Skip to main content
sharethis

ถอดบทเรียนจากงานเสวนาวิชาการ ประวัติศาสตร์ ว่าด้วยการชำระและสร้าง ภายใต้บรรยากาศขอความร่วมมือห้ามพูดเรื่องบางเรื่องที่อาจส่งผลกระทบต่อความมั่นคง นักประวัติศาสตร์แนะผู้ทรงอำนาจ “ไม่มีใครสามารถทำให้คนลืมความทรงจำได้”

5 ต.ค. 2557 กลุ่มสภาหน้าโดมจัดกิจกรรมเสวนาวิชาการในหัวข้อ “ประวัติศาสตร์ ว่าด้วยการชำระ และสร้าง” ซึ่งจัดขึ้นที่ห้องประชุมประกอบ หุตะสิงห์ อาคารเอนกประสงค์ 1 มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ โดยมีวิทยากรคือ ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ ธรรมศาสตราภิชาน วิทยาลัยนานาชาติปรีดี พนมยงค์ พิพัฒน์ กระแจะจันทร์ อาจารย์ประจำภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และสุลักษณ์ ศิวรักษ์ หรือ ส.ศิวลักษณ์ นักเขียนและนักวิชาการอิสระ ดำเนินรายการโดย เจนวิทย์ เชื้อสาวะถี

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า งานเสวนานี้ได้รับความสนใจเป็นอย่างมาก โดยมีผู้สนใจเข้ามารอในห้องประชุมก่อนเวลาราว 70 คน ทั้งนี้ขณะที่วิทยากรจะขึ้นพูดบนเวที ทางเจ้าหน้าที่ทหารและตำรวจนอกเครื่องแบบได้เข้ามาเชิญวิทยากรและผู้จัดไปพูดคุยเพื่อทำความเข้าใจอีกครั้งด้านนอกห้องประชุม โดยขอความร่วมมือให้พูดในเชิงวิชาการเท่านั้น ห้ามพูดถึงสถานการณ์ปัจจุบัน รวมถึงเรื่องที่อาจจะส่งผลกระทบต่อความมั่นคงของรัฐ ทั้งที่ทางผู้จัดได้ทำหนังสือขออนุญาตก่อนแล้ว

 

ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ

ประวัติศาสตร์คืออะไร?
ธเนศ ตั้งข้อสังเกตสำคัญประการหนึ่งว่า รัฐไทยอาจจะเป็นเพียงไม่กี่รัฐในโลกที่มีความอ่อนไหว (sensitive) กับประวัติศาสตร์ของชาติมากเป็นพิเศษ นั่นแสดงว่าสังคมไทยมีภูมิต้านทานต่ำ ต่อการรับฟัง ‘ประวัติศาสตร์’ เพราะอาจส่งผลสะเทือนที่มากกว่าปกติ และที่สำคัญที่สุดคือส่งผลสะเทือนต่ออำนาจรัฐ หรือสถาบันต่างๆ ที่อยู่ในโครงสร้างอำนาจรัฐ ยกตัวอย่างเช่น การลงประชามติที่สกอตแลนด์ ซึ่งคือการลงประชามติแบ่งแยกดินแดน และจะเป็นอย่างไรถ้าเรื่องนี้เกิดขึ้นในรัฐไทย 

ซึ่งนั่นเป็นเหตุสำคัญเพื่อทำความเข้าใจว่าประวัติศาสตร์คืออะไร ธเนศกล่าวว่า โดยทั่วไปประวัติศาสตร์คือการเล่าเรื่อง ไม่ว่าจะเป็นประวัติศาสตร์ของที่ไหน ล้วนแต่มีจุดร่วมที่สำคัญคือการพยายามเล่าเรื่อง โดยผ่านการไต่สวนเข้าไปสู่ความจริง ซึ่งมีลักษณะที่เป็นการเล่าเรื่องอันประกอบด้วย Who What Where When Why  จนกระทั่งเริ่มมีปัญหาในยุคหลัง

เราเขียนประวัติศาสตร์กันทำไม?
ธเนศกล่าวว่า ถ้าถามว่า เราเขียนประวัติศาสตร์กันทำไม? ตามคำอธิบายโดยทั่วไปที่ทุกคนมักเข้าใจกันคือ เพื่อเรียนรู้สิ่งผิดพลาดในอดีตเพื่อเป็นบทเรียนไม่ให้ทำผิดอีก ซึ่งการเขียนประวัติศาสตร์แบบนี้มีลักษณะที่ชัดเจนคือ มีการแบ่งแยกอย่างชัดเจนว่าอะไรทำได้อะไรทำไม่ได้ อะไรถูกหรืออะไรผิด ทว่านี่เป็นชุดคำอธิบายสำหรับชนชั้นปกครองเท่านั้น ชาวบ้านธรรมดาไม่จำเป็นต้องรู้ประวัติศาสตร์ เพราะไม่มีความเกี่ยวข้องกับการปกครอง ชาวบ้านมีหน้าที่ทำมาหากินก็ทำไป ไม่มีความเกี่ยวข้องจำเป็นที่ต้องเรียนรู้บทเรียนทางศีลธรรมเพื่อใช้ปกครองคน

‘ประวัติศาสตร์’ในสมัยหนึ่งจึงเป็นเพียงเครื่องมือสำหรับชนชั้นนำ หรือผู้ปกครองเท่านั้น ก่อนที่จะเปลี่ยนแปลงไปพร้อมกันกับการเกิดขึ้นของยุคสมัยใหม่ ประมาณ 500 ปีที่ผ่านมา หรือยุค Renaissance เมื่อเกิดการปฏิวัติโลกทัศน์ภูมิปัญญาครั้งใหญ่ในช่วงศตวรรษที่ 16 – 18 ‘ประวัติศาสตร์’ จึงเปลี่ยนหน้าจากเดิมที่เคยเป็นเครื่องมือของชนชั้นนำ กลายมาเป็นเครื่องมือของใครก็ได้ ประวัติศาสตร์เปลี่ยนไปจาก เครื่องมือที่สอนบทเรียนทางศีลธรรม สู่ประวัติศาสตร์ที่เป็นเครื่องมือสู่การค้นหาความจริง

วิชาประวัติศาสตร์จึงเป็นวิชาที่เข้าไปค้นหาความจริง โดยใช้หลักฐานต่างๆ ที่มีอยู่ สร้างภาพตัวแทนของความจริง (Representation of reality) ขึ้นมา หน้าที่ของนักประวัติศาสตร์ก็ไม่ได้มีเพียงแต่ค้นหาความจริง แต่ต้องนำเสนอความจริงนั้นด้วย ซึ่งนั่นก็คือการสร้างประวัติศาสตร์ ปัญหาคือเวลานักประวัติศาสตร์นำเสนอความจริงหรือเขียนประวัติศาสตร์ เขาไม่ได้เขียนเพื่อให้ตัวเองอ่านเพียงคนเดียว หากแต่เป็นการเสนอในบริบทของสังคม ถ้าความจริงที่ค้นพบเป็นสิ่งที่สังคมรับได้ฐานะของนักประวัติศาสตร์ก็กลายเป็นเทวดา หรือพระเอก ขณะเดียวกันถ้าสิ่งที่ค้นพบเป็นสิ่งที่สังคมรับไม่ได้ ฐานะของนักประวัติศาสตร์ก็กลายเป็นผู้ร้าย

ฉะนั้นประวัติศาสตร์จึงมีมิติที่ใกล้เคียงกับการเมือง เพราะเกี่ยวข้องกับความจริง และการรับรู้ความจริงนั้น บ่อยครั้งทำให้เกิดผลกระทบ หรือแรงสั่นคลอนต่อสังคม
 

พิพัฒน์ กระแจะจันทร์

พิพัฒน์เริ่มต้นด้วยการกล่าวถึงข้อจำกัดการบรรยายว่า กรณีตัวอย่างที่เตรียมมาเพื่อที่จะให้เห็นภาพชัด หลายกรณีไม่สามารถพูดถึงได้  สิ่งที่พอจะทำได้คือการพูดในเชิงทฤษฎีเสียเป็นส่วนใหญ่ และขอให้ผู้ฟังจินตนาการตามด้วยตัวเอง

“มีหลายประเด็นที่เตรียมมาในวันนี้ แต่ภายใต้บรรยากาศแบบนี้อาจจะไม่สามารถพูดได้ แม้ความจริงจะเป็นสิ่งไม่ตาย แต่การพูดความจริงอาจทำให้ติดคุกได้”

เป้าหมายของประวัติศาสตร์
พิพัฒน์ กล่าวว่า เป้าหมายของประวัติศาสตร์คือ การค้นหาความจริงในอดีต เพื่อที่จะรับใช้คนในปัจจุบัน และกำหนดท่าทีในอนาคต เพราะฉะนั้นประวัติศาสตร์จึงเป็นเรื่องที่อ่อนไหว เพราะมันสามารถกำหนดปัจจุบันและอนาคตของเราได้ หากมองประวัติศาสตร์ในแง่มุมของการชำระ เราจะมองว่าประวัติศาสตร์เป็นสิ่งที่ไม่สะอาดมาก่อนเสมอไปหรือไม่ แต่ในขณะเดียวกันประวัติศาสตร์ที่ผ่านการชำระแล้ว ก็ไม่ได้หมายความว่าจะเป็นประวัติศาสตร์ที่สะอาดเสมอไปเช่นกัน เพราะมีจารีตหรือเงื่อนไขในการชำระประวัติศาสตร์อยู่ เช่น การตัดเนื้อหาบางส่วน การต่อเติม หรือกระทั่งการเขียนใหม่ เช่นพงศาวดารในสมัยอยุธยา ที่ถูกชำระในสมัยธนบุรี และช่วงต้นรัตนโกสินทร์ สิ่งเหล่านี้เรียกได้ว่าเป็นการชำระประวัติศาสตร์

แต่ไม่ได้หมายความว่าทุกครั้งที่มีการชำระประวัติศาสตร์ เราจะได้เรื่องราวที่บริสุทธิ์ทุกครั้ง เพราะกระบวนการชำระนั้นเคลือบแฝงด้วยเงื่อนงำบางอย่าง นอกจากจะมีการตัดเนื้อหาบางส่วนออก อย่าลืมว่าการชำระประวัติศาสตร์นั้นเป็นการชำระที่อยู่ภายใต้บริบทของสังคมหนึ่ง ฉะนั้นประวัติศาสตร์ที่ผ่านการชำระก็จะเป็นไปตามความต้องการของใครก็ตามที่เป็นผู้สร้างประวัติศาสตร์

พิพัฒน์เล่าถึงวิชาประวัติศาสตร์การเมืองไทย ที่ตัวเองรับผิดชอบสอนอยู่ในปีการศึกษานี้ ซึ่งเมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมาได้ออกข้อสอบถามนักศึกษาว่า พระเจ้าตากสินถูกตัดสินประหารด้วยวิธีใด ปรากฏว่ายังมีนักศึกษาตอบว่า ถูกประหารด้วยไม้ท่อนจันทน์ นั่นเลยทำให้ตระหนักว่า สิ่งนี้เป็นปัญหาที่สำคัญในกระบวนการศึกษาประวัติศาสตร์ของรัฐไทย

เมื่อมองในแง่มุมของการชำระประวัติศาสตร์ มีสิ่งที่จำเป็นต้องรู้อยู่ 5 เรื่องด้วยกันคือ 1.การบันทึกประวัติศาสตร์หรือความจริงส่วนมากเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นภายหลัง ฉะนั้นการสร้างประวัติศาสตร์ย่อมมีปัญหา เพราะจะมีกระบวนการกลั่นกรองจากผู้มีอำนาจเสมอ 2.การบันทึกประวัติศาสตร์บางครั้งมีวาระซ่อนเร้น เช่น เรื่องการเมือง การสร้างภาพลักษณ์ ยกตัวอย่างในกรณีพระเจ้าริชาร์ดที่ 3 ประวัติศาสตร์ของพระองค์ถูกเขียนขึ้นในสมัยราชวงศ์ทิวดอร์ 3.งานบันทึกทุกประเภทย่อมมีขนบในการเขียนเสมอ เช่น ถ้าเขียนหนังสืองานศพ ผู้อ่านก็ไม่มีทางที่จะพบเรื่องราวไม่ดีอยู่ในหนังสืองานศพ 4.เรื่องราวบางอย่างมักจะถูกปกปิด หรือไม่ต้องการให้ถูกบันทึกเป็นลายลักษณ์อักษร 5.การเซ็นเซอร์ย่อมมีอยู่เสมอ ไม่ว่าจะเป็นจากอำนาจรัฐ หรืออำนาจอะไรก็ตาม เช่นเรื่องของบุคคลทางประวัติศาสตร์ บางเรื่องการมีการปกป้องไม่ให้มีการพูดถึงเรื่องไม่ดี หรือกระทั่งว่ามีกฎหมายที่มีการออกมาเพื่อปกป้องโดยเฉพาะ

ปัจจัยเหล่านี้ส่งผลกระทบต่อการรับรู้อดีตบางอย่าง ซึ่งอาจจะทำให้เกิดการรับรู้อดีตที่ถูกต้องหรืออดีตที่บิดเบี้ยวไป ถ้าอดีตดำรงอยู่ในฐานะตัวบทที่ผ่านการชำระแล้วโดยคนในยุคใดยุคหนึ่ง แน่นอนว่าย่อมส่งผลต่อทั้งปัจจุบันและอนาคต และถ้าเราไม่พยายามทำความเข้าใจต่อกระบวนการชำระประวัติศาสตร์ สิ่งเหล่านี้จะเป็นปัญหา

เหตุใดจึง ‘รัฐไทย’ ต้องชำระประวัติศาสตร์
พิพัฒน์กล่าวต่อว่า หากมองเป็นรูปธรรมมากขึ้น แหล่งที่ทำให้คนเรารับรู้เรื่องราวในอดีตที่สำคัญก็คือ พระราชพงศาวดาร ซึ่งในสมัยจารีตพระราชพงศาวดารเป็นเรื่องที่อยู่เฉพาะกับราชสำนัก ไม่เคยเผยแพร่สู่ประชาชน และเป้าหมายของพระราชพงศาวดารก็คือการกำหนดความสัมพันธ์ระหว่างรัฐ และสอนกษัตริย์ในเรื่องกลศึกสงคราม การเป็นพระเจ้าแผ่นดินในอุดมคติ ระเบียบการประกอบพิธีกรรมในราชสำนัก

แต่ในช่วงของการสร้างรัฐชาติสมัยใหม่เมื่อร้อยกว่าปีที่ผ่านมา ซึ่งเป็นช่วงที่มีการเรียกร้องการสร้างเอกภาพทางการเมือง และสร้างสำนึกความเป็นชาติ พระราชพงศาวดารก็ถูกหยิบยืมเอามาเป็นตัวแม่บทของประวัติศาสตร์ชาติ และผู้ที่มีบทบาทในการเขียนประวัติศาสตร์ครั้งนี้มากที่สุดคือ กรมพระยาดำรงราชนุภาพ

หากย้อนกลับไปดูพระราชพงศาวดารที่ถูกเขียนในสมัยอยุธยา กับประวัติศาสตร์ที่ถูกชำระแล้วจะพบความแปลกประการหนึ่งคือ เริ่มมีพื้นที่ของประชาชนเข้าไปอยู่ในประวัติศาสตร์ เช่น เรื่องของชาวบ้านบางระจัน และเรื่องขุนรองปลัดชู หรือแม้แต่กระทั่งมีการขยายความเพิ่มเนื้อหาในบางส่วน เช่นกรณีพระราชประวัติของพระนเรศวรมหาราช ซึ่งได้มีการขยายเพิ่มเนื้อหาเข้ามามาก ทั้งนี้ก็เพื่อสร้างสำนึกในความเป็นชาติที่เหมือนกัน หรือเป็นการยอพระเกียรติ และใช้เป็นต้นแบบของกษัตริย์ในรัฐสมัยใหม่

เราเรียนประวัติศาสตร์ชาติไทยผ่านพงศาวดารฉบับไหน
พิพัฒน์เน้นว่า ประวัติศาสตร์ไทยที่เราได้เรียนในแบบเรียนประวัติศาสตร์ หรือที่เรารับรู้กันทั่วไปในปัจจุบัน เป็นพระราชพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขา ซึ่งชำระและเขียนใหม่ในสมัยรัชกาลที่ 4 ถึงรัชกาลที่ 5  ขณะเดียวกันหากเราต้องการรู้ถึงสิ่งที่ใกล้เคียงกับความจริงมากที่สุดก็ต้องไปอ่านพระราชพงศาวดารฉบับไมเคิล วิกเคอรี ฉบับหลวงประเสริฐ ฉบับจักรพรรดิพงษ์ (จาด) ฉบับพันจันทนุมาศ เพราะพระราชพงศาวดารเหล่านี้ผ่านการชำระน้อยกว่า และนั่นอาจทำให้เราเห็นความจริงแตกต่างจากประวัติศาสตร์ในแบบเรียน

เป้าหมายของการชำระพระราชพงศาวดาร
เขากล่าวว่า สิ่งที่ต้องคำนึงถึงเสมอทุกครั้งที่มีการพูดถึงการชำระพระราชพงศาวดาร คือช่วงที่มีการชำระพระราชพงศาวดารนั้นเกิดขึ้นในบริบทสังคมในยุคสมัยใด เพราะทุกครั้งที่มีการชำระพระราชพงศาวดารนั้นย่อมมีส่วนเกี่ยวข้องกับการสร้างภาพลักษณ์ทางการเมือง หรือในปัจจุบันคือมีส่วนของการสร้างสำนึกความเป็นชาติ

พิพัฒน์ยกตัวอย่างว่า ในพระราชพงศาวดารในสมัยอยุธยา เรื่องราวของไทยที่รบกับพม่า มีสถานะเป็นเพียงเรื่องราวของกษัตริย์ต่อกษัตริย์ คือเป็นเรื่องระหว่างกรุงศรีอยุธยากับกรุงอังวะ ไม่ใช่เรื่องของชาติไทยกับชาติพม่าในปัจจุบัน แต่ภายหลังจากมีการชำระพระราชพงศาวดาร และสร้างสำนึกของความเป็นชาติสมัยใหม่ขึ้น สงครามที่เคยเป็นสงครามระหว่างกษัตริย์ กลับกลายมาเป็นสงครามตัวแทนระหว่างประเทศต่อประเทศ

นั่นทำให้เห็นว่า ปัญหาของการเขียนประวัติศาสตร์ ไม่ได้มีปัญหาเพียงแค่ปัญหาในเชิงภาวะวิสัยโดยตัวหลักฐานเท่านั้น หากแต่มีปัญหาในเชิงอัตวิสัยของตัวผู้เขียนหรือผู้ชำระรวมอยู่ด้วย

 

สุลักษณ์ ศิวรักษ์

สุลักษณ์เริ่มต้นด้วยการให้คำนิยามกับประวัติศาสตร์ว่าคือ การเรียนเพื่อค้นหาความจริง และเป็นการค้นหาความจริงเพื่อเป็นการแสวงหาทางปลดทุกข์ ทั้งในเรื่องส่วนตัวและสังคม แต่ประวัติศาสตร์กระแสหลักส่วนใหญ่ไม่ว่าจะเป็นที่ไหนในโลก ล้วนแล้วแต่โน้มเอียงไปทางชนชั้นปกครอง โดยเลือกเอกสารหลักฐานมาสนับสนุนชนชั้นปกครอง ไม่ได้มีพื้นที่ให้กับประชาชน

สุลักษณ์ กล่าวต่อว่า ประวัติศาสตร์ของไทยสมัยก่อนเราเรียกว่าพงศาวดาร ซึ่งแปลว่า องค์ของพระผู้อวตารลงมา ก็คือพระนารายณ์อวตารลงมา พร้อมถามผู้ฟังว่า “คุณยอมรับมตินี้หรือไม่”

“ไม่รับไม่ได้นะ เมื่อกี้ทหารตำรวจเค้ามาบอกผม…พูดไม่ได้นะ ถ้าแตะไม่ได้ก็ไม่ต้องสอนประวัติศาสตร์ สอนพงศาวดาร [แทน]” สุลักษณ์กล่าว

ประวัติศาสตร์อาจมีหลายหน้า
ขณะเดียวกันสุลักษณ์เผยให้เห็นความจริงในทางประวัติศาสตร์ว่าอาจจะมีการต่อเติม ตัดออก หรือเขียนขึ้นใหม่ และที่สำคัญอย่างยิ่งคือ ความจริงอาจจะไม่ตรงกันเสมอไป โดยยกตัวอย่างกรณีพระนเรศวรชนช้างกับพระมหาอุปราชา โดยความจริงด้านหนึ่งบอกว่าพระนเรศวรทรงท้าพระมหาอุปราชาชนช้างแล้วทรงได้ชัยชนะเหนือพระมหาอุปราชาด้วยการฟันพระมหาอุปราชาขาดสะพายแล่ง แต่ก็มีประวัติศาสตร์ที่เล่าความจริงอีกชุดหนึ่งที่ถูกเล่าในฝั่งประเทศพม่า เล่าว่าพระนเรศวรใช้ปืนยิงพระมหาอุปราชา สรุปแล้วความจริงคืออะไร แล้วเราจะเชื่อความจริงแบบไหน

ซึ่งกับดักทางประวัติศาสตร์ที่คนไทยมักจะตกหลุมพรางลงไปง่ายๆ คือ เรามักจะเชื่ออะไรกันง่ายเกินไป “เวลาอ่านเอกสาร หลักฐานต่างๆ อย่าเพิ่งเชื่อหรือไม่เชื่อ ใช้สติ ใช้วิจารณญาณให้ถ่องแท้ แล้วเอามาพิจารณาให้ถูกต้อง”


มุมมองความเห็นต่อกรณีความพยายามทำให้ลืมประวัติศาสตร์ในบางช่วง
สุลักษณ์เห็นว่าไม่มีความจำเป็นที่ต้องลบชวลิต-ชวน-ทักษิณ-อภิสิทธิ์ ออกจากประวัติศาสตร์การเมืองไทย หรือออกจากแบบเรียนประวัติศาสตร์ไทย โดยให้เหตุผลว่าตอนนี้เราไม่จำเป็นต้องศึกษา 4 คนนี้ในฐานะประวัติศาสตร์การเมือง แต่ยังมีความจำเป็นต้องศึกษาพวกเขาในเชิงของตัวบุคคล

ส่วนธเนศมองว่า ในยุคสมัยนี้ ไม่มีความจำเป็นที่ต้องไปลบประวัติศาสตร์ เพราะประชาชนคิดเองได้ ไม่มีอำนาจเด็ดขาดที่จะมาปิดความคิดคน ยิ่งสมัยนี้เป็นโลกยุคใหม่ คนสามารถรับรู้ข้อมูลข่าวสารได้รวดเร็วหมดแล้ว

ขณะที่พิพัฒน์เองเห็นว่า ไม่มีทางที่ใครจะมาลบ หรือทำให้คนลืมประวัติศาสตร์ได้เช่นกัน เพราะประวัติศาสตร์ที่ใครก็ตามที่พยายามจะลบ กลายสภาพเป็นความทรงจำไปเรียบร้อย และความทรงจำเป็นสิ่งที่ทำลายยากที่สุดไม่ว่าจะเป็นระบอบการเมืองแบบใดก็ตาม


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net