รายงานเสวนา (จัดได้): เสรีภาพทางวิชาการกับความเป็นเลิศของมหาวิทยาลัย

11 ต.ค. 2557 คณะเศรษฐศาสตร์ ร่วมกับคณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา และคณะรัฐศาสตร์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) จัดสัมมนา "เสรีภาพทางวิชาการกับความเป็นเลิศของมหาวิทยาลัย" ที่ห้องประชุมประกอบ หุตะสิงห์ อาคารเอนกประสงค์1 มธ. ท่าพระจันทร์ โดยการจัดสัมมนาเป็นไปโดยปกติ ไม่มีเจ้าหน้าที่ตำรวจหรือทหารเข้ามาห้ามแต่อย่างใด
  
ธร ปีติดล อาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ มธ. ผู้ดำเนินรายการ กล่าวนำว่า จากสถานการณ์ที่สังคมไทยเข้าสู่ยุคสมัยที่ความมั่นคงกลายเป็นเรื่องสำคัญ ทำให้เสรีภาพทางวิชาการทั้งในทางความคิดและทางการแลกเปลี่ยนถูกมองว่าควรถูกจำกัดลงบ้าง วันนี้จะคุยกันว่า เสรีภาพทางวิชาการคืออะไรและสำคัญอย่างไร รวมถึงเรื่องความเป็นเลิศของมหาวิทยาลัยที่สังคมมักพูดถึงว่าจะเกิดขึ้นได้อย่างไรเมื่อเสรีภาพทางวิชาการถูกจำกัด

ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ ธรรมศาสตราภิชาน วิทยาลัยนานาชาติปรีดี พนมยงค์ มธ. กล่าวว่า การต่อสู้เพื่อเสรีภาพทางวิชาการมีจุดเริ่มต้นจุดเล็กๆ ในยุโรปยุคกลาง โดยเป็นการต่อสู้ระหว่างนักวิชาการ ซึ่งอาจเป็นพระ หรือหมอ กับนักคิดของศาสนจักรที่ไม่พอใจกับการคิดค้นความรู้ใหม่ของนักวิชาการ ที่ไปขัดแย้งความเชื่อเดิมที่สังคม ราชสำนัก หรือศาสนจักรเชื่อ อย่างไรก็ตาม การต่อสู้ทางวิชาการที่เป็นวงกว้างกว่าเกิดในช่วง ศต.ที่ 20 นี้เอง ในสังคมที่ปกครองแบบเผด็จการเบ็ดเสร็จ เช่น ยุคนาซี คอมมิวนิสต์จีน สหภาพโซเวียต เพราะนักวิชาการนั้นต้องใช้ความคิด คงเป็นไปไม่ได้ที่จะต้องคิดใต้กฎ ระเบียบ ค่านิยม ดังนั้น เสรีภาพทางวิชาการจึงคือการต่อสู้กับอำนาจเบ็ดเสร็จ

ธเนศ สรุปว่า หากจะนิยาม เสรีภาพทางวิชาการก็คือเสรีภาพในการสอน เรียน และค้นคว้าความรู้ การวิจัยในประเด็นวิชาการที่ใหม่ทั้งแง่การตีความหรือความรู้ อย่างไรก็ตาม เสรีภาพทางวิชาการไม่ได้หมายความว่าไม่มีระเบียบเลย แต่ที่ไม่เห็นด้วยก็คือ การใช้กฎระเบียบอย่างไร้เหตุผล ไม่มีความเหมาะสม หรือผลที่พิสูจน์ได้ว่ามันจะดี เช่น การอ้างเรื่องความมั่นคง

ธเนศขยายความว่า การวิจัยค้นคว้าเป็นบ่อเกิดของความรู้ เพราะเป็นไปไม่ได้ที่จะได้ทฤษฎีใหม่ โดยไม่หาความรู้ ซึ่งแง่นี้จะส่งผลต่อความเป็นเลิศทางวิชาการที่มหาวิทยาลัยมักให้ความสำคัญด้วย เพราะการวัดความเป็นเลิศทางวิชาการนั้น ตัวชี้วัดหนึ่งคือ งานวิจัยที่มีผลสะเทือน โดยดูจากการอ้างอิงจากคนทั่วโลก

และที่สำคัญไม่น้อยกว่ากันคือการสอน หากอาจารย์ไม่สามารถวิจัยค้นคว้าเพิ่มเติมได้ ก็ตาย ยิ่งในยุคที่ข้อมูลข่าวสารไปไกล ทุกวิชาการค้นหาได้หมด มีคำถามว่าแล้วจะสอนอะไร หากอาจารย์เขียนคำอธิบายหลักสูตรโดยไม่เปลี่ยนเลยตลอด 20 ปี ก็ถือเป็นการคอร์รัปวิชาการ เพราะสะท้อนว่าไม่มีอะไรใหม่ ฉะนั้น การค้นคว้าวิจัยและเสรีภาพในการสอน จึงจะประกันคุณภาพวิชาการได้ เพราะหากอาจารย์อ้างว่าพูดไม่ได้ เพราะจะกระทบความมั่นคงก็ไม่ต้องสอนกันพอดี

ชูศักดิ์ ภัทรกุลวณิชย์ อาจารย์ประจำคณะศิลปศาสตร์ มธ. กล่าวว่า สาเหตุที่ต้องเรียกร้องเสรีภาพทางวิชาการนั้นมีเป้าหมาย 2 ข้อคือ หนึ่ง เป้าหมายเชิงปฏิบัติ คือ เพื่อให้อิสระกับนักวิชาการในการค้นคว้าวิจัย สอน เผยแพร่ความรู้ในเรื่องที่เชี่ยวชาญ โดยไม่ต้องวิตกว่าจะได้รับโทษจากผู้บริหารหรือองค์กรนอกมหาวิทยาลัย

หากดูตามนิยามนี้ เพียงเท่านี้ก็ต้องถือว่าไทยไม่มีเสรีภาพทางวิชาการแล้ว เพราะแม้แต่ก่อนหน้าการรัฐประหารครั้งนี้ การจะค้นคว้าวิจัย จัดสัมมนา ก็จะต้องตอบคำถามว่ากิจกรรมเหล่านั้นตอบโจทย์ยุทธศาสต์ของมหาวิทยาลัย หรือประเทศชาติอย่างไร

สอง เป้าหมายเชิงอุดมคติ แนวคิดเรื่องเสรีภาพทางวิชาการ ตั้งอยู่บนสมมติฐานใหญ่สองข้อคือ หนึ่ง ชุดความรู้ต่างๆ ไม่อาจหยุดนิ่งและไม่เคยหยุดนิ่ง พัฒนาไม่สิ้นสุด ไม่มีคำตอบสุดท้าย มีแต่ที่ใหม่กว่า ก้าวหน้ากว่า ทำให้ต้องสนับสนุนเสรีภาพทางวิชาการเพื่อค้นคว้าหาความรู้ใหม่ไปเรื่อยๆ และสอง ความรู้เป็นสิ่งที่มีคุณค่าในตัวเอง ไม่มีสังกัด ฝักใฝ่ฝ่ายใด เสรีภาพทางวิชาการจึงควรเป็นการแสวงหาที่ปลอดจากการแทรกแซงใดๆ 

เมื่อย้อนดูจะพบว่า ฐานคิดของเสรีภาพทางวิชาการ เป็นส่วนหนึ่งของยุคเรืองปัญญา หรือ Enlightenment ที่ต้องการสร้างองค์ความรู้ให้ยึดโยงหลักเหตุผล วิทยาศาสตร์ หลุดจากการครอบงำของรัฐกับวัด หรือการเมืองกับศาสนา ไม่สังกัดฝ่ายใด ในฐานะที่สอนวรรณคดี ลักษณะนี้เกิดในแวดวงศิลปะเช่นกัน โดยมีความพยายามทำให้ศิลปะเป็นกลาง สากล ไม่สังกัดฝ่ายใด โดยเน้นย้ำคุณค่าทางสุนทรีศาสตร์ เพื่อให้หลุดจากศาสนาและการเมือง 

อย่างไรก็ตาม เสรีภาพทางวิชาการของโลกตะวันตกก็มีปัญหาเช่นกัน ทั้งในเรื่องว่าทำได้จริงแค่ไหน สอนได้ทุกเรื่องจริงหรือ นักศึกษามีเสรีภาพในการตอบคำถามได้ทุกเรื่องโดยอาจารย์ไม่ให้ F หรือไม่ นอกจากนี้ ยังเกิดการอ้างเสรีภาพทางวิชาการเพื่อเสนอแนวคิดของตัวเอง มีกรณีที่กลุ่มคลั่งศาสนาเรียกร้องว่าการเรียนที่เน้นแต่วิวัฒนาการของดาร์วินและปฏิเสธทฤษฎีสร้างโลกของพระเจ้า ซึ่งถือเป็นการปฏิเสธเสรีภาพทางวิชาการ หรือไม่เปิดโอกาสให้เสนอทฤษฎีคนดำโง่กว่าคนขาว หรือยิวชั่วร้าย อย่างไรก็ตาม มีทางแก้คือ เปิดให้สอนได้ แต่หากนักศึกษาไม่เรียนหรือเถียงก็ไม่มีสิทธิลงโทษ

ขณะที่กรณีของไทย ชูศักดิ์ ระบุว่า ขอสนทนากับบทความ "อวสานของนักวิชาการ" ของ นิธิ เอียวศรีวงศ์ ซึ่งเสนอประเด็นแสดงความชื่นชมที่นักวิชาการหมดบทบาทไปแล้วในสังคมไทย หลังจากถูก คสช. เรียกไปปรับทัศนคติโดยไม่มีใครสนใจ เพราะมองว่ามีฝักฝ่าย ซึ่งแง่หนึ่งก็แสดงว่าสังคมไทยเริ่มรับรู้แล้วว่าคำตอบที่นักวิชาการเสนอไม่ได้มีคำตอบเดียว ไม่ใช่ผู้ที่มีคำตอบที่ถูกที่สุด ก่อนจะจบท้ายบทความว่า อย่างไรก็ตาม หวังว่าความหมดศรัทธาจะไม่ได้ทำให้สังคมไทยหมดความเชื่อถือในวิชาการ โดยการทำนโยบายสาธารณะต่างๆ ต้องพึงรับฟังข้อเสนอวิชาการที่ปลอดผลประโยชน์

ชูศักดิ์ กล่าวว่า บทความนี้สะท้อนความยุ่งยากลำบากใจของนักปัญญาชนแนวหลังสมัยใหม่ได้อย่างน่าสนใจ เพราะตั้งคำถามกับเรื่องความเป็นกลาง จึงค่อนไปทางหลังสมัยใหม่ แต่ตอนท้าย ก็อดเตือนไม่ได้ว่าไม่ควรทอดทิ้งดูเบาข้อเสนอทางวิชากร ซึ่งเป็นข้อห่วงใยที่เข้าใจได้ เพราะนโยบายสาธารณะจำนวนมากของไทย ดูเบาข้อเสนอทางวิชาการและเน้นผลประโยชน์ทางการเมือง แต่หากเรียกร้องให้รัฐให้ความสำคัญกับข้อเสนอวิชาการ โดยนัยก็เป็นการให้ความสำคัญกับความเป็นกลางหรือไม่ 

ชูศักดิ์ ตั้งคำถามว่า แม้นิธิพยายามแยกคนออกจากหลักการ แต่ปัญหาคือวัฒนธรรมแบบไทยๆ แยกคนจากหลักการได้จริงไหม เชิดชูวิชาการโดยไม่เอานักวิชาการได้ไหม และอะไรเป็นปัจจัยที่สังคมไทยไม่เคยแยก และคอยเชื่อว่านักวิชาการต้องพูดถูก ดี เป็นคำตอบสุดท้าายเสมอ ส่วนตัวเขายังหาคำตอบให้ไม่ได้ว่าทำไมจึงเกิดภาวะนี้ขึ้น

จันทจิรา เอี่ยมมยุรา อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มธ. กล่าวว่า ในไทย ยังไม่พบประวัติศาสตร์การต่อสู้เพื่อรักษาความเป็นอิสระหรือเสรีภาพทางวิชาการเท่าใด ยังไม่พบคดีการสู้เพื่อคัดค้านอำนาจการแทรกแซงภายนอก อีกทั้งในคำพิพากษาศาลก็ไม่มีการวางหลักการเรื่องนี้ไว้

อย่างไรก็ตาม ถ้าดูประวัติศาสตร์การต่อสู้ทางการเมืองการปกครองยุคใหม่ จะพบว่า ทุกครั้งที่มีการต่อสู้ จะมีการบัญญัติเสรีภาพทางวิชาการในรัฐธรรมนูญ เริ่มตั้งแต่รัฐธรรมนูญ 2517 ในมาตรา 42 ที่ระบุว่าเสรีภาพทางวิชาการย่อมได้รับการคุ้มครอง ทั้งนี้ต้องไม่ขัดต่อหน้าที่ของพลเมือง ก่อนจะหายไปหลังสังคมไทยเผชิญกับ 6 ตุลา 2519 จนปรากฏอีกครั้งในรัฐธรรมนูญ 2540 หลังการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยในเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ 2535 โดยเขียนยาวขึ้น ทำให้เห็นขอบเขตของเนื้อหาเสรีภาพทางวิชาการ ครอบคลุมถึงการศึกษา อบรม วิจัย เผยแพร่ตามหลักวิชาการ ต่อมา ถูกนำมาเขียนอีกครั้งในรัฐธรรมนูญ 2550 ในลักษณะเดียวกัน

นอกจากนี้ จันทจิรา กล่าวถึงการแทรกแซงมหาวิทยาลัยโดยรัฐ ใน 2 ลักษณะใหญ่ คือ หนึ่ง การแทรกแซงโดยชอบด้วยกฎหมาย เช่น การที่รัฐอนุมัติงบบริหารมหาวิทยาลัย งบวิจัย ให้รางวัล อนุมัติตำแหน่งทางวิาการ สอง การแทรกแซงโดยไม่ชอบธรรม มีทั้งการแทรกแซงอย่างเปิดเผย เช่น ก่อน 14 ตุลา 2516 ที่เอาทหารมานั่งเป็นอธิการบดีมหาวิทยาลัย และการแทรกแซงที่ แยบยลขึ้น เช่น การที่รัฐเอาสถานภาพนักวิชาการไปใช้ประโยชน์ เช่น แต่งตั้งอธิการบดีไปทำหน้าที่เด่นๆ ในบ้านเมือง คณะกรรมการสรรหาผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองสำคัญๆ ทำให้มหาวิทยาลัยและฝ่ายการเมืองสนิทกันมากขึ้นจนในการรัฐประหาร 19 ก.ย.2549 มีการแต่งตั้งอธิการบดีมหาวิทยาลัยไปนั่ง สนช. ธรรมเนียมนิยมนี้ต่อเนื่องถึงรัฐประหารรอบนี้ ที่มีการแต่งตั้ง อธิการบดี อาจารย์มหาวิทยาลัย ที่มีแนวคิดสอดคล้องกับผู้มีอำนาจในบ้านเมือง นั่ง สนช. สภาปฏิรูป ครม.  เช่นนี้ทำให้เกิดการแทรกแซงรูปแบบใหม่ที่มีความแนบเนียนและแยบยลแต่น่าเจ็บปวดกว่า คือต่อไปนี้ไม่ต้องรอคำสั่งจากภายนอก แต่ลงมือโดยหน่วยงานภายในมหาวิทยาลัยเอง 

ต่อคำถามว่า ปัจจุบันภายใต้ธรรมนูญการปกครองชั่วคราว 2557 จะอ้างเสรีภาพทางวิชาการได้จากไหน จันทจิรา ตอบว่าในสายตานักกฎหมาย เวลาที่ใช้รัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว ต้องเอาประเพณีการปกครอง และมาตรฐานทางกฎหมายมาอ่านประกอบด้วย สิ่งที่ไม่เขียนไม่ได้แปลว่าไม่มี ทั้งนี้ ในมาตรา 4 ของธรรมนูญฯ ก็พูดถึงกรณีที่ไม่ได้มีบทบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญนี้ ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ สิทธิ เสรีภาพ และความเสมอภาค บรรดาที่ชนชาวไทยเคยได้รับการคุ้มครองให้ถือว่าได้รับการคุ้มครองตามรัฐธรรมนูญ ดังนั้น จึงถือว่าเสรีภาพทางวิชาการได้รับการรับรอง เพราะมีบัญญัติไว้ในหลัก 6 ประการของคณะราษฎร ซึ่งถือเป็นธรรมนูญการปกครองฉบับแรกหลังเปลี่ยนแปลงการปกครองในปี 2475 และมีบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญอย่างน้อย 3 ฉบับด้วย

อย่างไรก็ตาม จันทจิรา ชี้ว่า ปัญหาของไทยไม่ใช่เรื่องเขียนหรือไม่เขียนไว้ แต่เป็นวิธีบังคับใช้กฎหมาย โดยกล่าวถึงกรณี สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล อาจารย์คณะศิลปศาสตร์ มธ. ซึ่งเคยวิจารณ์กฎหมายอาญา มาตรา 112 ว่ายังมีสถานะเป็นนักวิชาการอยู่ไหม ยังมีสถานะเป็นอาจารย์มหาวิทยาลัยหรือไม่เพราะขาดงานเกิน 15 วัน เมื่อโดนกล่าวหาว่าหมิ่นสถาบันกษัตริย์ ทราบมาว่ามหาวิทยาลัยมีท่าทีว่าจะตั้งกรรมการสอบสวน และตั้งข้อกล่าวหาดำเนินคดี หากเขาอยากจะฟ้องร้อง จะมีศาลใดให้ความเป็นธรรม คุ้มครองเสรีภาพทางวิชาการได้บ้าง ดังนั้น ปัญหาของไทยจึงไม่ใช่เรื่องมีบทบัญญัติหรือไม่ แต่เป็นการที่ไม่สามารถบังคับใช้บทบัญญัติในทางคุ้มครองสิทธิเสรีภาพประชาชนได้จริง

อนุสรณ์ อุณโณ อาจารย์ประจำคณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา กล่าวถึงการเอาวิชาการเข้าไปสัมพันธ์กับผู้มีอำนาจรัฐ โดยพูดถึงกรณีที่นักมานุษยวิทยามักถูกเจ้าอาณานิคมเรียกใช้ให้ทำการศึกษาเพื่อทำความเข้าใจกลุ่มหรือประเทศใดๆ ที่เจ้าอาณานิคมต้องการควบคุม-ปกครอง นับตั้งแต่สมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 สงครามเวียดนาม จนถึงสงครามก่อการร้าย 2550  ซึ่งกองทัพอเมริกามีโครงการที่เพิ่มนักมานุษวิทยาในทีมทหารในอัฟกานิสถาน  1-2 คน เพื่อลดความสูญเสียของสงคราม ลดการปะทะโดยไม่จำเป็น

อย่างไรก็ตาม สมาคมนักมานุษยวิทยาอเมริกัน (AAA) ออกแถลงการณ์คัดค้านโดยมีข้อถกเถียงสำคัญ คือ หนึ่ง การอยู่ร่วมกับทหาร ทำให้ไม่สามารถจำแนกตัวเอง เปิดเผยตัวเองว่าเป็นใครและกำลังทำอะไร ซึ่งขัดกับหลักจริยธรรมของการทำงวิจัยทางมานุษยวิทยา  สอง การเข้าไปทำหน้าที่หาข้อมูลกับฝ่ายกองทัพ จะเกิดความไม่ลงรอยกันระหว่างผลประโยชน์ หลายกรณีเกิดผลเสียต่อฝ่ายที่ถูกศึกษา ซึ่งขัดกับหลักจริยธรรม และ สาม อาจเกิดอันตรายต่อตัวนักมานุษยวิทยา เนื่องจากนักมานุษยวิทยาไม่ได้ถูกฝึกฝนทางการรบ พกปืน แต่ยิงไม่เป็น นอกจากนี้ยังพบนักมานุษวิทยาหญิงถูกข่มขืน ขณะที่นักมานุษยวิทยาที่ไม่เกี่ยวข้องแต่ต้องการลงพื้นที่ศึกษาก็จะเป็นอันตรายไปด้วย เพราะแยกกันไม่ออก

อนุสรณ์ ชี้ว่า จากกรณีนี้จะเห็นว่า มีองค์กรที่กำกับการเอาวิชาการเข้าไปสัมพันธ์กับผู้มีอำนาจรัฐ ขณะที่หากเกิดกรณีเช่นนี้ขึ้นในไทย ถามว่า ไทยจะมีสมาคมวิชาชีพใดกำกับจริยธรรมตรงนี้

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท