Skip to main content
sharethis

แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ออกแถลงการณ์เรียกร้องรัฐบาลไทยตรวจสอบข้อกล่าวหาการทรมานผู้ต้องหาคดีเกาะเต่า เคารพสิทธิมนุษยชนในการสอบสวนคดี ให้การประกันว่าจะมีการสอบสวนอย่างเป็นอิสระและรอบด้าน

8 ต.ค.2557 แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลเรียกร้องรัฐบาลไทยตรวจสอบข้อกล่าวหาที่ว่าตำรวจทรมานผู้ต้องหา และต้องเคารพสิทธิมนุษยชนในการสอบสวนคดีฆาตกรรมนักท่องเที่ยว รัฐบาลไทยต้องให้การประกันว่าจะมีการสอบสวนอย่างเป็นอิสระและรอบด้านต่อข้อกล่าวหาที่เพิ่มขึ้น ที่ว่าตำรวจใช้การทรมานและการปฏิบัติที่โหดร้าย อีกทั้งเรียกร้องให้เคารพสิทธิผู้ต้องหาที่จะต้องได้รับการพิจารณาคดีอย่างเป็นธรรม ในระหว่างการสอบสวนกรณีฆาตกรรมนักท่องเที่ยวชาวอังกฤษสองคนบนเกาะเต่า     

ภายหลังการจับกุมพลเมืองชาวพม่าสองคนที่เกี่ยวข้องกับการฆาตกรรมฮันนาห์ วินเทอริจ (Hannah Witheridge) และเดวิด มิลเลอร์ (David Miller) เมื่อเดือนที่แล้ว นักกฎหมายจากทีมกฎหมายของสถานเอกอัครราชทูตพม่าประจําประเทศไทย ซึ่งมีโอกาสพบกับผู้ต้องหาทั้งสองคนบอกว่า หนึ่งในสองคนกล่าวหาว่าตำรวจทรมานและข่มขู่เขาด้วยการใช้ไฟฟ้าช็อต  และมีแหล่งข่าวรายงานว่ามีการทรมานและปฏิบัติที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม หรือที่ย่ำยีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของคนงานข้ามชาติจากพม่าที่ถูกตำรวจจับกุมในระหว่างการสอบสวนคดีนี้

นายริชาร์ด เบนเน็ต (Richard Bennett) ผู้อำนวยการประจำภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล กล่าวว่า ทางการไทยต้องดำเนินการให้มีการสอบสวนที่เป็นอิสระ มีประสิทธิภาพ และโปร่งใสต่อข้อกล่าวหาที่มากขึ้นว่า ตำรวจใช้การทรมานและการปฏิบัติที่โหดร้าย

"แรงกดดันเนื่องจากความสนใจของสาธารณะ เป็นเหตุให้ต้องคลี่คลายคดีอาชญากรรมที่ทารุณ ไม่ควรส่งผลให้เกิดการละเมิดสิทธิ รวมทั้งการพิจารณาคดีที่เป็นธรรม"

ตามรายงานข่าว เจ้าหน้าที่ตำรวจได้ซ้อมคนงานข้ามชาติจากพม่าในระหว่างการสอบปากคำเกี่ยวกับการฆาตกรรมที่เกิดขึ้น มีการข่มขู่ผู้ต้องหาและเอาน้ำเดือดราดใส่

แม่ของผู้ต้องสงสัยคนหนึ่งที่ถูกซ้อมให้ข้อมูลว่า ตำรวจไทยสั่งไม่ให้เหยื่อการทรมานหรือการปฏิบัติที่โหดร้าย ให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชน และข่มขู่พวกเขา

"ทางการควรให้ความคุ้มครองเพื่อไม่ให้มีการข่มขู่ และไม่ให้มีการตอบโต้กับบุคคลใด ไม่ว่าพวกเขาจะมีสถานะการเข้าเมืองเป็นอย่างไร กรณีที่พวกเขารายงานข่าวหรือให้ข้อมูลเกี่ยวกับการทรมานหรือการปฏิบัติที่โหดร้าย และต้องจัดให้มีการเยียวยาอย่างเต็มที่กับผู้เสียหาย"

"อีกทั้งยังต้องให้การประกันว่าศาลจะไม่รับฟังหลักฐาน กรณีที่เป็นคำรับสารภาพหรือข้อมูลที่มาจากการบีบบังคับและการทรมาน เว้นแต่เป็นการใช้ข้อมูลนั้นเพื่อพิสูจน์ว่ามีการทรมานเกิดขึ้นจริง" ริชาร์ด เบนเน็ตกล่าว

ในเดือนพฤษภาคม 2557 คณะกรรมการต่อต้านการทรมานแห่งสหประชาชาติ แสดงข้อกังวลร้ายแรงต่อข้อกล่าวหาอย่างต่อเนื่องว่า มีการทรมานและการปฏิบัติที่โหดร้ายอย่างกว้างขวางกับผู้ที่ถูกควบคุมตัวโดยทหาร ตำรวจ และเจ้าหน้าที่เรือนจำไทย ทางคณะกรรมการกระตุ้นให้ทางการไทยใช้มาตรการโดยทันทีและอย่างมีประสิทธิภาพเพื่อสอบสวน ฟ้องร้องดำเนินคดี และลงโทษผู้กระทำผิด        

"การสอบสวนข้อกล่าวหาว่ามีการทรมานเหล่านี้ ควรเป็นภารกิจของหน่วยงานอิสระ ไม่ใช่ปล่อยให้ตำรวจสอบสวนเอง"

ทางการได้นำตัวผู้ต้องสงสัยมาทำแผนประกอบคำรับสารภาพ และมีการถ่ายทอดสัญญาณภาพทางโทรทัศน์ ซึ่งถือว่าเป็นการละเมิดสิทธิที่จะได้รับการสันนิษฐานว่าเป็นผู้บริสุทธิ์

"ผู้ต้องสงสัยทุกคนควรได้รับการคุ้มครองให้มีสิทธิที่จะได้รับการพิจารณาคดีอย่างเป็นธรรม ซึ่งสำคัญอย่างยิ่งโดยเฉพาะในความผิดที่มีโทษประหารชีวิต" ริชาร์ด เบนเน็ตกล่าว

แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลคัดค้านโทษประหารชีวิตทุกกรณีโดยไม่มีข้อยกเว้น ไม่ว่าจะเป็นความผิดทางอาญาประเภทใด ไม่ว่าผู้กระทำผิดจะมีบุคลิกลักษณะใด หรือไม่ว่าทางการจะใช้วิธีประหารชีวิตแบบใด โทษประหารชีวิตละเมิดสิทธิที่จะมีชีวิตและเป็นการลงโทษที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม และย่ำยีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ รวมทั้งงานวิจัยมากมายจากนานาประเทศได้แสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่าโทษประหารชีวิตไม่มีความเชื่อมโยงใด ๆ กับการเพิ่มขึ้น หรือลดลงของอาชญากรรม

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net