Skip to main content
sharethis

"องอาจ เดชา" บันทึกพิธีสืบชะตาขุนน้ำปิง ที่บ้านโป่งอาง อ.เชียงดาว จ.เชียงใหม่ ชาวบ้านหลายเผ่าพันธุ์ซึ่งตั้งถิ่นฐานที่นั่นต่างแสดงความกังวลหากมีการสร้างเขื่อนกั้นบริเวณต้นแม่น้ำปิง 

ในหนังสือ "อักขรานุกรมทางภูมิศาสตร์" ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2527 ได้อธิบายความหมายของ “แม่น้ำปิง” ไว้ว่า…ตาน้ำเล็กๆ ที่ซึมจากซอกหินในระดับความสูง 1,824 เหนือดอยถ้วยเป็นต้นกำเนิดของต้นธารแม่น้ำปิงหรือแม่น้ำระมิงค์ แม่น้ำสายสำคัญของอาณาจักรล้านนาก่อนที่จะไหลผ่านบ้านเมือง เป็นแควหนึ่งของแม่น้ำที่ใหญ่ที่สุดของประเทศ ไหลไปบรรจบกับสายน้ำอื่นๆ อีก 3 สายที่ปากน้ำโพ หรือปากแม่น้ำโผล่ในเขตจังหวัดนครสวรรค์ ก่อนไหลกลายเป็นแม่น้ำเจ้าพระยา สายน้ำใหญ่ของประเทศที่หล่อเลี้ยงชุมชนที่ราบลุ่มภาคกลางมานานชั่วนาตาปี

และเป็นที่รับรู้กันทั่วไปว่า ต้นกำเนิดของแม่น้ำปิงนั้น อยู่ บริเวณเทือกเขาแดนลาว ที่คนแถบนี้เรียกกันว่าดอยถ้วย บริเวณเขตบ้านกองผักปิ้ง ของ ต.เมืองนะ อ.เชียงดาว จ.เชียงใหม่ จากตาน้ำ ขุนห้วย รินไหลลงมาสู่ที่ราบลุ่ม แต่หากใครมีโอกาสเดินทางมาเยือนและสัมผัสด้วยตัวเอง ก็จะพบว่า กว่าจะมาเป็นแม่น้ำปิงอันกว้างใหญ่นั้น ลึกเข้าไปในผืนดินผืนป่าอันอุดมสมบูรณ์ของธรรมชาติ เราจะพบว่า มีลำห้วยสาขา ประมาณ 20 สาขาด้วยกัน ยกตัวอย่างเช่น น้ำเกี๋ยง น้ำนะ น้ำเฮื้อง น้ำดอยกลาง ห้วยน้ำกัด ห้วยปางจี ห้วยโป่งซ่าน ห้วยฮั้งหลี ห้วยหวาย ห้วยหก ห้วยม่วง ห้วยยาวห้วยโต้งผักไผ่ ห้วยต้นยาง เป็นต้น

นี่ยังไม่ได้รวมลำห้วยสาขาในพื้นที่ตำบลทุ่งข้าวพวง ปิงโค้ง เชียงดาว แม่นะ อีกนับสิบสาขาด้วยกัน ซึ่งได้ไหลลงมาบรรจบพบกัน ตั้งแต่ลำธารสายหลักจากดอยถ้วย ผ่านตำบลเมืองนะ เมีองงาย ปิงโค้ง เชียงดาว และแม่นะ ของอำเภอเชียงดาว ก่อนจะไหลไปบรรจบกับแม่น้ำแม่งัดที่ตำบลช่อแล อำเภอแม่แตง เป็นระยะทางเกือบ 100 กิโลเมตร จากนั้นจึงไหลลงสู่ที่ราบลุ่มเชียงใหม่-ลำพูน ผ่านเมืองเชียงใหม่ จึงถือได้ว่าเป็นต้นน้ำลำธารที่สำคัญแห่งหนึ่งของประเทศไทย ครอบคลุมพื้นที่อำเภอเชียงดาวเกือบทั้งหมด ยกเว้นตำบลเมืองคอง ที่อยู่ในลุ่มน้ำแม่แตง และครอบคลุมบางส่วนของอำเภอแม่แตง ก่อนที่สายน้ำปิงไหลมาบรรจบกับแม่น้ำแม่งัด บริเวณอำเภอแม่แตง จังหวัดเชียงใหม่

จุดเด่นที่สำคัญอีกอย่างหนึ่ง ก็คือ ลุ่มแม่น้ำปิงตอนบนนี้เป็นลำน้ำสายหนึ่งในไม่กี่แห่งของลำน้ำสาขาของแม่น้ำปิงที่ยังมิได้มีการก่อสร้างเขื่อน หรือฝายกักเก็บน้ำขนาดใหญ่ จึงทำให้ผลกระทบต่อนิเวศของลุ่มน้ำน้อยกว่าลำน้ำสายอื่น แน่นอน จึงทำให้ผืนป่าต้นน้ำแม่ปิงตอนบน มีความอุดมสมบูรณ์ เป็นแหล่งต้นน้ำแม่ปิงที่มีความสำคัญทางระบบนิเวศน์ และมีต้นทุนของสายน้ำที่ไหลไปหล่อเลี้ยงผู้คนชุมชนสองฝั่งลำน้ำแม่ปิงได้ใช้ประโยชน์เพื่อการผลิตทางการเกษตร การใช้อุปโภค บริโภคในครัวเรือน จนถึงปลายน้ำในเขตพื้นที่ลุ่มน้ำแม่ปิงตอนบน จากตำบลเมืองนะ ไปถึงเขตตำบลแม่นะตอนปลาย

เมื่อหันมาโฟกัสมองเฉพาะในพื้นที่ตำบลเมืองนะ จึงบอกได้ว่า เมืองนะ นั้นมีจุดเด่นในเรื่องฐานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม มีทั้งป่าดิบเขา ป่าสน ป่าเบญจพรรณ ป่าเต็งรัง และในป่ายังมีสัตว์ป่าหลายชนิด ทั้งนก ปลา สัตว์เลื้อยคลาน และสัตว์เลี้ยงลูกด้วยน้ำนม นอกจากนั้น ในแม่น้ำปิง ยังเต็มไปด้วยสัตว์น้ำ และพืชผัก สมุนไพรอยู่เต็มสองฝั่งแม่น้ำให้ชาวบ้านในพื้นที่ได้ใช้เป็นแหล่งอาหารอันอุดม ไม่มีวันขาดแคลน

อีกทั้งยังเป็นแหล่งรวมความหลากหลายทางวัฒนธรรมที่มาตั้งถิ่นฐานอาศัยอยู่แถบนี้ และมีหลายพื้นที่ หลายชุมชน พยายามเกาะกลุ่มรวมตัวกัน เพื่อร่วมกันอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติของแม่น้ำปิงเอาไว้ให้อุดมสมบูรณ์และยั่งยืน ยกตัวอย่าง การรวมกลุ่มของ ‘เครือข่ายลุ่มน้ำซุ้ม’ อันเป็นลำน้ำเล็กๆที่มีความสำคัญยิ่งสำหรับชุมชนที่ได้ใช้ประโยชน์และอาศัยลำน้ำซุ้มในการหล่อเลี้ยงพืชผลทางการเกษตรของชุมชนที่อยู่บริเวณสองฝั่งลำน้ำ และมีพื้นที่เกษตรที่มีลำน้ำซุ้มไหลผ่าน ตั้งแต่บ้านนาหวาย บ้านน้ำรู บ้านโล๊ะป่าหาญ บ้านห้วยไส้ บ้านห้วยเป้า และบ้านโป่งอาง โดยผู้นำชุมชนและชาวบ้าน ได้ร่วมมือร่วมใจกันบริหารจัดการทรัพยากรโดยใช้ฐานวัฒนธรรมมาเป็นตัวเชื่อม

 

ซึ่งในรอบปีที่ผ่านมา ก็ได้มีการจัด ‘พิธีสืบชะตาขุนน้ำแม่ปิง’ ขึ้น ที่บริเวณแม่น้ำปิง หมู่บ้านโป่งอาง หมู่ที่ 5 ต.เมืองนะ อ.เชียงดาว ซึ่งเป็นอีกชุมชนหนึ่งที่มีความหลากหลายทางวัฒนธรรม มีทั้งชาวไทยพื้นราบ ชาวไทยใหญ่และชาวไทยภูเขาเผ่าปกาเกอะญอ หรือกะเหรี่ยง ตั้งรกรากถิ่นฐานอยู่ร่วมกันมานับกว่าร้อยปีมาแล้ว โดยพื้นที่ตั้งนั้นอยู่ตามริมฝั่งแม่น้ำปิง การดำรงชีวิตของคนในชุมชน จึงอาศัยและพึ่งพาระบบนิเวศจากดินน้ำป่า มาช้านาน ดังนั้น แม่น้ำปิง และป่าต้นน้ำผืนนี้ จึงมีความสำคัญต่อชาวบ้านในลุ่มน้ำนี้เป็นอย่างมาก

การจัดพิธีสืบชะตาขุนน้ำแม่ปิง นั้นเป็นความเชื่อดั้งเดิมของชุมชนที่มีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับความเชื่อเรื่องของผี คือ เรื่องของขวัญ ในเชิงจิตวิทยา ซึ่งเป็นทุกสิ่งทุกอย่างไม่ว่า คน สัตว์ พืช สิ่งของ ล้วนแล้วแต่มีขวัญอันเป็นพลังชีวิตประจำตนอยู่ อีกทั้งยังเป็นการรณรงค์ ปลูกจิตสำนึกให้สังคม ชุมชน เกิดความตระหนักในการดูแลรักษา ฟื้นฟูและจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมในพื้นที่ป่าต้นน้ำแม่ปิงตอนบน และยังเป็นการสร้างพื้นที่การเรียนรู้ให้กับกลุ่มเด็ก เยาวชน รวมถึงชาวบ้านในชุมชนเข้ามามีส่วนร่วมในการอนุรักษ์และใช้ประโยชน์ร่วมกันของคนในชุมชน รวมไปถึงการรวมกลุ่ม เพื่อเสริมสร้างพลัง ความเข้มแข็งให้กับกลุ่มแก่เหมืองแก่ฝาย กลุ่มผู้ใช้น้ำ กลุ่มองค์กรต่างๆเข้ามามีส่วนร่วมสนับสนุนให้เกิดความต่อเนื่องการดำเนินงานในระยะยาวต่อไป

อย่างไรก็ดี ในขณะที่หลายกลุ่มนั้นให้ความสำคัญของผืนดิน ผืนป่า ต้นน้ำ และพยายามดำรงวิถีชุมชนที่อยู่รร่วมกับแม่น้ำปิง แต่ก็อาจกำลังเผชิญกับสถานการณ์ปัญหาที่ไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ ไม่ว่าจะเป็นการรุกคืบของพืชเศรษฐกิจทั้งบริเวณเนินเขามีการขยายตัวของข้าวโพด และยางพาราส่งผลต่อการขยายบุกรุกพื้นที่ป่า การลดลงของพื้นที่ป่าไม้ และการเปลี่ยนแปลงของปริมาณน้ำและคุณภาพน้ำทั้งน้ำในลำน้ำสาขาและสายน้ำแม่ปิง รวมทั้งการรุกคืบของพืชเศรษฐกิจที่ราบลุ่มน้ำ ส่วนใหญ่จากเดิมคือ ทำนา ปลูกข้าวเพื่อยังชีพ จากระบบการทำนาเดิม เริ่มลดลงหันมาปลูกพืชอย่างอื่นทดแทนเช่น มะเขือสีม่วง มันสำปะหลัง ข้าวโพดฟักอ่อน กระเทียม เป็นต้น

แน่นอน พืชเหล่านี้ล้วนแล้วแต่มีความต้องการในการใช้น้ำและการบำรุงรักษาด้วยสารเคมีในปริมาณที่มาก ซึ่งอาจส่งผลทำให้เกิดปัญหาการแย่งชิงน้ำ ปริมาณน้ำและคุณภาพน้ำ ที่สำคัญเมื่อเข้าสู่ฤดูฝนเกิดปัญหาน้ำหลาก การชะล้างหน้าดิน เกิดการทับถมตะกอนในลำน้ำสาขาและลำน้ำแม่ปิง สร้างความเสียหายให้กับพืชผลทางการเกษตรโดยเฉพาะบริเวณที่ราบลุ่มน้ำ ซึ่งประเด็นนี้ อาจนำไปสู่การร่วมมือกันแก้ไขปัญหาและร่วมกันค้นหาทางออกกันในอนาคตกันต่อไป

ในขณะเดียวกัน พี่น้องชาวบ้านบางพื้นที่ นอกจากต้องปรับตัวกับความเปลี่ยนแปลงในเรื่องของระบบฐานการผลิต การปลูกพืชเชิงเดี่ยว เพื่อตอบสนองระบบเศรษฐกิจและกลุ่มทุนแล้ว กลับต้องลุกขึ้นมาปกป้องฐานทรัพยากรของตนอีก เช่น กรณี กรมชลประทาน ได้เข้าดำเนินการสำรวจพื้นที่เพื่อสร้างเขื่อนที่บ้านโป่งอาง ต.เมืองนะ อ.เชียงดาว จ.เชียงใหม่ ซึ่งทำให้ชาวบ้านต่างพากันหวาดวิตกกันว่า หากมีการสร้างเขื่อนกั้นแม่น้ำปิงบริเวณนี้ อาจถึงขึ้นต้องอพยพโยกย้ายหมู่บ้านโป่งอาง ออกไปทั้งหมด

ทั้งนี้ หมู่บ้านโป่งอาง ปัจจุบันมีทั้งหมด 102 หลังคาเรือน เป็นชุมชนชาวไทยพื้นราบ ชาวไทยใหญ่และชาวไทยภูเขาเผ่ากะเหรี่ยง มีการตั้งรกรากถิ่นฐานมานับกว่าร้อยปี โดยพื้นที่ตั้งนั้นอยู่ตามริมฝั่งแม่น้ำปิง การดำรงชีวิตของคนในชุมชน จึงอาศัยและพึ่งพาระบบนิเวศจากดินน้ำป่ามาช้านาน และถือว่าเป็นหมู่บ้านแห่งเดียวที่ตั้งอยู่ในเขตลุ่มน้ำห้วยหก ซึ่งเป็นลำน้ำสาขาย่อยของแม่น้ำปิงตอนบน อันเป็นป่าต้นน้ำสำคัญอีกแห่งหนึ่งที่เกิดจากแนวเทือกเขาสูงสลับซับซ้อนรอยต่อระหว่างเทือกเขาดอยปุกผักกา แนวเขตบ้านโป่งอาง และบ้านแกน้อย ตำบลเมืองนะ อำเภอเชียงดาว จังหวัดเชียงใหม่ โดยลุ่มน้ำห้วยหก มีพื้นที่ทั้งหมดประมาณ 27,500 ไร่ ซึ่งเป็นพื้นที่ที่ทางกรมชลประทานเคยมีแนวคิดโครงการอ่างเก็บน้ำแม่ปิงตอนบนหรือเขื่อนกั้นแม่น้ำปิง นั่นเอง

นายธวัชชัย สุบินรักษ์ อดีตครูใหญ่โรงเรียนบ้านโป่งอาง และได้ตั้งถิ่นฐานอยู่บ้านโป่งอางมาตั้งแต่ 40 กว่าปีแล้ว จนกลายเป็นสมาชิกเก่าแก่ของชุมชน เป็นตัวแทนชาวบ้านโป่งอางบอกเล่าให้ผู้ที่มาร่วมงานได้รับรู้ว่าบริเวณของบ้านโป่งอาง นั้นเป็นพื้นที่ป่าต้นน้ำ ซึ่งมีลำห้วยสาขาหลายสายไหลลงมารวมกันจนกลายเป็นแม่น้ำปิงบริเวณนี้

"พื้นที่ป่าต้นน้ำปิง ถือว่าเป็นกาดของคนตุ๊กคนจน ชาวบ้านไม่ได้ใช้เงินก็อยู่กันได้ ถือแซะลงไปก็หาปูหาปลาได้ ริมฝั่งก็มีผักพื้นบ้าน ผักกูด ผักกุ่ม ให้เก็บมาทำอาหารกันได้อย่างง่ายๆ แต่เมื่อ 3-4 ปีที่ผ่านมา ชาวบ้านได้ข่าวว่ากรมชลประทานเขาจะมาสร้างเขื่อนเพื่อกักเก็บน้ำปิง เราฟังก็ตกใจ ชาวบ้านก็รอดูท่าที จนเห็นข่าวในเวบไซต์ของกรมชลประทาน ว่ากำลังดำเนินการสำรวจพื้นที่เพื่อสร้างเขื่อนที่โป่งอาง โดยอ้างว่าจะกักเก็บน้ำไว้ใช้ในฤดูแล้ง ซึ่งเหตุผลนั้นฟังไม่ขึ้น เพราะทุกวันนี้ ชาวบ้านโป่งอางก็มีฝาย 2 ฝายอยู่แล้ว และคนโป่งอางมีน้ำใช้พอเพียงตลอดปี ไม่ได้เดือดร้อนอะไร จึงเชื่อกันว่าโครงการนี้มีการหมกเม็ด จึงได้ประชุมปรึกษาหารือกัน ว่าเราไม่เห็นด้วยกับโครงการนี้"

นายธวัชชัย บอกว่า เหตุผลหลักๆ ที่ชาวบ้านร่วมกันคัดค้าน ไม่เห็นด้วยกับการสร้างเขื่อนกั้นน้ำปิงก็เพราะทุกคนรู้ว่า จะส่งผลกระทบในหลายๆ ด้าน โดยเฉพาะกระทบต่อพื้นที่ป่าอันอุดมสมบูรณ์ จะต้องถูกน้ำท่วมจมหาย และต้องกระทบต่อวิถีชีวิตของคนโป่งอางอย่างแน่นอน

"ถ้ามีการสร้างเขื่อนจริง ทุกคนรู้ว่าพื้นที่ทำมาหากินของชาวบ้าน 2-3 พันไร่ รวมทั้งพื้นที่เลี้ยงสัตว์ เลี้ยงวัวเลี้ยงควายจะต้องหายไปอย่างแน่นอน เพราะถูกน้ำท่วมหมด และที่สำคัญ จะต้องมีการอพยพหมู่บ้านออกไปอยู่ที่อื่น เพราะเขาบอกว่าจะมีการเวนคืนที่ดิน แล้วไปจัดสรรที่ใหม่ให้อยู่ใหม่ ซึ่งเรามาวิเคราะห์กันว่า เราจะไปหาที่ดินที่อยู่ใหม่ที่จะมีทรัพยากรธรรมชาติที่มีความอุดมสมบูรณ์แบบโป่งอางนี้อีกคงเป็นไปไม่ได้ ซึ่งถ้ามีการสร้างเขื่อน มีการเวนคืน ผมจะขอปักหลักอยู่เป็นครอบครัวสุดท้ายว่าเขาจะทำอย่างไร สรุปก็คือ คนโป่งอางเราไม่เอาเขื่อน ไม่ต้อนรับทีมที่มาศึกษา และยังเข้ามาดำเนินการ เราไม่รับรองความปลอดภัย และอยากสรุปสั้นว่า ชาวบ้านจะต้องเกาะกลุ่มกันเพื่อสร้างพลังอำนาจของชุมชน สิ่งที่ดี มีอยู่แล้วในชุมชนต้องช่วยกันรักษา และต้องร่วมมือกันอนุรักษ์ทรัพยากรของเราเอาไว้อย่าให้ใครมาทำลาย" ตัวแทนชาวบ้านโป่งอาง กล่าวในตอนท้าย

อย่างไรก็ตาม เป็นที่รับรู้กันว่า เมื่อโครงการเขื่อนเข้ามา ได้ทำให้ชุมชนมีความแตกแยกกัน เมื่อมีชาวบ้านบางคนบางกลุ่ม ที่แอบไปให้ข้อมูล สนับสนุนให้มีการสร้างเขื่อน จนกลายเป็นความขัดแย้ง แต่ในที่สุด ชาวบ้านโป่งอางส่วนใหญ่ก็รวมตัวคัดค้านการสร้างเขื่อนกันอย่างหนักแน่นจริงจัง จนกระทั่งชาวบ้านบางคนบางกลุ่มต้องยอมถอยท่าที ในขณะที่ทางกรมชลประทาน ได้ยุติบทบาทไปชั่วคราว หลังจาก ที่ประชุมคณะอนุกรรมการแก้ไขปัญหาที่ดินฯ โดยมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์เป็นประธาน ได้มีมติเห็นชอบตามที่คณะอนุกรรมการฯ เสนอให้กรมชลประทานยุติการศึกษาโครงการอ่างเก็บน้ำแม่ปิงตอนบน อำเภอเชียงดาว จังหวัดเชียงใหม่ เอาไว้ก่อน เพื่อเป็นการยุติความขัดแย้งระหว่างประชาชนในพื้นที่ที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วยกับโครงการนี้ ตามที่คณะทำงานจังหวัดเสนอ

ในขณะ นายเดโช ไชยทัพ มูลนิธิเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน ภาคเหนือ กล่าวว่า ต้องขอชื่นชมพี่น้องบ้านโป่งอางที่ได้ร่วมกันขับเคลื่อนต่อสู้คัดค้านเรื่องเขื่อนในรอบปีที่ผ่านมา ซึ่งทำให้เรามองเห็นแล้วว่า โครงการของรัฐใดๆ ที่ดำเนินการโดยไม่ฟังเสียงของชาวบ้าน ก็จะไปไม่รอดแบบนี้ ในขณะเดียวกัน ชาวบ้านเองก็หันมาทบทวนกันดูว่า ถ้าตราบใดชาวบ้านยังรวมกลุ่มกันไม่ได้ ก็อย่าหวังว่าจะไปแก้ปัญหาอื่นๆ ได้

"ดังนั้น ทั้งชาวบ้าน ทั้งองค์กรเครือข่ายจะต้องมาร่วมกันคิดว่าหนุนเสริมกันอย่างจริงจัง ว่าจะตั้งหลักกันอย่างไร เพราะในอนาคต โครงการเขื่อนอาจจะโผล่มาอีกก็ได้"

เช่นเดียวกับ นายหาญณรงค์ เยาวเลิศ ประธานมูลนิธิเพื่อการบริหารจัดการน้ำแบบบูรณาการ (ประเทศไทย) กล่าวว่า การยุติเขื่อนกั้นแม่น้ำปิงที่ชาวบ้านโป่งอางได้ออกมาต่อสู้คัดค้านในรอบหนึ่งปีนี้ ถือว่าเป็นเพียงยุติชั่วคราว ยังไม่ใช่ชัยชนะ เพราะในเวลานี้ปัญหาขาดการมีส่วนร่วมของชุมชน มันระบาดหนักไปทั่วประเทศ ทุกวันนี้ กรมชลประทานยังพร้อมที่จะปัดฝุ่นโครงการเก่าๆ อย่างเช่น เขื่อนแม่แจ่ม หรือเขื่อนแก่งเสือเต้น เพื่อกลับเอาเสนอของบประมาณกันใหม่ และของบให้มากกว่าเดิมด้วยซ้ำ

"แต่ละโครงการของรัฐ เราจะเห็นได้ว่า นอกจากประชาชนไม่ได้มีส่วนร่วมอย่างแท้จริงแล้ว มันยังไปทำลายระบบนิเวศให้เสียหายอีกเป็นจำนวนมาก ทุกวันนี้ กรมชลฯ ก็ยังคิดแบบเดิม ใช้งบไปจ้างบริษัทที่ปรึกษา มาแอบสำรวจข้อมูล แล้วก็ดำเนินการเพื่อของบมหาศาล ยกตัวอย่างเช่น การขุดลอกแม่น้ำ ปี 2555 ของบ 5 พันล้านบาท ปี 2556 ของบ 1 หมื่นล้านบาท แล้วในปี 2557 จะมีการตั้งงบเพิ่มขึ้นเป็น 2 หมื่นล้าน แต่มันไม่ได้ประโยชน์อะไรเลย อย่างการขุดลอกน้ำปิงบริเวณฝายชลประทานบ้านโป่งอางนี้ ดูเถิดว่า มีการกั้นคันดิน ปิดทางน้ำตลอดสองฝั่ง ทำให้น้ำในหน้าฝนระบายลงไปลำน้ำได้ ซึ่งมันทำให้ระบบนิเวศมันผิดเพี้ยนไปหมด โขดหิน แอ่ง ซึ่งเป็นที่อยู่อาศัยของพันธุ์ปลามันเสียหายหมด ดังนั้น อยากจะบอกชาวบ้านว่า ถ้าโครงการไหนที่ไม่เป็นผลดีต่อชุมชน ก็อย่าให้มันเข้าทำลาย ขอให้หยุดโครงการนั้นไว้เลย"

นายหาญณรงค์ กล่าวอีกว่า ทุกวันนี้ ในทุกพื้นที่ต่างกำลังถูกกระทำจากโครงการของรัฐ ซึ่งทำให้แต่ละชุมชนได้รับผลกระทบเหมือนๆ กัน ดังนั้น แต่ละชุมชนจะต้องปรับตัว ตั้งรับ และขับเคลื่อนด้วยตัวชุมชนเอง อย่างเช่น เรื่องการผลิตสื่อ นำเสนอรายงานข่าว ก็จำเป็นต้องลงมือทำกันเอง เพื่อส่งข่าวสารไปให้สังคมข้างนอกได้รับรู้

เมื่อหันมาดู แม่น้ำปิง ถือว่าเป็นแม่น้ำสายหลักของประเทศ และผู้คนลุ่มน้ำตลอดทั้งสาย ตั้งแต่ต้นน้ำปิงที่เมืองนะ เชียงดาว ยาวไปจนถึงปากน้ำโพ นครสวรรค์ ก่อนไหลไปกลายเป็น “แม่น้ำเจ้าพระยา” นั้น บางที เรื่องการอนุรักษ์แม่น้ำนั้น คงจะไม่ใช่เพียงแค่คนต้นน้ำเท่านั้นที่มีหน้าที่เฝ้าดูแลรักษา แต่คนข้างล่างในเมืองใหญ่ทั้งหมด ที่ได้อาศัยจากแม่น้ำปิงทั้งหมด ก็ต้องตระหนักกันด้วยว่า เราจะเข้าไปช่วยเหลือ หรือมีส่วนร่วมในการดูแลต้นน้ำปิงกันได้อย่างไรบ้าง เพราะที่ผ่านมา เราได้อาศัยน้ำดื่มน้ำใช้ทุกวันนี้เพราะคนต้นน้ำนั้นได้ช่วยกันดูแล และในขณะเดียวกัน คนต้นน้ำปิงก็คงต้องหันมาทบทวนในบางสิ่ง แล้วละทิ้งในบางอย่าง เพื่อเป้าหมายเดียวกัน นั่นคือ เราจะช่วยกันรักษาผืนดินผืนป่า ต้นน้ำปิงของเราไว้ให้อุดมสมบูรณ์และยั่งยืนให้รุ่นลูกรุ่นหลานต่อไปได้อย่างไร

เหมือนกับที่ คุณธีรภาพ โลหิตกุล นักเขียนสารคดี ที่ครั้งหนึ่งเคยเดินทางทำสารคดีเกี่ยวกับแม่น้ำปิง ที่ดอยถ้วย เมื่อหลายสิบปีมาแล้ว และเขาได้พูดถึงสุภาษิตโบราณของญี่ปุ่นบทหนึ่งว่า "ประเทศอาจพ่ายแพ้ แต่ภูเขาและแม่น้ำยังอยู่" ลูกอาทิตย์อุทัยต้องพ่ายแพ้เสียยับเยินในมหาสงครามโลกครั้งที่ 2 แต่พวกเขายังมีภูเขาเป็นแหล่งทรัพยากรป่าและดิน มีแม่น้ำให้อาหารและความชุ่มชื้นแก่ชีวิต ทั้งหมดคือพลังให้พวกเขาก้าวลุกขึ้นมาจากผู้ปราชัย กลายเป็นยักษ์ใหญ่ที่กำเศรษฐกิจโลกไว้ในมือ ในขณะที่สยามประเทศ - ซึ่งหยิ่งทะนงตนมาตลอดว่าไม่เคยพ่ายแพ้จนตกเป็นประเทศราชใคร แต่ในเวลานี้ กำลังเผชิญหน้ากับวิกฤตการณ์อันเนื่องเพราะไปทำลายห่วงโซ่สัมพันธ์ทางธรรมชาติของป่าและน้ำอย่างหนักหน่วงรุนแรงที่สุด!

ข้อมูลประกอบ 
1.แม่น้ำเจ้าพระยา : ธีรภาพ โลหิตกุล,สนพ. ณ บ้านวรรณกรรม, 2536
2.แม่น้ำปิง : ขวัญใจ เอมใจ นิตยสารสารคดี, 2539
3.แม่น้ำปิง : สายน้ำอันเป็นนิรันดร์แห่งที่ลุ่มล้านนา,จักรพงษ์ คำบุญเรือง, หนังสือพิมพ์เชียงใหม่นิวส์, 2550
4.แม่น้ำปิงข้อมูลแม่น้ำปิงตอนบน,สถานีวิจัยลุ่มน้ำดอยเชียงดาว อ.เชียงดาว จ.เชียงใหม่
5.เครือข่ายลุ่มน้ำซุ้ม, นุจิรัตน์ ปิวคำ,มูลนิธิเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน ภาคเหนือ, 2556
6.สรุปบทเรียน 1 ปีต้านเขื่อนกั้นแม่น้ำปิงที่โป่งอาง เชียงดาว,องอาจ เดชา,ประชาธรรม, 2556

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net