ถาม-ตอบ เรื่องการประท้วงในฮ่องกง

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

 

1.ฮ่องกงคือประเทศจีนหรือเปล่า  ทำไมต้องประท้วง

ใช่ครับ ฮ่องกงเป็นหนึ่งในเขตบริหารพิเศษหรือ Special Administrative Region ของจีนเช่นเดียวกับเกาะมาเก๊า  อังกฤษได้ส่งมอบฮ่องกงให้กับจีนตั้งแต่ปี 1997 โดยได้รับคำสัญญาจากเติ้ง เสี่ยวผิงว่าจะอยู่ภายใต้การปกครองแบบ 1 ประเทศ 2 ระบบคือให้ชาวฮ่องกงมีการปกครอง ระบบเศรษฐกิจ กฎหมาย และเสรีภาพในการแสดงออกเหมือนเดิมทุกประการ ยกเว้น 2 เรื่องคือความสัมพันธ์ระหว่างประเทศและด้านความมั่นคงที่กองทัพปลดปล่อยประชาชนจีนต้องมาช่วยปกป้องฮ่องกงหากถูกรุกราน (หรืออีกนัยหนึ่งคือไว้ควบคุมฮ่องกงหากต้องการแยกประเทศเหมือนไครเมียหรือสกอตแลนด์)  ผู้ว่าการและทีมบริหารเกาะฮ่องกงมาจากการเลือกของตัวแทนในเขตต่างๆ จำนวน 1,200 คนซึ่งมาจากการคัดสรรของกรุงปักกิ่งทั้งนั้นอันเป็นสิ่งสร้างความคับข้องใจให้กับคนจีนมาเกือบสองทศวรรษ  ในปี 2017 รัฐบาลจีนสัญญาว่าจะให้ชาวฮ่องกงเลือกผู้บริหารเกาะฮ่องกงด้วยตัวเอง แต่ต้องผ่านการพิจารณาตรวจสอบ (vetting) จากตัวบุคคลที่รัฐบาลจีนเห็นชอบเท่านั้น  เหตุการณ์จึงนี้จึงกลายเป็นตัวจุดกระแสการประท้วงอย่างรุนแรง แม้ว่าจะเป็นที่ทราบดีว่าตามรัฐธรรมนูญของฮ่องกงนั้น ฮ่องกงนั้นไม่มีทางเป็นอิสระจากรัฐบาลกลางได้สมบูรณ์ (Fully autonomous) เช่นเดียวกับเขตปกครองต่างๆ ในจีนนั้นมักจะบอกว่าเป็นเขตปกครองตัวเองเพียงแต่ในนาม เพราะถูกควบคุมจากรัฐบาลกลางอย่างแน่นหนา ด้วยสาเหตุว่าจีนนั้นมีการปกครองแบบรัฐเดี่ยวไม่ใช่สหพันธรัฐ

2.จีนและฮ่องกงปกครองด้วยระบอบอะไร

ในอดีต จีนปกครองด้วยระบอบคอมมิวนิสต์แบบเข้มข้นคือเศรษฐกิจที่มีรัฐเป็นเจ้าของกิจกรรมทางเศรษฐกิจทั้งหลายทั้งปวง เมื่อเติ้ง เสี่ยวผิงขึ้นมามีอำนาจในปี 1978 ก็ได้นำระบบตลาดเสรีเข้าผสมผสานกับระบบสังคมนิยม รัฐบาลยกเลิกระบบสวัสดิการที่รัฐบาลต้องรับผิดชอบชีวิตคนจีนตั้งแต่เกิดยันตาย (Cradle to Grave)  และเริ่มเปิดรับนายทุนเข้ามาเป็นสมาชิกพรรค ในขณะเดียวกันก็ยังคงรูปแบบทางการเมืองด้วยระบบเผด็จการเช่นเดิมจนถึงปัจจุบัน   เศรษฐกิจจีนเข้าสู่ระบบทุนนิยมแบบรัฐเป็นนายทุนใหญ่ (State Capitalism) รัฐจึงสามารถจัดการกับระบบเศรษฐกิจได้ดีกว่าสหรัฐอเมริกาซึ่งเป็นระบบทุนนิยมที่เน้นตลาด   (Market Capitalism) เช่นเดียวกับฮ่องกงคือให้เอกชนดำเนินระบบตลาดและธุรกิจโดยที่รัฐเข้าไปแทรกแซงให้น้อยที่สุด แต่ด้วยปัจจัยหลายอย่างรวมไปถึงความฉ้อฉลของเอกชนอันเป็นผลให้สหรัฐอเมริกาเกิดวิกฤตเศรษฐกิจเมื่อปี 2008  จีนจึงมีความเจริญทางเศรษฐกิจแข่งกับสหรัฐฯ ชนิดหายใจรดต้นคอ จนมีคนทำนายกันว่าอีกไม่นานก็จะแซงสหรัฐอเมริกา  สำหรับฮ่องกงนั้นอิงแอบอาศัยเศรษฐกิจของจีนสูงมาก ชนิดที่ว่าหากจีนตัดความช่วยเหลือทางเศรษฐกิจ ฮ่องกงก็จะไม่สามารถดำรงอยู่ต่อไปได้เปรียบประดุจได้มารดาและบุตร ดังนั้นคนฮ่องกงส่วนใหญ่น่าจะพอใจกับชีวิตความเป็นอยู่ที่น่าจะดีขึ้นเรื่อยๆ ตามการพัฒนาของเศรษฐกิจจีนแต่การณ์กลับตรงกันข้าม...

3.แล้วเหตุใดคนฮ่องกงจึงไม่ชอบจีน

คนฮ่องกงโดยส่วนใหญ่ไม่ได้มีความรู้สึกผูกพันกับจีนแผ่นดินใหญ่ มีการสำรวจจากมหาวิทยาลัยฮ่องกงพบว่าคนฮ่องกงส่วนใหญ่นิยามตัวเองว่าเป็นชาวจีนฮ่องกง  มีเพียงร้อยละ 16.6 เท่านั้นที่ตอบว่าตนเป็นพลเมืองของจีน (1)  สาเหตุไม่ว่าเพราะความแตกต่างทางวัฒนธรรมเช่นคนฮ่องกงรู้สึกดูถูกคนจีนแผ่นดินใหญ่ที่หลั่งไหลเข้ามาในเกาะฮ่องกงไม่ว่ามาอยู่อาศัยหรือเป็นนักท่องเที่ยวว่ามีพฤติกรรมที่ถือว่าไม่เป็นอารยะ  รวมไปถึงความแตกต่างของภาษาเพราะในขณะที่จีนแผ่นดินใหญ่ใช้ภาษาจีนกลาง ชาวฮ่องกงส่วนใหญ่ใช้ภาษาจีนกวางตุ้ง แม้ว่าจีนแผ่นดินใหญ่จะสามารถนำเข้าภาษาจีนกลางเข้ามาในฮ่องกงจนคนรุ่นใหม่จำนวนมากสามารถพูดได้ทั้ง 2 ภาษาก็ตาม แต่สำนึกชาตินิยมที่อิงกับภาษาของชาวฮ่องกงยังคงมีอิทธิพลอยู่

ส่วนในด้านเศรษฐกิจนั้นคนฮ่องกงไม่คิดว่าการลงทุนจากจีนแผ่นดินใหญ่นั้นจะทำให้ตนมีชีวิตที่ดีขึ้นเพราะผู้ที่ได้ผลประโยชน์โดยตรงคือนายทุนและนักธุรกิจที่มีความสัมพันธ์อันดีกับรัฐบาลปักกิ่งหรือเป็นชาวจีนแผ่นดินใหญ่  อันสะท้อนให้เห็นความขัดแย้งของชนชั้นกลางกับนายทุนหรือชนชั้นสูงของฮ่องกง การประท้วงครั้งนี้นอกจากการเรียกร้องประชาธิปไตยแล้วยังหมายถึงการเรียกร้องความเท่าเทียมกันทางเศรษฐกิจอีกด้วย (2)  นอกจากนี้ แม้คำประกาศร่วมระหว่างจีนกับอังกฤษว่าฮ่องกงต้องตกเป็นของจีนอย่างสมบูรณ์เหมือนกับเขตปกครองอื่นๆ เมื่อปี 2047 คนฮ่องกงระดับชนชั้นกลางกลับระแวงว่าจนกว่าจะถึงปี คศ. ดังกล่าว วงการธุระกิจและสังคมทุกแง่มุมของฮ่องกงกลายเป็น “จีนแดง” เสียจนหมด  ที่สำคัญคนฮ่องกงจำนวนมากนั้นหวาดหวั่นต่อชื่อเสียงอันไม่ดีไม่งามของรัฐบาลจีนเกี่ยวกับสิทธิมนุษยชนหรือการขาดธรรมาภิบาลและระบบนิติรัฐซึ่งจะส่งผลกระทบถึงชีวิตของพวกตนซึ่งคุ้นชินกับประชาธิปไตยมานาน  ความกลัวเช่นนี้ดูสมจริงยิ่งขึ้น เมื่อมีคนฮ่องกงพบว่ารัฐบาลจีนพยายามเข้ามาครอบงำความคิดของพวกตนผ่านแบบเรียนในโรงเรียนที่เชิดชูพรรคคอมมิวนิสต์ (3)  หรือการที่รัฐบาลจีนพยายามเข้ามายุ่งเกี่ยวกับสถานีโทรทัศน์ของฮ่องกง (4)

4.การเรียกร้องประชาธิปไตยในฮ่องกงมีความเหมือนและจะพบกับชะตากรรมเดียวกับเหตุการณ์ที่จัตุรัสเทียนอันเหมินหรือไม่

มีส่วนทั้งเหมือนและแตกต่างกันครับ การเรียกร้องที่จัตุรัสเทียนอันเหมินในปี 1989 ได้นำไปสู่การปราบปรามนักศึกษาและประชาชน โดยกองทัพปลดปล่อยประชาชนจีนจนมีคนเสียชีวิตและบาดเจ็บหลายพันคน  การประท้วงนี้เกิดจากกระแสการเปลี่ยนแปลงเป็นประชาธิปไตยในยุโรปตะวันออกและแม้แต่สหภาพโซเวียตเอง นักศึกษาถือโอกาสที่นายมิคาอิล กอร์บาชอฟ เลขาธิการของสหภาพโซเวียต มาเยือนจีนในการเรียกร้องความสนใจจากชาวโลกเพื่อเรียกร้องให้จีนกลายเป็นประชาธิปไตยทั้งประเทศ  หากเรามองถึงข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์จะพบว่าพรรคคอมมิวนิสต์จีนนั้นมีความเพียรพยายามอย่างมากในการเจรจากับทางผู้ประท้วง แต่เมื่อหมดหนทางจึงจำเป็นต้องใช้การปราบปรามอย่างโหดเหี้ยม แม้ว่าสื่อมวลชนของตะวันตกจะถูกจำกัดพื้นที่ในการนำเสนอ แต่ภาพที่หลุดออกมาในสายตาของชาวโลกผ่านสถานีโทรทัศน์ซีเอ็นเอ็นได้ทำลายภาพพจน์ของรัฐบาลจีนซึ่งได้พยายามก้าวเข้ามาอยู่บนเวทีโลกอย่างมาก (เป็นมายาคติที่ใครหลายคนอาจจะยึดถือว่ารัฐบาลจีนไม่สนใจสายตาชาวโลกเลยเพราะมีความยิ่งใหญ่ทวีคูณไปเรื่อยๆ  ทั้งที่ความจริงแล้วตรงกันข้าม)

ส่วนผลกระทบต่อการเมืองในประเทศนั้นได้แก่ความขัดแย้งบรรดาผู้นำพรรคคอมมิวนิสต์ด้วยกันเองเช่นนายเจ้า จื่อหยาง  เลขาธิการพรรคซึ่งแสดงความเห็นอกเห็นใจนักศึกษาจนที่สุดก็ถูกปลดและกักตัวแต่อยู่ในบ้าน   เช่นเดียวกับความสัมพันธ์ระหว่างผู้นำของพรรคคอมมิวนิสต์กับนายพลในกองทัพ ภายหลังจากเหตุการณ์จัตุรัสเทียนอันเมิน มีการโยกย้ายนายทหารระดับสูงในกองทัพขนานใหญ่โดยเติ้ง เสี่ยวผิงซึ่งขณะนั้นดำรงตำแหน่งประธานคณะกรรมการกลางการทหาร  เป็นเรื่องน่าสนใจว่าในอีก2 ปีต่อมา เติ้งได้มอบตำแหน่งนี้ให้กับนายเจียง เจ๋อหมินซึ่งก้าวขึ้นมาดำรงตำแหน่งเลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์ต่อจากนายเจ้า จื่อหยาง

ส่วนการประท้วงของชาวฮ่องกงนั้นเป็นการเรียกร้องประชาธิปไตยเหมือนกันแต่เน้นไปที่ประเด็นค่อนข้างเฉพาะกว่าคือเสรีภาพในการกำหนดผู้สมัครลงแข่งขันเป็นผู้บริหารเกาะฮ่องกงในปี 2017 โดยปราศจากการเข้ามาข้องเกี่ยวของกรุงปักกิ่ง การประท้วงนี้ได้รับแรงบันดาลใจมาจากการประท้วงที่จัตุรัสเทียนอันเหมินอย่างแน่นอนดังจะดูได้จากการที่ทุกปีจะมีการจัดงานระลึกถึงเหตุการณ์ครั้งนั้นที่ฮ่องกงเพื่อประชันหน้ากับรัฐบาลปักกิ่งที่ นอกจากนี้การประท้วง Occupy Central ในฮ่องกงยังได้รับแรงเสริมจากกระแสเรียกร้องประชาธิปไตยในปัจจุบันซึ่งแพร่หลายเหมือนกับช่วงประเทศคอมมิวนิสต์ล่มสลายในปลายทศวรรษที่ 80 อย่างเช่น Occupy Wall Street ในอเมริกาและหลายประเทศ การประท้วงที่ยูเครน หรือแม้แต่การลงประชามติขอแยกประเทศของสกอตแลนด์  (ซึ่งเป็นคนละประเด็นกันแต่ก็น่าส่งผลถึงเรื่องของการมีอารมณ์ร่วมไม่ใช่น้อย) รวมไปถึงการประท้วงแบบย่อยๆ ของชาวจีนแผ่นดินใหญ่นับกว่าแสนครั้งต่อปีที่ผ่านมาก็อาจทำให้คนฮ่องกงรู้สึกว่าตนจะไม่ถูกปราบปรามอย่างรุนแรงนัก

การจัดการกับการประท้วงในครั้งนี้ถือได้ว่าเป็นการเดิมพันที่สูงมากของสี จิ้นผิงและผู้นำพรรคคอมมิวนิสต์น่าจะในระดับเดียวกับตอนที่ผู้นำพรรคพบกับการประท้วงที่จัตุรัสเทียนอันเหมิน เพราะเหตุการณ์ครั้งนี้ส่งผลกระทบถึงบูรณภาพและความยิ่งใหญ่ของจีนที่กำลังพุ่งทะยานในศตวรรษที่ 21 และรัฐเล็กๆ ในวงอำนาจของจีนไม่ว่าเกาะมาเก๊าซึ่งก็มีความพยายามจะจัดให้มีการทำประชามติให้ประชาชนสามารถเลือกผู้นำของตนได้อย่างอิสระเหมือนฮ่องกง หรือความคิดของประชาชนในเกาะไต้หวันซึ่งจีนพยายามผลักดันหรือชักจูงให้มารวมอยู่กับจีนแบบหนึ่งประเทศสองระบบเหมือนกัน    รวมไปถึงดินแดนที่มีปัญหากับกรุงปักกิ่งไม่ว่าทิเบตหรือซินเจียง ถึงแม้เขตปกครองเหล่านั้นคงไม่ถึงขั้นขอแยกดินแดน หากจีนแผ่นดินใหญ่ยอมมอบเสรีภาพอย่างเต็มที่ให้กับคนฮ่องกงในการเลือกผู้นำของตัวเอง แต่ก็จะกระทบถึงภาวะความเป็นผู้นำและอำนาจของนายสีเหนือพรรคเอง และปรปักษ์ภายในพรรคซึ่งนายสีพยายามใช้ประเด็นการปราบปรามเรื่องคอรัปชั่นกำจัดให้สิ้นซากอาจจะใช้ประเด็นนี้เป็นข้อโจมตีทางการเมือง จึงเป็นเรื่องที่แน่นอนว่ากรุงปักกิ่งจะไม่ยอมผู้ประท้วงชาวฮ่องกงเป็นอันขาด 

ส่วนการปราบปรามอย่างเด็ดขาดก็เป็นสิ่งที่พรรคคอมมิวนิสต์ต้องระวังสุดชีวิตว่าจะซ้ำรอยเดิมกับจัตุรัสเทียนอันเหมิน เกาะฮ่องกงนั้นเป็นพื้นที่เปิดต่อการรับรู้ของชาวโลกและส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจทั่วโลกไม่เหมือนกับบางประเทศเช่นอียิปต์ที่ปราบปรามต่อพวกภราดรภาพมุสลิม หากการปราบปรามเป็นไปอย่างรุนแรงย่อมส่งผลกระทบต่อ Soft power หรือการแผ่ขยายอำนาจในความน่าเชื่อถือของจีนต่อโลก  อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมารัฐบาลจีนก็ฉลาดที่ใช้รัฐบาลฮ่องกงภายใต้การนำของนายเหลียง ชุนอิง เป็นกันชนและยังใช้กลยุทธ์เช่นใช้ม็อบที่สนับสนุนตนข่มขู่และทำร้ายร่างกายกลุ่มผู้ประท้วงและยังได้รับแรงหนุนจากกลุ่มมาเฟียและอันธพาล อันเป็นวิธีที่รัฐบาลจีนประสบความสำเร็จในการใช้กับกลุ่มประท้วงในประเทศของตนมามากต่อมากแล้ว  นอกจากนี้การที่ตำรวจใช้วิธีการสลายการประท้วงโดยใช้ความรุนแรงและก๊าซน้ำตาก็ค่อนข้างประสบความสำเร็จคือไม่ทำให้มีผู้เสียชีวิตหรือบาดเจ็บสาหัสจึงไม่ถูกนานาชาติตำหนิ

ในปัจจุบันนี้ (วันที่ 9 ตุลาคม) ผู้ประท้วงลดจำนวนลงอย่างมาก ส่วนใหญ่เหลือแต่นักศึกษาซึ่งต้องการเจรจากับรัฐบาล ทำให้พรรคคอมมิวนิสต์จีนโล่งอกไปได้พอสมควร แต่ทุกอย่างก็ไม่แน่นอนว่า การประท้วงจะไม่ย้อนกลับมาอีกหากปัจจัยเอื้ออำนวยในอนาคต แม้จะมีคนฮ่องกงเป็นจำนวนมากที่สนับสนุนรัฐบาลปักกิ่งหรือวางตัวเป็นกลางหรือแสดงความรู้สึกรำคาญต่อผู้ประท้วง  การลงประชามติที่ฝ่ายประท้วงจัดเองก็มี 7 แสนกว่าคนจากประชากร ฮ่องกงกว่า 7 ล้านคนที่ต้องการความเป็นอิสระของผู้ลงสมัครเป็นผู้ว่าการเกาะก็สะท้อนให้เห็นถึงมุมมองของคนฮ่องกงต่อจีนได้อย่างดี ดังนั้นสิ่งที่รัฐบาลจีนจะทำอาจเป็นไปได้สองประการคือ 1.ปิดประตูเจรจาแต่แสร้างเจรจาเพื่อให้ฝ่ายประท้วงสลายตัวจากนั้นก็ใช้วิธีการสารพัดวิธีในจัดการกับแกนนำย้อนหลัง ด้วยอย่างไรแล้วทางกรุงปักกิ่งก็ไม่ยอมให้ผู้ว่าการเกาะฮ่องกงไม่ใช่คนในอาณัติของตนเป็นอันขาดเพราะจะไม่สามารถควบคุมได้   หรือ 2. ยอมเจรจาโดยให้คนฮ่องกงมีส่วนร่วมในการคัดสรรผู้บริหารเกาะมากขึ้น  แต่ผู้เขียนคิดว่าข้อ 1 อาจเป็นไปได้มากที่สุด เพราะรัฐบาลจีนรู้ซึ้งถึงสุภาษิตที่ว่าได้คืบก็จะเอาศอกเป็นอย่างดีและนึกถึงผลที่ตามคือจะทำให้เกาะมาเก๊าซึ่งอยู่ใกล้ๆ เอาอย่าง

5.เหตุใดในช่วงที่ฮ่องกงอยู่ภายใต้การปกครองของอังกฤษจึงไม่ทำการประท้วงบ้าง

เป็นข้อโต้แย้งที่ดี  ผู้เขียนคิดว่ามีปัจจัยหลายประการเช่น คนฮ่องกงมีความศรัทธาต่ออังกฤษในฐานะประเทศประชาธิปไตยเสรีนิยมแม้ตนจะอยู่ในฐานะอาณานิคมที่ปราศจากเสรีภาพว่าได้สร้างความเจริญให้กับฮ่องกงในหลายเรื่องไม่ว่าระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตย ระบบทุนนิยม กฎหมาย (จนได้ชื่อว่าเป็น Liberal autocracy ดังที่ได้กล่าวไว้เมื่อบทที่แล้ว)  มีเรื่องที่น่าสนใจว่า เมื่อจีนเปลี่ยนแปลงการปกครองในปี 1949 ได้มีคนจีนอพยพเข้ามาในฮ่องกงพร้อมทุนทรัพย์จำนวนมากเพื่อหนีคอมมิวนิสต์ครั้งใหญ่ กระนั้นเราก็ไม่สามารถปฏิเสธอคติทางเชื้อชาติและอารยธรรมของคนขาวได้   คนฮ่องกงในช่วงเป็นอาณานิคมน่าจะมองว่าตัวเองอยู่ท่ามกลางยักษ์สองตัวโดยอังกฤษเป็นที่พึ่งที่ดีกว่า  ความรู้สึกหวาดหวั่นต่อจีนยิ่งแรงขึ้นเรื่อยๆ ช่วงก่อนฮ่องกงถูกอังกฤษส่งมอบให้กับจีนในปี 1997 ไม่นาน มีคนฮ่องกงอพยพไปอยู่ต่างประเทศเป็นจำนวนมาก และผู้ว่าการเกาะฮ่องกงที่อยู่ในอาณัติของจีนดังเช่นนายต่ง เจี้ยน หวาก็ได้รับแรงต่อต้านจากคนฮ่องกงอย่างสูง 

นอกจากนี้สิ่งที่เราต้องคำนึงถึงก็คือพัฒนาการของสำนึกประชาธิปไตยซึ่งมีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลาเช่นเดียวกับการเปิดรับกับอิทธิพลทางความคิดจากต่างประเทศ  สำนึกของคนฮ่องกงในปลายศตวรรษที่ 20 กับต้นศตวรรษที่ 21 อาจจะมีความแตกต่างกันเช่นเดียวกับบทบาทของคนรุ่นใหม่อย่างเช่นนักเรียนนักศึกษาฮ่องกงซึ่งมีบทบาทอย่างสูงต่อขบวนการ Occupy Central  เป็นเรื่องน่าสนใจว่ามักมีคนจีนประณามว่าผู้ประท้วงฮ่องกงนั้นยังไม่ทิ้งสันดานการเป็นทาสของอังกฤษหรือการประท้วงแสดงถึงความต้องการกลับไปเจ้านายคนเก่า ทั้งที่การประท้วงไม่ได้แสดงท่าทีหรือเสนอความเห็นเช่นนั้นเลย เหมือนกับที่รัสเซียประณามรัฐบาลเฉพาะกาลของยูเครนว่าเป็นฟาสซิสต์เพียงเพราะผู้นำบางคนเป็นพวกหัวขวาจัด  ผู้เขียนคิดเล่นๆ ว่า หากอังกฤษกลับมายึดครองเกาะฮ่องกงและใช้วิธีการแทรกแซงการเลือกผู้นำของเกาะแบบจีนก็อาจจะถูกชาวฮ่องกงต่อต้านอย่างรุนแรงไม่แพ้กับจีน

6.การประท้วงครั้งนี้ได้รับการสนับสนุนจากต่างชาติหรือไม่

เหมือนกลายเป็นจารีตประเพณีของรัฐบาลรัฐบาลเผด็จการไม่ว่าอิหร่าน เวเนซูเอลา ยูเครนหรือรัสเซีย หากเมื่อมีการประท้วง ก็มักโทษต่างชาติว่าแอบปลุกระดมหรือสนับสนุนอยู่เบื้องหลังเพื่อลดความน่าเชื่อถือของการประท้วงและเพิ่มความถูกต้องชอบธรรมในการปราบปรามผู้ร่วมชุมนุม  น่าสนใจว่าในช่วงเริ่มต้นของการประท้วงในเกาะฮ่องกงนั้น รัฐบาลอังกฤษหรือหนึ่งในกลุ่มประเทศที่ผู้สนับสนุนจีนมักกล่าวหานั้นแสดงความเป็นกลางอย่างมากเพราะความเกรงใจต่อรัฐบาลจีน จนมีคนกล่าวว่าฮ่องกงถูกทรยศโดยจีนแผ่นดินใหญ่และถูกทอดทิ้งโดยอังกฤษ (5)  ถ้าเราเป็นผู้เชื่อในทฤษฎีสมคบคิดหรือมองตะวันตกในด้านร้าย เราก็อาจจะมองว่านั้นเป็นเพียงฉากหน้าของตะวันตกที่ชอบปฏิบัติการแบบใต้ดินดังหน่วยเอ็มไอซิกส์และเจมส์ บอนด์ แต่ข้อกล่าวหานี้เป็นเรื่องที่พิสูจน์ได้ยากเพราะไม่มีหลักฐานที่ชัดเจนเป็นรูปธรรม สมมติว่าการประท้วงได้รับการปลุกปั่นหรือได้รับการสนับสนุนของตะวันตกจริง ถ้าปราศจากความรู้สึกด้านลบอย่างมหาศาลของคนฮ่องกงต่อรัฐบาลจีนที่สะสมมานานแล้วก็ย่อมเกิดการประท้วงครั้งใหญ่เช่นนี้ไม่ได้เป็นอันขาด

7.การประท้วงของชาวฮ่องกงนี้กระทบต่อการเมืองไทยอย่างไร

การเมืองในยุคโลกาภิวัฒน์ย่อมส่งผลถึงกันอย่างมากเพราะสื่ออันทันสมัยและเข้าถึงมวลชนโดยกว้างไม่ว่าผ่านเว็บไซต์ เฟซบุ๊ค ทวิตเตอร์ ยิ่งการนำเสนอของสื่อไทยต่อการประท้วงของชาวฮ่องกงจะไม่มีการปิดกั้นหรือบิดเบือนเหมือนกับที่รัฐบาลจีนทำกับพลเมืองของตนบนแผ่นดินใหญ่ ย่อมส่งผลให้คนไทยหันมากลับมามองการเมืองภายในของตัวเองอย่างมากมายโดยเฉพาะชนชั้นกลางที่อาศัยอยู่ในโลกของโซเชียลมีเดีย จากการสังเกตแบบคร่าวๆ ของผู้เขียนพบว่าผู้ที่สนับสนุนแนวคิดแบบเสื้อแดงส่วนใหญ่ชื่นชอบและสนับสนุนผู้ประท้วง ในขณะที่ผู้สนับสนุนกลุ่มเสื้อเหลืองและกปปส.ส่วนใหญ่มักโจมตีหรือตำหนิผู้ประท้วงโดยเฉพาะเมื่อได้เห็นภาพของหัวหน้ากลุ่มนักศึกษาซึ่งอยู่ในวัยเพียง 17 ปีผู้มีโฉมหน้าเหมือนเนติวิทย์ นักเรียนหัวขบถซึ่งฝ่ายอนุรักษ์นิยมสุดขั้วของไทยจัดว่าเป็นศัตรูตัวฉกาจเช่นเดียวกับอั้ม เนะโก

กระนั้นเมื่อผู้สนับสนุนฝ่ายกปปส.ได้เปรียบเทียบปฏิวัติร่มของฮ่องกงว่าคล้ายกับปฏิวัตินกหวีดของพวกเขาก็กลายเป็นเรื่องตลกน่าขันของฝ่ายตรงกันข้ามดังเช่นสมาชิกของห้องราชดำเนินในเว็บไซต์พันธ์ทิพย์ซึ่งแสดงความเห็นที่ค่อนข้างสอดคล้องกันผ่านกระทู้จำนวนมากว่าถึงแม้การปฏิวัติทั้ง 2 จะมีลักษณะเหมือนกันเช่นคนประท้วงเป็นชนชั้นกลาง ฐานะดี ที่ต่อต้านรัฐบาลเผด็จการและในตอนท้ายก็หันมาใช้วิธีที่ค่อนข้างรุนแรง แต่ปฏิวัติร่มนั้นไม่ได้เรียกร้องให้ย่ำยีระบบการเลือกตั้งหรือเล่นงานรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งรวมไปถึงเรียกร้องให้ตัวเองถูกปกครองโดยทหารเหมือนกับปฏิวัตินกหวีด เรื่องนี้กลายเป็นปมด้อยของผู้ประท้วงกลุ่มกปปส.มานานที่ว่าไม่สามารถเปรียบเทียบการประท้วงของตัวเองกับประเทศไหนในยุคเดียวกันได้เลยนอกจากอียิปต์ซึ่งปัจจุบันมีการปกครองที่ถอยกลับไปยังยุคของฮอสนี มูบารัก

แต่ผู้เห็นอกเห็นใจ กปปส.บางคนก็ได้แก้ตัวว่าพวกเขาต้องการประชาธิปไตยที่สมบูรณ์ "เพียง" แต่ต้องการให้ทหารเข้ามาช่วยเหลือเป็นกรณีพิเศษ ซึ่งข้ออ้างเช่นนี้ก็ฟังไม่ขึ้นอีกเช่นกันเพราะคนฮ่องกงไม่ได้หวังพึ่งสถาบันใด และรัฐบาลของพลเอกประยุทธ์นั้นเริ่มไม่ค่อยมีความแตกต่างจากรัฐบาลยุคก่อนๆ โดยเฉพาะความร่ำรวยของสนช.และครม.คนดีทั้งหลายที่ถูกเพิ่งถูกเปิดเผยออกมา ที่สำคัญท่านผู้นำยังมีท่าทีว่าจะอยู่ในอำนาจอย่างยาวนานจนเกินงามบนความเงียบงันของคนที่สนับสนุนกปปส.  นอกจากนี้คนที่สนับสนุน กปปส.บางคนก็ได้สนับสนุนรัฐบาลจีนซึ่งเป็นมิตรกับไทยและยังโจมตีผู้ประท้วงฮ่องกงว่าเป็นพวกคลั่งประชาธิปไตย (และอุปมาได้ว่าเหมือนกับพวกเสื้อแดง) พวกเขาพยายามแยกแยะหรือทำให้ความเป็นเผด็จการของจีนนั้นมีความแตกต่างกับของทักษิณ โดยมองว่าความเป็นเผด็จการของจีนนั้นดีเยี่ยมทำให้ประเทศเจริญรุ่งเรือง  ในขณะที่เผด็จการของทักษิณและเครือข่ายคือเผด็จการที่นำประเทศไปสู่ความพังพินาศ อันแน่นอนว่าย่อมเป็นการสนับสนุนรัฐบาลของพลเอกประยุทธ์ไปในตัวด้วย (เว้นไว้เสียว่าพลเอกประยุทธ์จะสะดุดขาตัวเองหรือมีพฤติกรรมเหมือนกับทักษิณ คนเหล่านั้นก็จะหาเหตุผลใหม่มาสนับสนุนความเชื่อเดิม)

ไม่ว่าอย่างไรก็ตาม เป็นคำถามที่ตอบได้ยากว่าการประท้วงที่ฮ่องกง (รวมไปถึงการประท้วงตามจุดต่างๆ ของโลกซึ่งจะเกิดขึ้นในอีกไม่ช้านี้) จะมีผลกระทบต่อสำนึกประชาธิปไตยไทยในยุคประยุทธ์นิยมมากน้อยเพียงใด แต่ผู้เขียนคิดว่ามีความเป็นไปได้น้อยมากว่าจะสามารถผลักดันหรือเป็นแรงบันดาลใจให้คนไทยออกมาประท้วงบนท้องถนนแทนที่จะโวยวายกันเฉพาะผ่านแป้นคีย์บอร์ด อาจเพราะความเอือมระอาต่อความวุ่นวายทางการเมืองที่กินเวลามาเนิ่นนานหรือว่าถูกสะกดจากกระสุนปืนและกฎอัยการศึกซึ่งอาจถูกประกาศใช้ต่อไม่มีวันสิ้นสุดเพราะรัฐบาลทหารของไทยนั้นน่าจะกลายเป็นโรคเส้นประสาทอย่างรุนแรงหรือโรคหวาดระแวงนับตั้งแต่แค่เห็นประชาชนตัวเล็กๆ ชูสามนิ้วหรือกินแซนด์วิชเมื่อหลายเดือนกระมัง

 

เชิงอรรถ

(1)           http://www.telegraph.co.uk/news/worldnews/asia/china/9010457/China-slams-survey-that-shows-rising-Hong-Kong-resentment.html

(2)           http://www.theguardian.com/commentisfree/2014/jul/28/hong-kongs-pro-democracy-movement-is-about-inequality-the-elite-knows-it

(3)            http://www.ibtimes.com/hong-kong-street-protests-against-new-chinese-influenced-curriculum-plan-expose-identity-crisis

(4)           http://www.theatlantic.com/china/archive/2013/11/why-people-in-hong-kong-protest-over-bad-television/281210/

(5)           http://www.theguardian.com/commentisfree/2014/oct/05/hong-kong-protests-betrayed-by-china-abandoned-by-britain

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท