Skip to main content
sharethis
นิด้าเสนอโมเดลปฎิรูปประเทศไทย ส่งให้ คสช.เร่งปฏิรูปโครงสร้างทางสังคม พัฒนาทรัพยากรมนุษย์ สิ่งแวดล้อม ความเหลื่อมล้ำทางสังคมและด้านสื่อสารมวลชนทั้งระยะเร่งด่วนระยะยาว  
 
เมื่อวันที่ 10 ต.ค. 2557 ที่สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) จัดแถลงข่าว "นิด้าโมเดล ปฏิรูปประเทศไทย กางแผนปฏิรูปโครงสร้างทางสังคม" ครั้งที่ 3 โดยนางกัลยาณี เสนาสุ คณะพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ นิด้า กล่าวถึงแนวทางปฎิรูปด้านการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ ว่า มีข้อเสนอแนะ 6 ด้าน คือ ด้านจริยธรรม ด้านความเป็นพลเมืองดี ด้านภาวะผู้นำ ด้านทักษะการคิด ด้านคุณลักษณะและด้านขีดความสามารถของคนไทย เพื่อรองรับระบบเศรษฐกิจ ยุคดิจิตอล ความสุข คุณภาพชีวิต และวัฒนธรรมของชาติ
 
โดยเริ่มจากการผลักดันในแต่ละระดับตั้งแต่บุคคล องค์การ ไปจนถึงระดับสังคมของประเทศ ด้วยการออกกฎหมายเอื้อประโยชน์ให้องค์กรต่าง ๆ ส่งเสริมจิตอาสา ด้านจริยธรรม รณรงค์ส่งเสริมพลเมืองดี สนับสนุนให้สื่อใหม่ต่าง ๆ ช่วยส่งเสริมคนดี ด้วยวิธีการ 4 ขั้นตอนดังนี้ คือการสร้างทัศนคติที่ดีต่อการเรียนรู้ ซ่อมปรับเปลี่ยนความคิด สานปรับเปลี่ยนบทบาท และส่งผ่านผลลัพธ์ของการเรียนรู้ ผ่านองค์กรการเรียนรู้ต่าง ๆ ทั้ง บ้าน วัด และโรงเรียนเพื่อปลูกฝังจิตสำนึกควบคู่กับการสร้างสรรค์การเป็นพลเมืองที่ดีตามค่านิยม 12 ประการ ที่เสนอโดยหัวหน้าคสช.ว่าด้วยเรื่องความรักชาติ ศาสนา และพระมหากษัตริย์ ซื่อสัตย์ เสียสละ อดทน เป็นต้น
 
ด้านนายธวัชชัย ศุภดิษฐ์ รองอธิบดีฝ่ายวางแผนและอาจารย์ประจำคณะพัฒนาสังคมและสิ่งแวดล้อม นิด้า กล่าวถึงข้อเสนอด้านการปฏิรูปสิ่งแวดล้อมที่จะต้องมีการบูรณาการอย่างรอบด้านทั้งการปฏิรูปโครงสร้างองค์กร และหน้าที่ความรับผิดชอบ ระหว่างหน่วยงานต่าง ๆ ปฏิรูประบบการโยกย้ายข้าราชการที่เกี่ยวข้องกับการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมที่เป็นธรรม เน้นผู้ผลิตที่ใช้ทรัพยากรมากให้เป็นผู้จ่ายภาษีให้มากขึ้น ปฏิรูปการใช้ที่ดินการถือครองเพื่อการเกษตรในอัตราก้าวหน้า รวมถึงการปฎิรูปการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมในระดับท้องถิ่นและภูมิภาค ให้เป็นธรรมกับภาคประชาชน ได้เข้ามามีส่วนร่วมในการจัดสรรมากขึ้น และต้องจัดให้มีการตรวจสอบ คุ้มครองและปราบปรามการทำลายทรัพยากรธรรมชาติอย่างเด็ดขาด
 
ด้านนายชาติชาย ณ เชียงใหม่ กล่าวถึงปัญหาความเหลื่อมล้ำกับวิกฤติการเมืองและสังคมไทยในปัจจุบัน ว่า ความเหลื่อมล้ำไม่ใช่เรื่องใหม่ และเป็นเรื่องสำคัญที่ต้องแก้ไข ทั้งความเหลื่อมล้ำในอำนาจ ความเหลื่อมล้ำในโอกาส ความเหลื่อมล้ำในการต่อยอดทุน และความเหลื่อมล้ำเรื่องศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์ ซึ่งจุดเริ่มต้นมาจากกลุ่มนายทุนเก่าและใหม่ จากการพ่ายแพ้สงครามโลกครั้งที่ 2 และปัจจุบันเห็นได้ชัดเจนคือเรื่องความมีอำนาจที่ไม่สมดุลกับประชากรในชาติ จึงเป็นที่มาของการแบ่งฝักแบ่งฝ่าย ดังนั้นวิธีการแก้ปัญหา คือต้องหาวิธีทำให้คนทุกกลุ่มในชาติมีความสมดุลกันให้ได้มากหรือใกล้เคียงกันมากที่สุด
 
ส่วนเรื่องความเหลื่อมล้ำในโอกาส เกิดจากที่คนชั้นล่าง ไม่สามารถเข้าถึงการรับบริการสาธารณะที่ดีมีคุณภาพ ทั้งการศึกษา การรักษาพยาบาล จึงต้องมีการปรับปรุงในส่วนนี้ให้ประชาชนเข้าถึงได้ง่ายขึ้นทุกระดับ ต่อมาในส่วนของความเหลื่อมล้ำทางต้นทุน คนจนที่ไม่มีต้นทุนทางสังคม มีโอกาสน้อยที่จะได้ถือครองทรัพย์สิน การต่อยอดรายได้จึงทำได้ยาก ด้วยเหตุนี้ทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำในศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ที่จะถูกเหยียดหยามทางสังคมได้ ทั้งนี้สังคมยังมีเรื่องทุนที่มาจากมรดก ที่จะให้ผลตอบแทนสูงกว่าทุนที่เกิดขึ้นใหม่ และสังคมไทยยังคงสภาพเป็นสังคมสืบสถานะ มานานกว่า 5 ทศวรรษ กฎหมายยังไม่เป็นกฎหมาย ซึ่งสิ่งเหล่านี้สะท้อนให้เห็นความบกพร่องของกลไกรัฐ ที่มีปัญหาความเหลื่อมล้ำอยู่ในทุกมิติ โดยเฉพาะอำนาจทางการเมือง และเศรษฐกิจก่อให้เกิดความขัดแย้งมาจนถึงปัจจุบัน ด้วยเหตุนี้จึงขอเสนอนโยบายและมาตรการลดความเหลื่อมล้ำที่คสช.ควรพิจารณา อย่างเร่งด่วน มี 6 เรื่องด้วยกันคือ
 
1. ในเรื่องของการกระจายอำนาจให้องค์กรชุมชน ท้องถิ่น ได้ตัดสินใจร่วมกับหน่วยงานรัฐในการจัดสรรสิทธิและโอกาสรวมถึงเสริมสร้างความสามารถของคนยากคนจน คนชายขอบให้มากขึ้น โดยตั้งหลักการกระจายอำนาจอย่างไรที่จะลดความเหลื่อมล้ำได้ ไม่ใช่สร้างความเหลื่อมล้ำเพิ่มขึ้น  2.จัดทำนโยบายและแผนงานโครงการที่กระจายทรัพยากรของรัฐไปสู่ภูมิภาคและท้องถิ่นเพื่อสร้างโอกาส โดยเริ่มจากพิจารณาปัญหาตั้งแต่ระดับท้องถิ่นขึ้นไป
 
3. สร้างพื้นที่การสื่อสาร พื้นที่ทางสังคม และพื้นที่ทางนโยบาย ให้คนชั้นกลางทั้งในเมืองและชนบทได้ร่วมกันแบ่งปันแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสารกัน  4.การเพิ่มความหลากหลายของช่องทางการสื่อสารโดยตรงจากชุมชนสู่รัฐ  5.ลดอำนาจอิทธิพลของนักธุรกิจ เพิ่มบทบาทของตัวแทนภาคประชาสังคม  6.ปฎิรูประบบภาษีอากร ด้วยการเพิ่มภาษีของคนรวย เช่น ภาษีกำไร ภาษีที่ดิน ทรัพย์สิน มรดก ดอกเบี้ย รวมทั้งการเพิ่มประสิทธิภาพการจัดเก็บ ไม่ให้คนรวยหนีภาษีและขยายฐานภาษีของอปท.และให้ท้องถิ่นมีการจัดเก็บภาษีที่หลากหลายรูปแบบมากขึ้น
 
ส่วนแนวทางการลดความเหลื่อมล้ำในระยะยาวนั้น จะต้องเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตและการแข่งขัน ต้องพัฒนาศักยภาพคน เทคโนโลยีเพิ่มการวิจัยและพัฒนาสร้างนวัตกรรมใหม่ให้สามารถแข่งขันได้ในระดับประเทศ ส่วนเรื่องที่สำคัญที่สุดเหนือสิ่งอื่นใดคือภาครัฐจะต้องลดการทุจริตคอรัปชั่นลงให้เร็วที่สุด เพราะเป็นสาเหตุหลักของความเหลื่อมล้ำและความไม่เป็นธรรมในสังคม กฎหมายต้องเป็นกฎหมายต้องบังคับใช้ได้และสังคมแบบพวกพ้อง สังคมแบบอุปถัมภ์ จะต้องปลูกจิตสำนึกเสียใหม่ให้สิ่งเหล่านี้ลดลงตามลำดับ
 
นายวรัชญ์ ครุจิต ผู้ช่วยอธิการบดี ฝ่ายสื่อสารองค์กร และอาจารย์ประจำคณะนิเทศศาสตร์และนวัตกรรมการจัดการ นิด้า กล่าวว่า การปฎิรูปสื่อมีความสำคัญเพราะถือเป็นองค์กรที่สร้างความเชื่อ สร้างทัศนคติและอาจส่งผลเสียต่อสังคมได้หากมีการนำเสนอโดยขาดจรรยาบรรณความรับผิดชอบ ที่จะเห็นได้ว่ามีการละเมิดสิทธิของผู้อื่น ทั้งเหยื่อหรือผู้ถูกกระทำเป็นประจำ การเผยแพร่ที่คาบเกี่ยวกับความผิดทางกฎหมายทั้งที่ตั้งใจและไม่ตั้งใจ รวมทั้งการนำเสนอที่มีเนื้อหาคาบเกี่ยวกับศีลธรรมอันดี ขัดต่อวัฒนธรรม ยั่วยุทางเพศ ความรุนแรง ภาษาไม่เหมาะสม สนับสนุนการพนัน และความหลงเชื่อทางไสยศาสตร์  นำมาซึ่งเรตติ้งและเป็นแนวทางหนึ่งในการแข่งขันทางธุรกิจ
 
ซึ่งคุณภาพของเนื้อหาข่าวที่นำเสนอเหล่านี้ ไม่ช่วยพัฒนาประชาชนผู้รับสารและอาจขัดต่อศีลธรรมและวัฒนธรรม ทั้งนี้ยังไม่มีหน่วยงานที่รับผิดชอบอย่างมีประสิทธิภาพหรืออำนาจในการตรวจสอบ บังคับให้เกิดการเปลี่ยนแปลง และปัญหาที่สำคัญคือการถูกแทรกแซงจากการเมืองและภาคธุรกิจอย่างเป็นระบบ ทำให้สื่อขาดเสรีภาพในการนำเสนอข่าวสารด้วยตนเอง รวมทั้งปัญหาด้านสวัสดิการและความมั่นคงของผู้ประกอบวิชาชีพสื่อสารมวลชน
 
ด้วยปัญหาเหล่านี้ จึงขอเสนอแนวทางการปฎิรูปด้านข้อมูลข่าวสาร ให้มีการออกกฎหมายและนโยบายในการกำกับดูแลร่วม (co -regulation) ทั้งรัฐและองค์กรสื่อ โดยกำหนดให้ทุกสื่อต้องสังกัดเป็นสมาชิกองค์กรวิชาชีพเสมอ โดยเมื่อมีข้อร้องเรียน องค์กรวิชาชีพส่งผลการพิจารณาที่มีความผิดไปยังหน่วยงานของรัฐ เพื่อให้มีการตักเตือนหรือลงโทษต่อไปตามความเหมาะสม และหากกระทำผิดซ้ำขึ้นบัญชีดำและถอนใบอนุญาตในหน่วยงานของรัฐ รวมถึงจัดเก็บเงินค่าปรับไปสร้างเสริมภาคประชาชนและสื่อในเรื่องของจรรยาบรรณ
 
ขณะเดียวกันต้องมีผู้ตรวจการแผ่นดินด้านการสื่อสารมวลชน เพื่อพิจารณาตามหลักเกณฑ์ที่ได้มีการกำหนดไว้เพื่อควบคุมองค์กรวิชาชีพสื่อให้มีความเหมาะสม นอกจากนี้ยังต้องมีการปฏิรูปคุณภาพ มาตรฐานวิชาชีพ และจรรยาบรรณวิชาชีพในองค์กรสื่อของไทย  
 
ด้านนางยุบล เบ็ญจรงค์กิจ อาจารย์คณะนิเทศนิเทศศาสตร์และนวัตกรรมการจัดการ นิด้า กล่าวถึงการปฎิรูป กสทช. ว่าจะต้องมีการปรับโครงสร้างกสทช. ให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น ในการปฎิรูปการสรรหาคณะกรรมการกสทช. และการจัดสรรงบประมาณ โดยปรับระบบการตรวจสอบการใช้จ่ายงบประชาสัมพันธ์ของหน่วยงานราชการให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น และสิ่งที่สำคัญของบทบาทหน้าที่ของ กสทช. คือการเสริมสร้างความรู้เท่าทันสื่อ ทั้งในระดับโรงเรียนและอุดมศึกษา
 
เพื่อให้ความรู้แก่ผู้รับสารเกิดความเข้มแข็งและเข้าใจในการรับสารด้านต่าง ๆ โดยทำเป็นกองทุนระดับชาติสร้างความรู้ตามสื่อต่าง ๆ และจะต้องพัฒนากลไกการเฝ้าระวังสื่อของภาคประชาสังคม ที่รัฐบาลจะต้องเข้ามาส่งเสริมและรายงานความไม่เหมาะสมในการนำเสนอของสื่อผ่านภาคประชาสังคม และกำหนดนโยบายที่สร้างสรรค์ให้กับสื่อเพื่อให้นำไปปฎิบัติตามความต้องการของภาคประชาชนเพื่อความเหมาะสม รวมทั้งจะต้องปรับกฎหมายให้มีความทันสมัยกับความเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็วของโลก ด้วยการปฎิรูปกฎหมายที่เกี่ยวกับสื่อในด้านต่าง ๆ
 
 ข้อเสนอในการปฏิรูปด้านต่างๆ เหล่านี้จะมีประโยชน์ต่อการกำหนดแนวทางในการปฎิรูปประเทศต่อไป  ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการประสานส่งผ่านข้อเสนอแนะไปยังรัฐบาล คสช. และสปช. เพื่อเสนอแนวทางการปฏิรูปที่ได้ทำการศึกษามาแล้ว ทั้ง 3 ครั้ง ที่ครอบคลุมการปฎิรูปในทุก ๆ ด้าน ให้กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการปฎิรูปต่อไป
 
 
ที่มา
 
 
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net