รายงาน: เปิดข้อบังคับกรมราชทัณฑ์เรื่องการจำกัดโควตาเยี่ยมญาติ 10 คน

จากกรณีที่มีรายงานข่าวเมื่อช่วงเดือนที่ผ่านมา ถึงการเริ่มใช้กฎจำกัดการเยี่ยมญาติของผู้ต้องขังในเรือนจำหลายแห่งทั่วประเทศ โดยกฎนี้กำหนดให้ผู้ต้องขังทุกรายต้องส่งรายชื่อญาติมิตรที่ตนเองต้องการให้เยี่ยม 10 รายให้กับเจ้าหน้าที่ ญาติมิตรที่มีชื่อนอกเหนือจากนี้จะไม่ได้รับอนุญาตให้เยี่ยม ซึ่งต่างจากเดิมที่เคยเปิดให้ญาติมิตรเพื่อนฝูงคนไหนก็เข้าเยี่ยมได้ (ดูเพิ่มเติมใน 'only 10' เสียงสะท้อนนักโทษการเมือง กฎใหม่เรือนจำ จำกัดโควตาเยี่ยม)

จากปัญหาดังกล่าว ทางศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนจึงได้ทำหนังสือยื่นขอสำเนาเอกสารข้อบังคับในเรื่องดังกล่าวจากทางกรมราชทัณฑ์ ไปตั้งแต่เมื่อวันที่ 12 ก.ย.57 รวมทั้งขอรายละเอียดข้อบังคับอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับการเยี่ยมและติดต่อของบุคคลภายนอกต่อผู้ต้องหา และล่าสุด ทางกรมราชทัณฑ์ได้ส่งสำเนาหนังสือข้อบังคับดังกล่าวให้กับทางศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน

สำหรับข้อบังคับในเรื่องการจำกัดผู้เข้าเยี่ยม อยู่ใน “ข้อบังคับกรมราชทัณฑ์ว่าด้วยการเยี่ยมการติดต่อของบุคคลภายนอกต่อผู้ต้องขังและการเข้าดูกิจการหรือติดต่อการงานกับเรือนจำ พ.ศ.2555” โดยข้อบังคับฉบับนี้ระบุว่าข้อบังคับฉบับพ.ศ.2547 และฉบับที่แก้ไขเพิ่มเติม ได้ใช้บังคับมาเป็นเวลานาน สมควรได้มีการปรับแก้ไขหลักเกณฑ์และวิธีการเยี่ยมผู้ต้องขังและการเข้าดูกิจการหรือติดต่อการงานกับเรือนจำให้เหมาะสมกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไป และเพื่อให้การดำเนินภารกิจของกรมราชทัณฑ์เอื้ออำนวยต่อการเสริมสร้างประสิทธิภาพในการป้องกันและปราบปรามการกระทำความผิดอันเกี่ยวข้องกับยาเสพติดให้โทษ

ข้อบังคับดังกล่าวปรากฏอยู่ในหมวด 1 เรื่องบุคคลภายนอกเข้าเยี่ยมหรือติดต่อผู้ต้องขัง ในข้อที่ 8 ซึ่งระบุว่า “เพื่อประโยชน์ด้านการควบคุมหรือความมั่นคงของเรือนจำ ผู้บัญชาการเรือนจำจะกำหนดให้ผู้ต้องขังแจ้งรายชื่อบุคคลภายนอกที่จะให้เข้ามาพบหรือติดต่อกับตนภายในเรือนจำไว้ล่วงหน้าก็ได้ รายชื่อบุคคลภายนอกนั้นให้มีจำนวนไม่เกิน 10 คน และหากจะแก้ไขเปลี่ยนแปลงก็ให้สามารถดำเนินการได้ โดยต้องแจ้งล่วงหน้าไม่น้อยกว่า 30 วัน”

ในข้อ 8 วรรคต่อมา ยังระบุด้วยว่า “ในกรณีมีเหตุพิเศษผู้บัญชาการเรือนจำอาจพิจารณาอนุญาตให้บุคคลภายนอกนอกเหนือจากที่ได้แจ้งไว้ตามวรรคก่อน เข้าเยี่ยมหรือติดต่อกับผู้ต้องขังก็ได้”

ขณะเดียวกัน ในข้อ 9 ได้กำหนดให้บุคคลภายนอกที่มาขอเยี่ยมหรือติดต่อผู้ต้องขัง หากมีเหตุอย่างหนึ่งอย่างใดต่อไปนี้ จะไม่ได้รับอนุญาตให้เข้าเยี่ยมหรือติดต่อผู้ต้องขัง

1) มีอาการมึนเมาหรือเมาสุรา น่าจะก่อความเดือดร้อนรำคาญหรือความไม่เรียบร้อย

2) มีเหตุอันควรเชื่อว่าถ้าอนุญาตให้เยี่ยมหรือติดต่อกับผู้ต้องขังได้ จะก่อการร้ายหรือกระทำผิดกฎหมายขึ้น

3) แต่งกายผิดปกตินิยมในท้องถิ่น หรือไม่สุภาพ หรือสกปรกอย่างร้ายแรง

4) ไม่มีกิจเกี่ยวข้อง หรือรู้จักเป็นญาติมิตรกับผู้ต้องขัง

5) มีกิริยาวาจาไม่สุภาพ

6) เป็นโรคติดต่อร้ายแรง

ส่วนข้อ 10 ได้ระบุถึงการปฏิบัติตนของบุคคลภายนอกที่จะได้รับอนุญาตให้เยี่ยมหรือติดต่อกับผู้ต้องขัง ได้แก่

1) อยู่ในเขตที่ทางการเรือนจำกำหนดให้เป็นที่เยี่ยมหรือติดต่อกับผู้ต้องขัง

2) ไม่นำสิ่งของใดๆ เข้ามาหรือนำออกจากเรือนจำ ส่งมอบให้หรือรับจากผู้ต้องขังโดยมิได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่ กรณีที่ประสงค์จะมอบเงินให้กับผู้ต้องขัง ให้นำฝากไว้กับพนักงานเจ้าหน้าที่ที่ทางเรือนจำจัดไว้ให้เพื่อการนั้น

3) ไม่แนะนำ ชักชวน แสดงกิริยาหรือให้อาณัติสัญญาณอย่างใดๆ แก่ผู้ต้องขัง เพื่อกระทำผิดกฎหมายหรือวินัยผู้ต้องขัง

4) พูดภาษาไทย และออกเสียงให้ดังพอที่พนักงานเจ้าหน้าที่ควบคุมอยู่ ณ ที่นั้นได้ยิน จะพูดภาษาอื่นได้ต่อเมื่อได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่

5) ยินยอมให้พนักงานเจ้าหน้าที่ฟังการสนทนา บันทึกเสียง และตัดการสื่อสารหากเห็นว่าข้อความที่สนทนาเป็นไปโดยไม่เหมาะสม ในกรณีที่เรือนจำจัดให้เยี่ยมหรือติดต่อกับผู้ต้องขังโดยการพูดคุยผ่านเครื่องมือสื่อสาร

6) ไม่ถ่ายภาพ หรือเขียนภาพ เกี่ยวกับผู้ต้องขังหรือเรือนจำ หรือเขียนแบบแปลน หรือแผนที่เรือนจำ เว้นแต่ได้รับอนุญาตจากกรมราชทัณฑ์ และแจ้งให้ผู้บัญชาการเรือนจำทราบก่อนแล้ว

นอกจากนั้น ในข้อ 12 ได้ระบุด้วยว่าบุคคลภายนอกที่ไม่ได้รับอนุญาต หรือที่ได้รับอนุญาตให้เยี่ยมหรือติดต่อกับผู้ต้องขังได้กระทำผิดข้อบังคับนี้ พนักงานเจ้าหน้าที่มีอำนาจดำเนินการให้ออกไปจากบริเวณเรือนจำ ทั้งนี้ หากมีการขัดขืนพนักงานเจ้าหน้าที่มีอำนาจใช้กำลังพอสมควรที่จะให้ออกไปพ้นจากเรือนจำได้

จากข้อบังคับดังกล่าว เป็นที่น่าสังเกตว่ามีการประกาศใช้โดยอธิบดีกรมราชทัณฑ์ มาตั้งแต่เมื่อวันที่ 9 มีนาคม 2555 แต่ก็ยังไม่ได้มีการใช้เรื่องการจำกัดโควตาเยี่ยมญาติ 10 คน ในช่วงก่อนหน้านี้แต่อย่างใด นอกจากนั้นจากตัวบทในข้อบังคับ การใช้กฎดังกล่าวยังไม่ได้มีลักษณะบังคับให้ใช้เป็นการทั่วไป แต่ขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของผู้บัญชาการเรือนจำในแต่ละแห่งจะกำหนดใช้หรือไม่ก็ได้

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท