สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ: การปฏิวัติร่มในฮ่องกง

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

 

รากฐานทางประวัติศาสตร์ของฮ่องกง มาจากการที่อังกฤษได้เช่าเกาะฮ่องกงระยะยาวจากจีนตั้งแต่ พ.ศ.2384 ในสมัยราชวงศ์แมนจู และมาสร้างเป็นศูนย์กลางการค้าในเอเชียของอังกฤษ ต่อมาเมื่อจีนปฏิวัติไปสู่ระบอบคอมมิวนิสต์เมื่อ พ.ศ.2492 ฮ่องกงก็ยังคงเป็นดินแดนในฐานะอาณานิคมของอังกฤษ ต่อมาได้มีการเจรจาระหว่างจีนกับอังกฤษจนบรรลุข้อตกลงใน พ.ศ.2527 ว่า อังกฤษจะคืนอธิปไตยเหนือฮ่องกงให้กับจีนในเดือนกรกฎาคม พ.ศ.2440 ภายใต้หลักการ ”หนึ่งประเทศ สองระบอบ” หมายถึงว่า ฮ่องกงจะยังคงพัฒนาภายใต้ระบอบทุนนิยมได้ต่อไป โดยมีสิทธิอิสระในการปกครองตนเองอีก 50 ปี นอกเหนือจากการที่จีนจะเข้าควบคุมด้านการต่างประเทศและด้านกลาโหม และมีภาคผนวกที่ระบุให้ผู้ว่าฮ่องกง และสภาที่ปกครองฮ่องกงจะต้องมาจากการลงคะแนนเสียงของประชาชน

จนเมื่อวันที่ 31 สิงหาคม ที่ผ่านมา ทางการจีนได้ผลักดันหลักการปฏิรูปการบริหารเกาะฮ่องกง ที่จะใช้ในการเลือกตั้งสภาฮ่องกงที่จะมีขึ้นใน พ.ศ.2559 และในการเลือกตั้งผู้ว่าฮ่องกงที่จะมีขึ้นใน พ.ศ.2560 โดยให้ผู้ว่าราชการที่จะมาจากการเลือกตั้ง ต้องมาจากการเสนอชื่อ 2-3 รายชื่อ ด้วยเสียงเกินครึ่งของคณะกรรมการเลือกตั้ง 1200 คน แล้วเมื่อผ่านการเลือกตั้งโดยประชาชน จะต้องได้รับการแต่งตั้งอย่างเป็นทางการจากรัฐบาลจีนที่ปักกิ่ง กระบวนการนี้ เป็นเพราะจีนต้องการให้มีการคัดกรองผู้สมัครว่า จะต้องมีคุณสมบัติคือ “รักชาติจีนและรักฮ่องกง” ฝ่ายจีนเห็นว่า ด้วยวิธีการเลือกตั้งเช่นนี้ จะสร้างหลักประกันแก่เสถียรภาพและความรุ่งเรืองของฮ่องกงในระยะยาว

อย่างไรก็ตาม กลุ่มนักศึกษาปัญญาชนฮ่องกงจำนวนมากไม่เห็นด้วยกับวิธีการเหล่านี้ เพราะเห็นว่าเป็นการขัดหลักการประชาธิปไตยเสรี ที่ควรจะต้องให้สิทธิกับประชาชนในการเสนอชื่อผู้สมัครรับเลือกตั้งโดยเสรี และควรจะต้องให้มีการลงคะแนนเลือกผู้ว่าฮ่องกงทางตรงในการเลือกตั้ง พ.ศ.2560

การต่อต้านคัดค้านได้เริ่มต้นตั้งแต่วันที่ 22 กันยายน โดยสมาพันธ์นักศึกษาฮ่องกง” ได้จัดการชุมนุมกันที่หน้าสำนักงานบริหารฮ่องกง โดยตั้งข้อเรียกร้องคือ ให้ยกเลิกมาตรการปฏิรูป 31 สิงหาคม ให้ประชาชนมีสิทธิเสนอผู้สมัครรายที่สี่ในการเลือกตั้ง พ.ศ.2560 และผู้ว่าราชการฮ่องกงเหลียงชุนอิงลาออก กลุ่มสำคัญที่ผลักดันการชุมนุมเรียกว่า ออคคิวปาย ซ็นทรอล ด้วยความรักและสันติภาพ (Occupy Central with Love and Peace) โดยใช้วิธีการชุมนุมประท้วงอย่างสงบและสันติ ดังนั้นต่อมาคำว่า “ออกคิวปายเซนทรอล” (佔中) จะเป็นคำทั่วไปที่ใช้อธิบายการเคลื่อนไหวประชาธิปไตยครั้งนี้

ต่อมา วันที่ 26 กันยายน ทางการตำรวจพยายามเข้าสลายการชุมนุม โดยใช้แก๊สน้ำตาและสเปรย์พริกไทย แต่ยิ่งทำให้ประชาชนฮ่องกงมาเข้าร่วมชุมนุมมากขึ้น และผู้ชุมนุมได้ใช้ร่มเป็นอาวุธในการป้องกันแก้สนำตาและสเปรย์พริกไทย ทำให้ร่มกลายเป็นสัญลักษณ์ในการต่อสู้ โดยเฉพาะร่มสีเหลือง จึงเรียกการเคลื่อนไหวครั้งนี้ว่า การปฏิวัติร่ม

ดังนั้น ตั้งแต่วันที่ 26 กันยายน ประชาชนหลายหมื่นคน ได้จัดการชุมนุมปิดกั้นถนนย่านธุรกิจสำคัญ ที่เขตเซนทรัล มงก๊ก จิมซาจุ่ย คอสเวย์ เบย์ และ แคนตัน โร้ด และระดมการสื่อสารต่อต้านโดยใช้”ไฟร์แชท” สื่อสารกันทางบลูทูธของสมาร์ทโฟน ทำให้ฝ่ายรัฐบาลไม่สามารถปิดกั้นได้ แต่กระนั้น ทางฝ่ายผู้ชุมนุมก็ยังยืนยันนโยบายสายกลาง โดยถือว่าไม่ได้เป็นการปฏิวัติต่อต้านรัฐบาลจีน เพียงแต่ต้องการให้ฮ่องกงมีการเลือกตั้งที่เสรีและเป็นธรรม

อย่างไรก็ตาม ลักษณะพิเศษของการประท้วงครั้งนี้ คือ การไม่มีแกนนำการประท้วงที่เป็นเอกภาพ เพราะกลุ่มที่เข้าร่วมจัดการชุมนุมมีหลายกลุ่ม และไม่ได้มีการจัดตั้งการประสานงานที่ชัดเจน การยึดสถานที่หรือการถอนจากสถานที่ชุมนุมก็ไม่มีความเป็นเอกภาพ ความพยายามในการสร้างขบวนการชุนนุมให้เป็นระบบระเบียบ จึงเป็นการดำเนินงานร่วมกันของประชาชนที่เข้าร่วมการชุมนุม

การชุมนุมยังคงยืดเยื้อต่อมา และเมื่อวันที่ 1 ตุลาคมที่ผ่านมา ถือว่าเป็นการชุมนุมใหญ่ที่สุด ที่มีประชาชนเข้าร่วมนับแสนคน จึงถือเป็นการเคลื่อนไหวทางการเมืองที่ท้าทายรัฐบาลจีนขนาดใหญ่ที่สุด นับตั้งแต่กรณีจตุรัสเทียนอันเหมินที่กรุงปักิ่ง ที่มีการชุมนุมคัดค้านรัฐบาลคอมมิวนิสต์จีนและเรียกร้องการปฏิรูปการเมือง เมื่อเดือนเมษายน-มิถุนายน พ.ศ.2532 ซึ่งครั้งนั้นรัฐบาลจีนตัดสินใจใช้กำลังเข้าสลายการชุมนุม จนมีผู้เสียชีวิตหลายพันคน และบาดเจ็บนับหมื่นคน ในครั้งนี้ก็มีความวิตกเช่นกันว่า รัฐบาลจีนอาจใช้ความรุนแรงในการปราบปราม เพราะการเรียกร้องประชาธิปไตยในฮ่องกง อาจกระทบกระเทือนถึงปัญหาทางการเมืองของจีนในกรณีอื่น เช่น กรณีธิเบต และซินเกียง ที่ประชาชนก็ต่อสู้เพื่อสิทธิในการปกครองตนเองเช่นกัน

สำหรับ นายเหลียงชุนอิง ผู้ว่าการฮ่องกง ยืนยันจะอยู่ในตำแหน่งต่อไป และเรียกร้องให้ผู้ชุมนุมกลับบ้าน คืนความสงบและชีวิตปกติให้กับฮ่องกง เขายืนยันว่า เขาจำเป็นต้องอยู่ในตำแหน่งเพื่อรักษาเสถียรภาพ และสานต่องานเกี่ยวกับการให้สิทธิ์ออกเสียงเลือกตั้งแก่พลเมืองเพื่อให้ชาวฮ่องกงทั้ง 5 ล้านคน สามารถไปใช้สิทธิ์เลือกตั้งผู้ว่าฯ คนใหม่ได้ และเขาได้มอบหมายให้ นางแคร์รี หลิน หัวหน้าคณะรัฐมนตรีฮ่องกง เป็นตัวแทนในการเจรจาเรื่องการปฏิรูปการเมืองกับฝ่ายผู้ประท้วง

ส่วนท่าทีของรัฐบาลจีน ในขั้นแรกสุดคือการควบคุมข่าวสารเรื่องการประท้วงในฮ่องกงไม่ให้เข้าไปในจีนโดยไม่ได้กลั่นกรอง นอกจากนี้ทางการจีนยังยืนยันในหลักการเลือกตั้งฮ่องกงแบบเดิมว่าเป็นการถูกต้องแล้ว จีนจะไม่ทบทวนมาตรการดังกล่าว และว่า การประท้วงออกคิวปายเซนทรอลเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมาย และเป็นการทำลายเศรษฐกิจของฮ่องกง

ต่อมาในวันที่ 4 ตุลาคม ได้เกิดการจัดตั้งม็อบชนม็อบ คือ เกิดการชุมนุมของฝ่ายสนับสนุนรัฐบาลฮ่องกง และปะทะกับฝ่ายชุมนุมประท้วงที่ย่านมงก็อก ฝ่ายรัฐบาลจีนก็ออกข่าวว่า มีประชาชนฮ่องกงจำนวนมากขึ้นทุกที ที่ไม่เห็นด้วยกับการประท้วงของออกคิวปายเซนทรอล และโจมตีว่า มี”การแทรกแซงของต่างชาติ”สนับสนุนการประท้วงครั้งนี้

การประท้วงในฮ่องกงยังไม่ได้ยุติลง แต่คงคาดหมายได้ว่า การเรียกร้องประชาธิปไตยในฮ่องกงขณะนี้ คงยากที่จะได้รับชัยชนะ แต่ก็เป็นการสะท้อนอีกครั้งถึงความเรียกร้องต้องการประชาธิปไตยนั้น เป็นกระแสของโลกปัจจุบัน ที่ใดที่ไม่มีกระบวนการการเมืองแบบประชาธิปไตย ก็จะต้องถูกต่อต้านจากประชาชนในเงื่อนไขที่แน่นอน ขบวนการประชาธิปไตยในไทยคงต้องเอาใจช่วยและสรุปบทเรียนจากฮ่องกง เพื่อจะรณรงค์ให้ไทยก้าวสู่สังคมที่เป็นประชาธิปไตยต่อไป

 

 

เผยแพร่ครั้งแรกใน: โลกวันนี้ วันสุข ฉบับที่ 483 วันที่ 13 ตุลาคม 2557

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท