็วที่สุด ภายใน 2 เดือน
       
นายชาลี กล่าวอีกว่า พล.อ.สุรศักดิ์ ได้ขอไปศึกษารายละเอียดของอนุสัญญาไอแอลโอฉบับดังกล่าว รวมถึงการรวม พ.ร.บ.แรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518 และของรัฐวิสาหกิจ ทั้งเห็นด้วยในหลักการที่ต้องการให้ตรวจสอบการใช้งบประมาณของประกันสังคม ทั้งงบดูงาน การใช้สื่อประชาสัมพันธ์ รวมถึงการตรวจสอบความโปร่งใส ส่วนการตั้งคณะทำงานพิจารณาหาข้อยุติการละเมิดสิทธิแรงงานนั้น เร็วๆ นี้ พล.อ.สุรศักดิ์ จะเชิญองค์กรด้านแรงงาน และเครือข่ายต่างๆ เพื่อรับฟังข้อมูลในภาพรวมเพื่อหารือในเรื่องนี้ และภาพรวมของประเด็นปัญหาที่นำเสนอทั้งหมดในวันนี้
 
(ASTVผู้จัดการออนไลน์, 13-10-2557)
 
ร้องถูกหลอกทำงาน ตปท.ผ่านเฟซบุ๊กคาดเสียหายนับล้านบาท
 
(13 ต.ค.) นายสุเมธ มโหสถ อธิบดีกรมการจัดหางาน (กกจ.) กระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า เมื่อเวลา 16.30 น. มีแรงงานไทยที่ต้องการจะไปทำงานต่างประเทศประมาณ 20 คน ได้มาร้องเรียนกับ กกจ. ว่า ถูกนายหน้าเถื่อนหลอกลวงไปทำงานต่างประเทศผ่านเฟซบุ๊ก ชื่อว่า “nong narak” ซึ่งเจ้าของเฟซบุ๊กชื่อ น.ส.เมธิญา (ขอสงวนนามสกุล) อ้างว่าสามารถพาไปทำงานในต่างประเทศ เช่น ฟินแลนด์ ออสเตรเลีย เยอรมนี ฝรั่งเศส โดยให้เงินเดือน 5-7 หมื่นบาท และเรียกเก็บค่าใช้จ่ายในการเดินทางคนละ 5 พัน - 2.5 หมื่นบาท ซึ่งแรงงานไทยที่เป็นผู้เสียหายได้โอนเงินทางธนาคารไปให้ แต่เมื่อนัดหมายนายหน้ามาพบเพื่อดำเนินการเกี่ยวกับเอกสารกลับไม่มา จึงรู้ว่าถูกหลอกลวง อย่างไรก็ตาม จากการสอบถามผู้เสียหายบางรายยอมรับว่ายอมเสี่ยงกับนายหน้าเถื่อน และไปทำงานต่างประเทศโดยวิธีไม่ถูกต้อง เพราะอยากไปทำงานต่างประเทศ เนื่องจากมีรายได้ดี
       
นายสุเมธ กล่าวอีกว่า กกจ. กำลังตรวจสอบในเรื่องนี้ และนัดหมายแรงงานไทยที่เป็นผู้เสียหายไปในวันที่ 14 ต.ค. เวลา 09.00 น. ที่กระทรวงแรงงานเพื่อไปแจ้งความที่ สน.หัวหมาก โดยนายหน้าเถื่อนมีความผิดตาม พ.ร.บ.จัดหางานและคุ้มครองคนหางาน พ.ศ. 2528 ในข้อหาหลอกลวงคนไปทำงานต่างประเทศตามมาตรา 91 มีโทษปรับไม่เกิน 6 หมื่นถึง 2 แสนบาท จำคุก 3 - 10 ปี หรือทั้งจำทั้งปรับ ทั้งนี้ กกจ. เจ้าหน้าที่ตรวจสอบการหลอกลวงไปทำงานต่างประเทศโดยใช้วิธีหลอกลวงผ่านระบบออนไลน์อยู่แล้ว หลังจากนี้ จะตรวจสอบให้เข้มงวดขึ้น และขอเตือนแรงงานไทยที่ต้องการไปทำงานต่างประเทศ ขอให้อย่าหลงเชื่อ หากเห็นประกาศแปลกๆเช่น เดินทางไปง่าย มีเงินเดือนสูง ขอให้แจ้งสายด่วน 1694 ของ กกจ.
       
ด้านนายวัทธิกร เดชมูล อายุ 34 ปี จ.ลำพูน หนึ่งในแรงงานที่มาร้องเรียนกับ กกจ. กล่าวว่า ตนว่างงานอยู่และต้องการไปทำงานต่างประเทศ เพราะรายได้ดี จึงค้นหางานผ่านระบบออนไลน์โดยช่วงเดือน ส.ค. ที่ผ่านมา ได้ไปเจอเฟซบุ๊กดังกล่าวบอกว่าสามารถพาไปทำงานต่างประเทศได้หลายประเทศ จึงแจ้งไปและมีการตอบกลับมาว่ามีงานด้านเกษตรไปทำสวนผลไม้ที่ประเทศออสเตรเลีย ซึ่งตน แฟนสาว และพี่สาว จึงติดต่อกลับไปว่าต้องการไปทำโดยเสียค่าใช้จ่ายรวม 3 คน ทั้งหมด 21,400 บาท ต่อมาได้โทรศัพท์ติดตัอกับ น.ส.เมธิญา ซึ่งให้เบอร์โทรศัพท์มือถือมา 2 เบอร์ ก็ติดต่อไม่ได้ จึงรู้ว่าถูกหลอก คาดว่ามีคนถูกหลอกนับร้อยคน รวมเงินค่าเสียหายประมาณ 1 ล้านบาท
        
นายวิทธิกร กล่าวอีกว่า ตนทราบข่าวจากทีวี ว่า มีการหลอกลวงไปทำงานต่างประเทศบ่อยครั้ง แต่ก็ยอมเสี่ยงกับการถูกหลอกและไปโดยวิธีการไม่ถูกต้อง เพราะต้องการไปทำงานต่างประเทศ เนื่องจากมีรายได้ดี ตนและครอบครัวมีประสบการณ์ทำสวน จึงมั่นใจว่าสามารถทำงานได้แม้ไม่เคยไปทำงานต่างประเทศมาก่อน นอกจากนี้ โอกาสที่จะไปโดยผ่านทางภาครัฐมีน้อย เพราะต้องผ่านทดสอบภาษา เช่น เกาหลี บางคนสอบผ่านแต่รอ 2 ปี แล้วก็ยังไม่ได้ไปเพราะคิวยาว ทั้งนี้ จะไปแจ้งความเอาผิดกับเจ้าของเฟซบุ๊ก
 
(ASTVผู้จัดการออนไลน์, 13-10-2557)
 
อุตฯอ้าง ศก.ชะลอตัวปี 57จ่ายโบนัสน้อย ค้ารายย่อยแย่ยอดขายตก
 
นายวัลลภ วิตนากร รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า แนวโน้มการพิจารณาจ่ายโบนัสสิ้นปี และการปรับขึ้นเงินของโรงงานภาคอุตสาหกรรมปี 2557 โดยภาพรวมเฉลี่ยจะลดต่ำลงเมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมาเนื่องจากเศรษฐกิจชะลอตัวจากทั้งการบริโภคภายในประเทศที่ถดถอยและการส่งออกที่มีโอกาสติดลบ0.8-1% แต่การจ้างงานแรงงานในปี 2558 จะเพิ่มขึ้นสวนทางเนื่องจากมีการคาดการณ์ว่าเศรษฐกิจปีหน้าจะเติบโต 4.5-5%
 
“การจ่ายโบนัสปีนี้คงไม่ดีเพราะภาคการผลิตมียอดขายโดยรวมลดจากทั้งการบริโภคภายในประเทศและการส่งออก เช่นอุตสาหกรรมยานยนต์  ไฟฟ้าอิเล็กทรอนิกส์  สิ่งทอ ฯลฯโดยการบริโภคที่ผ่านมายังฟื้นตัวไม่ดีเท่าที่ควร แต่ช่วงนี้เริ่มมีสัญญาณฟื้นตัวแล้วซึ่งคาดว่าคนเริ่มเชื่อมั่นมากขึ้นและใกล้เทศกาลปีใหม่ ขณะที่ส่งออกคงต้องดูตัวเลขเดือนกันยายนนี้ก่อนก็จะประเมินได้ว่าทั้งปีจะติดลบเท่าใดแน่ซึ่งหากส่งออกได้น้อยกว่าเดือนสิงหาคมทั้งปีก็มีโอกาสเห็นติดลบมากกว่า 1%  “นายวัลลภกล่าว
 
สำหรับความต้องการแรงงานเข้าสู่ระบบภาคอุตสาหกรรมไม่รวมภาคบริการและการท่องเที่ยวคาดว่าอย่างต่ำปี 2558-2560 จะมีความต้องการเพิ่มไม่น้อยกว่า 2 แสนคนโดยพิจารณาจากตัวเลขขอรับการส่งเสริมการลงทุนจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน
 
(บีโอไอ) ที่คาดว่าปี 2557 น่าจะเห็นระดับมูลค่าที่ขอรับส่งเสริม 7 แสนล้านบาท ประกอบกับรัฐบาลได้พิจารณาเร่งจ่ายงบประมาณปี 2558 จำนวน 4 แสนล้านบาทโดยให้เร่งเบิกจ่ายตั้งแต่สิ้นปีนี้ก่อน ขณะเดียวกันมองว่าการท่องเที่ยวปี 2558 ก็จะฟื้นตัว ประกอบกับการค้าชายแดนน่าจะขยายตัวเพิ่มจากการเตรียมเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนหรือ AEC
 
“แต่ยังมีความเป็นห่วงแรงงานภาคอุตสาหกรรมที่จบใหม่ซึ่งไม่ตรงกับความต้องการของตลาดแรงงานโดยเฉพาะที่ไม่ใช่สายวิชาชีพที่มีนับแสนคนอาจจะมีปัญหาว่างงานได้ แต่หากไม่เลือกงานก็เชื่อว่าไม่ตกงานเพราะภาคอุตสาหกรรมเองหากเลือกได้ก็อยากได้คนไทยก่อนอยู่แล้ว “นายวัลลภกล่าว
 
นายสุรพงษ์ ไพสิฐพัฒนพงษ์  รองประธานส.อ.ท.ในฐานะโฆษกกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ส.อ.ท.กล่าวว่า เดือนพฤศจิกายนนี้คาดว่าผู้ประกอบการรถยนต์คงจะมาประเมินทิศยอดขายในปีนี้และแนวโน้มปี2558 ก่อนที่จะตัดสินใจจ่ายโบนัสให้กับพนักงานของแต่ละค่ายโดยยอมรับว่าปีที่ผ่านมาโบนัสของกลุ่มอุตสาหกรรมรถยนต์จัดเป็นกลุ่มที่จ่ายติดอันดับสูงสุด
 
“ภาพรวมคงไม่เท่ากับปีที่แล้วแต่ละค่ายก็อาจจะต่างกันไปคงตอบยากขอคุยภาพรวมแต่ละค่ายก่อนโดยยอมรับว่ายอดขายในประเทศปีนี้มีแนวโน้มว่าจะไม่ถึง 1 ล้านคันเพราะการเร่งรัดเบิกจ่ายงบประมาณในช่วงสิ้นปียังมีไม่มากพอ ประกอบกับราคาพืขผลทางการเกษตรภาพรวมตกต่ำ”นายสุรพงษ์กล่าว
 
นายสมชาย  พรรัตนเจริญ  นายกสมาคมการค้าส่ง-ปลีกไทยกล่าวถึงสถานการณ์การค้าของกลุ่มผู้ค้ารายย่อยในช่วงที่ผ่านมาค่อนข้างแย่ เพราะผู้ค้ารายย่อยต้องพึ่งพาผู้บริโภคในระดับล่าง ซึ่งปัจจุบันกำลังซื้อของกลุ่มดังกล่าวหดตัว เหตุจากผลผลิตทางการเกษตรตกต่ำ ขายไม่ได้ราคา ส่งผลให้มีผลกระทบกันมาต่อเนื่อง แต่ก็คาดว่าในไตรมาสสุดท้ายโดยเฉพาะในช่วงเทศกาลปีใหม่ การค้าขายจะขยับขึ้นมาดีได้บ้าง แต่ก็ไม่ได้ถึงขั้นดีมาก เนื่องจากเศรษฐกิจยังไม่ฟื้นตัวดี
 
ขณะเดียวกันภาคการค้าของประเทศไทยทั้งระบบยังอ่อนแออยู่มาก เพราะการบริหารการค้าของไทยยังต้องอาศัยผู้อื่นค่อนข้างมากทั้งยังไม่มีการบริหารจัดการสต็อก ไม่มีวิธีการแลกเปลี่ยนการค้าขาย การเติบโตของเศรษฐกิจไทยก็อาศัยการส่งออกมานาน เมื่อเศรษฐกิจโลกแย่คำสั่งซื้อจากคู่ค้าไม่มี  เศรษฐกิจไทยก็แย่ตามไปด้วย
 
“ไทยเป็นประเทศที่ปลูกเก่ง แต่ไม่เก่งในการค้าขาย อีกทั้งเรายังไม่มีหน่วยงานที่ขายเก่งๆ ในสังคม การแก้ปัญหาของหน่วยงานที่มีอยู่ก็มักวนเวียนอยู่กับการให้ความสำคัญกับโครงการประชานิยม การชดเชยราคามากเกินไป ซึ่งมันไม่ได้เป็นการแก้ปัญหาที่ถูกทาง ในการทำให้กำลังซื้อกลับมา”
 
ทั้งนี้มองว่าหน่วยงานรัฐบาลควรมีการพัฒนากลไกระบบการบริหารงานการค้าขายของภาครัฐใหม่ ควรออกจากวิธีการและความคิดเดิมๆ ภาครัฐควรรู้จักการค้าขายให้มากขึ้น ให้รู้จักว่าว่าสต็อกเป็นอย่างไร ควรบริหารจัดการอย่างไร เพราะหากภาครัฐยังทำงานแบบเดิม ทำอะไรที่ดีกว่าเดิมไม่ได้ การคาดหวังให้ประชาชนปรับเปลี่ยนเพียงฝ่ายเดียวก็แก้ไขไม่ได้ทั้งหมด และจะทำให้การค้าขาย และเศรษฐกิจไทยยังวนเวียนอยู่ในวัฏจักรเดิมเหมือน 10 ปีที่ผ่านมา
 
สำหรับปีหน้ามองว่าการค้าขายของไทยคงไม่ต่างจากในปีนี้นักเพราะหากการบริหารจัดการแบบเดิม ไม่มีการดูถึงเหตุ ปัจจัยต้นเรื่องที่ทำให้การค้าขายแย่กำลังซื้อตกต่ำ เช่น การดูแลพื้นที่เพาะปลูก การพัฒนาตัวสินค้าให้ดีขึ้น โดยเฉพาะข้าว ก็เชื่อว่าการค้าคงไม่มีอะไรดีขึ้นจากที่ผ่านๆมา
 
ในส่วนของการขึ้นราคาของก๊าซแอลพีจี และเอ็นจีวีภาคขนส่งนั้นผู้ค้ารายย่อยไม่ได้รับผลกระทบ แต่น่าจะเป็นผู้ผลิตมากกว่าซึ่งเป็นผู้รับภาระการขนส่ง  แต่ท้ายที่สุดแล้วคงไม่พ้นการผลักภาระไปที่ผู้บริโภค ซึ่งเป็นด่านสุดท้าย  อย่างไรก็ตามมองว่าในช่วงนี้ผู้ผลิตคงไม่ปรับขึ้นราคาสินค้า เพราะเศรษฐกิจไม่ดี  การปรับขึ้นราคาไม่เป็นผลดีต่อตัวผู้ผลิตเองเพราะในตลาดมีการแข่งขันกันสูง ผู้บริโภคมีทางเลือก
 
(แนวหน้า, 14-10-2557)
 
สศอ. เผยทางออกปัญหาอุตฯ เครื่องแต่งกายไทย เสนอการขยายฐานการผลิตไปประเทศเมียนมาร์
 
สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) เผยทางออกการแก้ปัญหาการขาดแคลนแรงงาน และต้นทุน  การผลิตที่สูงขึ้นของอุตสาหกรรมเครื่องแต่งกายไทย โดยมุ่งขยายฐานการผลิตไปประเทศเมียนมาร์ เนื่องด้วย     มีจำนวนแรงงานมาก อัตราการจ้างงานราคาถูก พร้อมทั้งมีตลาดขนาดใหญ่ที่เศรษฐกิจกำลังเติบโต
 
ดร.สมชาย หาญหิรัญ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) เปิดเผยว่า อุตสาหกรรม เครื่องแต่งกายของไทยเป็นอุตสาหกรรมหนึ่งที่มีความสำคัญต่อเศรษฐกิจไทย เนื่องจากมีจำนวนผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมมากถึง 73,503 โรงงาน มีจำนวนการจ้างงานรวม 796,000 คน เป็นอุตสาหกรรมที่สร้างรายได้จากการส่งออกให้กับประเทศเฉลี่ยสูงถึง 8 หมื่นล้านบาทต่อปี และสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับประเทศสูงถึง 79,554 ล้านบาท แต่ปัจจุบันอุตสาหกรรมเครื่องแต่งกายไทยกลับต้องเผชิญกับปัญหาการขาดแคลนแรงงาน ซึ่งได้รับผลมาจากปัญหาการขาดแคลนแรงงานของประเทศไทยที่มีความรุนแรงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยที่อัตราการว่างงานของประเทศอยู่ที่ประมาณ ร้อยละ 0.6 - 0.8 มาหลายปีติดต่อกัน ซึ่งส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมเครื่องแต่งกายเป็นอย่างมาก ดังเห็นได้จากจำนวนแรงงานในอุตสาหกรรมเครื่องแต่งกายที่มีแนวโน้มหดตัวต่อเนื่องทุกปี ประกอบกับหลังจากวันที่ 1 เมษายน 2555 และวันที่ 1 มกราคม 2556 อุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องแต่งกายของไทยยังต้องเผชิญกับผลกระทบจากการปรับขึ้นค่าแรงเป็น 300 ต่อวัน จึงส่งผลกระทบโดยตรงต่อต้นทุนการผลิตให้เพิ่มสูงขึ้นมาก จากการศึกษาผลกระทบการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำเป็น 300 ต่อวัน ของสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรมพบว่า อุตสาหกรรมเครื่องแต่งกายได้รับผลกระทบต้นทุนเพิ่มสูงขึ้นมากที่สุดคิดเป็น ร้อยละ 7.7 ของต้นทุนการผลิต โดยมีจังหวัดที่มีอัตราการขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำสูงที่สุดคือจังหวัดพะเยา ที่มีค่าจ้างขั้นต่ำเพิ่มถึง ร้อยละ 88.7 และต้นทุนเพิ่มขึ้นร้อยละ 14.4 ซึ่งส่งผลกระทบต่อการคงอยู่และความสามารถในการแข่งขันของอุตสาหกรรมเป็นอย่างมาก ดังนั้น ทางออกที่สำคัญประการหนึ่งในการแก้ปัญหาการขาดแคลนแรงงาน และต้นทุนการผลิตที่มีแนวโน้มสูงขึ้นคือ การขยายฐานการผลิตไปยังประเทศในกลุ่มอาเซียน โดยเฉพาะประเทศเมียนมาร์ ซึ่งกำลังเริ่มเปิดประเทศ มีแรงงานจำนวนมาก มีค่าแรงราคาถูก แรงงานพม่ามีทักษะในงานใกล้เคียงกับแรงงานไทย พรมแดนพม่าติดกับไทยหลายจุด จึงทำให้เหมาะแก่การขนส่งวัตถุดิบต้นน้ำและกลางน้ำที่ไทยมีพร้อมเข้าไปผลิตในเมียนมาร์ และที่สำคัญเมียนมาร์เป็นตลาดใหม่ขนาดใหญ่ที่มีโอกาสเติบโตสูง
 
ดร.สมชาย กล่าวอีกว่า จากการศึกษาโอกาสและอุปสรรคการขยายฐานการผลิตอุตสาหกรรมเครื่องแต่งกายไทยไปประเทศเมียนมาร์ พบว่า โอกาสที่สามารถเข้าไปลงทุนทำธุรกิจในเมียนมาร์มีอยู่หลายประการ เช่น สถานการณ์เศรษฐกิจของประเทศเมียนมาร์มีอัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจที่มีแนวโน้มขยายตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้ชาวเมียนมาร์มีรายได้ต่อหัวเพิ่มขึ้น ประเทศเมียนมาร์มีประชากรมากถึง 65.0 ล้านคน ซึ่งถือว่าเป็นตลาดขนาดใหญ่
 
มีกำลังแรงงานเท่ากับ 31.8 ล้านคน มีอัตราว่างงานร้อยละ 4 ต่อปี ทำให้มีแรงงานมากเพียงพอในการเข้าไปใช้ประโยชน์ ด้านการลงทุนประเทศเมียนมาร์มีมูลค่าการส่งออกและนำเข้าเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง และมีมูลค่าเงินลงทุน
 
จากต่างประเทศเพิ่มขึ้นทุกปี นอกจากนี้ เรื่องพรมแดนที่ติดกับไทย ทำให้สะดวกต่อการขนส่งวัตถุดิบในต้นทุนที่ถูก เอื้อต่อการขนส่งวัตถุดิบต้นน้ำและกลางน้ำจากไทย เนื่องจากประเทศไทยมีอุตสาหกรรมสิ่งทอครบวงจรทั้งต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ รวมถึงสินค้าของไทยเป็นที่ยอมรับ และรัฐบาลไทยให้การสนับสนุนและส่งเสริมให้นักลงทุนไทยไปลงทุนในต่างประเทศ ส่วนด้านอุปสรรคพบว่ายังมีในเรื่องอัตราภาษีเงินได้จากต่างประเทศที่อยู่ในอัตราที่สูงเมื่อเทียบกับหลายๆ ประเทศ เช่น สิงคโปร์ มาเลเซีย และฮ่องกง เรื่องการทำงานที่ยังขาดการบูรณาการของรัฐเนื่องจากยังไม่มีหน่วยที่รับผิดชอบการไปลงทุนในต่างประเทศโดยตรงที่สามารถให้คำปรึกษาทางด้านกฎหมาย กฎระเบียบ นโยบายต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการลงทุน โดยปัจจุบันภาระหน้าที่นี้อาศัยการทำงานของหน่วยงานต่างๆ เช่น กระทรวงพาณิชย์ สถานทูต อีกทั้งแรงงานเมียนมาร์ยังขาดความรู้และทักษะที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมเครื่องแต่งกาย เช่น ทักษะการตัดเย็บ การออกแบบ การใช้เครื่องจักรและเทคโนโลยี เป็นต้น
 
อย่างไรก็ตาม การที่ผู้ประกอบการไทยจะขยายฐานการผลิตเข้าไปในเมียนมาร์ให้ประสบความสำเร็จและดำเนินธุรกิจได้อย่างราบรื่นนั้น ต้องทำการศึกษาในอีกหลายด้าน ทั้งเรื่องวัฒนธรรม กฎหมาย และกฎระเบียบต่างๆ ในการเข้าไปลงทุนหรือทำธุรกิจในเมียนมาร์ เนื่องจากเมียนมาร์เพิ่งเปิดประเทศได้ไม่นาน อาจมีข้อกฎหมาย กฎระเบียบที่ยังไม่นิ่งและมีการปรับเปลี่ยนค่อนข้างบ่อย ซึ่งผู้ประกอบการต้องเตรียมพร้อมและศึกษาข้อมูลดังกล่าวไว้ เพื่อจะได้ดำเนินธุรกิจการลงทุนได้อย่างราบรื่นและประสบความสำเร็จต่อไป และเสื้อผ้าถือเป็นปัจจัย 4 ซึ่งทุกคนจำเป็นต้องใช้ เราจึงให้ความสำคัญกับอุตสาหกรรมเครื่องแต่งกาย ดร.สมชาย กล่าวทิ้งท้าย
 
(สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม, 14-10-2557)
 
สตม.งัดมาตรการเข้ม ใช้เครื่องไฮเทคสแกนลายนิ้วมือตรวจคนเข้า-ออก เช็กประวัติ
 
เมื่อวันที่ 14 ตุลาคม พล.ต.ท.ศักดา ชื่นภักดี รักษาราชการแทน ผู้บัญชาการสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง (ผบช.สตม.) พร้อม รองผบช.สตม. เปิดเผยถึงมาตรการการเตรียมความพร้อมในส่วนของสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง ในการเข้าประชาคมอาเซียนในปี 2558 ว่า ขณะนี่ สตม.เตรียมความพร้อมทั้งในส่วนของการพัฒนาบุคลากรให้มีความรู้ความสามารถในการทำงาน อีกทั้งมีการปรับปรุงข้อกฏหมายต่างๆที่เกี่ยวข้องกับการตรวจคนเข้าเมือง และในอนาคตทั้ง 10 ชาติในประชาคมอาเซียนจะมีการใช้วีซ่าเดียวกัน โดยสามารถเข้าได้ทั้ง 10 ประเทศ เช่นเดียวกับวีซ่าในทวีปยุโรป ซึ่งขณะนี้อยู่การดำเนินการของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
 
พล.ต.ท.ศักดา กล่าวว่า นอกเหนือจากนั้น สตม.ได้มีการเตรียมความพร้อมด้านเทคโนโลยีที่ทันสมัยมารองรับในการทำงาน อาทิ การใช้วิธีสแกนลายนิ้วมือ ในการตรวจตราคนเข้าออกเพื่อความแม่นยำในการตรวจเช็คประวัติ พร้อมเชื่อมโยงฐานข้อมูลหนังสือเดินทางทั่วโลกที่จะสามารถตรวจเช็คได้ว่า หนังสือเดินทางเล่มใดที่เคยแจ้งหายจะไม่สามารถนำกลับมาใช้ได้ แม้ว่าจะใช้หนังสือเดินทางดังกล่าวลักลอบไปใช้ที่ประเทศใด พร้อมทั้งจะมีการจัดตั้งศูนย์ Immigration Control Center ที่จะทำหน้าที่หลักคือการควบคุมคนต่างด้าวที่เข้าออกประเทศ หรือแรงงานต่างด้าวที่เข้ามาทำงานในประเทศ และฐานข้อมูลการจ้างงานของนายจ้างด้วย
 
"มาตรการทั้งหมดจะดำเนินการให้แล้วเสร็จภายในปี 2558 โดยมีการแบ่งเป็น 2 เฟส ซึ่งเฟสแรก จะเริ่มดำเนินการในสนามบินนานาชาติ 6 แห่ง คือ สนามบินสุวรรณภูมิ, ดอนเมือง, เชียงใหม่, ภูเก็ต, หาดใหญ่, เชียงราย และในเฟสที่สองนั้นจะดำเนินการในส่วนของด่านตรวจคนเข้าเมืองที่อยู่ตามแนวชายแดนที่มีทั้งหมดในประเทศ" รักษาการ ผบช.สตม.ระบุ
 
(มติชน, 14-10-2557)
 
 
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net