Skip to main content
sharethis

สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ แห่ง TDRI เตือน กมธ.ยกร่างรธน.ล่วงหน้า หวั่นใช้มาตรการทางกฎหมายห้ามนโยบายประชานิยมยาก ต้องใช้ดุลยพินิจศาลรธน.สร้างปมความขัดแย้งไม่จบ เสนอ 5 มาตรการทำ ‘ประชานิยมที่มีคุณภาพ’

14 ต.ค.2557 ที่มูลนิธิสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) Eisenhower Fellowships Alumni (Thailand) และ Eisenhower Fellowships จัดสัมมนาสาธารณะเรื่อง ปฏิรูปประเทศไทย ปฏิรูปอะไรและอย่างไร โดยมีวิทยากรเป็นอดีตผู้ได้รับทุน Eisenhower หลากหลายสาขาอาชีพ พูดถึงการปฏิรูปในแง่มุมต่างๆ

สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ประธานสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย กล่าวในส่วนของการปฏิรูปธรรมาภิบาลภาครัฐว่า คำถามหลักคือเราจะอยู่อย่างไรกับประชานิยมโดยที่อยู่กับประชาธิปไตยด้วย

ตอนนี้ข้อถกเถียงในไทยดูเหมือนจะออกไปในลักษณะ ประชาธิปไตยกับประชานิยมเป็นของคู่กัน หากจะหยุดประชานิยมก็ต้องล้มประชาธิปไตย ทั้งที่จริงๆ มีทางออกที่ดีกว่านั้น ประเทศไทยพัฒนาเศรษฐกิจโตมาต่อเนื่องหลายทศวรรษ เป็นประเทศในหนึ่งในไม่กี่ประเทศที่ต่อเนื่องหลายทศวรรษได้ แต่ยังคงความเหลื่อมล้ำสูง ในสังคมแบบนี้จะมีแรงกดดันให้มีการกระจายรายได้ออกมาในรูปการจัดสวัสดิการ หรือลดแลกแจกแถมในรูปประชานิยม

ข้อถกเถียงในวงการการเมืองถูกสรุปรวบยอดในรัฐธรรมนูญชั่วคราว มาตรา 35 (7)(8) ให้ กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญต้องทำร่างใหม่ให้มีกลไกที่มีประสิทธิภาพในการปรับโครงสร้างและขับเคลื่อนเศรษฐกิจสังคม ที่มีความเป็นธรรม และป้องกันไม่ให้มีการบริหารที่มุ่งสร้างความนิยมทางการเมืองจนก่อให้เกิดความเสียหายต่อระบบเศรษฐกิจระยะยาว

หาก กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับถาวรจะตีโจทย์แก้ไขประชานิยมผิดทางจะมีปัญหาต่อ เกรงว่าจะมีตีโจทย์วางแนวกฎหมายป้องกันประชานิยมซึ่งท้ายที่สุดก็จะไม่สำเร็จอยู่ดี เพราะเป็นการยากที่จะเอามาตรการทางกฎหมายมาบอกว่านโยบายอะไรเป็นประชานิยมจนกว่าจะใช้นโยบายนั้น มันจะกลายเป็นว่าต้องใช้ดุลยพินิจของศาลรัฐธรรมนูญสูงมาก ไม่เป็นประชาธิปไตย และจะก่อปัญหาทางการเมืองต่อไป

ในทางวิชาการเศรษฐศาสตร์เราวิเคราะห์กันได้ว่าเกิดความเสียหายต่อระบบระยะยาวหรือไม่ การทำนโยบายต้องมุ่งหาความนิยมทางการเมืองอยู่แล้วไม่ใช่ปัญหา จะรู้สิ่งนั้นได้หลายครั้งต้องทำหลังใช้นโยบายแล้ว ไม่ใช่ใช้มาตรการทางกฎหมายกลั่นกรองก่อนจะทำ

ประการต่อมาคือ ถ้ารัฐธรรมนูญไปบังคับไม่ให้รัฐบาลมีนโยบายอย่างใดอย่างหนึ่ง จะเป็นการจำกัดเสรีภาพของรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง ขณะเดียวกันก็เป็นการจำกัดเสรีภาพของประชาชนที่จะอยากได้นโยบายบางอย่าง เกิดปัญหาความชอบธรรมของรัฐธรรมนูญตามมาอีก หวังว่า กมธ.จะไม่ใช้วิธีการดังกล่าวในการกำกับนโยบายประชานิยม

ข้อเสนอที่ควรทำ คือ พัฒนาประชาธิปไตยในประเทศให้เข้มแข็งและเพิ่มกลไกตรวจสอบถ่วงดุล ซึ่งมี 5 ข้อ เสนอ คือ

1) เสนอให้แก้ไขกฎหมายเลือกตั้งกำหนดให้พรรคการเมืองต้องแจ้งต้นทุนทางการคลังในการหาเสียงนโยบายต่างๆ วิธีการหารายได้จากไหน จะขึ้นภาษีหรือจะกู้ยืมที่ใด เพื่อให้ประชาชนทราบล่วงหน้าว่านโยบายต่างๆ มีต้นทุนเท่าไร และต้องมีข้อห้ามว่าจะไม่ใช้เงินมากไปกว่าที่หาเสียงไว้

2) การใช้จ่ายเงินแผ่นดินต้องทำตามระบบงบประมาณ ผ่านการอนุมัติของสภา ไม่ใช้นอกระบบงบประมาณ

3) ต้องมีบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญที่พูดเรื่องวินัยทางการคลัง ฟังดูคล้ายกับรัฐธรรมนูญ 2550 แต่รัฐบาลหลายชุดก็ไม่ได้ออกกฎหมายลูกออกมารองรับ

4) ตั้งหน่วยงานช่วยฝ่ายนิติบัญญัติ ควรมีการตั้งสำนักงบประมาณรัฐสภา หรือ PPO เพื่อหาและวิเคราะห์ข้อมูลให้ฝ่ายนิติบัญญัติทันกับฝ่ายบริหาร

5) ระยะยาวมุ่งลดความเหลื่อมล้ำทางสังคม ดีที่สุด คือการลดความเหลื่อมล้ำโอกาสในการเข้าถึงสวัสดิการต่างๆ และสร้างตาข่ายทางสังคมสำหรับผู้ด้อยโอกาส

“ผมคิดว่าเราสามารถอยู่ในสังคมประชาธิปไตยโดยมีกรอบนโยบายที่ดี มีวินัยการคลังได้” สมเกียรติกล่าวปิดท้าย 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net